ในพุทธศาสนาได้กล่าวถึงมูลเหตุ การบัญญัติอัตตาว่า เพราะเหตุ...?


ในพุทธศาสนาได้กล่าวถึงมูลเหตุ การบัญญัติอัตตาว่า  เพราะเหตุ  ๔  ประการ  คือ


๑. เพราะเชื่อว่าอัตตาของตนเองที่มีรูปเป็นกามาวจร  (เช่น  รูปของมนุษย์)เป็นสภาพที่เที่ยงแท้


๒. เพราะเชื่อว่าอัตตาที่มีรูปอันไร้ขอบเขต  (เช่น อวกาศ)  เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้


๓. เพราะเชื่อว่าอัตตาของตนมีรูปที่ไม่ใช่เป็นกามาวจร  (รูปที่อยู่นอก เหนือจากข้อ ๑  เช่น  พระเจ้า)  เป็นสภาพที่เที่ยงแท้


๔. เพราะเชื่อว่าอัตตามีลักษณะไร้รูปและไร้ขอบเขต  (เช่น  สังกัปใน เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือแนวความคิดเรื่องแบบของเพลโต้เป็นต้น) เป็นสภาพที่ยงแท้.



พระพุทธองค์ตรัสว่า   คนเหล่านี้เป็นผู้หลง  “ยังสภาพที่ไม่เที่ยงแท้เพื่อให้สำเร็จเป็นสภาพที่เที่ยงแท้”


ถัดมาได้ทรงแสดงให้เห็นว่า  แนวความคิดเรื่องอัตตาจะเกิดด้วยพื้นฐาน  คือเวทนา  หรือการที่มนุษย์เริ่มมีความรู้สึกและรับรู้โลกนี้.  เพราะการรับรู้และมีความรู้สึกต่อโลกนี้  จึงทำให้เกิดการแสวงหาอัตตาขึ้น.  ด้วยพื้นฐานนี้   ทำให้สามารถแบ่งแนวความคิดในการสร้างอัตตาออกได้เป็น  ๓  กลุ่ม.


กลุ่มแรก  พวกที่บัญญัติอัตตาสัมพันธ์กับความรู้สึกที่ตนมี.  ในข้อนี้  พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงให้เห็นว่า  จริง  ๆ  แล้ว เวทนา ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงผลของปัจจัยที่ปรุงแต่งกันขึ้นมา  และความรู้สึกก็มิได้แตกต่างออกไป  เช่น  สุข  ทุกข์,  เมื่อเป็นอย่างนี้  ส่วนไหนคืออัตตาของเรา.


บางท่านอาจกล่าวว่า  “ตัวที่รับรู้ความรู้สึก”   คือตัวอัตตา,  ไม่ใช่ที่  “ความรู้สึก.”  คำตอบมีว่า  เราจะเห็นได้ว่า  ตัวที่รับรู้ความรู้สึกกับความรู้สึกคือสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้  ตัวรับรู้ความรู้สึกไม่เคยมีความหมายหากไม่รับรู้ความรู้สึก,ดั้งนั้น การปฏิเสธความรู้สึก  ก็คือ การปฏิเสธตัวรับรู้ความรู้สึกด้วย.  จริงๆ แล้ว  ในข้อนี้พระพุทธองค์กำลังปฏิเสธการถือว่า  วิญญาณ  คืออัตตานั่นเอง.


กลุ่มที่สอง  คือ พวกที่ถือว่า  อัตตาของเราก็คือส่วนที่ไม่ต้องเสวยเวทนา.พระพุทธองค์ได้ตั้งคำถามว่า  รูป  (ร่างกายของเรา) ที่ไม่ได้เสวยเวทนาก็มี, รูปส่วนนั้นของเราจะเกิดความคิดเป็นอัตตาของเราได้หรือ.


กลุ่มที่สาม คือ  พวกที่ยืนยันว่า  ตัวรับรู้ความรู้สึก  คืออัตตาของเรา (ไม่ใช่ตัวความรู้สึก).  ในข้อนี้พระพุทธองค์ได้ทรงตั้งคำถามว่า  วันหนึ่ง  เมื่อเวทนาดับไปแสดงว่าตัวเสวยเวทนาดับไปด้วยกระนั้นหรือ และถ้าเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่าอัตตาของเราก็ดับไปด้วย.


ข้อความเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า  การมีอัตตาเป็นเพียงความพยายามที่จะบัญญัติสิ่งหนึ่ง    ที่  “ดำรงอยู่ตามปรกติของตนเอง”  เพื่อยึดถือว่าเป็นตัวเอง.  อัตตาจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความยึดมั่นที่ตามมา.


ด้วยเหตุนี้เอง  พุทธองค์จึงตรัสว่า


ชื่อ  ทางแห่งชื่อ  นิรุตติ   ทางแห่งนิรุตติ  บัญญัติ  ทางแห่งบัญญัติ  การแต่งตั้งทางที่กำหนดรู้ด้วยปัญญา   วัฎฎะยังคงเป็นไปอยู่ตราบใด  วัฎฎสงสารยังคงหมุนเวียนไปตราบนั้น


โดยพื้นฐานตามหลักอัตตานิยม  การจะสรุปว่าสิ่งใดเป็นอัตตา  จึงเป็นเพราะมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถาวรและมีอยู่จริงในฐานะเป็นสิ่งที่อยู่ในอำนาจของเรา.อัตตาต้องการความมีพลัง.  การเคลื่อนไหวและการสืบต่อ.  ความมีอยู่พื้นฐานที่ก่อให้เกิดศักยภาพเช่นนี้เท่านั้นจึงมีค่าเป็นอัตตา.


ลักษณะเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดความสำคัญแตกต่างอันสำคัญระหว่างจุดหมายของการแสวงหาความมีอยู่พื้นฐานของอภิปรัชญา  กับการแสวงหาอัตตา.  อภิปรัชญาเพียงต้องการแสวงหาสิ่งที่มีอยู่จริง. ไม่สำคัญว่าสิ่งนั้นจะเป็นอัตตาหรือไม่. ส่วนกลุ่มอัตตานิยม จะแสวงบางสิ่งบางอย่างเพื่อเป็น “ตัวรองรับความมีอยู่ของตนเอง.”  นักนิยมอัตตาอาจต้องการพื้นฐานทางอภิปรัชญาที่แน่ชัดเพื่อยืนยันความมีอัตตา.


จุดหมายในการปฏิเสธอัตตาของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท จึงไม่ใช่การปฏิเสธความมีอยู่พื้นฐานที่ทางอภิปรัชญาแสวงหา  อันเป็นความมีอยู่ที่แท้จริง  (ถ้าจะมีความมีอยู่แท้จริงนั้นอยู่),  แต่เป็นการปฏิเสธการยอมรับสิ่งใดๆ  ที่จะเป็นอัตตา.


สมมติว่า  ถ้าอภิปรัชญาได้พิสูจน์ว่า  สิ่งหนึ่ง  คือ  A  เป็นความมีอยู่ทางอภิปรัชญา, พุทธศาสนาก็ไม่มีความจำเป็นต้องปฏิเสธความจริงนี้ตราบเท่าที่ยังไม่มีการ-->ยึดถือสิ่งนั้นว่าเป็นอัตตา,  


ทั้งนี้  เพราะว่า"สิ่งมีอยู่" ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นอัตตาด้วย.  สมมติว่า  กลุ่มอัตตานิยมยอมรับ  A   ว่าเป็นอัตตา.  ในข้อนี้ พุทธศาสนาปฏิเสธการยืนยันเช่นนี้  เพราะเป็นการขัดแย้งกับตนเองอย่างสิ้นเชิง  ดังที่กล่าวแล้ว,ความมีอยู่ย่อมไม่สามารถเป็นอัตตาของสิ่งใดๆ  ได้,  และคงต้องพิสูจน์ว่า A เป็นความมีอยู่ทางอภิปรัชญาหรือไม่.  


เนื่องจากว่าในความเป็นจริง การยึดว่าเป็นอัตตาล้วนมีพื้นฐานในสิ่งที่เป็นองค์ประกอบพหุภาพ,  หรือไม่ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่โดยตัวเอง,  และผสมผสานด้วยการสร้างมโนภาพของมนุษย์เพื่อยึดสิ่งเหล่านั้น  ที่ไม่ใช่เป็นอัตตาของมนุษย์ที่แท้จริง,  อัตตาจึงไม่มีอยู่จริงมองเฉพาะในส่วนของสังขตธรรม  


พุทธศาสนาไม่ใช่พิจารณาแค่เพียงการที่สรรพสิ่งทรงตัวเองอยู่ได้และทอนลงเป็นส่วนย่อยเพียงอย่างเดียว,  แต่รวมถึงการเกิดดับและถ่ายถอดผลไปสู่สิ่งใหม่ด้วย โดยเป็นการยอมรับความมีอยู่ที่เป็นเพียงสายแห่งความสัมพันธ์ตามหลักกลไกของจักรวาล.  ข้อนี้รวมไปถึงส่วนทั้งมวล  คือธาตุพื้นฐานด้วยเช่นกัน.  สรรพสิ่งไม่ใช่ไม่มี  เพราะมันปรากฏในขณะนั้น,  เช่นที่เรากำลังสัมผัสรับอยู่นี้,  และในขณะเดียวกัน  มันก็ไม่ใช่มีอยู่ เพราะสิ่งต่าง ๆ มีการเกิดขึ้นมา,  กำลังเปลี่ยนแปลง และในไม่ช้าก็จะสลายไป.  


ถ้ามันมีอยู่จริง  ก็คงไม่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้.  แม้ว่าในพุทธศาสนาจะมีการยอมรับว่า  มีบางส่วนที่มีอยู่  เช่นธาตุพื้นฐานเป็นต้น  แต่ก็เป็นเพียง  “การมีอยู่ในฐานะเป็นกระแสปัจจัยต่อกัน.”


ไม่มีอะไรที่เป็นสังขตธรรมที่จะมีอยู่ได้โดยที่ไม่มีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น.  โดยลักษณะเช่นนี้ พุทธศาสนาถือว่า  เราไม่สามารถมองเห็นสิ่งใด ๆ  แม้ขนาดเท่าปรมาณู  ที่จะคงที่,  เที่ยงแท้,  และไม่เปลี่ยนแปลง.  พุทธศาสนายอมรับความมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้แต่เป็นความมีอยู่ที่เคลื่อนไหลไปเสมอ.  ข้อนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้สรุปได้ว่าไม่อยู่ในอำนาจ.  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความมีอยู่ของสังขตธรรมที่เกิดจากการรวมกันของปัจจัยไม่มีแก่นสารของตัวเอง  จึงเป็นเหตุผลหนึ่งของการยืนยันความเป็นอนัตตาด้วย.

หมายเลขบันทึก: 215735เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท