ห้ามไม่ได้ก็ 'ต้องสอน


ห้ามไม่ได้ก็ 'ต้องสอน

 


กรณีปัญหา “เด็กติดเกม” ทาง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” นำเสนอไปตอนหนึ่งแล้วสำหรับข้อสังเกตว่าติดหรือไม่ ? ติดถึงขั้นต้องแก้ไขหรือยัง ? และแนวทางช่วยเด็กให้พ้นภัยติดเกม !! โดยเป็นข้อมูลคำแนะนำของศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ซึ่งในช่วงที่เหล็กกำลังร้อน เพิ่งมีข่าวครึกโครมกรณีเด็กเลียนแบบเกมจนก่อคดีจี้-ฆ่า ก็น่าจะมาดูเรื่องนี้กันเพิ่มอีก...

 

 

เป็นข้อมูลคำแนะนำที่สื่อสารไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง
 
และจะให้ดีควรมีการนำไปถ่ายทอดต่อสู่ลูก-สู่เด็ก ๆ
 
ทั้งนี้ จากข้อมูลในเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต มีบทความ “เทคนิคการดูแลเด็กติดเกมเบื้องต้นสำหรับผู้ปกครอง” โดย นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นายแพทย์ 8 ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ซึ่งก็ถือว่าน่าสนใจสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่อยากให้ลูกหลานต้องเป็นผู้ต้องหาเพราะคลั่งเกม 
 
ในบทความนี้ นพ.บัณฑิตระบุไว้
สรุปได้ว่า... แม้การเล่นเกมในคอมพิวเตอร์ที่นิยมกันในปัจจุบันก็มีประโยชน์อยู่ด้วย นอกเหนือจากการที่เด็กจะรู้สึกไม่เชย เข้ากับกลุ่มเพื่อนได้ คุยโม้โอ้อวดกับเพื่อน ๆ ได้ เพราะเพื่อน ๆ ก็เล่นเหมือนกัน เช่น เกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน คลายเครียด หรือทำให้เกิดความภาคภูมิใจเมื่อประสบความสำเร็จ สามารถเอาชนะตามเงื่อนไข ตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดในเกมนั้น ๆ ซึ่งก็อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ในการทำภารกิจบางอย่างให้ประสบความสำเร็จ
 
แต่...กับความมุ่งมั่นในการเล่นเกมนั้น เป็นความมุ่งมั่นปลอมบนความสบายในสภาพ-ในบรรยากาศสถานที่เล่นเกม ไม่ได้เป็นการต่อสู้กับความยากลำบากเพื่อความสำเร็จที่แท้จริง และที่สำคัญ...การเล่นเกมนาน ๆ การ “ติดเกม-คลั่งเกม” จะเกิดผลกระทบหรือ “โทษ” ได้หลายประการ หรือ    “4 ด้าน” หลัก ๆ ได้แก่.....
 
“โทษต่อสุขภาพกาย” เช่น... แสบตา, ปวดข้อมือ, ไม่รับประทานอาหารจนแสบกระเพาะ เป็นโรคกระเพาะ, อดนอน ตื่นสาย ทำให้เพลีย ง่วง เวลาไปเรียน หรือเวลาทำงาน เป็นต้น
 
“โทษต่อสุขภาพจิต” เช่น... เกิดความทุกข์ ไม่สุขใจ ขัดแย้งภายในจิตใจหรือขัดแย้งกับผู้คนรอบข้างได้ เพราะเกิดความรู้สึกชอบเอาชนะ เคยชินกับการแข่งขัน ต้องมีแพ้-มีชนะ, เคยชินกับการได้ดังใจ เพราะเกมสั่งบังคับได้, ไม่มีวินัย ไม่มีการควบคุมตนเอง ไม่บังคับตนเอง ขาดความรับผิดชอบ เพราะเมื่อเกิดความเพลิดเพลินกับการเล่นเกมแล้วมักจะไม่ใส่ใจทำอย่างอื่นที่สำคัญ ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์-ความรับผิดชอบที่มีอยู่ หรือแม้กระทั่งเกิดพฤติกรรมหนีออกจากบ้านหลายวัน ไปกินนอนอยู่ในร้านเกม และการขโมยเงินพ่อแม่เพื่อไปเล่นเกม เป็นต้น
 
โทษต่อสุขภาพสังคม-ทักษะทางสังคมของตน” เช่น... เห็นเพื่อนเป็นศัตรูของความสนุกสนาน เพราะเพื่อนมาแย่งเล่นเกม ไม่เหมือนการละเล่นในอดีตที่ส่วนใหญ่ต้องเล่นกับเพื่อน เล่นคนเดียวไม่ได้ จึงต้องรู้จักคบเพื่อน เอาใจเพื่อน แต่กับเกมที่เป็นเครื่องเล่นสมัยใหม่ ไม่ต้องคบเพื่อนก็ได้ หรือแม้อยากจะคบแต่ก็คบไม่ค่อยเป็น เพราะไม่ค่อยได้ฝึก ทำให้ขาดทักษะทางสังคมในโลกจริง เพราะเด็กอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์
 
กับโทษหัวข้อนี้ นพ.บัณฑิตบอกว่า... บางคนอ้างว่าการเล่นเกมถ้าเป็นแบบออนไลน์ก็ได้เพื่อน ซึ่งก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ความสัมพันธ์ออนไลน์เป็นความสัมพันธ์ในโลกเสมือน ไม่ใช่โลกที่เป็นจริง ไม่ได้อยู่ร่วมกันจริง ๆ  หรือเป็นความสัมพันธ์ที่บางคนไม่ได้แสดงตัวตนที่แท้จริง เป็นเด็กอาจแสดงเป็นผู้ใหญ่ เป็นชายอาจแสดงเป็นหญิง เป็นคนเห็นแก่ตัวอาจแสดงเป็นคนมีน้ำใจก็ได้ เพราะในโลกอินเทอร์เน็ตจะแสดงเป็นอะไรก็ได้ไม่มีใครรู้
 
“จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่คบหากันทางอินเทอร์เน็ตจนสนิทสนมกัน นัดพบกัน และจบลงด้วยการมีเพศสัมพันธ์กันอย่างง่ายดาย อย่างที่ได้เห็นเป็นข่าวอยู่เนือง ๆ
 
“โทษต่อการผลิตผลงานของชีวิต” โทษหัวข้อนี้ได้แก่... การเรียนตก เสียงาน เสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ที่เป็นเด็กอาจเสียความสัมพันธ์กับพ่อแม่พี่น้อง ที่เป็นผู้ใหญ่การเสียความสัมพันธ์กับคู่สามีภรรยาจนเกิดหย่าร้างก็มีมาแล้ว “ที่สำคัญอาจเสียผู้เสียคนจากพฤติกรรมขโมยเงิน มั่วสุม เล่นพนัน ใช้ยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ไม่เหมาะสม เป็นอันธพาล” หรือถึงขั้น “เป็นอาชญากร” ก็เกิดขึ้นแล้ว !! 
 
ทั้งนี้ นอกจากพ่อแม้ผู้ปกครองควรต้องสังเกตเด็ก แก้ไขเด็ก ช่วยเด็กให้พ้นภัยติดเกม ด้วยความเข้าใจ-ด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม ดังที่ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ใช้คำว่า “วาระแห่งบ้าน” และได้นำเสนอไปแล้วเมื่อวันก่อน การหาวิธีทำให้เด็ก “ตระหนักถึงโทษภัยของการติดเกม-คลั่งเกม” ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปด้วย พยายามทำให้เขารับรู้และเห็นภาพด้วยตนเองว่าเกมที่เล่นแล้วสนุกนั้นก็มีโทษต่อตนเองที่ต้องระวัง ซึ่งหากเข้าใจทั้งประโยชน์และโทษ ก็จะสามารถใช้หรือเล่นแต่พอดีโดยได้ประโยชน์ และเลี่ยงโทษภัยได้
 
“เราอยากจะเล่น หรือเลิกเล่นเมื่อไรก็ได้ ไม่ใช่เกมกำหนดเรา เรียกให้เราเล่น ทั้ง ๆ ที่เป็นเวลาที่ไม่ควรเล่น หรือบังคับไม่ให้เราเลิก ทั้ง ๆ ที่เป็นเวลาที่ควรเลิก” ...นพ.บัณฑิตระบุถึงจุดสมดุลที่ดีที่สุดในการเล่นเกมของเด็ก ซึ่งจุดสมดุลนี้ถ้าชูให้เป็นความท้าทายที่เด็กต้องทำให้ได้เหมือนชนะเกม...ก็คงจะดี
 
“ติดเกม-คลั่งเกม” เป็นโทษกับตัวเด็กเอง 4 ข้อหลัก ๆ
 
ถ้าผู้ใหญ่ทำให้เด็กคิดได้ ควบคู่กับการป้องกัน ก็น่าจะดี
 
คงช่วยสกัด “คดีโหดเลียนแบบเกม” ได้ชะงัด ?!?!?.

ที่มา:http://www.aksorn.com

หมายเลขบันทึก: 211899เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2008 22:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท