เรื่องเล่า ชาว ”ยุพราชปัว จังหวัดน่าน : การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต


เรื่องเล่าของพวกเรา ชาว ยุพราชปัว จังหวัดน่าน : การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต (6 ตุลาคม 2551)

 

                   โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 มีการทำกิจกรรมทบทวนผู้ป่วยระยะสุดท้ายในความดูแล โดยริเริ่มขึ้นในบางหอผู้ป่วย จนได้แนวทางในการดูแลขึ้นมาและขยายผลนำไปใช้ในหอผู้ป่วยอื่น แต่ทั้งนี้เนื่องจากการเจ็บป่วยจนเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิตนั้น เป็นภาวะการณ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ซับซ้อน เกี่ยวเนื่องกันไปหมดทุกด้าน เมื่อมีการเจ็บป่วยทางกายที่รุนแรงไม่สามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้แล้วนั้น ย่อมที่จะกระทบกับภาวะสุขภาพในมิติทางด้านจิตใจ ซึ่งก็จะเกี่ยวเนื่องไปถึงความคิดความรู้สึกเกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธา มีการเสาะแสวงหาที่พึ่งทางใจ  มีผลกระทบต่อมิติความสัมพันธ์ทางด้านครอบครัว สังคม ซึ่งจากผลกระทบหลายด้านดังกล่าวทำให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องใช้เวลาในการดูแลค่อนข้างมาก ต้องการความต่อเนื่อง และต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในการดูแลที่ซับซ้อนดังกล่าว ทำให้การนำแนวทางปฏิบัติที่กำหนดขึ้นในระยะแรกไปใช้นั้น ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร การใช้แนวปฏิบัติยังจำกัดอยู่เพียงบางหอผู้ป่วยและบางมิติเท่านั้น    

ยังมีประเด็นซึ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาที่สำคัญ ที่ทำให้กระบวนการดูแลผู้ป่วยเกิดความต่อเนื่องและครอบคลุมในแต่ละมิติ  นั่นคือ การจัดการให้มีบุคลากรที่รับผิดชอบเป็นผู้ประสานงานการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยตรง

                PCT ได้เริ่มโครงการพัฒนาคุณภาพระบบการดูแลแบบประคับประคองในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ขึ้นอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยอาศัยรูปแบบการจัดการรายกรณีของพยาบาลผู้ปฏิบัติการขั้นสูง (APNs case manager) มีการทบทวนแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายขึ้นใหม่โดยอาศัยหลักฐานอ้างอิงเชิงประจักษ์ มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของโรงพยาบาล
สมเด็จพระยุพราชปัว โดยมีกระบวนการในการดูแลคือ เมื่อมีผู้ป่วยเข้ามา
Admit แพทย์จะเป็นผู้ให้ตัดสินวินิจฉัยว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตหรือไม่ ถ้าใช่ แพทย์ก็จะเขียนระบุลงไปใน chart ว่าแจ้งทีมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย พยาบาล ward ก็จะมีการแจ้ง case มาที่ APNs case manager เพื่อเข้าไปร่วมดูแลตามแนวทางที่กำหนด เน้นการดูแลอย่างเป็นองค์รวม มีการประเมินผลกระทบของการเจ็บป่วยในเชิงรุกทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง  ไม่รอจนกว่าจะมีอาการปรากฏชัดเจน  มีการวางแผนการจำหน่ายและการดูแลต่อเนื่องที่บ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย  มีช่องทางการติดต่อทางโทรศัพท์ เป็น Hot line 24 ชั่วโมง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยและญาติในการกลับไปดูแลต่อเนื่องที่บ้าน กรณีผู้ป่วยเสียชีวิตก็จะมีการติดตามดูแลต่อเนื่องแก่ครอบครัวภายหลังการเสียชีวิตของผู้ป่วยอีกด้วย  

 

            ผลลัพธ์ของการดำเนินการ พบว่า เราได้ดูแลคนไข้กลุ่มนี้มาด้วยกันทั้งสิ้น 64 ราย ในระยะเวลา 14 เดือน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็ง  ผู้ป่วยและ/หรือญาติมีความพึงพอใจในการดูแลในระดับมาก ถึงร้อยละ 80 และในระดับมากที่สุด ร้อยละ 20    นอกจากนั้นในผู้ป่วยที่ติดตามได้ว่าเสียชีวิตแล้วนั้น มีการตายดี(Good death) ถึงร้อยละ 85.7  นอกจากนั้นเรายังได้ผลลัพธ์ที่ออกมาในรูปแบบของ คำชื่นชม  รอยยิ้ม  แววตาและคำขอบคุณ ซึ่งบอกไม่ได้ถึงมูลค่า
               
และอีกสิ่งหนึ่งที่พวกเราไม่ได้คาดหมาย แต่รับรู้ได้ด้วยใจของตนเอง ว่าเป็นผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานนี้ นั่นคือ  จิตใจของตนเองที่อ่อนโยนขึ้น  เราไม่เพียงแต่ได้ช่วยคนอื่น เรายังได้พัฒนาตนเองไปในคราวเดียวกัน  อีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 214753เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2008 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆเลยค่ะ โอกาสหน้าอย่าลืมเล่าเป็น case นะคะ พอลล่ารออ่าน อย่างใจจดจ่อเลยค่ะ ส่งเรื่องเล่ามาพรพ. บ้างนะคะ ขอบคุณมากๆค่ะ

ต้องขอบคุณ คุณพอลล่า เป็นอย่างมากนะคะที่ให้ความสนใจ...คงเป็นโชคดีของคนเมืองปัว และเขตอำเภอใกล้เคียงน่ะค่ะ ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัวของเรามีผู้บริหารระดับสูงที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ท่านได้ให้การสนับสนุนในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ในการพัฒนาบุคลากร เร็วๆนี้ (28-30 พย 51)เราก็จะได้รับเกียรติจากทีมวิทยากรของเสมสิกขาลัยร่วมกับชมรมพุทธิกา มาจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่อง เผชิญความตายอย่างสงบ ให้กับทีมบุคลากรด้านสาธารณสุขในองค์กรของเรา ซึ่งก็คาดว่าจะสามารถทำให้บุคลากรซึ่งเป็นผู้ให้การดูแล "เข้าใจ" ในกระบวนการเผชิญความตายของผู้ป่วยและครอบครัวได้อย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การ "ยอมรับ"และให้การดูแลด้วยความ"เห็นอกเห็นใจ"และ "เคารพ"ในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างดี ต่อไป

ทางโรงพยาบาลของเรา ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เคยได้นำเสนอเรื่องราวของการดูแลแบบประคับประคองในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผ่านทางรายการโทรทัศน์ รายการ"โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกับชุมชน" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง NBT เมื่อวันสงกรานต์ ที่ 13 เม.ย. 51 ที่ผ่านมาแล้วครั้งหนึ่งค่ะ..และเคยนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องเล่า ในเวทีของ HA National Forum ครั้งที่ 9 ที่ผ่านมาที่เมืองทองธานี...และในโอกาสต่อไปคงได้มีโอกาสนำเรื่องราวที่ดีๆมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อไปค่ะ...

หนูก็กำลังทำเหมือนกันค่ะ

โรงพยาบาลหนูยังไม่ได้เริ่มอะไรยังไม่มีระบบ ยังไม่มีทีม

มีหนูอยากทำ และเพื่อนในตึกเห็นหนูทำอยากมีความรู้

อยากทำได้เหมือนเรา หนูมีโอกาสได้ดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายคนหนึง(หนูเป็นพยาบาลตึกผู้ป่วยใน โรงพยาบาล30 เตียงค่ะ)แล้วมีพยาบาลคนหนึ่งในเวรเดียวกันนั้นวันนั้นเวรเช้าค่ะเข้าไป round iv ถามคนไข้ว่าต้องการอะไร คนไข้บอกว่าต้องการคุณหมอคุณครูคนเมื่อกี้มาสอนผมหายใจ เพราะว่าก่อนหน้านี้หนูได้ไปดูแลเขา เขาหอบมากกระสับกระส่ายหนูไปพาเขาหายใจตั้งใจมีสมาธิอยู่กับการหายใจเพียงอย่างเดียวแล้วเขาก็ดีขึ้นค่ะ หนูรู้สึกภูมิใจมากๆๆค่ะ

สวัสดีครับ ดีใจที่รพ. ปัวดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี ให้กำลังใจครับ

สำหรับโรงพยาบาลหลายๆแห่งนั้น การที่อยู่ๆจะให้กำหนดแนวปฏิบัติ วางระบบลงมาเลย และมอบหมายให้มีคนรับผิดชอบดำเนินการตามแต่ละแนวทางที่วางไว้นั้น ถ้าปราศจากทีมงานหรือคนที่สนใจไฝ่รู้และมีใจที่อยากจะทำอย่างจริงจังแล้วนั้น โอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นยังอีกไกล อย่างเช่นที่โรงพยาบาลของเราเองในช่วงแรกที่ดำเนินการนั้น มีKey man ของหน่วยงานผู้ป่วยในแห่งหนึ่งที่สนใจ มีการนำ case มาทบทวน เสาะหาเอกสารตำรามาศึกษาและในที่สุดก็กำหนดเป็นแนวปฏิบัติขึ้นมา และกระจายให้หน่วยงานข้างเคียงนำไปใช้ หลังจากนั้นเป็นปี เมื่อมีการประเมินผล/ทบทวนผลการดำเนินงาน พบว่าไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะไม่มีคนที่รับช่วงต่อกันอย่างจริงจัง ไม่ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ของผู้ปฏิบัติ ไม่มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดขึ้น ใครอยากทำก็ทำไป ตึกไหนไม่ทำก็ไม่ได้มีผลอะไร...จนช่วงหลังมีผู้ที่สนใจอาสาเข้ามาทำงานนี้อย่างจริงจัง...รับconsult ถ้ามี case ให้แจ้งมา จะเข้าไปประเมินและดูแลร่วมด้วย...ต่อมาก็เริ่มมีการรับรู้กันในวิชาชีพข้างเคียงว่า มีคนสนใจรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ร่วมด้วยนะ ก็เลยเริ่มมีการพูดคุยและเปลี่ยนกันอย่างไม่เป็นทางการในกลุ่มคนที่สนใจ ใครมีหนังสือ CD สื่อการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องก็นำมาแบ่งปันกัน แลกกันอ่าน...จนเริ่มเป็นที่รับรู้กันมากขึ้นในโรงพยาบาล มีการส่ง case กันมากขึ้น ผู้บริหารสูงสุดก็ให้การสนับสนุน มีการจัดเวทีให้ได้มีการแบ่งปันเรื่องราวที่ได้เรียนรู้จากการดูแลผู้ป่วย...นี่แหละค่ะ คือก้าวย่างของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัวของเรา...อยากเป็นกำลังใจให้กับ "peang" นะคะ ว่าค่อยๆศึกษา ค่อยๆทำไป อะไรก็ตามถ้าเรามีใจที่อยากจะทำ โดยเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยแล้ว ...ผลบุญ..ความอิ่มใจ..ความสุขใจ จากการที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวที่กำลังมีทุกข์นั้น...จะเป็นพลังหล่อเลี้ยงจิตใจของเราให้เติบโต งดงาม...และสิ่งนั้นจะเป็นแรงดึงดูดให้มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดค่ะ...

ดีจังเลยค่ะ โรงพยาบาลปัว มีทีมงานที่เข้มแข็ง ทำด้วยความความสุข ปรารถนาดี และเต็มกำลังความสามารถ ทำให้ได้ผลลัพท์ที่น่าชื่นชมยินดี อย่างนี้ เป็นแบบอย่างที่ดี ให้แก่ โรงพยาบาลอื่นๆ ที่เพิ่งเริ่มได้ด้วย เป็นกำลังใจให้ค่ะ

   เป็นรูปธรรมทั้ง quantitative และ qualitative

   และชอบย่อหน้าสุดท้ายที่สุดเลยครับ ยินดีด้วยครับ น่าชื่นชมมากครับ

ขอชื่นชมคุณไพรินทร์ ในการทำหน้าที่ APN ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอยากให้แชร์ Case ที่น่าท่านประทับใจ ในการดูแลแบบองค์รวมว่ามีกระบวนการอย่างไรที่สามารถช่วยให้ท่านเหล่านั้น ไปสู่เป้าหมายตายดี

ขอบตุณ

อยากให้ พี่นาย.. พัชรียา ไชยลังกา เขียน blog ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท