ประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน


ประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

ประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

                          คอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ใช้ในวงการศึกษาปัจจุบันมีหลายรูปแบบตามความเหมาะสมทั้งผู้ออกแบบบทเรียน  และผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน  การแบ่งลักษณะ  ประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน    นักการศึกษา     นักวิชาการได้จัดแบ่งประเภทลักษณะของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนออกเป็นประเภทต่าง ๆ คล้ายคลึงกัน  ซึ่งสามารถสรุปเป็นประเภทได้ดังนี้  (ทักษิณา  สวนานนท์,  2530.  หน้า  216220)

                                1. ใช้เพื่อการสอน (Tutoring) เป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นมาในลักษณะของบทเรียนโปรแกรม  เป็นการเลียนแบบการสอนของครู  กล่าวคือ  จะมีบทนำ  (Introduction)  มีคำอธิบาย (Explanations)ซึ่งประกอบด้วยตัวทฤษฎี กฎเกณฑ์ คำอธิบาย ตัวอย่างและแนวคิดที่จะสอนหลังจากที่นักเรียนได้ศึกษาแล้วก็จะมีคำถาม  (Questions)  เพื่อใช้ในการตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียนในแง่ต่าง ๆ มีการแสดงผลย้อนกลับ (Feedback) ตลอดจนการเสริมแรง  (Reinforcement)  สามารถให้นักเรียนย้อนกลับไปบทเรียนเดิมหรือข้ามบทเรียนที่นักเรียนรู้แล้ว  นอกจากนี้ยังสามารถบันทึก  (Records)  การกระทำของนักเรียนว่าทำได้เพียงไรและอย่างไรเพื่อให้ครูผู้สอนมีข้อมูลในการเสริมความรู้ให้นักเรียนบางคนได้

                                2. การฝึกและปฏิบัติ  (Drill  and  Practice)  แบบการฝึกและปฏิบัติส่วนใหญ่จะใช้เสริมเมื่อครูผู้สอนได้สอนบทเรียนบางอย่างไปแล้ว  และให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดกับคอมพิวเตอร์  เพื่อวัดระดับหรือให้นักเรียนมาฝึก   จนถึงระดับที่ยอมรับได้บทเรียนประเภทนี้จึงประกอบด้วยคำถาม  คำตอบที่จะให้นักเรียนทำการฝึกและปฏิบัติอาจต้องใช้หลักจิตวิทยาเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากทำและตื่นเต้นกับการทำแบบฝึกหัดนั้น  ซึ่งอาจแทรกรูปภาพเคลื่อนไหวหรือคำพูดโต้ตอบ รวมทั้งอาจมีการแข่งขัน  เช่น  จับเวลา  หรือสร้างรูปแบบให้ตื่นเต้นจากการมีเสียง  เป็นต้น

                                3.  การแก้ปัญหา  (Problem  Solving)  คอมพิวเตอร์ช่วยสอนประเภทนี้จะเน้นให้ฝึก การคิด การตัดสินใจ โดยมีการกำหนดเกณฑ์ให้แล้วผู้เรียนพิจารณาไปตามเกณฑ์ มีการให้คะแนนหรือน้ำหนักกับเกณฑ์แต่ละข้อ เช่น ในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ผู้เรียนจำเป็น อย่างยิ่งที่จะต้อง เข้าใจ และมีความสามารถในการแก้ปัญหา  กล่าวคือ  รู้จักเลือกสูตรมาใช้ให้ตรงกับปัญหาผู้เรียน อาจต้องทดเลขในกระดาษคำตอบก่อนที่จะเลือกข้อมูลที่ถูกได้  ซึ่งการทำเช่นนี้   ผู้สอนอาจไม่ได้ต้องการเพียงคำตอบที่ถูกเพียงอย่างเดียว  ยังต้องการขั้นตอนที่ผู้เรียนทำ เช่น ถ้าเลือกข้อ  .  แปลว่าใช้สูตรผิด  ถ้าเลือกข้อ  .  แปลว่าคำนวณผิด  ถ้าเลือกข้อ  .  แปลว่า ไม่เข้าใจเลย  เป็นต้น  การแก้ปัญหาบางเรื่องกว่าที่ผู้เรียนจะตอบได้จะต้องใช้คอมพิวเตอร์ นั้นช่วยแก้ปัญหาด้วย  เพราะเป็นการคำนวณที่สลับซับซ้อนก็เท่ากับเป็นการวัดด้วยว่าผู้เรียนมีความรู้ ทางคอมพิวเตอร์มากน้อยเพียงไร

                          4.  การสร้างสถานการณ์จำลอง  (Stimulation)  โปรแกรมประเภทนี้เป็นโปรแกรม       ที่จำลองสถานการณ์ให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ในชีวิตจริงของนักเรียน   โดยมีเหตุการณ์สมมติ    ต่าง ๆ อยู่ในโปรแกรมและนักเรียนสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงหรือจัดกระทำ (Manipulate) ได้ สามารถมีการโต้ตอบและมีตัวแปรหรือทางเลือกให้หลาย ๆ ทาง  เพื่อให้นักเรียนสามารถเลือกได้อย่างสุ่มเพื่อศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากทางเลือกเหล่านั้น นอกจากนี้ ในบางบทเรียนการสร้างภาพพจน์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น  การทดลองทางห้องปฏิบัติการในการเรียนการสอนจึงมีความสำคัญแต่หลายวิชาไม่สามารถทดลองให้เห็นจริงได้  เช่น  การเคลื่อนที่ของลูกปืนใหญ่        การเดินทางของแสงและการหักเหของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือปรากฏการณ์ทางเคมี  รวมทั้งชีววิทยาที่ต้องใช้เวลานานหลายวันจึงปรากฏผล  ปัญหาเหล่านี้สามารถใช้คอมพิวเตอร์จำลองแบบให้ผู้เรียนได้เห็นจริงและเข้าใจได้ง่าย

           5. การเล่นเกม (Gaming) เกมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เพื่อการเรียนการสอนนั้นเป็นสิ่งที่ใช้ เพื่อเร้าใจผู้เรียนเป็นอย่างดี โปรแกรมประเภทนี้นับเป็นแบบพิเศษของแบบจำลองสถานการณ์โดย มีเหตุการณ์ที่มีการแข่งขันที่สามารถจะเล่นได้โดยนักเรียนเพียงคนเดียวหรือหลายคนมีการให้คะแนน มีการแพ้ชนะ อย่างไรก็ตามการเขียนโปรแกรมประเภทนี้ต้องระวังให้มีคุณค่าทางการศึกษา โดยต้องมีจุดมุ่งหมายเนื้อหา และขบวนการที่เหมาะสมกับหลักสูตร

                          6. บทสนทนา (Dialogue) เป็นการเลียนแบบการสอนในห้องเรียน กล่าวคือ พยายามให้เป็นการพูดคุยระหว่างผู้สอนและผู้เรียน เพียงแต่ว่าแทนที่จะเป็นเสียงก็เป็นการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง เช่น บทเรียนวิชาเคมี อาจถามหาสารเคมีบางชนิด ผู้เรียนอาจโต้ตอบด้วย การใส่ชื่อสารเคมีให้เป็นคำตอบหรือบทเรียนสำหรับนักเรียนแพทย์อาจเป็นการสมมติสภาพของ คนไข้ให้ผู้เรียนกำหนดวิธีรักษาให้ก็ได้

           7.  การสาธิต (Demonstration) การสาธิตโดยใช้คอมพิวเตอร์ มีลักษณะคล้ายกับ

การสาธิตของครู แต่การสาธิตโดยใช้คอมพิวเตอร์น่าสนใจกว่าเพราะคอมพิวเตอร์ให้ทั้งภาพกราฟิก ที่สวยงามตลอดทั้งสีและเสียงด้วย  ครูสามารถนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อสาธิตเกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้หลายแขนง เช่น  สาธิตเกี่ยวกับการโคจรของดาวเคราะห์ ในระบบสุริยะ  การหมุนเวียนของโลหิต  การสมดุลของสมการ  เป็นต้น

                           8.  การทดสอบ (Testing) การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมักจะต้องรวมการทดสอบเป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนไปด้วย โดยผู้ทำจะต้องคำนึงถึงหลักการต่าง ๆ คือ การสร้าง      ข้อสอบการจัดการสอบ การตรวจให้คะแนน การวิเคราะห์ข้อสอบเป็นรายข้อ การสร้างคลังข้อสอบ และการจัดให้ผู้สอบสุ่มเลือกข้อสอบเองได้

                          9.  การไต่ถาม (Inquiry) คอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถใช้ในการค้นหาข้อเท็จจริง    ความคิดรวบยอด หรือข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ในแบบให้ข้อมูลข่าวสารนี้ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะมีแหล่งเก็บข้อมูลที่มีประโยชน์ ซึ่งสามารถแสดงได้ทันทีเมื่อผู้เรียนต้องการด้วยระบบง่าย ๆ ที่    ผู้เรียนสามารถทำได้เพียงแต่กดหมายเลข หรือใส่รหัส หรือตัวย่อ ของแหล่งข้อมูลนั้น ๆ การใส่รหัสหรือหมายเลขของผู้เรียนนี้ จะทำให้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนแสดงข้อมูลซึ่งจะตอบคำถามของ     ผู้เรียนตามต้องการ

                          10. แบบรวมวิธีการต่างๆ เข้าด้วยกัน(Combination)  คอมพิวเตอร์สามารถสร้างวิธี          การสอนหลายแบบรวมกันได้  ตามธรรมชาติของการเรียนการสอน  ซึ่งมีความต้องการวิธีการสอนหลาย ๆ แบบ  ความต้องการนี้จะมาจากการกำหนดวัตถุประสงค์ในการเรียนการสอน  ผู้เรียนและ องค์ประกอบหรือภารกิจต่าง ๆ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนหนึ่งอาจมีทั้งลักษณะที่เป็นการใช้เพื่อการสอน  (Tutorial)  เกม  (Gaming)  การไต่ถามให้ข้อมูล  (Inquiry)  รวมทั้งประสบการณ์  แก้ปัญหา  (Problem  Solving)  ก็เป็นได้

หมายเลขบันทึก: 212077เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีมากเลยคราบผมชอบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบบจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท