สวนจิตรฯ ต้นแบบแห่งความพอเพียง


“พอเพียง” เป็นปรัชญาที่ใช้ได้กับชนทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ถึงระดับประเทศชาติ เพราะเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยในภาวะที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ปรัชญา “พอเพียง” ไม่เป็นแต่เพียงกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานลงมาเท่านั้น แต่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติพระองค์เองเป็นแบบอย่างให้แก่ปวงชนชาวไทย สำหรับสิ่งที่เป็นบทพิสูจน์คำพูดนี้ นั่นก็คือโครงการส่วนพระองค์ด้านต่างๆ ภายในสวนจิตรลดาที่ดำเนินมาตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี เมโทรไลฟ์ในฉบับนี้จึงขออนุญาตพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับปฐมบทแห่งการพัฒนาภายในสวนจิตรลดา ซึ่งถือเป็นต้นแบบแห่งความพอเพียง ในด้านต่าง ๆ

ใต้ร่มพระตำหนัก
          วังในห้วงคำนึงของบุคคลทั่วไปนั้นคงเป็นสถานที่รโหฐานซึ่งเต็มไปด้วยพระมหาปราสาท และหมู่พระตำหนักใหญ่น้อยที่วิจิตรงดงามราวเนรมิต แวดล้อมด้วยพระราชอุทยานที่มีดอกไม้และสิ่งประดับประดาอย่างหรูหรา แต่ภาพจริงของพระตำหนักสวนจิตรลดากลับเป็นเสมือนหนึ่งหน่วยงานทางเกษตรกรรม ที่มีกิจกรรมต่างๆ นานาอันเป็นผลจากพระวิริยะอุตสาหะของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ต้องการให้ราษฎรของพระองค์อยู่ดีกินดี และคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีพระราชวังที่ไหนในโลกใบนี้เหมือนพระตำหนักสวนจิตรลดาที่เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลา และไร่นาทดลอง อีกทั้งโรงโคนม รวมถึงโรงสีและโรงงานที่หลากหลาย จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรและพระมหากษัตริย์ ผู้ที่ทรงงานอย่างหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ด้วยพระองค์เอง”
          พระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีอาณาบริเวณเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เนื้อที่กว่า 400 ไร่ เป็นพระตำหนักที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้น้อยใหญ่พร้อมทั้งมีคูน้ำล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ยามที่ผู้คนสัญจรผ่านไปมาด้านนอกก็ได้อาศัยความเขียวขจีของหมู่ไม้ และผืนน้ำที่พลิ้วลมเป็นระลอกคลื่นเล็กๆ ในคูน้ำ และเสียงนกกาบนคาคบไม้เป็นสิ่งที่คลายเครียดในวิถีประจำวัน และเพิ่มพลังความสดชื่นให้กับตนเองโดยไม่รู้ตัว แต่สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกให้ทุกคนที่ผ่านไปมาในย่านนั้นได้ทราบว่าที่นี่คือที่ประทับของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นมิ่งขวัญของชาวไทยทั้งผอง ก็คือธงมหาราชสีเหลืองอร่ามที่โบกสะบัดอยู่บนยอดเสาเหนือพระตำหนักใจกลางพระราชวังแห่งนี้
          พระตำหนักสวนจิตรฯสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นอาณาบริเวณส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่ทราบกันดีว่าพระองค์คือนักประพันธ์ ฉะนั้นพระราชอัธยาศัยของพระองค์ท่านจึงโปรดการประทับในที่เงียบสงัดเช่นเดียวกับนักเขียนทั้งหลาย ในปี 2456 จึงโปรดให้ใช้เงินพระคลังข้างที่สร้างพระตำหนักจิตรลดารโหฐานขึ้น ณ บริเวณที่เรียกกันว่า “ทุ่งส้มป่อย” ซึ่งเป็นสถานที่ที่ต้องพระราชอัธยาศัยยิ่งนัก ชื่อของพระตำหนักนั้นมาจากชื่อพระตำหนักเดิมในวังปารุสกวัน แต่มาเพิ่มสร้อยว่า “รโหฐาน” เข้าไปรวมเป็น “พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน” ทั้งนี้เพื่อเน้นพระราชประสงค์ให้พระตำหนักแห่งนี้เป็นที่เงียบสงัดสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือต่างๆ และเป็นสถานที่ประทับส่วนพระองค์ที่ไม่ใช่ท้องพระโรงที่ใช้ในการพระราชพิธีอย่างพระบรมมหาราชวัง


สวนจิตรลดา...ในวันนี้

         ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นการถาวร และด้วยความสนพระราชหฤทัยในทุกข์สุขของราษฎรจึงได้พระราชทานเนื้อที่ส่วนหนึ่งของสวนจิตรลดา จัดตั้งเป็นโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ที่มีทั้งกลุ่มงานอุตสาหกรรม กลุ่มงานเกี่ยวกับการเกษตร และกลุ่มงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เหนืออื่นใดก็เพื่อบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ราษฎรของพระองค์ นอกจากนี้แล้วภายในเขตพระราชฐานแห่งนี้ยังมีโรงเรียนจิตรลดา ที่มีจุดประสงค์เมื่อแรกสร้างนั้นเพื่อให้เป็นโรงเรียนสำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พร้อมทั้งโอรสธิดาของพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงบุตรธิดาของข้าราชบริพาร ในปี 2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองแบบเรือนต้น อันเป็นเรือนไทยที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงสร้างไว้ในบริเวณของพระที่นั่งอัมพรสถาน มาสร้างไว้ในสวนจิตรลดาอีกหลังหนึ่ง เพื่อเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงรับรองแบบไทยในคราวที่มีพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศมาเยือน นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาดุสิดาลัย สำหรับใช้เป็นสถานที่ประชุมในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะใช้เป็นสถานที่สำหรับเสด็จออกให้ปวงชนชาวไทยเข้าเฝ้าฯเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี

- โรงโคนมสวนจิตรลดา 

        จากประตูทางเข้าฝั่งถนนศรีอยุธยา เมื่อก้าวผ่านพ้นประตูวังเข้ามาสิ่งที่จะเห็นสิ่งแรกนั้นก็คือ โรงโคนมสวนจิตรลดา ซึ่งก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2505 เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่การเลี้ยงโคนมโดยสาธิตให้เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร รวมถึงเพื่อศึกษาค้นคว้าและทดลองเทคนิคการเลี้ยงโคนมแผนใหม่ที่มีประสิทธิภาพจากนั้นจึงเผยแพร่ไปสู่เกษตรกรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยครั้งแรกได้มีผู้ถวายโคเพศเมีย 5 ตัว เพศผู้ 1 ตัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โครงการส่วนพระองค์ฯ จัดการเลี้ยงโคร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และจำหน่ายนมสดที่รีดได้แก่สมาชิกของโรงโคนมสวนจิตรลดา ทั้งยังพระราชทานลูกวัวเพศผู้เป็นวัวพันธุ์ และแม่โคที่คัดออกแก่ผู้ที่สนใจไปหัดรีดนม ปัจจุบันนี้โรงโคนมสวนจิตรลดาเลี้ยงโคประมาณ 40 ตัว

- โรงนมผงสวนดุสิต 


        ในปี 2512 เกิดภาวะนมสดล้นตลาด สมาชิกผู้เลี้ยงโคนมได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาให้ทรงช่วยเหลือ จึงได้ทรงจัดตั้งโรงงานนมผงขึ้น พระราชทานชื่อว่า “โรงนมผงสวนดุสิต” เพื่อผลิตนมผงจากนมสดของเกษตรกรสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม นมผงของที่นี่เป็นนมผงที่มีคุณภาพและราคาถูก พระราชดำริในครั้งแรกเมื่อตั้งโรงนมผงแห่งนี้คือ เพื่อเป็นโรงงานตัวอย่างให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจได้มาเห็นและศึกษาวิธีการทำนมผง ซึ่งโรงงานแห่งนี้ใช้เงินเป็นค่าก่อสร้างและค่าอุปกรณ์เป็นเงินที่ต่ำมาก สามารถที่จะนำไปเป็นแบบอย่างได้ง่าย


โรงนมยูเอชทีจิตรลดา

        ต้นปี 2546 เกิดภาวะนมสดล้นตลาดขึ้นอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงนมยูเอชทีแห่งนี้ขึ้นเพื่อรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร มาแปรรูปเป็นนมสดยูเอชที และนั่นคือที่มาของโรงนมยูเอชทีจิตรลดา   โรงนมยูเอชทีสร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และยังทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหานมสดล้นตลาดอันเป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่เนืองๆ ที่สำคัญ โรงงานแห่งนี้จะผลิตนมสดพร้อมดื่มที่มีคุณภาพโดยไม่เน้นการผลิตเพื่อการพาณิชย์และไม่แสวงหาผลกำไรจากการดำเนินงาน เพื่อผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ และผู้ที่อยู่ห่างไกล


โรงนมเม็ดสวนดุสิต

        ปี 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้ปรับปรุงการจัดทำนมอัดเม็ดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่เคยทดลองผลิตครั้งแรกเมื่อปี 2512 แล้ว ซึ่งมีอุปสรรคทางเทคนิคทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ปัจจุบันโรงนมอัดเม็ดแห่งนี้มีเครื่องตอกเม็ดนม 4 เครื่อง เครื่องบรรจุลงถุง 2 เครื่อง สามารถผลิตนมอัดเม็ดได้วันละ 7,000 – 12,000 ถุง ถุงหนึ่งบรรจุ 20 เม็ด ปี 2532 เริ่มการผลิตนมเม็ดช็อกโกแลต ปี 2539 เริ่มผลิตนมเม็ดรสกาแฟ เรื่อยมาจนถึงปี 2541 จึงปรับปรุงคุณภาพจนสามารถผลิตนมเม็ดสำหรับเลี้ยงสัตว์ได้  ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี 2544 มีการปรับปรุงและขยายพื้นที่โรงนมอัดเม็ด ทำให้มีพื้นที่กว้างขึ้นพอเหมาะกับการขยายตัวของการผลิตต่างๆ ทั้งยังสามารถรองรับการฝึกงานของนิสิตนักศึกษา และผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชม ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี


- โรงเนยแข็งสวนจิตรลดา

        ในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ เมื่อปี 2530 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตเนยแข็งเพื่อการค้นคว้าทดลองและส่งเสริมแนะนำเป็นอาชีพต่อไป โดยได้รับความช่วยเหลือด้านเครื่องมือและการฝึกอบรมในการผลิตเนยแข็งจากประเทศเนเธอร์แลนด์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อเนยแข็งว่า “เนยแข็งมหามงคล” ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้มีผลิตภัณฑ์จากนมหลากหลายชนิด เช่น เนยแข็งปรุงแต่ง นมปราศจากไขมัน นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม เนยสด โยเกิร์ต นมข้นหวาน และไอศครีม
        ในปี 2542 เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โรงเนยแข็งได้สร้างอาคารหลังใหม่เชื่อมต่อกับอาคารหลังเดิมเพื่อขยายพื้นที่ในการผลิตให้กว้างขึ้น

- นาข้าวทดลอง

        ปี 2504 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าวจัดทำนาทดลองขึ้นเพื่อปลูกข้าวพันธุ์ต่างๆ ในปีนั้นทรงขับควายเหล็กและทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เอง ซึ่งทางราชการได้ขอพระราชทานพันธุ์ข้าวเปลือกที่ปลูกได้ส่วนหนึ่งไปใช้เป็นข้าวในพระราชพิธีพืชมงคลทุกปีเสมอมา ทั้งยังเป็นข้าวที่แจกให้แก่ชาวนาและเกษตรกรที่มาร่วมงาน ในกาลต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาแรกนาหว่านข้าวในแปลงนาทดลองต่อท้ายจากพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นประจำทุกปีจวบจนปัจจุบันนี้

- โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2514 เนื่องจากในปีนั้นได้มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องสีข้าวแบบต่างๆ ณ วันนี้โรงสีข้าวได้ใช้เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก สีได้ครั้งละ 1 เกวียน และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างยุ้งฉางเก็บข้าวแบบต่างๆ รวมทั้งยุ้งฉางข้าวแบบสหกรณ์ ซึ่งขณะนี้ได้ดัดแปลงให้สามารถนำข้าวเปลือกเข้า และออกจากยุ้งไปสู่โรงสีโดยที่ไม่ต้องมีคนแบกขน
        สำหรับโรงสีแห่งนี้มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเก็บรักษาข้าวและการสีข้าวเพื่อให้ได้ผลดีมากที่สุด โดยที่ทรงตระหนักดีว่าอาชีพการทำนานั้นคืออาชีพหลักของชาวไทย และเมืองก็เปรียบได้กับห้องครัวของโลกด้วย

- โรงบดแกลบ

        ปี 2518 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงบดแกลบแล้วอัดให้เป็นเชื้อเพลิงแท่งและทดลองเผาแกลบอัดแท่งให้เป็นถ่านได้ครั้งแรกเมื่อปี 2529 นอกจากนี้ยังได้ผลิตแกลบบดผสมปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยคอกชนิดต่างๆ จำหน่ายซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก
        ด้วยพระอัจฉริยภาพทรงค้นพบว่าแกลบที่อัดแล้วจะไม่สามารถรักษาเป็นแท่งอยู่ได้เมื่อถูกน้ำหรือฝนจะแปรสภาพเป็นแกลบบดเช่นเดิม แต่เมื่อนำแกลบที่อัดเป็นแท่งแล้วไปเผาเป็นถ่านแม้โดนน้ำก็ยังสามารถรักษาสภาพเดิมอยู่ได้

- โรงน้ำผลไม้สวนจิตรลดา

       ปี 2527 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาได้ผลิตน้ำส้มคั้นและน้ำอ้อยพาสเจอไรซ์ ตามแนวพระราชดำริ โดยใช้เครื่องพาสเจอไรซ์นมสดเดิมซึ่งมีอายุการใช้งานเกือบ 10 ปี เป็นโครงการแนะนำชาวไร่ส้ม และไร่อ้อย เพื่อแก้ไขอุปสรรคและปัญหาทางด้านการตลาดของส้มและอ้อย นอกจากนี้แล้วโรงงานแห่งนี้ยังทำการผลิตน้ำกระเจี๊ยบพาสเจอไรซ์ออกสู่ตลาดเป็นโครงการแนะนำ

-โรงน้ำผลไม้บรรจุกระป๋องสวนจิตรลดา

        ปี 2535 มีพระราชดำริให้ก่อสร้างโรงน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบ และครบวงจรของการผลิตน้ำผลไม้ อันได้แก่ การผลิตน้ำผลไม้แบบเข้มข้น น้ำผลไม้แบบพาสเจอไรซ์น้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาศึกษานำความรู้ในการผลิตน้ำผลไม้แต่ละชนิดไปใช้ประโยชน์ต่อไป

-โรงผลิตภัณฑ์อบแห้ง

        ย้อนกลับไปเมื่อกลางปี 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องอบผลไม้แห้ง มาใช้ในโครงการส่วนพระองค์ โดยที่ในระยะแรกได้ผลิตกระเทียมอบแห้งออกมาจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์แรกของโครงการ ต่อมาจึงได้ทดลองอบผลไม้อื่นๆ เช่น กระเจี๊ยบเสวย ซึ่งเป็นผลผลิตจากสวนปทุมฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2542 มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องอบผักและผลไม้แห้ง โดยที่ทางโครงการส่วนพระองค์ฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารผลิตภัณฑ์อบแห้งแล้วเสร็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดในวันแรกนาขวัญ 15 พฤษภาคม 2543
        ปี 2544 โรงงานผลิตภัณฑ์อบแห้ง มีกล้วยตาก และผลไม้ชนิดต่างๆ ที่เหลือจากการบรรจุ เนื่องจากไม่ได้ขนาดไม่สามารถบรรจุลงกล่องจำหน่ายได้ ทางโรงงานจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เบเกอรี่จากผลไม้อบแห้งที่เหลือเหล่านั้นมาทดลองผลิตเป็นคุกกี้ผลไม้รวมบรรจุกล่องออกจำหน่ายในเบื้องต้น ต่อจากนั้นมาโรงงานได้ผลิตคุกกี้ชนิดต่าง ๆ ออกจำหน่ายเพิ่มขึ้น อาทิ คอฟฟี่เค้ก เค้กผลไม้รวม และเคกกล้วยหอม เป็นต้น
        เรื่อยมาจนปี 2547 โรงงานผลิตภัณฑ์อบแห้งได้ขยายห้องผลิตขนมปังเพิ่มขึ้นอีก 1 ห้อง โดยทดลองผลิตขนมปังสอดไส้รสต่างๆ รวมถึงพาย ออกจำหน่ายในเวลาต่อมา

-โรงงานผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง

        เป็นโครงการผลิตน้ำผึ้งบรรจุหลอดพลาสติก และบรรจุขวดแก้วขนาดต่างๆ โดยที่ได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผึ้งที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เพื่อใช้ในการผสมเกสรดอกไม้ ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเป็นดอกลำไย นอกจากนั้นก็เป็นต้นผลไม้ชนิดอื่นๆ เพื่อให้ไม้ผลเหล่านั้นติดผลผลิตสูง น้ำผึ้งที่ส่งมาบรรจุขวดเป็นน้ำผึ้งจากเกสรดอกลำไย มีกลิ่นหอมรสหวานอร่อย ไม่เป็นผลึก เป็นที่นิยมของคนโดยทั่วไป ในปี 2547 โครงการได้สร้างอาคารเก็บวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์โดยใช้ร่วมกับโรงเพาะเห็ด

-โรงหล่อเทียนหลวงสวนจิตรลดา

        ปี 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงหล่อเทียนหลวงสวนจิตรลดาขึ้น เพื่อใช้ผลิตเทียนหลวงที่ใช้ในการพระราชพิธีของสำนักพระราชวังแทนการฟั่นเทียนด้วยมืออย่างโบราณ เพื่อให้ได้เทียนที่มีคุณภาพที่ใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ ในราชสำนัก ตลอดจนฝึกหัดบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถเพื่อลดงบประมาณแผ่นดินในการจัดซื้อ

งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง

        เมื่อปี 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้โครงการส่วนพระองค์ฯ ทดลองนำเอาแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากอ้อยมาใช้เป็นเชื้อเพลิง เพราะในอนาคตอาจจะเกิดภาวะน้ำมันขาดแคลนหรือราคาอ้อยตกต่ำ การนำเอาอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง โรงงานแห่งนี้ได้ดำเนินการเรื่อยมาจวบจนปัจจุบันนี้ โดยเมื่อปี 2538 กลุ่มบริษัท สุราทิพย์ ได้น้อมเกล้าฯถวายระบบผลิตแอลกอฮอล์ 95 % พร้อมอุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงอาคารใหม่เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตแอลกอฮอล์ได้ถึง 99.5 % โดยที่มีวัตถุดิบหลักในการหมักคือ กากน้ำตาล แอลกอฮอลที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ , ดีโซฮอล์ นอกจากนั้นโรงแอลกอฮอล์ยังได้ผลิตภัณฑ์จากแอลกอฮอล์อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น
        เจลล้างมือ สเปย์ฉีดเท้า น้ำหอม โลชั่นกันยุง เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริมหล่อเลี้ยงหน่วยงานอีกทางหนึ่ง

โรงปุ๋ยอินทรีย์

        มีพระราชดำริให้เริ่มโครงการเมื่อปี 2528 เพื่อทำการศึกษากระบวนการผลิตปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุที่เหลือใช้จากการเกษตร โดยการใช้น้ำกากส่า ซึ่งเป็นน้ำทิ้งจากโรงงานผลิตแอลกอฮอล์เป็นตัวเร่งในกระบวนการย่อยสลาย นอกจากนี้ ทางโรงงานยังศึกษาสายพันธุ์และกรรมวิธีการผลิตจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายเศษวัสดุเหลือใช้เป็นปุ๋ยหมัก ปัจจุบันได้มีการพัฒนาปุ๋ยหมักชนิดต่างๆ ขึ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายและความสะดวกให้แก่ผู้ต้องการใช้ปุ๋ยหมัก คือ ปุ๋ยอัดเม็ด

โรงเพาะเห็ด

        2531 มีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงเพาะเห็ดชนิดต่างๆ ขึ้นด้วยเศษวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อปลูกเห็ดชนิดต่างๆ เช่น เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดเป๋าฮื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็ดหลินจือ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้นำเอาเศษวัสดุที่เหลือใช้จากการเพาะเห็ดมาทำเป็นปุ๋ยหมักอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว ในปี 2538 กระแสการบริโภคเห็ดหลินจือมีมากขึ้น โรงเพาะเห็ดจึงต้องขยายการผลิต และมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
       2539 โรงงานได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือเป็นแคปซูลขึ้นเพื่อง่ายต่อการบริโภคและมีการสกัดเห็ดหลินจือเพื่อบรรจุเป็นแคปซูล และในปี 2543 ได้เริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชงพร้อมดื่มจากสมุนไพรชนิดต่างๆ เพื่อสะดวกในการบริโภค และในปีต่อมาคือปี 2544 ได้มีการพัฒนาเป็นแกรนูลอัดเม็ดเพื่อสะดวกสำหรับการพกพา

โรงอาหารปลาและสาหร่ายเกลียวทอง

        เริ่มการครั้งแรกเมื่อปี 2529 โดยได้รับคำปรึกษาและคำแนะนำจากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย รวมถึงสถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ
        โครงการส่วนพระองค์ฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยการผลิตอาหารปลาตามแนวพระราชดำริทั้งแบบจมน้ำและแบบที่ลอยน้ำ จากการศึกษาพบว่า อาหารปลาที่มีส่วนผสมของสาหร่ายเกลียวทองจะมีผลทำให้ปลาแฟนซีคราปเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการเจริญวัยในการสืบพันธุ์เร็วขึ้นด้วย รวมทั้งสีสันและความสวยงามของปลาก็มีมากกว่าที่เลี้ยงจากอาหารปลาชนิดธรรมดา
        ปี 2545 โรงอาหารปลาและสาหร่ายเกลียวทองได้ก่อสร้างอ่างซีเมนต์ขึ้นอีกจำนวน 6 อ่าง รวมถึงสร้างห้องปฏิบัติการแปรรูปผลิตภัณฑ์สาหร่ายเกลียวทองเพิ่มขึ้น ได้แก่ ห้องเพาะเลี้ยงเชื้อสาหร่ายเกลียวทอง ห้องตู้อบความร้อน ห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบผสมสาหร่ายเกลียวทอง ห้องทอดข้าวเกรียบสาหร่ายเกลียวทอง ห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์เยลลีผสมสาหร่ายเกลียวทอง และห้องบรรจุแคปซูลสาหร่ายเกลียวทอง
        ปี 2546 เนื่องจากการขยายงานเพิ่มมากขึ้น จึงขออนุมัติสร้างบ่อสาหร่ายเกลียวทองเพิ่มขึ้นจำนวน 8 บ่อบริเวณที่ใกล้เคียงกับคลังผลิตภัณฑ์ เพื่อศึกษาและพัฒนาการเลี้ยงให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยเพิ่มผลผลิตของสาหร่ายเกลียวทองให้สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างเพียงพอ และเพื่อการค้นคว้าวิจัยการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ๆ อีกด้วย

โรงกระถางผักตบชวา

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการนำเอาผักตบชวาซึ่งเป็นวัชพืชไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากการทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์และเชื้อเพลิงแล้ว ยังนำผักตบชวาไปทำเป็นกระถางใส่ต้นไม้ที่มีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยไปในตัวเองด้วย ซึ่งมีอายุในการใช้งานประมาณ 3-6 เดือน โครงการส่วนพระองค์ฯได้ทดลองปรับปรุงคุณภาพของกระถางผักตบชวาใน พ.ศ. 2540 ตามแนวพระราชดำริ สืบเนื่องจากที่เคยผลิตในครั้งแรกเมื่อปี 2532 โดยที่มีขอบเขตของการศึกษา คือการทำกระถางจากผักตบชวาเป็นกระถางชนิดพิเศษ เมื่อใช้ปลูกแทนกระถางดินเผาหรือถุงพลาสติกจนพืชเจริญเติบโตควรแก่การนำไปปลูกลงดินแล้ว สามารถนำไปปลูกลงดินได้เลยโดยที่ไม่ต้องทุบกระถางทิ้ง กระถางจากผักตบชวายังสามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ได้อีกด้วย

ธนาคารพืชพรรณ

       โครงการส่วนพระองค์ฯ ได้สนองแนวพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาตั้งแต่ปี 2535 และในปี 2536 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่โครงการส่วนพระองค์ฯ ในโครงการนี้เพื่อจัดสร้างธนาคารพืชพรรณ เป็นที่เก็บรวบรวมและรักษาพันธุกรรมพืชทั้งในรูปของเมล็ดและเนื้อเยื่อ โดยที่มีหน่วยงานปฏิบัติการเมล็ดพันธุ์พืช ห้องเย็นเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช หน่วยปฏิบัติการเก็บรักษาพันธุ์พืชโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หน่วยปฏิบัติการกักกันพืช และสุดท้ายคือหน่วยปฏิบัติการชีวโมเลกุลพืช เพื่อศึกษาประเมินพันธุกรรมพืชด้านชีวเคมี

ธนาคารข้อมูลพันธุกรรมพืช

       การดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชดำริว่า “การทำศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืชโดยมีคอมพิวเตอร์นั้น ควรมีโปรแกรมที่สามารถแสดงลักษณะของพืชออกมาเป็นสีได้ เพื่อความสะดวกในการอ้างอิงและค้นคว้าของผู้ที่สนใจ” โครงการส่วนพระองค์จึงได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารข้อมูลพันธุกรรมพืชเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาพันธุ์พืช โดยจัดทำข้อมูลด้านการเก็บรวบรวม การประเมินพันธุกรรม การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ อีกทั้งดำเนินการจัดทำข้อมูลพันธุกรรมพืช เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกแก่เยาวชนให้เห็นความงดงาม น่าสนใจจนเกิดความปิติที่จะทำการศึกษาอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป

บ้านพลังงานแสงอาทิตย์

      ไปเมื่อปี 2539 กรมการพลังงานทหาร ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อทรงใช้ในการทดลองเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนในอนาคตเพื่อเผยแพร่ความรู้สู่ราษฎรต่อไป

กลุ่มงานหัตถศิลป์
      ในสวนจิตรลดา นอกจากโรงฝึกศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้วครงการส่วนพระองค์ฯ ก็มีกลุ่มงานหัตถศิลป์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา
       โครงการครั้งแรกเมื่อปี 2536 โดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาเป็นดอกไม้นานาชนิด และเป็นของชำร่วยที่สวยงาม โครงการนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงาน เพื่อดัดแปลงผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาในรูปแบบเดียวกันเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสมและความต้องการของท้องตลาด โดยใช้วัสดุที่เหลือใช้จากกระดาษสาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่จนครบวงจร เพื่ออนุรักษ์ศิลปะความเป็นไทยจากผลิตภัณฑ์กระดาษสา

นอกจากนี้แล้วยังได้มีการนำปอสาไทยมาประยุกต์ผลิตเป็นกระดาษสาแบบญี่ปุ่นด้วย โดยผ่านการต้มและฟอกขาว ใส่สารยูรามีนเพื่อให้เยื่อกระดาษกระจายตัวและเพิ่มความเหนียวและความเงาให้กระดาษสา ใช้ตะแกรงช้อนแบบญี่ปุ่นจะได้กระดาษสาแบบญี่ปุ่นที่มีความบางเรียบ สีสันสดใส เหมาะกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องเขียนและงานบาติก

งานบาติกและงานสกรีน

       เป็นงานที่สร้างสีสันและความงดงามให้แก่กระดาษสา วิธีการทำบาติกของโครงการส่วนพระองค์ฯใช้กรรมวิธีแบบโบราณ โดยการใช้ขี้ผึ้งและพาราฟีนผสมเข้าด้วยกันในอัตราส่วน 1/1 โดยอาศัยความร้อน ใช้เครื่องมือที่เรียกว่าชานติ้ง จุ่มลงในน้ำเทียนให้น้ำเทียนเกาะติดกับชานติ้ง จากนั้นจึงเขียนลายลงบนกระดาษสาเป็นลวดลายต่างๆ ตามความต้องการ แล้วจึงนำไปลงสีด้วยพู่กัน ส่วนงานสกรีน คือ งานที่พิมพ์ลวดลายต่างๆ ลงบนกระดาษสา แล้วจึงใช้สีและยางปาดพิมพ์ผ่านแผ่นผ้าที่ต้องการให้เกิดลวดลาย

งานเครื่องหอมและของชำร่วย 

        งานหัตถศิลป์อีกแขนงหนึ่งที่จัดทำขึ้นในโครงการส่วนพระองค์ฯ เพื่อยึดตามแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ของไทยแต่โบราณให้คงอยู่สืบไป โดยยึดหลักความเหมาะสมและความประหยัดตามภาวะเศรษฐกิจ ปัจจุบันนี้มีงานทั้งหมด 7 ชนิด คือ น้ำอบไทยสวนจิตรลดา น้ำปรุงสวนจิตรลดา ยาหม่องสวนจิตรลดา ยาหม่องน้ำสวนจิตรลดา พิมเสนน้ำสวนจิตรลดา ยาดมส้มโอมือสวนจิตรลดาออดิโคโลญ

งานเกล็ดปลาและงานบุหงา 

        งานหัตถศิลป์ที่นำเอาเกล็ดปลาน้ำจืด รวมถึงปลาน้ำเค็มชนิดต่างๆ มาล้างให้สะอาดด้วยผงซักฟอกและปรับความหอมและนุ่มด้วยน้ำยาปรับผ้านุ่ม จากนั้นจึงนำไปย้อมสีให้ได้ตามความต้องการ แล้วนำไปผึ่งให้แห้ง จึงนำมาประดิษฐ์เป็นกลีบดอกไม้ชนิดต่างๆ ส่วนบุหงาคืองานที่นำเอากลีบดอกไม้ชนิดต่างๆ มาตากให้แห้ง จากนั้นก็อบและร่ำให้หอมด้วยน้ำปรุงและน้ำหอม แล้วจึงนำใบยางที่ตากแห้งแล้วมาประกบทั้งสองข้างยึดให้ติดกันด้วยกาวลาเทกซ์ชนิดใสตัดแต่งให้เป็นรูปบุหงา พัดโบก ผีเสื้อ หรือรูปดอกไม้ตามความต้องการนี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้มาตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 60 ปี เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขและเป็นต้นแบบแห่งความพอเพียงให้แก่พสกนิกรของพระองค์   แม้พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน หรือที่เรียกกันแต่แรกสร้างว่าพระตำหนักกลางทุ่งส้มป่อยจะไม่โอ่อ่าโอฬารเหมือนดังพระราชวังของพระประมุขแห่งแว่นแคว้นอื่นก็ตาม แต่พระตำหนักแห่งนี้ก็สวยงามร่มเย็นสมกับเป็นสถานที่แห่งศูนย์รวมใจของปวงชนชาวไทย แต่เหนืออื่นใด กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเขตพระราชฐานแห่งนี้จะเป็นเสมือนหนึ่งปฐมบทแรกแห่งการพัฒนาที่จะกระจายไปสู่ทุกภูมิภาคเพื่อนำพาความเจริญและอยู่ดีกินดีมาสู่พสกนิกรชาวไทยตราบนานเท่านานสำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าเยี่ยมชมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้าเยี่ยมชมถึงผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา (เนื่องจากสวนจิตรลดาเป็นเขตพระราชฐานอันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2281-1034 หรือ 0-2281-1034

โครงการหลวง...หนึ่งในพระราชดำริ

ณ วันนี้ โครงการหลวงคงเป็นชื่อที่น้อยคนนักจะไม่รู้จัก เพราะโครงการหลวงคือโครงการส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเมื่อเกือบ 40 ปีมาแล้ว เพื่อช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาให้มีอาชีพสร้างรายได้

สิ่งที่โครงการหลวงทำเพื่อชาวเขาให้อยู่ดีกินดี ก็คือ การสนับสนุนให้ชาวเขาปลูกพืชผักเมืองหนาว และนำเอาผลผลิตที่ได้มาขายสู่ท้องตลาด โดยที่โครงการหลวงทำหน้าที่ส่งเสริมการปลูกและดูแลทางด้านการตลาดให้ ซึ่งผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงทั้งหมดจะอยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าดอยคำ

เมื่อครั้งแรกที่โครงการไปตั้งสถานีเกษตรที่สูงที่ดอยอ่างขาง เชียงใหม่ ม.จ.ภีศเดช รัชนี ผู้อำนวยการโครงการฯ ที่ทรงไปพบลูกท้อพันธุ์พื้นเมืองของอ่างขางที่มีรสชาติดีมาก จึงทรงนำกลับมาที่กรุงเทพฯ ด้วย และทรงทำเป็นผลไม้ลอยแก้วบรรจุกระป๋อง คนที่ได้รับประทานพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อยกว่าพีชฝรั่ง ทำให้ทรงได้รับแรงบันดาลใจทรงหอบกระป๋องเปล่าและเครื่องปิดกระป๋องพร้อมน้ำตาลขึ้นดอยอ่างขาง แล้วทำท้อลอยแก้วลงมาขาย ขายดิบขายดีมากจนปีต่อมาจึงได้ตั้งโรงงานขึ้น กลายเป็นโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ถึงวันนี้ผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสัญลักษณ์ดอยคำ มีมากมายกว่า 100 รายการทั้งแยมรูปแบบต่างๆ น้ำผลไม้สดนานาชนิด ผลไม้ลอยแก้ว ผักเมืองหนาวปลอดสารพิษ และอื่นๆ อีกมากมาย ผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงจึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาเป็นของฝากของขวัญในโอกาสต่างๆ

ท่องเที่ยว...บนดอยคำ
ถนนเส้นที่พาดผ่านโครงการหลวงดอยอินทนนท์ ณ บ้านขุนกลาง ท่ามกลางสายหมอกในฤดูหนาวเช่นนี้เป็นเส้นทางที่งดงามยิ่ง นอกจากบรรยากาศรอบข้างจะเป็นใจแล้ว แปลงดอกไม้เมืองหนาวที่ชูช่ออวดความงามสองข้างทางก็น่าตื่นใจไม่น้อยโดยเฉพาะดอกเบญจมาศที่เยอะแยะไปหมดทั้งสีม่วง สีเหลือง และสีขาว ว่ากันว่าเบญจมาศที่นี่ทำเงินให้แก่เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของปีละกว่าแสนบาท

จากบ้านขุนกลางสู่ขุนห้วยแห้ง อีกพื้นที่หนึ่งของโครงการหลวง เป็นพื้นที่ที่มีลิลลี่นานาชนิดชูดอกอวดความงดงามรอการมาเยือนของผู้คนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์คาซาบลังกาสีขาวสะอาดตา หรือสตาร์เกเซอร์สีชมพูใสสดที่มีฟอร์มดอกใหญ่แถมยังส่งกลิ่นหอมชื่นใจ ที่นี่ก็มีให้สัมผัส
เลยจากที่นี

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21349เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2006 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2012 09:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

จะพาเด็กเข้าดูงานได้อย่างไรคะ

เรารักในหลวง ใครที่ไม่รู้ว่าท่านทรงทำอะไรเพื่อเราบ้าง น่าจะได้เข้าชม โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชนรุ่นใหม่ๆที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีคุณธรรม มีสติ มีเหตุผล ที่กำลังจะเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคล เป็นพลังในการสร้างสรรสิ่งดีๆให้แก่ประเทศไทยในอนาคต น่าจะได้มีโอกาสเข้าชมทุกคน

ขอบอกตามตรงเลยครับ ถ้าคณะรัฐบวย รัฐบาลใหนสักชุดจะมองเห็นโครงการต่างๆ ที่ในหลวงท่านทำไว้ ประชาชนคนไทยจะมีกินมีใช้ทันทีครับ [ถ้าคณะรัฐบาลไม่โกงกิน] เช่น โครงการในสวนจิตรลดา โครงใดโครงการหนึ่งทำให้ตำบล อำเภอ จังหวัด ละ 1 แห่ง เท่านั้น ประเทศไทยก็ไปรอด ปลอดภัยแล้วครับ ท่านรัฐบาล

อยากฝึกงานที่โรงโคนมต้องทำอย่างไรบ้างคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท