ที่มาแห่งพระไตรปิฎก


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ที่มาแห่งพระไตรปิฎก

               เราทราบที่มาของพระไตรปิฎกจากข้อความในพระไตรปิฎกนั้นเอง  คือมีในมหาปรินิพพานสูตร   กล่าวคือ  ..........    

               เมื่อวันที่โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุนั้นมีภิกษุไปประชุมกันเป็นครั้งใหญ่  โดยมีพระมหากัสสปะเป็นพระมหาเถระในที่นั้น  พระเถระผู้นี้ได้อ้างข้อที่มีผู้ติเตียนพระธรรมวินัย  และจึงได้แนะให้มีการทดสอบพระธรรมขึ้น เรียกว่า    ธรรมสังคายนา   ครั้งนี้จึงเป็นการสังคายนาธรรมครั้งแรก  ความสำคัญของการทดสอบธรรมจะเห็นได้จากพุทธวจนะแก่พระอานนท์ในวันปรินิพพานว่า

               เมื่อเรา, ผู้เป็นพระตถาคต,  ได้ปรินิพพานล่วงลับไปแล้ว   ธรรมและวินัยเป็นศาสดาแห่งท่านทั้งหลาย

               การสังคายนานี้ กระทำโดยการเล่าถึงพระจริยานุวัตรแห่งพระบรมศาสดา  ซึ่งในวาระนั้นเองได้เกิดการสอนพระธรรมและพระวินัยไว้ด้วย  การสอนพระธรรมและการกำหนดพระวินัยนี้เกิดจากสาเหตุหลายประการ  เช่นพระองค์ทรงสอนคำสอนโดยตรงบ้าง  มีผู้สงสัยมาทูลถามบ้าง  ทำการโต้แย้งกับผู้อื่นบ้าง  ส่วนพระวินัยนั้นเราทราบจากพระไตรปิฎกว่า  เกิดจากการมีการกระทำผิดพรหมจรรย์ขึ้นก่อน  แล้วพระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติพระวินัยห้ามไว้

               จากการอ่านพระสูตรต่าง ๆ  เราจึงทราบวิธีให้การศึกษาของคนโบราณว่า  เขาหาได้สอนระบบความคิดใดโดยตรงไม่  หากได้นำเอาเรื่องทั้งเรื่องที่มีอาจารย์สอนศิษย์มาว่าไว้  คำสอนจึงปรากฏเป็นคำสนทนาโต้ตอบกันระหว่างอาจารย์กับศิษย์ ในการนี้บางทีไม่ใช่เป็นการถามแล้วตอบเฉย ๆ    หากมีการโต้แย้งความเข้าใจผิดๆ  ของศิษย์ด้วย  หรือบางทีคำสอนเป็นการโต้แย้งระหว่างอาจารย์ผู้รู้ด้วยกัน  คำสอนเช่นนี้ปรากฏขึ้น ทั้งในอินเดียและกรีก คำสอนของพลาโต้เกี่ยวกับปัญญาของซอเครตีส (Socrates)  นักปรัชญาคนแรกที่มีชื่อก็เป็นดังนี้เหมือนกัน  ทำให้เห็นว่าน่าจะเป็นวิธีทั่วไปของมนุษยชาติก่อนและหลังพุทธกาลการโต้แย้งนี้มีชื่อทางอังกฤษว่า  Dialectics  ทางไทยจะเรียกว่า  วิภาษวิธีก็คงจะเหมาะ  มิลินทปัญหาก็เป็นวิภาษวิธีอย่างหนึ่งระหว่างพระเจ้ามิลินท์,  หรือเมนานเดอร์  ชาวมักเตรียนกรีก  กับพระนาคเสนภิกษุในพุทธศาสนา

               คำว่าสูตรแปลว่า  เส้น ,สาย, เชือก  หมายถึงเรื่องหนึ่ง ๆ  จบในตัวเอง  ในพระสูตรทางพุทธศาสนาจะปรากฏจริยานุวัตรของพระพุทธเจ้าหรือของมหาสาวกแสดงคำสอนธรรม   หรือคำประสาทพระวินัยแก่บรรพชิต หรืออุบาสก,  อุบาสิกา  ทั้งหลาย  ได้มีผู้แปลพระสูตรบาลีตรง ๆ  มาเป็นภาษาต่าง ๆ  ปรากฏความจริงอีกอย่างหนึ่งว่า

               สมัยพุทธกาลนิยมการกล่าวซ้ำ ๆ  ข้อนี้น่าจะเป็นความจำเป็นในสมัยนั้น  ซึ่งยังไม่มีการบันทึก  ต้องใช้จดจำเอาไว้ในใจกัน  การกล่าวซ้ำนี้คงจะช่วยความทรงจำด้วย  และคงจะกระทำเพื่อความแจ้งชัดของถ้อยความด้วย

               การสังคายนา,  ตามพุทธโอวาทที่ว่า  สังคีติเป็นกิจชอบ  เป็นครั้งที่  ๑  นั้น  เริ่มขึ้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานล่วงไปแล้วได้  ๓  เดือน  และมีการใช้เวลาทำสังคายนาอยู่ถึง  ๗  เดือน  จึงเสร็จ   ในครั้งที่  ๑  นี้ต้องนับว่าพระไตรปิฎกก่อเป็นเค้าโครงขึ้นแล้วในส่วนพระธรรมกับพระวินัย

               เมื่อพุทธกาลล่วงไปแล้วได้  ๑๐๐  ปี  หรือเมื่อ  ๔๔๓    B. C.   ภิกขุพวกวัชชีบุตรแห่งนครเวสาลีได้ประพฤติละเมิดพระธรรมวินัย  แล้วมีผู้คนหลงตามกันเป็นอันมาก  พระยสเถระกากัณฑกบุตรจึงนำพระอรหันต์  ๗๐๐  องค์  กระทำสังคายนาธรรมอีก  ณ  วาลิการามเมืองเวสาลี

               ครั้นถึงรัชสมัยแห่งวงศ์โมรียะ  ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราช  ทรงเป็นพระราชา ณ  ปาฏลิบุตรนคร  เป็นพุทธศักราช  ๒๑๗  หรือ  ๓๒๖  B.C.  ได้เกิดเสี้ยนหนามต่อพระธรรมวินัยอีก   พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเจ้า, ผู้พึ่งราโชปถัมภ์ในพระเจ้าอโศกมหาราช  ก็กำจัดพวกเดียรถีย์ออกไปจากพุทธศาสนา   แล้วกระทำสังคายนาพระธรรมอีกแต่จะเป็นใน  พ.ศ.  ใดไม่ทราบชัด

               ครั้นถึงปี  พ.ศ.  ๒๓๖ หรือ  ๓๐๗  B C   พระมหินทเถรเจ้าราชบุตรหรือพระอนุชาของพระเจ้าอโศกมหาราชได้นำพระธรรมวินัยไปสู่ ทวีป สีหล  หรือลังกา  (Ceylon) พุทธบริษัทชาวสีหลได้จดจำพระธรรมวินัยมาเป็นลำดับกระทั่งถึง  พ.ศ.  ๔๕๐  หรือ  ๙๓  B.C.  ปรากฏการเสื่อมความทรงจำขึ้น  พระเถระเห็นว่าถ้าปล่อยให้จดจำพระธรรมวินัยไปคงจะไม่เป็นการ  พระศาสนาอาจเสื่อมได้  จึงจัดทำสังคายนาพระธรรมวินัย  ณ อาโลกเลณสถาน  ในมลัยชนบทเกาะลังกา  แล้วจารึกพระธรรมวินัยไว้บนใบลาน นี่จัดได้ว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๔
               ตั้งแต่บัดนั้นมา,  เราจึงมีพระไตรปิฎกเป็นตัวอักขระเราไม่ทราบแน่ว่าอินเดียมีตัวอักขระใช้เมื่อไร  แต่ทางยุโรปอักขระใช้เมื่อ  ๗๕๐  B.C.  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์    มหาราชแห่งแม็ซซีโดเนีย (Macedonia)  ในเผ่าชนกรีกทรงมาตีอินเดียได้ ในปี  ๓๒๕ B.C.  และคงจะได้นำอักขระของเมดิเตอเรเนียนมาให้อินเดียด้วย  อินเดียจึงมีอักขระใช้ต่อมา  และคงจะสร้างอักขระใหม่  ขึ้นเพิ่มเติมให้เขียนเสียงได้ครบด้วย

ส่วนประกอบของพระไตรปิฎก

ขณะนี้ได้มีผู้  นำเที่ยวในพระไตรปิฎก  แล้วดังปรากฏใน ธรรมจักษุ  ของมหากุฎราชวิทยาลัยในปี  ๒๔๙๕  

               ดังได้กล่าวแล้วว่า  พระไตรปิฎกประกอบด้วยเรื่องต่าง ๆ  แต่ละเรื่องแสดงไว้ซึ่งที่มาแห่งพระวินัยและคำสอนของพระพุทธองค์   จึงปรากฏว่าไม่ได้มีการเรียงลำดับเรื่องราวนี้ไว้เป็นเรื่องใหญ่  ที่มีการขึ้นต้นและการจบบริบูรณ์ในตัว เช่น  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ได้ทรงปรารภไว้ใน  พุทธประวัติ  เล่ม ๑ ว่า  

               “เรื่องพุทธประวัตินั้นไม่ปรากฏในบาลีซึ่งขึ้นสู่สังคีติจนตลอดเรื่องสักแห่งเดียว  (คือไม่ปรากฏรวมกันเป็นเรื่อง สมบูรณ์-ผู้เขียน )  มีมาในบาลี  ประเทศนั้น ๆ  เพียงเป็นท่อน ๆ  เช่นเรื่องประสูติมาในมหาปทานสูตรแห่งทีฆนิกายมหาวรรค  เรื่องครั้งยังทรงพระเยาว์มาในติกนิบาตอังคุตตรนิกาย  เรื่องตั้งแต่ปรารภเหตุที่เสด็จออกบรรพชาจนภิกษุวัคคิยะสำเร็จพระอรหันตผลมายังในปาสราสิสูตรแห่งมัชฌิมนิกาย  มูลปัณณาสก์  เรื่องเสด็จออกบรรพชาแล้วบำเพ็ญทุกกรกริยาจนได้ตรัสรู้  มาในมหาสัจจกสูตรแห่งมัชฌิมนิกาย  มูลปัณณาสก์  เรื่องตั้งแต่ตรัสรู้แล้ว,จนถึงอัครสาวกบรรพชามาในมหาวรรคแห่งพระวินัยทรงบำเพ็ญพุทธกิจนั้น ๆ  มาในพระสูตรต่าง ๆ  หลายสถาน  ตอนใกล้จะนิพพานจนถึงนิพพานแล้วมัลลกษัตริย์ในนครสินาราทำการถวายเพลิงพระพุทธสรีระ  แล้วแบ่งพระสรีริกธาตุไว้บ้าง  แจกไปในนครอื่นบ้าง มาในมหาปรินิพพานสูตร  แห่งทีฆนิกายมหาวรรค......

               ดังนั้น   ผู้ใคร่จะศึกษาพระธรรมหรือพุทธประวัติที่เป็นข้อความติดต่อกัน,  เป็นระบบความคิดหรือประวัติบุคคล  จึงต้องเรียงเรื่องเอาใหม่  ดังที่พระมหาสมณเจ้าทรงกระทำแล้วในกรณีพุทธประวัติ   ในการเรียงเรื่องใหม่นี้ ก็ต้องตัดข้อความที่ซ้ำกันดังกล่าวมาแล้วออก  ปราชญ์ทางวรรณคดี  ในยุโรปกล่าวว่า  พระไตรปิฎกนั้นแม้จะเป็นวรรณกรรมขนาดใหญ่ก็ตาม หากย่อได้ให้ความพอดี  โดยตัดข้อความที่ซ้ำออกแล้ว  น่าจะมีข้อความยาวพอ ๆ  กับคัมภีร์ของคริสต์ศาสนา ในที่นี้ก็ควรแจ้งให้ทราบด้วยว่าคัมภีร์คริสตศาสนานั้นประกอบด้วยข้อความที่เรียงต่อทอดกันไปและไม่ปรากฏการกล่าวข้อความซ้ำ ๆ   นี่เป็นลักษณะของการบันทึกในศตวรรษที่ ๖  แห่งพุทธกาล  ซึ่งขณะนั้นระดับการศึกษาหรือปัญญาของโลกก้าวหน้าไปมากแล้วและมีอักขระใช้อย่างแพร่หลายแล้วด้วย

*******


               บัดนี้  จึงควรกล่าวถึงลักษณะของพระไตรปิฎกเสียก่อน  พระไตรปิฎก  หรือตะกร้าแห่งธรรมสามใบประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้คือ

ก. พระวินัยปิฎก  ซึ่งกล่าวถึงข้อวินัย,  คำอธิบายและสาเหตุแห่งการบังเกิดวินัย  ในเรื่องนี้มีการเฉลยในมิลินทปัญหาว่า  พระพุทธองค์ไม่ทรงวางพระวินัยไว้ล่วงหน้า  ซึ่งถ้าหากพระองค์ใคร่จะทำแล้ว ก็จะทรงกระทำได้ด้วยพระปรีชาญาณ  แต่ทรงเห็นว่าถ้าวางพระวินัยไว้ล่วงหน้า  ผู้ที่มาบวชใหม่อาจท้อใจไม่กล้าเข้ามาลองอุปสมบทดู   จึงทรงบัญญัติพระวินัยต่อเมื่อได้มีการกระทำผิดพรหมจรรย์ขึ้นแล้ว  

เนื้อเรื่องในวินัยปิฎกส่วนหนึ่งจึงกล่าวถึงการที่มีภิกษุประพฤติผิดพรหมจรรย์  และพระพุทธองค์ทรงติเตียนแล้ว  จึงทรงวางพระวินัยห้ามไว้วินัยปิฎกประกอบด้วยพระปาติโมกข์   หรือระเบียบปฏิบัติชีวิตสำหรับสงฆ์ทุกองค์  ศีลของภิกษุรวมด้วยกันทั้งหมด    ๒๒๗  ข้อนั้น  พระพุทธองค์มิได้ทรงบัญญัติขึ้นทั้งหมดน่าจะมีการบัญญัติศีลของภิกษุขึ้นในสมัยต่อๆ  มาภายหลังพุทธกาลด้วย  ทั้งนี้เพื่อให้รับกับความเป็นอยู่ใหม่ ๆ  ของมนุษย์ในชั้นหลัง

ข. พระสุตตันตปิฎก  รวมเอาไว้ซึ่งเรื่องราวและคำเทศนาของพระพุทธองค์  เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งทั้งในทางศาสนาและวิทยาศาสตร์ สังคม  เพราะเป็นที่รวบรวมไว้ซึ่งความนึกคิดต่าง ๆ   ทั้งของโบราณสมัย  และของพระพุทธเจ้า  พุทธศาสนิกถือสุตันตปิฎก  เป็นที่รวมแห่งข้อเท็จจริงในพุทธศาสนาเป็นที่รวบรวมพุทธวจนะ  และบันทึกอันมีความสำคัญชั้นที่หนึ่งเกี่ยวกับพุทธศาสนา  ในศตวรรษที่ ๓  B.C.  หรือพุทธศตวรรษที่ ๓  พระสุตตันตปิฎกแยกออกเป็นห้านิกาย  หรือหมวด  ซึ่งทางฝ่ายสรวัสติวาทให้ชื่ออีกอย่างหนึ่ง ว่า อาคม  การแบ่งแยกเช่นนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของการทรงจำเท่านั้น   สูตรหนึ่ง ๆ เป็นหน่วยแห่งคำสอนเรื่องหนึ่ง  เป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรองประกอบด้วยบทสนทนาระหว่างพระพุทธองค์กับสาวกหรือคฤหัสถ์ ร้อยเข้าเป็นพวงเดียวกันเหมือนลูกประคำของพราหมณ์  ฉะนั้นจึงเรียกว่า สูตร  ซึ่งแปลว่า  เชือก  นิกายทั้งห้ามีดังนี้คือ  ทีฆนิกาย หรือ พระสูตรยาว,มัชฌิมนิกาย  หรือพระสูตรยาวปานกลาง,  สังขยุตนิกาย หรือพระสูตรรวมเป็นชุด,  อังคุตรนิกาย, หรือ พระสูตรที่เรียงตามลำดับจำนวนนับ  และประมวลพระสูตรที่จัดเข้าในนิกายดังกล่าวแล้วไม่ได้ นี่คือ ขุทกนิกาย

ในทีฆนิกายมีอยู่  ๓๔  พระสูตร  บางสูตรก็มีชื่อเสียงมาก  บางสูตรไม่ใคร่มีคนนำมาอ้างกัน  สูตรที่มีชื่อที่สุดคือ มหาปรินิพพานสูตร   เพราะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์โลก  ดังกล่าวมาแล้ว

มัชฌิมนิกายมี  ๑๕๒  พระสูตร  ซึ่งแบ่งออกเป็น  ๑๕ วรรค  แล้วแต่ประเภทของเรื่อง สังยุตนิกายมีพระสูตรเป็น ๕๖  พวก  โดยเกี่ยวข้องกันทางบุคคลหรือเรื่อง ในนิกายนี้มีคำเทศนาเกี่ยวกับพระธรรมจักร  อันเป็นคำเทศนาครั้งแรก  ภายหลังการหลุดพ้นของพระบรมศาสดาและมีการแสดงให้เห็นสังสารวัฏฏ์เป็นนิทาน  ๑๒  เรื่องด้วยกัน

อังคุตรนิกาย หรือประมวล  บวกหนึ่ง  ประกอบด้วย ๒,๓๐๘  พระสูตร  แบ่งแยกออกได้เป็น ๑๑  พวก หรือ นิบาต   จากนิบาตที่หนึ่งไปถึงที่  ๑๑  ตัวอย่างเช่นนี้  นิบาตที่สองกล่าวถึง  พระพุทธเจ้าสองประเภท  คุณธรรมสองประเภทอันเนื่องมาจากเสนาสนะป่า,  นิบาตที่สามกล่าวถึงภิกขุสามประเภท  นิบาตที่สี่กล่าวถึงทางไปสวรรค์สี่ประการ และเป็นเช่นนี้เรื่อย ๆ ไปกระทั่งถึงนิบาตที่สิบเอ็ดว่าด้วยความดีและความชั่วสิบเอ็ดประการของพระภิกษุ

ขุทกนิกาย  หรือนิกายเล็ก  รวมเอาไว้ซึ่งเรื่องต่าง ๆ  ในพระพุทธศาสนา  อันรวมไว้ในนิกายดังกล่าวแล้วไม่ได้  ในนิกายนี้มีผลงานอันมีคุณค่าทางวรรณคดีเป็นอย่างสูงแม้จะรวบรวมไว้ทีหลังก็มีข้อความเก่าแก่ในพระคัมภีร์ไว้ด้วย  ขุทกนิกายเริ่มต้นด้วยขุทกบท  ซึ่งเป็นการวางแนวให้แก่ชีวิตในพระพุทธศาสนา  ในนี้ปรากฏมีเมตตาสูตรว่าด้วยความหมายและประโยชน์ของเมตตา  และมีมหามงคลสูตรอันกล่าวถึงการกระทำอันเป็นมงคลด้วยประการต่าง ๆ ถัดมาก็มี พระธรรมบท  ซึ่งเป็นคัมภีร์ ทางเถรวาทที่มีชื่อที่สุด ประกอบด้วยข้อความ  ๔๓๒  ชิ้น  แบ่งเป็น  ๒๖  วรรค หรือบทว่าด้วยแนวทางที่ควรประพฤติ เป็นการส่งเสริมลัทธิกรรมของพระพุทธศาสนา  พระธรรมบทนี้เป็นที่นิยมอ่านกันมากในโลก  อุทาน และอิติวุทกะก็เป็นคัมภีร์มีชื่อเหมือนกัน  แต่ละคัมภีร์ประกอบด้วยร้อยกรองผสมร้อยแก้วอันมีคุณค่าทางจริยศาสตร์และปรัชญาสุตตนิบาทก็มีชื่อดังอยู่ในยุโรป,  ฐานมีความสำคัญรองจากพระธรรมบทไป   คือมีทั้งความไพเราะในถ้อยคำและความลึกซึ้งในความคิดด้วย

               ถัดมาก็มีเถรคาถาและเถรีคาถา  ซึ่งเป็นคำสวดมนต์ของภิกขุและภิกขุนีตามลำดับ  คำสวดมนต์นี้มีความไพเราะทางสำเนียงและทางร้อยกรองไม่ยิ่งหย่อนกว่าฤคเวทของพราหมณ์  หรือวรรณกรรมของกาลิทาสและชัยเทพเลยมันเป็นคำสวดแสดงความปิติยินดีที่ได้หลุดพ้นจากกิเลสตัณหาและปริเวทนาการทั้งปวง

               ในชั้นสุดท้าย  ในขุทกนิกายนี้ก็ปรากฏมีนิทานชาดกต่าง ๆ อันมีที่รู้จักกันดีทั่วโลก  ชาดกต่าง  ๆ  นี้มักกล่าวถึงชีวิตในชาติก่อนของพระพุทธเจ้า  แต่หลายเรื่องเป็นนิทานเก่าแก่กว่าพุทธศาสนามาก เช่น  เรื่องนิทานเกี่ยวกับสัตว์นั้นเข้าใจว่าเก่าแก่ที่สุด  นิทานเกี่ยวกับสัตว์นี้น่าจะแพร่สะพัดไปถึงยุโรปและกลายเป็นเทพนิยายของยุโรปไปขุทกนิกายจึงมีอิทธิพลเหนือวรรณคดีของประเทศต่าง ๆ เช่นของไทยเราเป็นต้น  ตัวอย่างเช่น  ภูริทัตตชาดกให้ความคิดแก่ผู้เขียนพงศาวดารชาวเหนือ  ซึ่งอ้างถึงกำเนิดพระร่วง ว่าเกิดจากนางนาคมาได้กับกษัตริย์ ไทย เรื่องสังข์ทองก็มีมาในพระชาดก  ทั้งนี้ไม่ต้องอ้างเรื่องไตรภูมิพระร่วง  หรือเวสสันดรชาดก  ซึ่งเห็นได้ชัดอยู่แล้วมาจากพุทธศาสนาโดยตรง  ในชาดกเรื่องสัตว์นี้ยังปรากฏความคิดอย่างหยาบ ๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการ (Evolution)  ซึ่งพระพุทธองค์ทรงก้าวหน้าทางชาติกำเนิดจากสัตว์ต่ำผ่านสัตว์สูง ๆ  มาเป็นมนุษย์ด้วยการบำเพ็ญบารมี   ชาดกอันประกอบด้วยเทพนิยาย (Myth)   และนิทานสัตว์ (Animal  fable)นี้ทำให้เกิดพุทธศิลปะขึ้นอย่างกว้างขวางไม่แพ้ศิลปะของศาสนาใด  ดังจะเห็นเป็นศิลปะสลักในศิลาของถ้ำอชันตาตอนกลางของประเทศอินเดียเป็นต้น

               ชาดกต่าง ๆเหล่านี้มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์  และสังคมวิทยาเป็นอันมากเพราะมันเป็นบันทึกเกี่ยวกับนิทานเก่า ๆ ของมนุษยชาติจากการศึกษาชาดกเหล่านี้ สามารถทราบถึงความนึกคิดก่อนพุทธกาลได้  และยังทราบถึงการปกครองและวัฒนธรรมก่อนพุทธกาลด้วย  จึงขอเขียนเตือนนักศึกษาพุทธศาสตร์ทั้งหลายว่า  ไม่ควรดูถูกชาดกเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องอุปมาอุปไมย  เป็นจิตนาการอันไร้ความจริง  หรืออะไรในทำนองนี้   เพราะมันอาจเป็นนิทานแต่เก่าก่อน  ซึ่งบันทึกจากความเป็นจริง  แถมด้วยทรรศนะของคนโบราณหรือคนสมัยพุทธกาล  ซึ่งหากกรองเอาทรรศนะเหล่านี้ออกเสียงเราก็จะได้ข้อเท็จจริงทางสังคมวิทยา และประวัติศาสตร์มาใช้บ้าง  ทั้งนี้จะเป็นการกระทำไปตามญาณวิทยาใหม่ดังกล่าวมาแล้ว  ที่ถือว่าจินตนาการสร้างขึ้นด้วยการเอามโนภาพจริงซึ่งเป็นข้อเท็จจริงมาปรุงแต่งกันเข้าเป็นมโนภาพสร้างสวรรค์ใหม่  ในการเขียน  การนำชาดกบางเรื่องมากล่าวอ้าง  จะทำให้เราเข้าใจพุทธศาสนาได้ดีขึ้นด้วยซ้ำไป

ค. พระอภิธรรมปิฎก  เป็นข้อความเกี่ยวกับจิตวิทยาอันเราอาจถือได้ว่าเป็นจิตวิทยาของพุทธศาสนา  แต่ก็หาได้เป็นบันทึกทางจิตวิทยาชุดเดียวเท่าที่มีไม่  เพราะนาง  Rhys  Davids  นักพุทธศาสตร์ชาวอังกฤษถอดจิตวิทยาของพุทธศาสนาตามทรรศนะของเธอจากนิกายต่าง ๆ  ในสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  เป็นผลงานทางปรัชญาซึ่งอาศัยคำสอนจากพระสูตรอีกทีหนึ่ง  จึงเป็นผลงานของพระอรรถกถาจารย์ในชั้นหลัง ๆ

               ได้มีการกล่าวว่าประเทศทางอาเซียอาคเนย์ทั้งสามมีความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกต่าง ๆ กัน คือ  ลังกาเชี่ยวชาญในสุตตันตปิฎก  ไทยเชี่ยวชาญในพระวินัย  พม่าเชี่ยวชาญในพระอภิธรรม  แต่ในของผู้เขียนอยากให้ทุก ๆ  ประเทศสนใจในสุตตันตปิฎกให้มากที่สุด

************************************************

เรียบเรียงจาก  :  ปรีชาญาณของสิทธัตถะ  โดย  สมัคร  บุราวาส

๖.      แนวทางบรรยายของหนังสือเล่มนี้
ผู้เขียนมีความประสงค์อย่างยิ่งที่จะให้ผู้อ่านมีความรู้อย่างทั่วถ้วนในพุทธศาสตร์  ทั้งนี้
ไม่ใช่อย่างจดจำมติโดยสรุปของผู้เขียนไปเท่านั้น  หากได้เห็นงานดั้งเดิมในพระพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นๆ  ด้วย  เพื่อจะได้ก่อรูปความคิดของตนเองขึ้นได้  เนื่องจากพุทธศาสนางอกงามอยู่ภายในศาสนาพราหมณ์ การศึกษาศาสนาพราหมณ์และวัฒนธรรมพราหมณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น  เมื่อพุทธศาสนาแพร่ไปถึงจีน  ก็กระทบเข้ากับลัทธิเต๋าของเหลาจื่อ  และกลายเป็นลัทธิเซ็นไป  ด้วยประการฉะนี้จะเข้าใจพุทธศาสนาให้ทั่วถ้วนก็ต้องศึกษาลัทธิเต๋าด้วย  พุทธศาสตร์ครอบงำไปถึงลัทธิเซ็นไป  ด้วยประการฉะนี้เข้าใจพุทธศาสนาให้ทั่วถ้วนก็ต้องศึกษาลัทธิเต๋าด้วย  พุทธศาสตร์ครอบงำไปถึงลัทธิมหายานด้วย  ฉะนั้นเราจึงต้องศึกษาปรัชญาของพราหมณ์ที่เรียกว่าอุปนิษัท  เพราะปรัชญานี้ได้มาครอบงำพุทธศาสนา  ทำให้เกิดปรัชญามหายานขึ้น

               อนึ่งผู้เขียนมุ่งที่จะให้ผู้อ่านเข้าใจลึกซึ้งในปรัชญาเถรวาท  อันเป็นปรัชญาที่แท้ของพุทธศาสนา  จึงเสาะเลือกเอาข้อความที่จะอธิบายให้ทราบถึงปรัชญาเถรวาทเป็นอย่างดีมารวมไว้ในหนังสือนี้  - คือข้อความบางตอนในมิลินทปัญหา”   ผู้เขียนไม่ได้พยายามจะรวบรวมพุทธวจนะที่แท้ไว้  ดังที่อินทปัญโญภิกขุ, ไชยา,  ได้จัดทำไว้ในหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์เพราะเห็น ว่าผลงานของพระอรรถกถาจารย์และบันทึกอื่น ๆ ในพระไตรปิฎกส่วนที่ไม่ใช่พุทธวจนะ  ก็มีประโยชน์ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันในการสาดแสงสว่างให้แก่ปรัชญาทางพุทธศาสนาและวิชชาพุทธศาสตร์


               “ปรีชาญาณของพระสิทธัตถะ”  จึงประกอบด้วยพระสูตรที่เหมาะสมและผลงานอื่น ๆ ของพุทธศาสนา  อันได้รับการจัดวางเสียใหม่ ให้ก่อเค้าโครงวิชาพุทธศาสตร์ขึ้น


               อนึ่งเพื่อให้เข้าใจลักษณะสังคมในสมัยพุทธกาลและเพื่อให้เข้าใจพุทธศาสนาได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องกล่าวเท้าความมาจากต้นที่สุดทีเดียว  คือกล่าวมาจากกำเนิดของจักรวาล  นี่เป็นการกระทำล้อเลียนเอกภพวิทยา  (Cosmology)  ซึ่งมีมาในศาสนาทุกศาสนา  หากคราวนี้จะเป็นเอกภพวิทยา ทางวิทยาศาสตร์อย่างใหม่เอี่ยมที่สุด  วัตถุประสงค์ของการกระทำเช่นนี้  อยู่ที่ความต้องการที่จะชี้ให้เห็นวิวัฒนาการทางปัญญาของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิวัฒนาการทางศาสนา  ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจความเกี่ยวข้องของศาสนาต่าง ๆ  ได้ดีขึ้นและไม่เป็นผู้หลงศาสนาอีกต่อไป


               วิวัฒนาการทางศาสนา  เป็นวิวัฒนาการตอนต้น ๆ ของปัญญาแห่งมนุษย์ชาติ  พุทธศาสนาเป็นยอดปลายของวิวัฒนาการของศาสนา  การศึกษาพุทธศาสตร์จึงต้องเริ่มด้วยการศึกษาวิวัฒนาการ แห่งศาสนาเสียก่อน

 

 

หมายเลขบันทึก: 216098เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พระมหาณรงค์ศักดิ์ ฐิติญาโณ

๕ ธันวามหาราช

________________________________________

ขอเรียนเชิญพุทธศาสนิกชน

สาธยายพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

กราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธนิมิตเมตตา ปางปฐมเทศนา

ชมพระไตรปิฎก พม่า , ศรีลังกา , ล้านนา , รัฐฉาน , เขมร , จีนและคัมภีร์โบราณ

ณ วัดใหม่ยายแป้น สี่แยกบางขุนนนท์ ถนนบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

รถเมล์สาย ๕๖, ๕๗,๗๙,๑๕๗, ๑๗๕,๔๐, ๕๔๒, ๘๐,๕๐๙,๒๘,๑๗๑

ที่มาจากปิ่นเกล้าลงที่สี่แยกบางขุนนนท์ เชิงสะพานลอย

ที่มาจากสามแยกไฟฉายลงที่เลยห้างแมคโคร เดินขึ้นมา (รถเมล์สาย ๕๗,๗๙ ผ่านหน้าวัด )

ติดต่อสอบถามได้ที่ พระมหาณรงค์ศักดิ์ ฐิติญาโณ (ไม่รับเงินบริจาค)

โทร. ๐๒-๔๓๕-๗๕๕๕ ๐๘๙–๙๖๓-๔๕๐๕ โทรสาร. ๐๒–๔๓๔–๑๒๓๘

ระหว่างวันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน วันจันทร์ที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒

สาธยายพระไตรปิฎก ตลอดไตรมาส (ตลอดพรรษา) ๒๔ ชั่วโมง

วันจันทร์ที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒

เวลา ๑๙.๐๐ น. หยุดการสาธยายพระไตรปิฎก เจริญสมาธิและถวายเป็นพระราชกุศล

พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า “ ธรรมและวินัยที่ตถาคตตรัสไว้ดีแล้วธรรมเหล่านั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ”

การสาธยายพระไตรปิฎกจึงเสมือนได้เข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อานิสงส์การสาธยายพระไตรปิฎก

๑.พระไตรปิฎกเป็นตาวิเศษอันยิ่งบุคคลใดสาธยายพระไตรปิฎกแล้ว สามารถที่จะรู้ได้ว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ทำให้เป็นสัมมาทิฎฐิ นำไปสู่ความสำเร็จและเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล คือตั้งแต่โสดาบัน สกทาคามี อนาคามีและอรหันต์ เข้าสู่นิพพาน

๒.พระไตรปิฎกเป็นหูที่วิเศษอันยิ่งฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สอนให้บุคคลนั้นดำรงชีวิตด้วยความถูกต้อง ที่เป็นสัมมาทิฎฐิ อย่างน้อยไม่ทำบาปทำแต่กุศล ได้ฟังแต่สิ่งที่เป็นมงคล การพูดก็ดี สุขภาพจิตก็ดี มีจิตใจที่ผ่องใส เมื่อจิตใจผ่องใสความคิดก็ดี ความจำก็ดีขึ้น มีสติไม่ทำให้เกิดอกุศล หน้าตาผ่องใสเป็นต้น (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔)

๓.พระไตรปิฎกเป็นจมูกที่วิเศษอันยิ่ง กลิ่นหอมที่ว่าหอมแม้จะลอยตามลมไปได้ ๑,๐๐๐ โยชน์ แต่ไม่สามารถที่จะทวนลมได้ แต่กลิ่นของความดี กุศลนั้นสามารถจะทวนลมและกระจายออกไปได้ทุกทิศ จะเป็นมีจมูกที่ได้กลิ่นของกุศลที่กระจอนไปทุกทิศ และไม่หลงติดอยู่กับกลิ่นหอมอย่างอื่น (พระไตรปิฎกเล่ม ๙และ ๑๖)

๔.พระไตรปิฎกเป็นลิ้นที่วิเศษอันยิ่ง ลิ้นคนเราแม้จะจำรสต่าง ๆ ได้ ไม่ช้าก็ลืมมีความสุขชั่วคราวทำให้คนขาดสติ แต่ลิ้นที่ลิ้มรสของพระธรรมนั้น ไม่มีความอิ่มในรสของพระธรรม เมื่อคนเราได้รับลิ้มรสของพระธรรมแล้ว จะทำให้ร่างกายผ่องใสทั้งภายในและภายนอก และจะช่วยรักษาโรคได้ทุกชนิด (พระไตรปิฎกเล่ม ๙และ ๑๖)

๕.พระไตรปิฎกเป็นกายที่วิเศษอันยิ่ง เมื่อบุคคลได้สาธยายแล้วทำให้มีสภาพที่ผ่องใสทั้งภายในและภายนอก มีกายที่เบาไม่เชื่องช้า เลือดลมในตัวเราที่เรียกว่าธาตุ๔นั้นก็สมบูรณ์ทำให้มีอายุยิ่งยืนนานสามารถหายจากโรคที่เกิดแต่กรรมได้

๖.พระไตรปิฎก เป็นใจที่วิเศษอันยิ่ง ใจดี ใจผ่องใส ใจเป็นหัวหน้า เมื่อใจเบิกบาน จิตใจเป็นกุศลก็สามารถเข้าถึงความเป็น โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และพระอรหันต์ในที่สุด(พระไตรปิฎกเล่ม ๙และ ๑๖)

๗.พระไตรปิฎก เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษอันยิ่ง สามารถที่จะสอนให้เรารู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล เมื่อรู้อย่างนี้แล้วสอนให้เรานำเอาหลักธรรมไปประพฤติปฏิบัติอันเป็นทางที่มีความสำเร็จในชีวิตนำทางไปเพื่อเข้าถึงพระนิพพาน(พระไตรปิฎกเล่ม ๙,)

๘.พระไตรปิฎก เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษอันยิ่ง พ่อแม่ไม่ได้หวังค่าตอบแทนจากลูกฉันใด พระไตรปิฎกเป็นผู้ที่สอนให้เรารู้ทุกอย่างที่เรายังไม่เคยรู้ นำทางให้เราเข้าถึงความเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ แล้วแต่ทางดำเนินชีวิตอันทำให้ถึงจุดหมายปลายทางคือพระนิพพาน(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๒และ ๑๔)

๙.พระไตรปิฎกเป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษอันยิ่ง เมื่อบุคคลได้สาธยายก็จะมีแต่มิตรนำทางไปสู่ที่ดีนำชีวิตไปสู่ความสุขทั้งตัวเอง ครอบครัวและสังคมที่ดี นำทางไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทั้งในทุกสถานในกาลทุกเมื่อ (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖)

๑๐.สมัยพระพุทธเจ้าชื่อว่ากัสสปะ พระสงฆ์สาธยายอภิธรรมในถ้ำ ค้างคาว ๕๐๐ ตัวได้ฟังเมื่อถึงคราวตายแล้วไปจุติที่ชั้นดาวดึงส์ ชาติสุดท้ายมาเกิดเป็นลูกศิษย์พระสารีบุตรและเป็นอรหันต์เป็นที่สุด

๑๑.การสาธยายพระไตรปิฎกที่ว่า “กรรมเก่าไม่มีใครลบล้างได้ กรรมปัจจุบันจะช่วยได้ จงจำไว้ กรรมที่ทำด้วยเจตนาไม่ว่าดีหรือชั่ว ย่อมมีผลต่อผู้กระทำทั้งสิ้น ไม่มีพรหมเทพองค์ใดจะช่วยลบล้างกรรมนั้นได้ เธอจงช่วยตนเอง ด้วยการสวดมนต์ ภาวนา แผ่เมตตาผลแห่งบุญอันเป็นกรรมปัจจุบัน จะช่วยเธอได้” ตอนหนึ่งที่กล่าวกับนางโรหิณี

๑๒.การสาธยายหรือการสวดมนต์ ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่จิตของตนและประโยชน์แก่จิตอื่น

และสามารถที่จะทำให้ผู้ที่สวดมนต์สาธยายมีความสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้

บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่อันพึงจะเกิดขึ้นในครั้งนี้

ขอน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

ผู้เป็นพ่อของแผ่นดินที่ให้อาศัยแก่เราและวงศ์ตระกูลได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขและเจริญก้าวหน้าตลอดมา

ขอธรรมของพระศาสดาเป็นประดุจดังธรรมโอสถทิพย์ ที่จะช่วยคลายทุกข์ให้ประชาชนคนไทยได้รู้รักสามัคคีเฉกเช่นพี่น้องร่วมอุทรอันไม่พึงทำร้ายซึ่งกันและกันด้วยกาย วาจา ใจ ขอให้พี่น้องประชาชนทั้งหลายเป็นผู้มั่นคงและถึงพร้อมด้วยความดี เพื่อแผ่นดินไทยอยู่อย่างผาสุกตลอดกาลและนาน เทอญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท