เมื่อธรรมทั้งหลาย..อนัตตา อะไรรับผลแห่งบุญและบาป…?


เมื่อธรรมทั้งหลาย..อนัตตา  อะไรรับผลแห่งบุญและบาป…?



คำว่า  อนัตตา  อาจแปลได้  ๒  อย่าง  คือ  ไม่ใช่ตัวตนอย่างหนึ่ง  และ ไม่มีตัวตนอย่างหนึ่ง



ในแง่  สมมติสัจจะ  อนัตตา  ควรแปลว่า  ไม่ใช่ตัวตน  แต่เป็นอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งรู้ได้ยาก  แยกวิเคราะห์ศัพท์ได้ว่า  น  อตฺตา = อนตฺตา ตัวอย่างเทียบ  เช่น


น  อสฺโส   =   อนสฺโส    สัตว์นี้มิใช่ม้า

น  อริโย    =   อนริโย     ผู้นี้มิใช่อริยะ  แต่เป็นอะไรอย่างหนึ่ง  ซึ่งผู้พูดยังไม่บอก





แต่ในแง่ของปรมัตถสัจจะ  อนัตตา  ควรแปลว่า  ไม่มีตัวตน  คือหาตัวตนที่แท้จริงไม่ได้  เป็นเพียงการประมวลแห่งเหตุปัจจัยแล้วเกิดสิ่งหนึ่งขึ้นเป็นปฏิจจสมุปบาท




ตัวอย่างเช่น สัตว์นี้มิใช่ม้า  ถ้าอย่างนั้นมันเป็นอะไร ?  สมมติว่าเป็นวัว  


ถามต่อไปว่าอะไรคือวัว ?


ขามัน  เขามัน  หางมัน  หนังมัน  หรืออะไร ?


ในที่สุดเราจะหาวัวไม่เจอ


เจอแต่มวลแห่งเหตุปัจจัยต่างๆ ซึ่งรวมกันให้เราสมมติเรียกว่า วัว  โดยลักษณะพิเศษบางอย่างที่แตกต่างจากสัตว์อื่น




ที่กล่าวนี้  พูดในแง่ของรูปศัพท์  และคำแปล  ส่วนความหมายนั้น  อนัตตา  พระพุทธเจ้าทรงให้ความหมายไว้สั้นๆ ในอนัตตลักษณสูตรว่า  “ขันธ์ ๕  ชื่อว่าเป็น  อนัตตา  เพราะหวังไม่ได้  บังคับไม่ได้ว่า  จงเป็นอย่างนี้เถิด  อย่าเป็นอย่างนั้นเลย”




โดยนัยแห่งอนัตตลักษณสูตร  พอสรุปความเรื่องอนัตตาได้ว่า  ที่ว่าเป็นอนัตตานั้นเพราะเหตุอย่างน้อย  ๓  ประการ  คือ



๑. เราไม่อาจเลือกเอาได้ตามพอใจ

๒. เราไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น

๓. ขันธ์ ๕ เป็นเพื่ออาพาธ





อนึ่ง  สิ่งทั้งปวง  ชื่อว่าเป็นอนัตตา  เพราะเหตุ((๑) ธรรมวิจารณ์,  สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส) ๔  อย่าง  คือ


๑. ไม่อยู่ในอำนาจ  หรือฝืนความปรารถนา  บังคับบัญชาไม่ได้


๒. แย้งต่ออัตตา  คือ  ไม่เป็นอัตตาที่จะพึงยึดมั่นได้ว่านั่นของเรา  ดังแสดงในอนัตตลักขณสูตรว่า  สิ่งใดไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา  ควรหรือที่ใครๆ จะพึงเห็นว่า  นั่นของเรา(เอตํ  มม)  เราเป็นนั่น(เอโส  หมสฺมิ)  นั่นเป็นตัวตนของเรา(เอโส  เม  อตฺตา)  


๓. ด้วยหาเจ้าของมิได้  มันเป็นกระบวนการธรรมชาติ  ไม่เป็นของใคร  มันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย  เมื่อจะดับย่อมดับเพราะสิ้นเหตุปัจจัย


๔. ด้วยความเป็นของสูญ  คือว่างเปล่า  คือเมื่อพิจารณาโดยแยบคาย  แยกย่อยลงไปทอนลงไปก็หาตัวตนไม่พบ  มีแต่ความว่าง

การเข้าไปยึดถือสิ่งต่างๆ แม้แต่ร่างกายและจิตโดยความเป็นตัวตน  จึงเป็นการยึดที่ผิดซึ่งท่านเรียกว่า วิปัลลาส  



แต่โดยทั่วไป  บุคคลได้ยึดถือหรือถูกสอนให้ยึดถือมาเป็นเวลานานตั้งแต่พอรู้เดียงสา  ความยึดถือนั้นจึงแทรกซึมซ่อนเร้นอยู่อย่างแนบสนิทแน่นแฟ้นเหมือนอย่างว่า  



-->>  เมื่อเสื้อผ้าของเราเปื้อน  เราไม่พูดว่า  ตัวเราเปื้อน  เพราะเรามิได้ยึดเสื้อผ้าเป็นตัวตนของเรา  เราแยกเสื้อผ้าไว้ต่างหากจากเรา  

ถึงกระนั้นก็ตาม  เราก็ยังเดือดร้อน  เมื่อเสื้อผ้าสวยๆ ของเราเปื้อนโคลน  เพราะเรายึดถือว่ามันเนื่องด้วยเรา  เสื้อผ้าสวยทำให้เราเด่นขึ้น  มีอหังการ (Ego) มากขึ้น  เสื้อผ้าเรายึดถือว่าเป็นของเราก็จริง  แต่ก็ไม่ลึกซึ้งนัก  



เมื่อใดกายของเราเปื้อน เรารู้สึกทันทีว่าตัวเราเปื้อน  เพราะเรายึดว่า  กายเป็นตัวเรา  กายเจ็บ  เราก็นึกทันทีว่า  เราเจ็บ  

แม้ความหิวที่เป็นกระบวนการธรรมชาติของร่างกาย  แต่เราก็ออกรับว่า  เราหิว  เราไม่เคยกล่าวว่า  ร่างกายของเราหิว  

ใครมาตีร่างกาย  เราก็โกรธแค้นว่า  เขาตีเรา  

ใครมาติสิ่งสมมติ  คือชื่อของเรา  เราก็เดือดร้อน  ถ้าเขาชมก็ดีใจ  ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า  เราไม่สามารถแยกร่างกายออกจากตัวตนของเราได้



 
-->> บางคราวเรายึดเอาจิตใจว่า  เป็นตัวตนของเรา  ตัวอย่างเช่น  ความเศร้าโศก  ความปรีดา  ปราโมช  ซึ่งเป็นพฤติกรรมของจิต  เมื่อพฤติกรรมอันนี้เกิดขึ้นในจิต  เราก็ทึกทักเอาว่า  เราเศร้าโศก  เราปรีดาปราโมช

เราไม่เคยนึกว่า  จิตเป็นผู้เศร้าโศก  หรือปรีดาปราโมช  เมื่อจิตมีความสุข  เราก็ยินดีว่า  เรามีความสุข  ความเบิกบาน  เราไม่สามารถแยกตัวตนออกจากจิตหรือพฤติกรรมของจิตได้




การยึดจิตว่าเป็นตัวตนนี้  นำความเดือดร้อนมาให้เหมือนกัน  เป็นความยึดผิด  สำคัญผิด  และเห็นผิด  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  การยึดกายว่าเป็นตัวตนยังดีกว่าการยึดจิตว่าเป็นตัวตน  เพราะความปรวนแปรแห่งกายเห็นได้ง่าย


“ภิกษุทั้งหลาย !  แต่ธรรมชาติเรียกว่า  จิตบ้าง  มโน
บ้าง  วิญญาณบ้าง  ปุถุชนผู้มิได้สดับไม่สามารถที่จะเบื่อ
หน่ายคลายกำหนัดและพ้นไปได้  เพราะเหตุว่าเขายึดถือ
และคิดว่าจิตเป็นของเรา  และเห็นมานานแล้วว่า  นั่นเป็น
ของเรา  เราเป็นนั่น  นั่นเป็นตัวตนของเรา  การที่ปุถุชนยึด
ถือกายอันประกอบด้วยธาตุ  ๔  ว่าเป็นตน  ยังดีกว่า  ส่วน
การถือว่า  จิตเป็นตนไม่ดีเลย  เพราะกายอันประกอบด้วย
ธาตุ ๔  นี้ตั้งอยู่  หนึ่งปี  สองปี...ห้าปี  ร้อยปี  หรือยิ่งกว่า
นั้น  ยังพอเห็นได้  ส่วนธรรมชาติที่เรียกว่า จิตบ้าง  มโน
บ้าง  วิญญาณบ้างนั้น  เพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง  ดวงหนึ่ง
เกิดขึ้น  ดวงหนึ่งดับไป”


พระไตรปิฎก  สังยุตตนิกาย  นิทานวรรค  เล่ม ๑๖  หน้า ๑๑๔

-->>อะไรรับผลแห่งบุญและบาป



มีคนสงสัยกันมากว่า  เมื่อทั้งกาย  และจิตเป็นอนัตตาแล้ว  บุคคลประกอบกรรมดีกรรมชั่วลงไป  อะไรเป็นผู้รองรับ  หรือเสวยผลแห่งบุญบาปนั้น ?  



ตอบว่า จิตหรือวิญญาณซึ่งเป็นอนัตตานั่นเองเป็นผู้รับ  เพราะแม้จะไม่เที่ยง  เปลี่ยนแปลง  และไม่ใช่ตัวตน  ไม่มีตัวตนก็จริง  แต่ก็เป็นสันตติ  คือความสืบต่อเป็นเครื่องเชื่อมโยงไม่ขาดสาย


เปรียบทางรูปกายที่เห็นได้ง่าย  คือกายรับประทานอาหารเข้าไป  อาหารนั้นถ้าดีก็เป็นประโยชน์แก่กายนั้น  ถ้าเสียก็เป็นโทษแก่กายนั้น  ทั้ง ๆ ที่กายนั้นก็ไม่เที่ยง  ไม่ใช่ตัวตน  หรือไม่มีตัวตน  อาหารเสียเปรียบเหมือนบาปเป็นโทษแก่วิญญาณ  อาหารดีเปรียบเหมือนบุญ เป็นคุณประโยชน์แก่วิญญาณ




เคยมีผู้ถามพระพุทธเจ้าอีกว่า  เมื่อพระองค์ทรงสอนพระสาวกว่าไม่ใช่ตัวตน  ไม่มีตัวตนแล้ว  เหตุไฉน  ในบางครั้ง  พระองค์จึงทรงสอนให้ละอัตตา  คือตัวตนเสีย  คล้ายกับว่าสอนให้ละสิ่งที่ไม่มี



พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “สิ่งใดที่ท่านยึดมั่นอยู่ว่าเป็นตัวตนก็ให้ละสิ่งนั้นเสีย  มันจะเป็นอะไรก็ตาม”



ตามนัยนี้  หมายความว่า  ตัวตนจริงๆ ไม่มี  แต่คนทั้งหลายมักยึดมั่นว่ามีว่าเป็น  จึงทรงสอนให้ละสิ่งที่เขายึดมั่นว่าเป็นตัวตนนั้นเสีย  แปลว่าทรงสอนให้ละอัตตวาทุปาทาน  คือความยึดมั่นในอัตตวาท(วาทะว่าตัวตน)




ในการแก้ปัญหาของโมฆราชมานพ  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  อตฺตานุทิฏฐํ  โอหจฺจ  จงถอนความเห็นว่าเป็นตัวตนเสีย  เมื่อเป็นดังนี้  มัจจุราชจักมองไม่เห็นท่าน

มีผู้สงสัยอีกว่า  เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องอนัตตาแล้ว  เหตุไฉนในที่บางแห่ง  จึงทรงสอนอีกว่า  ให้ถือเอาตนเป็นที่พึ่ง  อย่าเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย  เพราะตนเท่านั้น  เป็นที่พึ่งของตน



มาถึงตอนนี้  ควรพูดกันถึงเรื่องสัจจะ  ๒  อย่าง  คือ  สมมติสัจจะอย่างหนึ่ง  และปรมัตถสัจจะอย่างหนึ่ง  พระพุทธศาสนายอมรับความจริงทั้งสองอย่าง  และสอนให้ปฏิบัติให้เหมาะสมในสัจจะทั้งสอง




-->สมมติสัจจะคือจริงโดยสมมติ  ตามที่ชาวโลกเขาสมมติเรียกกัน  เช่น  มารดาบิดา  บุตร  ภรรยา  อุปฌายะ  อาจารย์  ครู  และศิษย์  เป็นต้น  การยอมรับสมมติอย่างนี้แล้วปฏิบัติตนให้เหมาะสม  ถือเป็นการประพฤติธรรมอย่างหนึ่ง  เป็นธรรมอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สังคม



-->ปรมัตถสัจจะคือความจริงโดยปรมัตถ์  หรือความจริงขั้นสูง  เป็นความจริงขั้นสุดท้าย  เช่น ความไม่มีตัวตนของสิ่งทั้งปวง




ผู้ติดในสมมติเกินไป  มักหลงผิด  ยึดเอาสมมติเช่น  ยศศักดิ์ที่เขาตั้งให้ว่าเป็นตัวตนจริงจัง  เป็นเหตุให้ยกตนข่มผู้อื่น  หลงตัวว่าวิเศษไม่มีใครเท่า  ทำให้วางตน  วางท่าสูงเกินจริง  ทำให้กิเลสฟูขึ้นมาก  เป็นที่สะอิดสะเอียนของผู้พบเห็นหรือสมาคมด้วย  


ผู้เช่นนี้  ถ้าได้รู้ปรมัตถสัจจะเสียบ้างก็เป็นทางคลายทิฐิมานะให้น้อยลง  ทำให้ตนเองเบากายเบาใจ  ไม่ต้องหนักใจด้วยเที่ยวแบกยศศักดิ์อยู่




ส่วนผู้หนักในปรมัตถ์เกินไป  ไม่ยอมรับสมมติเสียบ้างเลย  อาจทำให้ปฏิบัติตนไม่เหมาะสมในสังคม  ด้วยเห็นว่าอะไรๆ ก็สมมติทั้งนั้น  หนักเข้าอาจถึงกับปฏิเสธคุณของมารดาบิดา  ครู  อาจารย์  ปฏิเสธ  บุญ  บาป  กรรม  และสังสารวัฏ  ทิฏฐิอย่างนี้  ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ  มีแต่เป็นโทษแก่ตน




การรู้เรื่อง อนัตตา  จึงต้องประกอบด้วยโยนิโสมนสิการ  คือมีปัญญาอันแยบยลกำกับ  มิฉะนั้นจะพลาดไปตกหลุมมิจฉาทิฏฐิได้ทั้งสองอย่าง...




///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  หนังสือชื่อ พุทธปรัชญาเถรวาท  :  อ.วศิน  อินทสระ


หมายเลขบันทึก: 215732เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2008 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท