การถอดบทเรียนองค์กรสร้างเสริมสุขภาพของคณะพยาบาลศาสตร์ศิริราชโดยกระบวนการ AIC


เวทีนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ว่า การจัดการความรู้ (Knowlege Management) ซึ่งผสมผสานแนวทางการเรียนรู้และวางแผนอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน (Particpatory Planing Management) เพื่อสร้างพลังการจัดการเป็นทีมในวิถีชุมชน (Community-Based Approach Organization Empowerment) ในองค์กรที่เป็นทางการนั้น สามารถทำได้และทำให้ครอบคลุมความจำเป็นทางด้านการบริหารจัดการ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพขององค์กรที่เป็นทางการ ดีขึ้น ทำให้การวิจัยชุมชนเพื่อสร้างสุขภาพในชุมชน สามารถนำองค์ความรู้และแนวทางการทำงาน มาสะท้อนสู่การพัฒนาคุณภาพองค์กรในฐานะที่เป็นชุมชนทางสุขภาพ (Health Community) อย่างหนึ่งได้ อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเป็นองค์กรบริการสาธารณะที่มีผลิตภาพ และทำให้ชุมชนในแหล่งประกอบกิจการมีความสุข สามารถหาความรื่นรมย์และความงอกงามในชีวิต เหมือนอยู่ในชุมชน

           เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2548 ได้จัดเวทีกระบวนการ AIC สำหรับระดมพลังกลุ่มของคณาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล ในการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ  เรียนรู้วิธีการเชิงเทคนิคของการถอดบทเรียน ซึ่งเป็นการจัดการความรู้ในการปฏิบัติ และพัฒนาทักษะการจัดกระบวนการระดมพลังกลุ่ม ด้านหนึ่งก็เพื่อนำเอาประสบการณ์และการดำเนินงานที่ผ่านไปแล้วมาทบทวน เรียนรู้ และซาบซึ้งเกี่ยวกับองค์กรของตนเอง ด้วยการใช้ทั้งสมองและหัวใจ  ส่วนอีกด้านหนึ่ง  ก็เพื่อได้ข้อมูลและความเป็นจริงของการปฏิบัติ มาทำการสร้างยุทธศาสตร์และวางแผนให้จังหวะก้าวต่อไป  เกิดความสืบเนื่องและยกระดับมากยิ่งๆขึ้นทั้งในเชิงคุณภาพและมาตรฐานการปฏิบัติ ซึ่งบ่งชี้ความคืบหน้าในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายทางสุขภาพในองค์กร  และใช้กระบวนการสร้างสุขภาพ พัฒนาองค์กรทุกๆด้านไปด้วย

           การออกแบบกระบวนการให้ลงตัวในวันเดียว  โดยยังคงสามารถบรรลุผลที่ต้องการได้ครบนั้น  จัดว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก  แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลาของกลุ่มผู้ร่วมประชุม ก็จำเป็นต้องทำ โดยกรอบตัวแปรสำคัญที่นำมาออกแบบกระบวนการ คือ

           (1)  การขับเคลื่อนชุมชนปฏิบัติ  (CoP:Community of Practice) ประกอบด้วยการเน้นการมีบทบาทและมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรสายสนับสนุนทางวิชาการ ในฐานะผู้ปฏิบัติ  เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเสริมความคิด  ความบันดาลใจ และเพิ่มพูนข้อมูลข่าวสารให้กัน ซึ่งจะทำให้กลุ่มปฏิบัติการมีโครงสร้างทางปัญญา ตลอดจนเกิดพลังเครือข่ายการปฏิบัติด้วยการจัดการความรู้สึกนึกคิด และการมีความรู้ความเข้าใจร่วมกัน  พาองค์กรไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้มากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากความที่ต้องร่วมมือกันเพราะการกำกับควบคุมด้วยโครงสร้างทางอำนาจ และตำแหน่งหน้าที่(Management Through Line of Command) ซึ่งทำได้ยากในสังคมมหาวิทยาลัยและชุมชนวิชาการ

           (2)  การเรียนรู้เชิงการวิจัยจากการปฏิบัติ (Research Oriented Learning through Action) ประกอบด้วยกระบวนการนำเอาประสบการณ์ตรงของคณะและบุคลากรของคณะในฐานะปัจเจก มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามแง่มุมต่างๆ เพื่อให้ความตระหนัก ความซาบซึ้ง และการเห็นคุณค่าต่างๆ  (Appreciation) ถักทอขึ้นมาจากการใช้เหตุผล  ปัญญา และความรู้ อย่างใคร่ครวญ      มิใช่ชอบหรือเห็นว่าเป็นอุปสรรคปัญหาโดยการคิดเอาเองด้วยอารมณ์  จินตนาการ และความรู้สึกของแต่ละคนเท่านั้น การจัดกระบวนการเวที เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมได้เรียนรู้เองในเรื่องกระบวนการถอดบทเรียน โดยการจัดกิจกรรมกลุ่มแต่ละขั้น ให้เป็นกระบวนการเชิงการวิจัยด้วย ได้จัดในรูปของ การผุดประเด็นสำคัญ  การตั้งคำถาม  การแสวงหาวิธีตอบและสร้างความรู้ขึ้นมาอย่างเป็นระบบจากข้อมูลเชิงประสบการณ์ที่คณะและคนของคณะได้สัมผัสมาจริงๆ การสรุปและสะท้อนการเรียนรู้ไปสู่สิ่งที่จะทำในอนาคต (Reflective Planing)

           (3)  การวางแผนและบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม (Particpatory Planing Management) ประกอบด้วยการเรียนรู้เป็นทีมตลอดกระบวนการ ส่วนการแสดงออกเดี่ยวๆ ได้เปิดโอกาสให้ในช่วงสะท้อนความคิดเห็นและอยากมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพิ่มเติม เสร็จแล้ว  ได้จัดกระบวนการให้ค้นหาประเด็นเพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกัน  ที่จะนำประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมา รวมทั้งสิ่งที่กลั่นกรองขึ้นมาจากเวที  สะท้อนกลับไปสู่การทำงานของทุกคน  ทั้งในเรื่องการปฏิบัติทางสุขภาพ  สร้างสุขภาพของตนเอง และการนำเอาการเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆจากการปฏิบัตินี้ ไปสู่การพัฒนาการวิจัย  การจัดการเรียนการสอน  การบริการทางวิชาการ การบริหารจัดการ และอื่นๆ  แต่เดิมนั้น  ออกแบบให้ขั้นตอนท้ายนี้ เป็น Reflective Planing โดยใช้เทคนิคการทางานกลุ่มสร้าง Re-entry Plan

            ผลของเวทีน่าสนใจมากทีเดียว (1) ได้ภาพผลกระทบและผลสืบเนื่องของกระบวนการสร้างสุขภาพทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  อันเกิดจากการที่หลายๆคน หลายๆฝ่าย นำมาปะติดปะต่อกัน  ได้แจ่มชัดมากขึ้น บางประเด็นทำให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของสิ่งที่บ่งชี้การพัฒนาคุณภาพที่เกิดขึ้นจริงจากการปฏิบัติ เช่น ความหมายของสิ่งที่บุคลากรใช้อธิบายความสุขและความพึงพอใจต่อองค์กรของตนเอง  ผ่านกิจกรรมที่มีขึ้นในคณะและตนเองได้มีส่วนร่วม  ทั้งการปฏิบัติและการมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกันผู้อื่น  (2) ได้ลำดับความสำคัญของประเด็นเพื่อวางแผนต่อไป 2 องค์ประกอบ คือ เหตุปัจจัยที่ทีมของคณะได้ระดมสมองกันแล้วว่า มีบทบาทมาก 4 ลำดับ ต่อการทำให้กระบวนการสร้างสุขภาพของคณะ ได้ผลออกมาดีในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา  และอุปสรรคปัญหาที่มีอิทธิพลมากอีก 4 ลำดับ ในการทำให้หลายอย่างไม่ออกมาตามที่คาดหวังกัน ทั้งสองส่วน นำไปสู่การได้กรอบในการสร้างเสริมปัจจัยที่เกื้อหนุนความเข้มแข็งและแนวทางควบคุมเพื่อลดเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรค (3) ได้ข้อตกลงในการทำงานเดี่ยวหรือเกาะกันเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อสร้างบทเรียน 1 เรื่อง และเขียนรายงานการถอดบทเรียน 1 เรื่อง เพื่อนำมาถอดบทเรียนอีกรอบในเดือนเมษายน ต่อไป

          เวทีนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ว่า การจัดการความรู้ (Knowlege Management) ซึ่งผสมผสานแนวทางการเรียนรู้และวางแผนอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน (Particpatory Planing Management)    เพื่อสร้างพลังการจัดการเป็นทีมในวิถีชุมชน (Community-Based Approach Organization Empowerment) ในองค์กรที่เป็นทางการนั้น สามารถทำได้และทำให้ครอบคลุมความจำเป็นทางด้านการบริหารจัดการ  ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพขององค์กรที่เป็นทางการ ดีขึ้น ทำให้การวิจัยชุมชนเพื่อสร้างสุขภาพในชุมชน สามารถนำองค์ความรู้และแนวทางการทำงาน มาสะท้อนสู่การพัฒนาคุณภาพองค์กรในฐานะที่เป็นชุมชนทางสุขภาพ (Health Community) อย่างหนึ่งได้ อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเป็นองค์กรบริการสาธารณะที่มีผลิตภาพ และทำให้ชุมชนในแหล่งประกอบกิจการมีความสุข สามารถหาความรื่นรมย์และความงอกงามในชีวิต เหมือนอยู่ในชุมชน

           

 

หมายเลขบันทึก: 21490เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2006 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท