KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 581. สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง (สนพ.)


วันที่ 19 ก.ย. 51 ผมไปร่วมประชุม คณะกรรมการและอนุกรรมการของสถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง   กรมส่งเสริมการเกษตร   ได้ชื่นใจกับผลงานของสถาบันเล็กๆ แห่งนี้   ที่ผมเคยบันทึกถึงตอนก่อตั้งเมื่อปีที่แล้วไว้ที่นี่

ผู้อำนวยการ สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง  คือคุณธุวนันท์ พานิชโยทัย เป็นผู้บุกเบิกกิจกรรม KM  ของกรมส่งเสริมการเกษตรจนโด่งดัง  และได้นำ KM มาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการทำงานของสถาบันฯ   และในเวลา 1 ปี ก็ได้ผลงานน่าชื่นชม ได้แก่

  • เรื่องข้าว  ใช้ยุทธศาสตร์ KM ครูติดแผ่นดินข้าว  ซึ่งก็คือปราชญ์ชาวบ้านเรื่องการทำนาข้าวนั่นเอง   มีการรวมรวมความรู้เป็นหนังสือเล่มเล็ก  "ลดต้นทุนการปลูกข้าว"    โดยครูติดแผ่นดิน "ข้าว"    มีการจัดทำทำเนียบครูติดแผ่นดินข้าว 2551  ระบบฐานข้อมูลนวัตกรรมข้าว จัดทำ VCD เรื่องการลดต้นทุนการทำนา   นำออกทีวี ช่อง 9
  • เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ได้ดำเนินการสืบค้น ตรวจสอบ และรวบรวมความรู้จากเกษตรกรและชุมชน ที่จะเกิดประโยชน์ ต่อการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง  รวบรวมได้ 395 เรื่อง ใน 5 สาขา  คือ (1) สาขาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน  (2) สาขาการผลิต  (3) สาขาการแปรรูปและผลิตภัณฑ์ (4) สาขาสถาบันเกษตรกร  (5) สาขาปราชญ์เกษตร    รวบรวมไว้ในรูปของเอกสาร ยังไม่ได้ขึ้นเว็บ
  • KM พืชยุทธศาสนตร์ของจังหวัด  สร้าง "คุณอำนวย" จัดเวที Best Practice ของครูติดแผ่นดิน (ปราชญ์ชาวบ้าน)     และจัดเวที ลปรร.  ของเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด
  • สภาความร่วมมือเครือข่ายความปลอดภัย และความมั่นคงด้านอาหาร  ได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส.
  • หลักสูตรการเรียนรู้การผลิตอาหารปลอดภัยและการสร้างสุขภาวะตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง   ได้รับเงินสนับสนุน จาก สสส.
  • โครงการต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง  ร่วมมือกับมูลนิธิยุวเกษตรกรไทย

แผนการดำเนินการในปี ๒๕๕๒ จะเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมริเริ่มใหม่คือ ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง (ข้าว) ต้นแบบ ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ผมนั่งฟังการประชุมด้วยความตั้งใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเข้าไปร่วมประชุมที่กรมส่งเสริมการเกษตรที่ผมไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมองค์กร จึงได้เรียนรู้หลายด้าน 

ผมกลับมาเรียนรู้โดยการอ่านเอกสารต่อที่บ้าน และตั้งคำถามกับตนเองว่า สนพ. ควรมียุทธศาสตร์การทำงานอย่างไร จึงจะเกิดคุณประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างเต็มที่ และ สนพ. ควรใช้เครื่องมือ KM อย่างไร ผมมีข้อสังเกต (ไม่แน่ใจว่าถูกหรือผิด) ดังนี้
  1.  ชื่อ "สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง" กว้างกว่ากิจกรรมของกรมส่งเสริมการเกษตร ดังนั้น สนพ. จะมีวิธีการ "ออกสู่ที่กว้าง" อย่างไร เพื่อให้สามารถทำงานได้ประโยชน์กว้างขวาง และมีอิสระในการทำงานมากขึ้นผมคิดว่า สนพ. ยังใช้พลัง ICT น้อยไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานเป็น "คุณอำนวย"  ให้แก่ภาคีในภาคราชการและภาควิชาการ  ซึ่งมีทักษะในการใช้ ICT เพื่อทำงานและ ลปรร.
  2. "ภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง" มีความกว้างขวางกว่าการผลิต ถ้าเกษตรกรผลิตเพื่อขาย ความรู้ที่สำคัญต้องมี ๒ ด้าน คือความรู้ด้านผลิต กับความรู้ด้านตลาด สนพ. ยังแทบไม่ได้แตะความรู้ด้านตลาดเลย
  3. ที่จริง "ภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนนอกภาคเกษตรด้วย
  4. ผมรู้สึกว่า (อาจเข้าใจผิด) สนพ. ยังทำงานแบบทำด้วยตนเองมากไป ยังทำงานแบบเชื่อมโยงเครือข่ายน้อยไป คือ สนพ. น่าจะพัฒนาวัฒนธรรมการทำงาน และทักษะการทำงาน แบบที่ตนเองเป็น "คุณอำนวย" ให้มากที่สุด
  5. การเน้นความรู้ของ "ครูติดแผ่นดิน" และเน้นยกย่องครูติดแผ่นดินน่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว สิ่งที่จะต้องพัฒนา คือวิธีการผสมผสานระหว่างความรู้ของครูติดแผ่นดิน กับความรู้สมัยใหม่ ซึ่งเครื่องมือคือ KM เป็นการผสมผสานความรู้ด้วยการนำเอาไปปฏิบัติ หรือผ่านการปฏิบัติ โดยเกษตรกร เป็นวงจรยกระดับความรู้ผ่านการปฏิบัติ แล้วนำมา ลปรร. ใน "พื้นที่" ลปรร. ทั้งที่เป็น Face to Face และที่ผ่าน ICT การ ลปรร. ที่สำคัญคือการ ลปรร. ในหมู่เกษตรกรผู้ทดลองนำความรู้ไปใช้ในการผลิตของตน หนุนด้วยครูติดแผ่นดิน และนักส่งเสริมการเกษตร
  6. ผมคิดว่า สนพ. ยังใช้พลัง ICT น้อยไป   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานเป็น "คุณอำนวย"  ให้แก่ภาคีในภาคราชการและภาควิชาการ  ซึ่งมีทักษะในการใช้ ICT เพื่อทำงานและ ลปรร.
    วิจารณ์ พานิช
    20 ก.ย. 51
หมายเลขบันทึก: 213156เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2008 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนอาจารย์หมอที่เคารพ

ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่ให้กำลังใจและให้คำชี้แนะที่เป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่งและสะท้อนภาพกว้างให้เราได้รับรู้ ทีมงานจะได้นำไปปรับปรุงต่อไปคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท