๑๘. สุขภาพสู่การสร้างพลังท้องถิ่น....ไผ่คืนกอ


"...สุขภาพสู่ท้องถิ่น จึงมิใช่เรื่องการถ่ายโอนอำนาจและเพิ่มความรับผิดชอบเลยเสียทีเดียวนัก ทว่า เป็น ไผ่คืนกอ หรือ คืนสู่แหล่งก่อเกิดเพื่อยกระดับให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ..."

          ผมไปช่วยสะท้อนความคิดเห็น การนำเสนอผลการทำงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชน ค้นหาแนวทางการพัฒนาสู่อนาคต ของการสาธารณสุขมูลฐาน และการดำเนินงานสุขภาพภาคประชาชน ของเครือข่ายการทำงานเชิงพื้นที่ของศูนย์สุขภาพภาคประชาชนภาคเหนือ นครสวรรค์มา  เมื่อวันที่  22-23  กันยายน 2551

          กลุ่มคนที่มานำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม  กลุ่มหลักเลยก็คือ เจ้าหน้าที่อนามัย  นักวิชาการสาธารณสุข  บุคลากรขององค์กรท้องถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุข กลุ่มที่เข้ามาเป็นเครือข่ายเรียนรู้ด้วย  ก็มี ผู้ประสานงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ผู้ประสานงานมูลนิธิสุขภาพแห่งชาติ  สำนักวิจัยสังคมสุขภาพ  มีประเด็นการหารือและเรียนรู้ด้วยกันหลายเรื่อง โดยมุ่งไปที่การทำงานที่เชื่อมโยงกันในระดับชุมชนของ 3 ภาคี คือ องค์กรท้องถิ่น / อสม  และ สถานีอนามัย

          มักมีการพูดถึงความพร้อมของท้องถิ่นในการรับถ่ายโอนการจัดการสุขภาพชุมชน  ให้ไปอยู่ในความดูแลขององค์กรท้องถิ่น ผุดขึ้นมาเป็นระยะ  ซึ่งก็เหมือนกับอีกหลายๆแห่งที่มักคุยกันในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้ บางครั้งก็พูดถึงตัวอย่างของความริเริ่มและความสำเร็จ บางครั้งก็พูดถึงความพร้อมไม่พร้อม  ควรไม่ควร  รวมทั้งมีการทบทวนประวัติศาสตร์  พัฒนาการ  และความเป็นมา  ของการทำงานในชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือ  เรื่องเหล่านี้  มักทำให้ประเด็นการหารือกันเขวไปเป็นเรื่องอื่นได้เสมอๆ เช่นกัน

         ผมเลยเล่าเรื่องให้ฟังอย่างหนึ่งว่า  แท้จริงนั้น  หากจะเสริมสร้างพลังการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของท้องถิ่นตามความพร้อมและตามความสมัครใจร่วมกันนั้น  แทนการกล่าวว่าเป็นเรื่องการถ่ายโอนเรื่องการจัดการสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับท้องถิ่น  ก็อาจจะต้องมองใหม่ 

         ในความเป็นจริงนั้น  ควรจะเป็นว่า  เป็นเรื่องของการคืนการจัดการสุขภาพและสารทุกข์สุกดิบของชุมชนให้กับท้องถิ่น และให้ระบบสุขภาพของประเทศเข้มแข็งมากขึ้น

        เนื่องจากในความเป็นจริงนั้น ก่อนจะมีการดำเนินงานสุขภาพชุมชนที่ชัดเจนขึ้นในช่วงทศวรรษ 2520 ซึ่งได้เริ่มงานสาธาารณสุขมูลฐานขึ้นในประเทศนั้น งานสุขภาพ ก่อนที่จะมาเป็นกระทรวงสาธารณสุขได้ก่อกำเนิดขึ้นเป็นกองงานสุขาภิบาล  ของกระทรวงมหาดไทยเมื่อประมาณปี 2448 ในรัชกาลที่ 5   จนกระทั่งปี 2482 ก็ก่อตั้งกองส่งเสริมอาหาร ขึ้นมา ในขณะที่กรมสาธารณสุข ก็ยังเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย       

        ขณะเดียวกัน  ก่อนนั้นเพียงเล็กน้อย รูปแบบการกระจายอำนาจและการพัฒนาระบบบริหารจัดการท้องถิ่น  ก็เริ่มมีการนำร่องโดยก่อตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ 18 ธันวาคม 2441 และต่อมา ปี  2461 ในรัชกาลที่ 6 ก็มีการก่อตั้ง เมืองดุสิตธานี  เป็นเมืองสาธิตระบบสังคมประชาธิปไตยและรูปแบบการบริหารจัดการนคราภิบาล 

        ต่อมา ในปี 2485 กรมสาธารณสุข จึงแยกออกมาก่อตั้งเป็น กระทรวงสาธารณสุข เช่นเดียวกับงานทางด้านการศึกษา ซึ่งเป็นงานของกรมประชาบาล กระทรวงมหาดไทย ก็เป็นกระทรวงศึกษาธิการในลำดับต่อมา จะเห็นพัฒนาการมาโดยลำดับได้ว่า งานทางด้านสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้น แท้จริงแล้วก่อกำเนิดมาจากมหาดไทยและท้องถิ่น 

        ดังนั้น  แม้นผ่านไปแล้วกว่า 100  ปี หรือกว่าหนึ่งศตวรรษ  เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการพัฒนาพลังการจัดการสุขภาพของท้องถิ่น  แทนที่จะกล่าวว่าถ่ายโอนอำนาจจากภาคีสุขภาพให้กับท้องถิ่น  จึงควรจะกล่าวเสียใหม่ว่า  คืนสู่ความดูแลอย่างบูรณาการของท้องถิ่น  หลังจากแยกหากจากกันมากว่าหนึ่งศตวรรษ ซึ่งให้วิถีคิดอะไรใหม่ๆ ที่เหมาะแก่การมองไปข้างหน้าและไม่ทิ้งทุนประสบการณ์เดิมไปอีกด้วย

        ขณะเดียวกัน การพัฒนาการบริหารจัดการท้องถิ่นนับแต่การก่อเกิดสุขาภิบาลท่าฉลอม และรูปแบบนคราภิบาลในเมืองสาธิดระบบประชาธิปไตย เมืองดุสิตธานี แล้ว ก็ดำเนินมาอย่างไม่ค่อยได้รับความสนใจจริงจังของสังคมเท่าใดนัก  ผ่านไปกว่าร้อยปี  ในขณะที่ภาคสาธารณะหลายเรื่องที่ก่อกำเนิดพร้อมกัน  ได้แยกออกไปเจริญงอกงามเติบโตมากมายนั้น การกระจายการบริหารจัดการของท้องถิ่นกลับคืบหน้าไม่มากนัก 

         สุขาภิบาลทั่วประเทศเพิ่งยกระดับเป็นเทศบาลเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2540 ที่ผ่านมา และมากกว่าร้อยละ 50 ยังไม่สามารถมีบุคลากรและโครงสร้างการดำเนินงานเชิงการบริหารจัดการท้องถิ่นทางด้านสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิต

         ดังนั้น เมื่อมองย้อนกลับไปดูความเป็นมา  ก็มีข้อน่าสังเกตว่า หากใช้ความเป็นกลไกทางอำนาจของท้องถิ่น  ชี้นำการพัฒนาท้องถิ่นและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแต่โดยลำพังแล้ว  ท้องถิ่นและการดูแลภาคสาธารณะ  จะดำเนินไปได้ช้า เพราะสังคมมักไปติดกับดักโครงสร้างเชิงอำนาจของวิถีคิด

        ในขณะที่เมื่อใช้เรื่องทางการศึกษา  สุขภาพ  รวมทั้งเรื่องสารทุกข์สุกดิบของประชาชนชี้นำการจัดการความเปลี่ยนแปลง  ก็ก่อเกิดระบบการจัดการที่ครอบคลุมส่วนรวม และทำให้ท้องถิ่นจัดการตนเองได้ดีขึ้น  เกิดพัฒนาการที่จำเป็นได้เร็วและก้าวหน้ากว่า

         ดังนั้น สุขภาพสู่ท้องถิ่น  จึงมิใช่เรื่องการถ่ายโอนอำนาจและเพิ่มความรับผิดชอบ ให้กระทบใจผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทว่า เป็น ไผ่คืนกอ หรือ คืนสู่แหล่งก่อเกิดเพื่อผนึกกำลังภายในตนเองของสังคม ยกระดับให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

        อีกทั้ง การพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทมีส่วนร่วมของปัจเจกและชุมชน เพื่อพัฒนาไปสู่อนาคตที่เข้มแข็งมากขึ้นนั้น  งานสุขภาพและงานพัฒนาคุณภาพชีวิต หาใช่เป็นความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นของท้องถิ่นครับ  ทว่า บทเรียนกว่า 100 ปีสามารถบอกแก่เราได้ว่า เป็นโอกาสให้เรื่องสุขภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิต  เป็นประเด็นชี้นำการพัฒนา ที่มีพลังมากกว่าการอิงกับประเด็นเชิงอำนาจและทำให้เป็นการเมืองในกรอบทัศคติแบบเดิมๆ ครับ.

หมายเลขบันทึก: 212849เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2008 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับอาจารย์ ดีใจได้มาอ่านเจอบล๊อกของอาจารย์ สบายดีนะครับ ผมเห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่ง แต่ที่ต้องเพิ่มคือมิใช่กระจายอำนาจไปให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่ต้องกระจายอำนาจไปให้ "ท้องถิ่น" นั่นหมายถึงประชาคมท้องถิ่น ที่มีความหลากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐ ท้องถิ่น ภาคประชาชน ชุมชน ด้วยครับ

อาจารย์ครับ

มาเติมเต็มด้วยประสบการณ์ของอาจารย์ ขอฝากตัวเป็นศิษย์ด้วยครับ

  • ความเป็นท้องถิ่นในกรอบดำเนินการที่กว้างไปถึงความเป็นทั้งหมดของ ประชาคมท้องถิ่น อย่างที่พ่อน้องซอมพอว่านั่นแหละที่จะทำให้คุยกันไปได้ไกล การปรับแนวการมองเสียใหม่เลยน่าจะช่วยให้ไม่ติดกรอบ 
  • สวัสดีคุณจตุพร ยังคงแข็งขัน และมีเรื่องราวจากหน้างานมาเล่าถ่ายทอดไว้อยู่เสมอเลยนะครับ 

๑๘ มีนาคม ๒๕๕๔ ขอร่วมรำลึกวันท้องถิ่นไทย
รำลึกการก่อตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม เป็นสุขาภิบาลและระบบบริหารการปกครองท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อ ๑๘ มีนาคม ๒๔๔๘

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท