สัพเพ ธัมมา อนัตตา


สัพเพ  ธัมมา  อนัตตา


สัพเพ  ธัมมา  อนัตตา  แปลว่า  ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา  คำว่า ธรรม  ในที่นี้หมายถึง  รูปธรรม  นามธรรม  และกฎเกณฑ์ธรรมชาติทุกอย่าง  คำว่า อนัตตา  หมายความว่า  ไม่มีตัวตนที่แท้จริง  ไม่ใช่เราหรือของของเรา



คำว่า  ไม่มีตัวตนที่แท้จริง  หมายความว่า  บรรดาสภาวะต่างๆ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม  หรือนามธรรม  ซึ่งปรากฏให้รู้เห็นได้นี้  ทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นสังขตธรรม  เป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง  ไม่ใช่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวของมันเอง  และสิ่งที่เป็นสังขตธรรมนี้ในเมื่อแยกแยะส่วนต่างๆ ออกไปแล้ว  ก็จะพบว่า  ไม่มีตัวตนของมันที่แท้จริง  ในคัมภีร์มักจะใช้คำอุปมาว่าเปรียบเหมือนรถซึ่งในเมื่อแยกส่วนต่างๆ ออกไปแล้ว  เราจะหาสิ่งที่เรียกว่า “รถ” ไม่มี  กลายเป็นสิ่งอื่นต่อไป  แม้ส่วนที่แยกออกไปนั้น  เช่นไม้หรือเหล็ก  สิ่งเหล่านี้ก็ยังแยกต่อไปได้อีก  ซึ่งในเมื่อแยกออกไปแล้ว  สิ่งที่เรียกว่า  เหล็ก  ก็ไม่มี  สิ่งที่เรียกว่า  ไม้  ก็ไม่มีอย่างนี้เป็นต้น  



เบญจขันธ์  คือ รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  และวิญญาณ  สิ่งเหล่านี้โดยปกติเรายึดถือว่าเป็นตัวของเราหรือของของเรา  แต่ในเมื่อแยกส่วนต่างๆ ออกพิจารณาแล้ว  ก็จะพบว่าสิ่งที่เป็นตัวเราแท้ๆ ในสิ่งเหล่านี้ไม่มีอีกเหมือนกัน  ในเรื่องนี้มีข้อคิดอยู่อย่างหนึ่งที่จะให้เข้าใจเรื่องอนัตตาชัด  กล่าวคือ  “สิ่งใดในเมื่อดับได้  สูญสิ้นได้  หมดไปได้  หายไปได้  เปลี่ยนแปลงได้  สิ่งนั้นย่อมไม่มีตัวตนของมันที่แท้จริง”

จุดหมายของการพิจารณาในเรื่องอนัตตา  ก็เพื่อต้องการให้เกิดการ “ปล่อยวาง”  ซึ่งในเมื่อจิตปล่อยวางได้แล้ว  จิตก็จะเป็นอิสระ  ไม่ติดอยู่ในสิ่งใดๆ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้  ก็จะทำให้เกิดความรู้แจ้งในสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง  และพร้อมกันนั้น  ก็จะได้พบกับความสงบอันสูงสุด  ซึ่งเป็นความสงบที่สามารถทำลายกิเลสได้หมดสิ้นไม่มีเหลือ  และภาวะอันนี้จะเข้าถึงได้ก็ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่  ไม่ใช่หลังจากตาย  



การยึดมั่นถือมั่นหรือการเกาะเกี่ยวอยู่ในสิ่งใดๆ ก็ตาม  ย่อมทำให้เกิดความหลงผิด  ทำให้เกิดความทุกข์ได้เสมอ  และมีอยู่วิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เกิดความปล่อยวางในสิ่งทั้งปวงได้  คือการพิจารณาให้เห็นแจ้งว่า  สิ่งที่เรียกว่าตัวเราแท้ๆ นั้นไม่มี  มีแต่ตัวตนที่เป็นวิบากของกรรม  แต่ตัวตนอันนี้ถึงแม้จะยั่งยืนสืบต่อได้นานนับเป็นกัป ๆ  แต่มันก็เป็นสิ่งที่ดับได้สูญสิ้นได้  หมดไปได้  เปลี่ยนแปลงได้  



การอธิบายให้เข้าใจเรื่องอนัตตาเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก  แต่การที่จะปล่อยวางได้จริงๆ นั้นเป็นสิ่งที่ยากที่สุด  เพราะการปล่อยวางไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจเพียงอย่างเดียว  แต่ขึ้นอยู่กับพื้นของการเสียสละ  และต้องเป็นการเสียสละด้วยความบริสุทธิ์ใจ  ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ด้วย  และทั้งต้องเคยฝึกหัดมามาก  เคยเสียสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อผู้อื่นมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน  คนที่มีนิสัยเสียสละอย่างลึกซึ้งเท่านั้น  จึงจะสามารถปล่อยวางในเรื่องตัวตนได้โดยเด็ดขาด  แต่ถ้าพื้นการเสียสละมีน้อย  การปล่อยวางก็มีน้อย  เพราะฉะนั้นคนที่จะปล่อยวางได้จริงๆ หรือพูดอีกนัยหนึ่ง   คือเข้าถึง “อนัตตา” ได้อย่างแท้จริงนั้น  จะต้องฝึกหัดการเสียสละมามาก  ซึ่งเริ่มต้นจากสิ่งที่เราพอจะทำได้ไปก่อน  รวมทั้งเราจะต้องฝึกหัดให้รู้จักฟังความคิดเห็นของคนอื่น  ไม่ถือแต่ความเห็นของตนเองฝ่ายเดียว  รู้จักประนีประนอม  รู้จักแพ้ รู้จักชนะ เหมือนกับนักกีฬาที่ดี  และต้องพยายามหัดให้มีความยุติธรรมให้มีความกล้าหาญอดทน  รวมความว่าการอบรมตนเองให้มีคุณธรรมทุกอย่างจนกว่าจะมีคุณธรรมอย่างเพียบพร้อม  นั่นแหละจึงจะสามารถปล่อยวางในเรื่องตัวตนได้จริงๆ



ผู้ที่ชอบถกเถียงกันในเรื่อง “อนัตตา”  ชอบศึกษาในเรื่องนี้  แต่ชีวิตจริงๆ ไม่มีการปฏิบัติเพื่อการเสียสละ  ไม่พยายามฝึกหัดให้มีคุณธรรมต่างๆ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการปล่อยวางเกิดขึ้น  ขอได้โปรดจำไว้ว่า  “ความรู้อย่างเดียวช่วยให้เกิดการปล่อยวางไม่ได้”

หมายเลขบันทึก: 215729เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ เข้าใจง่ายเขียนดีมาก จะจำ-รับ-นำไปปฏิบัติบรรลุธรรมจนสู่พระนิพพานน่ะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท