นิทานสำหรับเด็กปฐมวัย


นิทาน

นิทานสำหรับเด็กปฐมวัย

ความเหมาะสมของนิทานสำหรับเด็กปฐมวัยจำเป็นต้องคำนึงถึงความสนใจ
การรับรู้และความสามารถตามวัยของเด็ก เป็นสำคัญ
จึงยังเกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อการเรียนรู้ของเด็กเด็กจะเริ่มรับรู้นิทาน จากภาพที่มองเห็นและเสียงที่ได้ยิน โดยรู้ความหมายไปทีละเล็กทีละน้อย
จนสามารถเชื่อมโยงภาพ และคำบอกเล่าที่ได้ยิน
ตลอดจนจดจำเนื้อหาและเรื่องราวต่างๆ
ที่นำไปสู่การอ่านตัวหนังสือได้อย่างมีความหมายต่อไป

เด็กอายุ 0 - 1 ปี

นิทานที่เหมาะสมในวัยนี้ ควรเป็นหนังสือภาพที่เป็นภาพเหมือนรูปสัตว์ ผัก ผลไม้ สิ่งของในชีวิตประจำวัน และเขียนเหมือนภาพของจริง
มีสีสวยงาม ขนาดใหญ่ชัดเจน เป็นภาพเดี่ยวๆที่มีชีวิตชีวา ไม่ควรมีภาพหลัง
หรือส่วนประกอบภาพที่รกรุงรัง รูปเล่มอาจทำด้วยผ้าหรือพลาสติก
หนานุ่มให้เด็กหยิบเล่นได้ เวลาเด็กดูหนังสือภาพ พ่อแม่ควรชี้ชวนให้ดูด้วยความรัก
เด็กจะตอบสนองความรักของพ่อแม่ด้วยการแสดงความพอใจ
ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและหนังสือภาพจึงส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกด้วย

 

 

 

 

 

เด็กอายุ 2 - 3 ปี

 

เด็กแต่ละคนจะเริ่มชอบต่างกัน แล้วแต่สภาพแวดล้อมที่ถูกเลี้ยงดู การเลือกหนังสือนิทานที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ ควรเป็นหนังสือนิทาน หรือหนังสือภาพที่เด็กสนใจ ไม่ควรบังคับให้เด็กดูแต่หนังสือที่พ่อแม่ต้องการให้อ่าน หนังสือที่เหมาะสม ควรเป็นภาพเกี่ยวกับชีวิตประจำวันสัตว์ สิ่งของ เด็กเล็กในช่วงนี้ มีประสาทสัมผัสทางหูดีมากหากมีประสบการณ์ด้านภาษา และเสียงที่ดีในวัยนี้
เด็กจะสามารถพัฒนาศักยภาพด้านภาษาและดนตรีได้ดี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2 - 4 ปีเด็กมีความสนใจเสียงและภาษาที่มีจังหวะ
เด็กบางคนจำหนังสือที่ชอบได้ทั้งเล่ม จำได้ทุกหน้า ทุกตัวอักษร
เหมือนอ่านหนังสือออก เด็กอายุ 3 ปี มีจินตนาการสร้างสรรค์
อยากรู้อยากเห็น เข้าใจเรื่องเล่าง่ายๆ ชอบเรื่องซ้ำไปซ้ำมา ดังนั้น
หากเด็กมีประสบการณ์ที่ดีในช่วงเวลานี้
จะเป็นพื้นฐานในการสร้างนิสัยรักการอ่าน ของเด็กในอนาคต

 

เด็กอายุ 4 - 5 ปี

เด็กวัยนี้มีจินตนาการสร้างสรรค์
อยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัวเกี่ยวกับธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมว่าสิ่งนี้มาจากไหน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นเช่นนี้
เริ่มเข้าใจความแตกต่างระหว่างความจริงกับเรื่องสมมุติ
นิทานที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้ควรเป็นนิทานที่เป็นเรื่องที่ยาวขึ้น
แต่เข้าใจง่าย ส่งเสริมจินตนาการ และอิงความจริงอยู่บ้าง
เนื้อเรื่องสนุกสนานน่าติดตาม มีภาพประกอบที่มีสีสรรสดใสสวยงาม
มีตัวอักษรบรรยายเนื้อเรื่องไม่มากเกินไป
และมีขนาดใหญ่พอสมควรใช้ภาษาง่ายๆ การอ่านนิทานให้เด็กฟัง
พร้อมกับชี้ชวนให้เด็กดูภาพ ในหนังสือประกอบ จะเป็นการสร้างจินตนาการ
สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของพลังเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ

หากเด็กพบว่าเด็กชอบหนังสือเล่มใดเป็นพิเศษ
ก็จะให้พ่อแม่อ่านซ้ำไปมาทุกวันไม่เบื่อ ดังนั้นพ่อแม่ควรอดทนเพื่อลูก
เด็กบางคนจำข้อความในหนังสือได้ทุกคำ แม้ว่าจะมีคำบรรยายยาว ได้ทั้งเล่ม
ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากต่อพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก

 

 

หลักการเลือกนิทานที่เหมาะกับเด็กปฐมวัย
เหมาะสมกับวัย : เด็กในแต่ละวัยจะมีความสนใจฟังเรื่องราวต่างๆ แตกต่างกันไปตามความสามารถในการรับรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับนิทานที่เหมาะสมกับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรเป็นหนังสือภาพ สมุดภาพหนังสือภาพผสมคำ นิทานที่มีบทร้อยกรอง ในขณะที่นิทานที่เหมาะกับเด็กอายุ 3ปีขึ้นไป ควรเป็นนิทานที่มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับธรรมชาตินิทานเรื่องเล่าที่ให้ข้อคิด
ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับ
: การเลือกหนังสือต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่เด็กจะได้รับ
ในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กด้วย เช่น
สอนให้รู้จักคำเรียกชื่อสิ่งของต่างๆ
เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกพัฒนาความคิด จินตนาการ
ให้ความรู้สึกที่ดีต่อเด็ก มีความตลกขบขันให้ความสนุกสนาน
ช่วยแก้ปัญหาให้กับตัวเด็ก เมื่อเปรียบเทียบตนเองกับตัวละคร เป็นต้น
การอ่านเรื่องราว หรือเนื้อหาทั้งเล่มก่อนตัดสินใจเลือก จึงเป็นสิ่งสำคัญ

เนื้อหาและลักษณะรูปเล่ม
: นิทานหรือหนังสือที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัยควรเป็นเรื่องสั้นๆง่ายๆ
และไม่ซับซ้อน มีจุดเด่นของเนื่องจุดเดียว
เด็กดูภาพหรือฟังเรื่องราวเข้าใจได้ และสนุกสนาน มีเนื้อเรื่องที่ชัดเจน
ชวนติดตาม เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเด็ก และใกล้ชิดตัวเด็ก
หรือธรรมชาติแวดล้อม ไม่มีการบรรยายเนื้อเรื่อง
ควรมีลักษณะเป็นบทสนทนาโต้ตอบระหว่างตัวละคร ใช้ภาษาที่ถูกต้อง
ง่ายต่อความเข้าใจของเด็ก ตัวอักษรมีขนาดใหญ่ ใช้สีเข้มอ่านได้ชัดเจน
มีภาพประกอบที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง เป็นภาพที่มีสีสันสวยงามมีชีวิตชีวา
ส่วนใหญ่จะเป็นภาพเขียนหรือวาดมากกว่าภาพถ่าย มีรูปเล่มที่แข็งแรงทนทาน
ขนาดพอเหมาะกับมือเด็ก ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมเสมอไป
และมีจำนวนหน้าประมาณ 10-20 หน้า

 

วิธีการเล่านิทานหรือเรื่องราวสำหรับเด็ก
เมื่อเลือกนิทานหรือเรื่องราวที่เหมาะสมกับวัยของเด็กได้แล้ว
วิธีการเล่านิทานหรือเรื่องราว เพื่อให้เด็กเกิดความสนใจ
ติดตามฟังเนื้อเรื่องจนจบ จำเป็นต้องทำให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะเล่าด้วย
การเล่านิทานที่นิยมมี 2 วิธี ดังนี้

1. การเล่าเรื่องปากเปล่า ไม่มีอุปกรณ์ : เป็นการเล่านิทานด้วยการบอกเล่าด้วยน้ำเสียงและลีลาของผู้เล่า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การขึ้นต้นเรื่องที่จะเล่า ควรดึงดูดความสนใจเด็ก
โดยค่อยเริ่มเล่าด้วยเสียงชัดเจน ลีลาของการเล่าช้าๆ และเริ่มเร็วขึ้น
จนเป็นการเล่าด้วยจังหวะปกติ

เสียงที่ใช้ควรดัง และเป็นประโยคสั้นๆได้ใจความ
การเล่าดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่ควรเว้นจังหวะการเล่านิทานให้นาน
จะทำให้เด็กเบื่อ อีกทั้งไม่ควรมีคำถาม หรือคำพูดอื่นๆที่เป็นการขัดจังหวะ
ทำให้เด็กหมดสนุก

การใช้น้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง แสดงให้สอดคล้องกับลักษณะของตัวละคร ไม่ควรพูดเนือยๆ เรื่อยๆ เพราะทำให้ขาดความตื่นเต้น

อุ้มเด็กวางบนตัก โอบกอดเด็กขณะเล่า หรือถ้าเล่าให้เด็กหลายคนฟัง อาจจะนั่งเก้าอี้ให้เหมาะสมกับสายตาเด็ก

ใช้เวลาในการเล่าไม่ควรเกิน 15 นาที เพราะเด็กมีความสนใจในช่วงเวลาสั้น

ให้โอกาสเด็กซักถาม แสดงความคิดเห็น

2. การเล่าเรื่องโดยมีอุปกรณ์ช่วย เช่น สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเช่น สัตว์ พืช , วัสดุเหลือใช้เช่น กล่องกระดาษ กิ่งไม้

หมายเลขบันทึก: 214750เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2008 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

    เข้ามาเยี่ยมชมสาระที่ดีๆครับ

    นืทานถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาสมองเด็กมาก

                             ขอบคุณครับ

ทำไม สาระเหมือนบทความของนายแพทย์ บวร งามศิริอุดม

ใครนำมาจากใคร....ควรอ้างอิงให้ทราบด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท