ย้อนฟังมหาชีวาลัย...สะท้อนมหา'ลัยชีวิตของตัว


มหาชีวาลัยน่าจะขยายความคมชัดในประเด็นนี้ คนจะเรียนรู้อย่างไรจึงจะเข้าใจว่า "ตัวไม่รู้ ว่าไม่รู้อะไร" คือ คนจะต้องเรียนรู้อย่างไร เพื่อจะค้นหาว่าชุดวิชาที่เป็นแก่นความรู้ของการอยู่ในบ้าน(ชุมชน)ของตนได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพของตน

หลังจากที่ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์  ปราชญ์ชาวบ้านจากอำเภอสตึก บุรีรัมย์  เมื่อบ่ายวานนี้ได้นำเสนอโครงการมหาชีวาลัย ต่อคณะผู้ทรงคุณวุฒิและเจ้าหน้าที่ สคส.   พร้อมทั้งคณะผู้บริหารโครงการและคณะพันธมิตรทางวิชาการได้แสดงความคาดหวังและขยายประเด็นเพิ่มเติม    ต่อจากนั้นคณะผู้ทรงคุณวุฒิได้แสดงความคิดเห็นต่อโครงการมหาชีวาลัย    

กระบวนการพูดคุยระหว่างกัน ดำเนินไปอย่างสไตล์ KM  โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  คอยทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย ให้เกิดการลื่นไหลของการสนทนากัน     เราได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง   ซึ่งเป็นธรรมชาติของการก่อกำเนิดความรู้ใหม่  สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พึงมี    จากมุมมองที่แตกต่างน่าจะนำไปสู่คุณประโยชน์ของทุกฝ่าย  อย่างน้อยที่สุดผมเชื่อว่าคณะผู้บริหารโครงการก็เห็นบางอย่างที่ต้องไปทำให้ชัดขึ้น ประโยชน์สูงสุดคือชุมชน   ส่วนท่านอื่นๆรวมทั้งเจ้าหน้าที่ สคส. ก็ได้เรียนรู้บางเรื่องที่จะนำไปปรับใช้ทั้งในชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวของแต่ละคนไม่มากก็น้อย   แน่นอนครับคงได้ไม่เท่ากันทุกคน  ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องรับของใครเปิดรับมากกว่ากัน

โดยส่วนตัวทุกครั้งที่ได้ร่วมฟังครูบาสุทธินันท์พูดเมื่อไร   ก็ต้องได้อะไรติดมือกลับบ้านทุกครั้ง  อย่างน้อยที่สุดก็ประกายความคิดเล็กๆ  ครั้งนี้ก็เช่นกัน

เมื่อครางานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 1 ครูบาสุทธินันท์ได้กล่าวเอาไว้ช่วงหนึ่งบนเวทีสัมมนาที่ผมรู้สึกโดนเข้าอย่างจัง  "คนไม่มีความรู้ที่จะอยู่บ้านตัวเอง  จึงต้องไปหางานทำที่อื่น"   จุดนี้เองครับที่รู้สึกเสียดายว่า  มหาชีวาลัยน่าจะขยายความคมชัดในประเด็นนี้  คนจะเรียนรู้อย่างไรจึงจะเข้าใจว่า  "ตัวไม่รู้ ว่าไม่รู้อะไร"  คือ  คนจะต้องเรียนรู้อย่างไร เพื่อจะค้นหาว่าชุดวิชาที่เป็นแก่นความรู้ของการอยู่ในบ้าน(ชุมชน)ของตนได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพของตนนั้นต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง   ตรงนี้ได้ไอเดียจากเมื่อวานเหมือนกันว่าประเด็นนี้ต้องย้ำ  "แม้แต่ชุดวิชาที่ว่านี้  คนเรียนต้องเรียนรู้เองว่าชุดวิชาที่สำคัญ  หรือจำเป็นต่อตัวนั้นมีเรื่องอะไรบ้าง?" 

 ที่ว่าโดนเข้าอย่างจังจากวลีของครูบาสุทธินันท์นั้น   เพราะว่าตัวเองไม่รู้ว่าตัวเองนั้น ยังสอบไม่ผ่านในสาขาวิชาการกลับไปใช้ชีวิตที่ชุมชนของตัวเอง    เมื่อก่อนมักให้คำตอบกับตัวเองเสมอว่าเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว  ก็หางานที่ดูดี  มีเงินเดือนสูงๆ  เพื่อให้ตัวเอง, พ่อแม่รวมทั้งญาติโกโหติกาได้ภาคภูมิใจ    เพราะที่บ้านของตัวเองมันไม่มีงานอย่างที่เราใฝ่ฝันหาในสมัยนั้น     หลังจากฟังครูบาฯก็ได้คำตอบให้กับตัวเอง  เหมือนครูบาฯยิงหมัดตรง ลงเข้าที่ปลายคางตัวโง่ในตัวผมอย่างจัง  ยิ่งไปกว่านั้น ครูบาฯปล่อยหมัดฮุกซ้ำมาอีกดอกหนึ่ง  ว่า "เราไม่มีไม้บรรทัดวัดความรู้สำหรับเรื่องนี้"   ทำให้ตัวโง่ในตัวผมถึงกับ "เตี้ย" ลงไปเลย หากมีกรรมการก็ต้องนับ 8 ละครับ    แต่ยังไม่น๊อคเอาท์ครับ เพราะว่าตัวโง่ในตัวผมยังพอมีแรงเหลืออีกประมาณ

 ไอเดียเล็กๆ ที่ได้จากเวทีการนำเสนอโครงการมหาชีวาลัย  ได้จากมุมมองที่ต่างหลากหลายในครั้งนี้  พอเอามาปะติดปะต่อเข้ากับความคิดของตัวเอง  เลยทำให้พอมองเห็นภาพชุดความรู้ว่าด้วยการคืนถิ่นกลับไปอยู่บ้านตัวเอง   การเรียนรู้เรื่องนี้ ผมถือเป็นการเรียนใน "มหาวิทยาลัยชีวิต"   ถ้าผมสอบผ่านจะได้ปริญญาเอกสาขากลับไปอยู่บ้านตัวเอง

ชุดวิชาที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง  โดยการไปพบเห็นจริงบ้างมา  ฟังเขาเล่ามาบ้าง  ได้จากการสนทนาอย่างเวทีเมื่อวานนี้บ้าง  ปะติดปะต่อแล้วพอเห็นภาพชุดวิชาใหญ่ๆ  แต่ภาพของวิชาย่อยเล็กๆในแต่ละชุดวิชายังไม่ชัดมากนัก   ทั้งหมดเป็นวิชาที่ผมจะต้องเรียนและสอบให้ผ่าน  เป็นความรู้สึกส่วนตัวของผมต่อเรื่องนี้นะครับ  ของคนอื่นก็อาจจะมีวิชาอื่นที่แตกต่างกันไป

ชุดวิชาที่ 1 (วิชาบังคับ)         ชุดความรู้ว่าด้วยการเปิดกะโหลกปรับคลื่นความคิดให้เข้ากับคลื่นชุมชน

ชุดความรู้นี้บังคับต้องผ่านวิชาแรกครับ  ถ้าผมปรับวิธีคิด  กระบวนทัศน์ของตัวเองที่ยังมีภาพแบบเดิมติดอยู่  ลบหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้   ผมก็ต้องล้มเลิกการเรียนในสาขานี้ไป  ไม่ต้องไปเรียนวิชาอื่นให้เสียเวลาหรอกครับ  เรียนไปก็ไลฟ์บอย   ต้องเรียนรู้ว่าไอ้ความพอเพียงมันเป็นอย่างไร  ต้องลองชิมรสชาติจริงว่าสู้ไหวมั๊ย   หากสอบผ่านก็เรียนต่อ

ชุดวิชาที่ 2  ชุดความรู้ว่าด้วยการสร้างสรรพสัมมาชีพที่เหมาะกับกำลังของตัวและเป็นมิตรกับชุมชน

ถึงแม้เราจะยึดแนวทาง ทำสิ่งที่เราบริโภค และบริโภคสิ่งที่เราทำ   ก็ตาม   ต้องยอมรับโลกของความเป็นจริงว่ามันทำได้ไม่หมดทุกอย่าง  จำเป็นต้องมีรายได้ที่พอจะเลี้ยงลูก  เลี้ยงเมีย เจือจานให้พ่อแม่ตนได้บ้าง   ก็จำเป็นต้องเรียนวิชาการสร้างอาชีพ  อาชีพที่ว่าจะรวมถึงการผลิตเพื่อใช้เอง  เช่น ปลูกพืชผัก เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่  เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เรื่องดิน เรื่องน้ำ  เน้นการบริโภคเอง  และหารายได้จากข้างนอกด้วยซึ่งจะแตกต่างไปตามสภาพจริง  นั่นหมายถึงว่าจะรวมวิชาย่อยในเรื่องการทำธุรกิจอยู่ในชุดความรู้นี้ด้วย  

ชุดวิชาที่ 3  ชุดความรู้ว่าด้วยการปรับสมดุลระหว่างชีวิตปัจเจกกับชีวิตสาธารณะ

เรื่องนี้ก็จำเป็นอีกเช่นกัน  เราคงจะอยู่โดดเดี่ยวครอบครัวไม่ได้   พลังของชุมชนคือ พลังของการรวมตัวกัน   จึงต้องเรียนรู้วิชาย่อยเยอะแยะมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือต่างๆที่ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน   เรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางความแตกต่างได้ 

ชุดวิชาที่ 4 ชุดความรู้ว่าด้วยการเรียนรู้ความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งและเรียนรู้ตลอดชีวิต

ชุดความรู้นี้หากขาดหายไป  สักวันชีวิตก็จะเหี่ยวแห้งไป   เรียนรู้ให้ถึงขนาดว่ากลับไปค้นหาทุนในชุมชนเดิมที่มีทั้งที่มองเห็น  และมองไม่เห็น  จนทำให้เข้าถึงสัมผัสได้ ดึงมาใช้ประโยชน์ได้   เรียนรู้ให้เห็นมิติความสัมพันธ์ของโลกความจริง  เรียนรู้เรื่องราวที่เป็นศาสตร์ทางวิชาการที่สำคัญต่อเรานำมาผนวกกับความรู้เดิมที่เรามี   สร้างเป็นความรู้ใหม่มารับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น

ยังไม่หมดนะครับ  แต่ที่พอมองเห็นตอนนี้เอาแค่นี้ก่อน

ย้ำนะครับว่านี้คือเป้าหมายส่วนตัวของผม  แต่ไม่สงวนสิทธิ์ที่ใครจะเอาไปดัดแปลง   แต่ต้องระวังว่า

การเรียนรู้ที่ดีที่สุด  ต้องเรียนรู้ว่า ตัวไม่รู้ ว่าไม่รู้อะไร   แล้วค่อยเลือกเรียนเรื่องนั้น

ผมพิจารณาแล้วว่า  ชุดวิชาที่ผมกล่าวมาทั้งหมด  ผมไม่รู้ และผมจะต้องเรียนรู้กับมัน  จึงจะพบทางปลายฝันที่ผมหวังไว้

และประจวบเหมาะกับอีกเหตุการณ์หนึ่งในอดีต  สมัยที่ร่ำเรียนวิชาหนึ่ง  "Informal sector"   ซึ่งมีนักวิชาการพยายามให้คำอธิบายที่มาที่ไปในเรื่องนี้    แต่คำอธิบายเหล่านั้นจะปรากฏสาเหตุในเชิงหลักการในมิติเศรษฐศาสตร์   กล่าวโดยย่อคือ   เมื่อภาคเกษตรกรรมเจอสภาพปัญหา  อาทิ สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ   คนมีรายได้ไม่พอรายจ่าย  จึงต้องอพยพเข้าไปหางานทำในเขตเมือง หรือเขตอุตสาหกรรม   แต่ในพื้นที่เหล่านั้น  ไม่มีงานรองรับได้เพียงพอ  อีกทั้งแรงงานที่หลั่งไหลเข้าไปนั้น อยู่ในสภาพที่มีฝีมือแรงงานไม่ตรงกับที่การจ้างงานต้องการ    แรงงานส่วนเกินเหล่านั้น  จึงต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในวิถีทางในรูปแบบต่างๆ  จึงเป็นที่เรียกขานว่า "informal sector"  ของนานาประเทศ

แต่พอมาเจอ "มหาชีวาลัย"  ผมจึงคิดว่าน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในแง่มุมของการแก้และกันสภาพปัญหาของการย้ายถิ่นฐานแรงงาน  เป็นแนวคิดที่ท้าทายมากในสายตาผม  

หมายเลขบันทึก: 2111เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2005 08:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ประเด็นที่เสนอมานี้น่าสนใจมาก โดยเฉพาะ "ตัวไม่รู้ ว่าไม่รู้อะไร" คงนำไปใช้ในการพัฒนาได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิตหรือเรื่องของงาน ขออนุญาตนำความคิดของคุณธวัชไปใช้กระตุกเพื่อนร่วมงานให้ได้คิดนะคะ

เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นก่อนหน้าค่ะด้วยค่ะ โดยเฉพาะประเด็น "ตัวไม่รู้ว่า ไม่รู้อะไร" และเป็นตัวอย่างของกระบวนการจัดการความรู้ที่เริ่มจากการยอมรับว่าไม่รู้ แล้ววิเคราะห์ว่าควรจะต้องเรียนรู้คือสิ่งใด  เป็นบทความที่โดนจริงๆค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท