การพัฒนาแบบพอเพียง (Sufficiency Development)


การพัฒนาแบบพอเพียง

โดยโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

“.... ความพอเพียง อันหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งทางวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี"

 บทนำ

      รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นฉบับที่ 16 เขียนขึ้นโดยบุคคลที่เป็นกลางทางการเมืองและผู้ทรงคุณวุฒิหลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ และได้รับการขนานนามว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ไม่ทันไรก็มีการเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้ด้วย อะไรที่เป็นต้นเหตุแห่งวิกฤตการณ์เช่นนี้ จะเป็นที่ตัวบุคคลอย่างเดียวหรือ หรือเป็นที่โครงสร้าง เช่นโครงสร้างทางกฎหมาย เริ่มแต่ความไม่สมบูรณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่หวังว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีบนพื้นฐานกลไกตลาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่เอาเข้าจริงก็เป็นระบบเสรีเพียงบางส่วน เป็นระบบที่ทุนน้อยแข่งขันกับทุนใหญ่ได้ยาก มีการผูกขาดโดยปริยาย มีการเอาเปรียบผู้บริโภค ฯลฯ มิหนำซ้ำทุนใหญ่บางส่วนก็เข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐเสียเองซึ่งทำให้ความเสรีและความเป็นธรรมลดน้อยลง หรือเป็นที่วัฒนธรรมหรือค่านิยมของสังคมไทยที่ยังติดอยู่กับระบบอุปถัมภ์ เป็นสังคมที่ขาดปัญญาและขาดภูมิคุ้มกัน 

 อย่างไรก็ตาม จะพอสรุปได้ไหมว่า วิกฤตการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยยังไม่มีความแข็งแรงเพียงพอ ขาดความพร้อมที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ถ้าเป็นเช่นนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะแสวงหาปรัชญาการพัฒนาที่เหมาะสมกับสังคมไทย ที่ช่วยให้สังคมยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางความผันผวนทั้งภายในและภายนอก อีกทั้งยังสามารถพัฒนาทางสติและปัญญาให้เจริญก้าวหน้าไปได้ ทั้งในทางวัตถุและในทางธรรม แนวคิดการพัฒนาดังกล่าวขอเรียกว่า แนวคิด “การพัฒนาแบบพอเพียง” 

      การพัฒนาแบบพอเพียง

      เมื่อโยงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่แนวคิดการพัฒนาแบบพอเพียง ก็อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาแบบพอเพียงจะต้องอาศัย ความรอบรู้ คู่คุณธรรม เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หมายความว่า

      - ไม่เน้นในด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง ด้านหนึ่งด้านใดเพียงด้านเดียว หากให้มีความสมดุล เช่น ไม่พัฒนาเศรษฐกิจจนทำให้ชุมชนแตกสลายมาเป็นแรงงานราคาถูก รัฐไม่เข้มแข็งจนทำให้ประชาชนกลายเป็นไพร่ฟ้า (subject) ที่เชื่อฟังเพื่อแลกกับความช่วยเหลือ หากเป็นพลเมืองผู้มีสิทธิเสรีภาพและสามารถพึ่งตนเองได้

      - ในส่วนเศรษฐกิจเอง สร้างความพอดีระหว่างเศรษฐกิจทันสมัยที่เน้นการเติบโต การบริโภค การแข่งขันทั้งในตลาดภายในและภายนอกประเทศ ฯลฯ กับเศรษฐกิจยั่งยืนที่เน้นการประหยัดพลังงาน การบริโภคพอประมาณ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบหมุนเวียน การรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ และเศรษฐกิจชุมชนที่เน้นการผลิตเพื่อบริโภคมีเหลือจึงขาย การเกษตรผสมผสานและเกษตรอินทรีย์ อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ฯลฯ

      - ในส่วนสังคมจะต้องเร่งพัฒนาสังคมและจริยธรรมให้ก้าวทันการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมือง ปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการตามพระบรมราโชวาทให้เป็นคุณธรรมหลักของประเทศ (การรักษาสัจจะ การข่มใจฝึกใจตนเอง การอดทน อดกลั้น อดออม และการละวางความชั่วและรู้จักสละประโยชน์ส่วนตน) สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่สามารถจัดการความรู้ได้ด้วยดี ส่งเสริมความเป็นชุมชนและเป็นสังคมเอื้ออาทร (caring) ฯลฯ

      - ในส่วนการเมืองจะต้องพัฒนาประชาธิปไตยคู่กับธรรมาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยที่รอบด้าน คือเป็นทั้งแบบตัวแทน (ระบบพรรคการเมือง) แบบมีส่วนร่วม (การเมืองของพลเมือง) และแบบวิพากษ์ (deliberative) (การเข้าถึงข่าวสารข้อมูลและการถกเถียงอภิปรายเพื่อการรู้เท่าทัน) อีกทั้งยังเป็นธรรมาธิปไตย คือปลูกฝังค่านิยมว่าการเมืองต้องคู่คุณธรรม เน้นเจตนารมณ์ของกฎหมายและจารีตประเพณีของระบอบประชาธิปไตยมากกว่าลายลักษณ์อักษรของกฎหมายที่เลี่ยงบาลีได้ตลอดเวลา ถือว่าจริยธรรมและหิริโอตะปะของนักการเมืองต้องอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าบุคคลธรรมดา ฯลฯ

 ที่มา  : http://www2.nesac.go.th

หมายเลขบันทึก: 211550เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2008 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท