ไปร่วมประชุม “นวัตกรรมการเรียนรู้คู่วิจัย : กรณีอาหารกับฟันผุ”


         วันที่ ๒๘ มีค. ๔๙ ผมไปร่วมประชุม โครงการการเสวนา “นวัตกรรมการเรียนรู้คู่วิจัย : กรณีอาหารกับฟันผุ”  ที่โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ จัดโดยกรมอนามัย, สกว., สสส., และ มสช.   ผมไปร่วมเฉยๆ ไม่มีบทบาทอะไร

ที่จริงผมตั้งใจไปแสดงบทบาท “จับภาพ”   ต่อไปนี้เป็นการจับภาพของผม
• ผมเห็นภาพการประชุม และนิทรรศการ เน้นเป้าหมายให้มีการ ลปรร. เพื่อแก้ปัญหาอาหารที่ทำให้ฟันผุ    เห็นโรงเรียนใน ๑๔ จังหวัดนำร่อง   เป็นผู้ดำเนินการ    เห็นครูและนักเรียนมาร่วมประชุมอย่างเนืองแน่น

  

นักวิจัยน้อยมาร่วมประชุมด้วย 


• ผมเตร่เข้าไป “จับภาพ” สาระในงานนิทรรศการ   เห็นได้ชัดว่าเครื่องมือในการสร้างความตระหนักในเด็กว่าอาหารหวาน ทำให้ฟันผุ    ผลไม้และผัก และการแปรงฟัน ทำให้ฟันดี   ที่ใช้กันมากคือการวาดรูป    ผมได้ถ่ายรูปภาพวาดนิทาน “ทำไมมดจึงไม่มีฟัน” มาฝากด้วย
      

 นิทานประกอบภาพ เรื่องทำไมมดไม่มีฟัน

  
• ผมลองเข้าไปดูนิทรรศการบางจังหวัด เพื่อจับภาพ “การวิจัย” ก็จับได้ว่าทางโรงเรียนและนักเรียน มอง การวิจัย เป็นการค้นคว้าหาความรู้เรื่องสุขภาพฟัน และเรื่องฟันผุ   แต่นี่เป็นภาพที่ได้จากนิทรรศการเพียง ๒ จังหวัด จากนิทรรศการทั้งหมด ๑๔ จังหวัด
• ผมเห็นภาพครูที่มาร่วมงาน นิยมถ่ายรูปกันมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ    มีคนบอกว่าที่ครูชอบถ่ายรูป เพราะจะเอาไปทำ portfolio ทำผลงาน    ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่
• ไม่ตรงต่อเวลา    กำหนดการบอกว่า  ๘.๓๐ – ๘.๔๕ น.  วิดิทัศน์และพิธีเปิดการประชุม โดย อธิบดีกรมอนามัย (นพ. สมยศ เจริญศักดิ์)    แต่ต้องรออธิบดี ถึง ๘.๕๐ น.   ผมถามตัวเองว่าทำอย่างไร ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเราจึงจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการตรงต่อเวลา
• “สาระ” ของ “นวัตกรรมการเรียนรู้คู่วิจัย” ได้จากวิดีโอเปิดโครงการ    ผมได้ภาพ “นวัตกรรม” มากมาย   ทั้งนวัตกรรมการประชุมปฏิบัติการ โดย อ. สมศักดิ์ กัณหา ผอ. สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา  มข. เป็นวิทยากร    หมอฟันน้อย   นักวิจัยน้อย การทำบัญชีค่าขนม และชนิดของขนม   การสำรวจร้านค้าในชุมชน เพื่อศึกษาปริมาณการขายขนมกรุบกรอบ และน้ำอัดลม    ฯลฯ    ผมมาเห็นภาพ การเรียนรู้คู่วิจัย ชัดจากวิดีโอนี่เอง    ต้องได้ดูวิดีโอนี้ด้วยตนเอง จึงจะซึ้ง
• ผมเห็นภาพ การเรียนรู้คู่วิจัย  จากคำอธิบายของ รศ. สุชาตา ชินะจิตร  ว่ามีเจตนาให้นักรเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง จากตนเองเป็นผู้ทำ    เช่น การสำรวจสถานการณ์ฟันผุในโราเรียน    สำรวจการกินอาหาร    สำรวจการขาย-ซื้ออาหาร    ให้เด็กคิดเอง    สกว. ต้องการเน้นกระบวนการเรียนรู้คู่วิจัย  เปลี่ยนโจทย์ไปเรื่อยๆ    การแก้ปัญหาฟันผุ ต้องไม่ใช่แค่รณรงค์  ต้องใช้และสร้างความรู้ และต้องเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเด็กลงมือทำ 

 

รศ. สุชาตา ชินะจิตร  ถ่ายจากจอ 

  
• ผมเห็นภาพ วิธีทำงานของกองทันตสาธารณสุข   โดยใช้เครือข่ายพันธมิตร ทำงานร่วมกัน   ในการแก้ปัญหาฟันผุ   ส่งเสริมสุขภาพช่องปาก   พันธมิตรสำคัญคือโรงเรียน ครู และนักเรียน
• มีภาพการใช้ KM เน้น CoP ในกิจกรรมของโครงการ จากคำอภิปรายของ ทพ. อนุโรจน์ เล็กเจริญสุข   สำนักงาน สสจ. ปราจีนบุรี     
• เห็นภาพ การดำเนินการสร้าง ความยั่งยืนของพฤติกรรม    ความยั่งยืนของระบบคิดของเด็ก   เห็นการทำงานของหน่วยราชการที่เน้นคุณภาพ    ไม่ใช่เน้นปริมาณ   จากคำพูดของ ทพ. อนุโรจน์ 
• เห็นภาพ วิธีการทำงานแบบ “ถักทอ” เส้นยืน และเส้นขวาง   อธิบายโดย อ. วิไลวรรณ ตรีศรีชะนะมา  รร. ฮั่วเคี้ยววิทยา  จ. ขอนแก่น  
• ตอนไปลงทะเบียน รศ. สุชาตา บอกผมว่าจะใช้ KM ไปทำกระบวนการ ลปรร. ระหว่างโรงเรียน   ระหว่างจังหวัด  ฯลฯ  เพื่อขยายผลต่อ    ผมแจ้งว่า สคส. ยินดีเข้าไปแจม    ผมนึกถึง “เวทีนวัตกรรมการเรียนรู้คู่การวิจัย เรื่องอาหารกับฟันผุ”   ขับเคลื่อนสู่ CoP เด็กกินอาหารเพื่อฟันไม่ผุ  
• ผมเห็นภาพว่า   กระบวนการเรียนรู้คู่วิจัย   ใช้สร้างพฤติกรรมที่ดีได้ทุกอย่าง    และใช้เป็นเครื่องมือสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ได้หลากหลาย   น่าจะโยงเข้ากับ “เวทีนวัตกรรมการเรียนรู้” ได้เป็นอย่างดี    ผมฝากคุณหญิงให้ช่วยคิด-ดำเนินการเชื่อมโยงด้วย    การเรียนรู้คู่วิจัยน่าจะเรียกว่า PLAR – Participatory Learning and Action Research   เน้นวิธีการเชิงสำรวจ    ค้นหาข้อมูลอย่างเป็นระบบ
• ได้เห็นภาพ กระบวนการเรียนรู้ ของคนทุกกลุ่มที่มาร่วมโครงการ    ทันตแพทย์ได้เรียนรู้การเปลี่ยนบทบาทเป็น “คุณอำนวย”  เป็นการสร้างทักษะการทำงานแบบ เครือข่ายพันธมิตร  - ทพ. อนุโรจน์
• ผมก็ “เป็นปลื้ม” ซีครับ ที่คำว่า “คุณอำนวย”  ได้ทำหน้าที่ “วาทกรรม” เพื่อการปฏิวัติการทำงานของข้าราชการ   
• ผมเห็นภาพ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของข้าราชการ    อยากให้ทีมงานทันตแพทย์กลุ่มนี้ไปนำเสนอในเวทีปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของ กพร.    อยากให้ท่านธรรมรักษ์ การพิศิฏฐ์  ประธาน อกพร. ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ของ กพร. ได้รับรู้ตัวอย่างนี้   
• ภาพนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ  นโยบายด้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่ไม่ทำลายสุขภาพ
• ช่วงพักรับประทานอาหารว่างผมได้คุยกับ ทพ. อนุโรจน์,  ทพ. สมนึก ชาญด้วยกิจ ทันตแพทย์ ๑๐ วช. (ด้านทันตสาธารณสุข) สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย   และ รศ. สุชาตา    และเห็นพ้องกันว่า กองทันตสาธารณสุข ควรจัดประชุม ถอดความรู้ / ลปรร. เพื่อรวบรวมความรู้ในการดำเนินการทันตสาธารณสุขในโรงเรียน    ใช้กระบวนการประชุมแบบ KM    โดยใช้วิทยากรของกรมอนามัยเองที่นำโดย พญ. นันทา อ่วมกุล และ สคส จะส่งคนเข้าร่วมด้วย
                    
ทพ. อนุโจน์ เล็กเจริญสุข (ซ้าย) และ ทพ. สมนึก ชาญด้วยกิจ 


 
วิจารณ์ พานิช
๒๘ มีค. ๔๙ 

หมายเลขบันทึก: 21346เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2006 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ควรจะส่งเเสรมการรับประทานอาหารที่ถูกหลักอนามัย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท