โรจน์
นาย โรจนศักดิ์ ทองคำเจริญ

last day of life....the experience.


จริงๆผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษามะเร็งในความหมายทางการแพทย์ แต่ผมยินดีดูแลผู้ป่วยเต็มความสามารถ(เป็นพันธะสัญญา ที่ผมทำกับผู้ป่วยและครอบครัวนี้ตลอดจนวาระสุดท้ายของผู้ป่วย)

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปดูใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโครงการกัลยาณมิตรท่านหนึ่งที่บ้าน แล้วได้เรียนรู้ถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ใกล้เสียชีวิตว่า ทุกข์ของผู้ป่วยและครอบครัวมันมากมายขนาดไหน....ความยุ่งยากของการเสียชีวิตที่บ้าน...การเพชิญกับความทุกข์..และบุคคลากรทางการแพทย์จะช่วยอะไรได้มากน้อยแค่ไหน?

บทแรกแห่งการเริ่มต้น

เป็นลูกสาวของผู้ป่วยมาที่ clinic ของผมเพื่อขอให้ผมไปดูคุณแม่ของเธอที่บ้าน "หมอที่สวนดอกบอกว่า แม่ของเธอยากที่จะหายจากมะเร็ง..ต้องลองให้เคมีบำบัดตัวใหม่ อาจารย์บอกว่า ไม่แน่ว่าจะได้ผล"

เธอเป็นมะเร็งของกล้ามเนื้อที่พบน้อยมาก ๆและเป็นระยะสุดท้าย (advanced sarcoma with pericardial metastasis +bone met.)

ผมถามถึงความทุกข์ยากของลูกสาวว่ามากขนาดไหน?.....จากสีหน้าที่ยิ้มแย้มแปลเปลี่ยนเป็นน้ำตา+ประโยคสั้น ๆ ที่ว่า " ทนไม่ได้ที่เห็นแม่กำลังแย่ลงแบบช่วยอะไรไม่ได้..มีเพื่อนบอกว่ามีหมอมะเร็งอยู่ที่แม่สอดเราก็อยากช่วยแม่ (นั่นคงหมายถึงผู้ป่วยในโครงการคนก่อนๆเล่าให้เธอฟัง) " 

ผมเลยตอบว่า "จริงๆผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษามะเร็งในความหมายทางการแพทย์ แต่ผมยินดีดูแลผู้ป่วยเต็มความสามารถ" (เป็นพันธะสัญญา ที่ผมทำกับผู้ป่วยและครอบครัวนี้ตลอดจนวาระสุดท้ายของผู้ป่วย)

ความสิ้นหวัง...ความกลัว..และการเยียวยา

หลังจากนั้นผมกับทีมเยี่ยมบ้านได้ไปเยี่ยมผู้ป่วย สิ่งที่พวกเราเห็นคือ ผู้หญิงวัย 50 ปี ที่ดูแก่กว่าอายุมีผมร่วงจนเหลือเพียงผมบางๆ ที่เกิดจากผลของเคมีบำบัด มีก้อนเนื้องอกทั้งตัว นอนบนเตียง ที่มีแม่แก่ ๆ อยู่ปลายเตียงด้วยมองผู้ป่วยดวงตาที่หม่นหมอง

เธอบอกผมว่า " ฉันคงจะไม่ไปที่เชียงใหม่อีกแล้ว เพราะรู้ตัวดีว่าคงไม่หาย ฉันเดินไม่ได้เพราะปวดมาก ไปก็คงเป็นภาระกับลูกสาวคนเดียวต้องไปส่ง ลูกสาวก็ต้องเลี้ยงหลานอายุ 6 เดือน"

ผมถาม "ป้าทรมานยังไงบ้าง"

ผู้ป่วย "ปวดเหลือเกิน นอนไม่หลับ และอ่อนเพลียมาก"

ผม" ผมจะพยายามอย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่าอาการปวดสามารถบรรเทาได้"

หลังจากนั้นเราปรับยาแก้ปวดจนอาการดี ทีมเราเยี่ยมผู้ป่วยทุกเช้าวันอังคาร อยู่ 1 เดือน เรากับครอบครัวผู้ป่วยสนิทกันดี นอกเหนือจากยาแล้ว อีกกำลังใจหนึ่งคือ "มิตรภาพ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างผู้ป่วยกับทีม หรือ ในครอบครัวที่มีพี่น้อง" ที่พิเศษกว่านั้นคือมีป้าติ๊บ ที่บ้านติดกันเป็นมะเร็งปอดแกพอเดินได้และมาเยี่ยมผู้ป่วย บ่อยๆ

ป้าติ๊บบอกผู้ป่วยว่า " เอ็งยังดียังมีลูกคอยดูแล..มีพี่น้องมาก..แต่แม่หลวงบ่มีเลย" (แกอยู่กับสามี 2 คน ส่วนลูกๆไปทำงานต่างอำเภอและเชียงใหม่)

จิตวิญญาณ..ที่ต้องดูแล

ผมคุยกับผู้ป่วยถึงชีวิตที่ผ่านมา ผู้ป่วยทำงานหนักมาตลอดชีวิต เร่ขายขนมจนสร้างบ้านหลังที่อยู่ได้ ผู้ป่วยดูแลพี่น้อง+ช่วยเหลือพี่น้องจนเป็นที่รัก ผู้ป่วยดูแลลูกมาด้วยตัวคนเดียว (สามีจากไปนานแล้ว) เธอไม่ค่อยได้ไปวัดนัก เธอบอกว่า "การทำงานหนักคือชีวิตของเธอ ถ้าเธอหายเธอจะกลับไปทำงานอีก.."

ผู้ป่วยสีหน้าทุกข์มากแต่ไม่ปริปาก ลูกสาวทุกข์มาก+เหนื่อยมากที่ต้องดูแลแม่ทั้งวันทั้งคืน เธอบอกว่าจะทำยังไงให้แม่ระบายความทุกข์

ผม "จริงๆแล้วคุณแม่อดทนมากและไม่อยากให้ใครรับรู้ถึงความทุกข์ใจ ผมว่าเราอาจช่วยเหลือผู้ป่วยให้นึกถึงความดีที่ทำมามากมายไม่ว่าจะกับพี่น้อง-แม่ หรือตัวคุณเอง"

ได้ผลครับ ทุกครั้งที่เราคุยกับผู้ป่วยเรื่องการทำงานในอดีต เธอจะมีสีหน้าและประกายตาแห่งความสุขขึ้นมาทันที "จิตวิญญานของเธอคือ งานและการสละแรงกายเพื่อครอบครัวนั่นเอง"

บทสุดท้ายของชีวิต

เธอมานอน รพ. ด้วยอาการอ่อนเพลียมาก/ท้องเสีย เธอซีดมากหมอให้เลือด ผมคุยกับหมอสราวุธ (อายุรแพทย์) บอกกับผมว่า "คงจะไม่นานแล้วครับ EF ต่ำมาก (มีน้ำในเยื้อหุ้มหัวใจจนหัวใจทำงานไม่ได้)" เธอกลับบ้านพร้อมกับความรู้สึกสิ้นหวัง

3 วันก่อนผู้ป่วยเสียชีวิต ผมคุยกับเธอที่บ้าน(หลังจากกลับจาก รพ.) ผมถามเธอว่ามีอะไรจะถามผมไหม?

ผู้ป่วย "พี่คงไม่รอดแล้ว เลือดก็จางมาก ร่างกายคงไม่ไหวแล้ว"

ผมเงียบซักพักแล้วพูดว่า " พี่มีอะไรที่ไม่สบายใจที่อยากจะเล่าบ้างไหม"

ผู้ป่วย "กลัวหลับไม่ตื่น"

ผม "ช่วงเวลานี้สำคัญมากครับ..ความกลัวทำให้ความทุกข์ยิ่งมากขึ้น..สิ่งสำคัญคือมีสติ ทบทวนชีวิตที่ผ่านมาว่าทำความดีอะไรมาบ้าง จิตที่สงบและนึกถึงสิ่งที่ดีจะนำเราไปในทางที่ดี" นั่งเป็นคำพูดที่ผู้ป่วยได้ฟังขณะที่ยังโต้ตอบได้"

วันพฤหัสที่ 9 ตุลาคม ผู้ป่วยไมรู้ตัว ลูกสาวโทรตามผมให้ช่วยไปดู (ผมขับรถไปดูที่บ้านผู้ป่วยก่อนไปตรวจที่ PCU ) ผมแจ้งให้ครอบครัว (อยู่กันประมาณ 10 คน) ได้ทราบว่า "เวลาสุดท้ายกำลังจะมา" สิ่งที่ผมทำคือ การนำทางผู้ป่วย

ผมจับมือผู้ป่วย บอกกับผู้ป่วยว่า "ช่วงเวลานี้สำคัญมาก ขณะนี้มีญาติอยู่ใกล้ไม่ต้องกลัว ขอให้พี่นึกถึงคุณงามความดีที่ทำมา จิตที่สงบจะนำทางไปสู่ภพภูมิที่ดี"

ผมบอกกับญาติเรื่องวิธีปฏิบัติเรื่องความสงบ การสัมผัส ช่วย ทำให้ผู้ป่วยสงบลง ผู้ป่วยจากไปตอนบ่าย ผมแนะนำถึงวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการขอใบมรณะบัตรว่าต้องติดต่อใครอย่างไรบ้าง เราจบ case ด้วยสิ่งที่คาดหมายไว้เบื่องต้นคือ ความตาย ผมไปยืนยันการเสียชีวิตให้ผู้ป่วยที่บ้านเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยรับการดูแลมาตลอดและเสียชีวิตจากมะเร็งที่บ้าน

สุดท้ายนี้ผมคงสรุปแต่เพียงว่า "ผู้ป่วยรายนี้สอนบทเรียนหลายอย่างแก่ผมและทีม ได้ดีกว่าตำราเล่มไหนที่อ่านมาครับ....จิตใจที่ต้องการช่วยเหลือ+สัมพันธ์ภาพที่ดี+ทำงานเป็นทีมคือ หัวใจแห่งความสำเร็จ"

คำสำคัญ (Tags): #last day of life
หมายเลขบันทึก: 215723เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เยี่ยมค่ะ..แต่จะมีสักกี่รายที่ตามไปดูแลถึงบ้านได้

หวัดดีค่ะ...

อ่านแล้ว...รู้สึกเศร้าไปด้วย

ซึ้งใจทีมแพทย์ทุกท่าน

ขอเป็นกำลังใจในการปฏิบัติงานค่ะ

 

ประทับใจมากค่ะ ได้ข้อคิดทุกครั้งที่ติดตาม

ขอบคุณสิ่งดีดีที่เล่า ทำให้เห็นภาพชัด

บุคลากรทางสุขภาพนำไปปฏิบัติได้

ถ้าพี่มีรางวัลใดๆที่เราสามารถให้ได้ อยากให้กับคุณหมอโรจน์จริงๆค่ะ

สวัสดีครับ

P ขอบคุณคุณลดาครับ เราทำโครงการนี้มา 2 ปี ติดตามผู้ป่วยต่อเนื่อง ตอนนี้ทั้ง series =105 คนครับ (ผมเป็นแพทย์ที่ทำงานใน primary care เลยเยี่ยมบ้านตลอดอยู่แล้วครับ)

ขอบคุรสำหรับกำลังใจของพี่แก้วครับ

และขอบคุณ คุณ windy และ

P โก๊ะจิจัง แซ่เฮ~natadee ที่สุดในแก๊ง ที่มาเยี่ยมเยียนครับ

ตามมารับรู้+เรียนรู้ เรื่องราวดีๆ ที่คุณหมอนำมาแบ่งปันให้ค่ะ อยากบอกว่าเมื่อได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้เมื่อไหร่ มันเหมือนกับอะไรที่โดนใจอย่างมาก...เป็นอะไรที่ช่วยจุดไฟ+เติมพลังให้กับการทำงานที่รับผิดชอบอยู่ ได้เสมอๆ อยากให้ทางทีมงานของ รพร.ปัว และผู้ให้บริการด้านสุขภาพทุกคนได้รับรู้...จะช่วยให้เมล็ดพันธุ์ความดีที่มีอยู่ในทุกตัวคน งอกออกมาได้ และเบ่งบานสู่ชาวประชาถ้วนหน้ากัน...ชื่นชมมากค่ะ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท