บันทึกจากแดนซากุระ 25 : อิสระทางความคิด หรือฟุ่มเฟือยกันแน่ ?


การมีอิสระในการคิดเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ และการมีช่องทางในการพิสูจน์ว่าสิ่งที่คิดอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่เป็นการวิธีการแปลงความฝันให้เป็นความจริง
     การทำงานด้าน PCR จำเป็นต้องใช้น้ำยาอยู่หลายตัว เช่น Buffer II, dNTP, Mg, primer, และ taq polymerase ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่าน้ำยาพวกนี้ราคาค่อนข้างแพง ในบ้านเราก็จะเก็บกันเหมือนเป็นของมีค่า ถ้าตู้เย็นมีกุญแจล็อคได้ ในบ้านเราหลายคนก็คงล็อคตู้เย็นไปแล้ว เพราะเกรงว่าจะมีผู้ไม่ประสงค์ออกนามมาร่วมใช้ด้วยโดยไม่ได้รับเชิญ แต่ที่นี่เขาเก็บกันในกล่องเก็บแยกเป็นกล่องเฉพาะ คือ กล่องเก็บ buffer ก็มีแต่เฉพาะ buffer 1 กล่อง กล่องเก็บ dNTP ก็มีกล่องเก็บ dNTP เฉพาะ 1 กล่อง แม้แต่ taq polymerase ก็มีกล่องเก็บเฉพาะ taq polymerase 1 กล่อง ใครจะทำทิ้งทำขว้างอย่างไรก็เชิญตามสบาย ไม่มีการตรวจสอบด้วย ทุกคนมีอิสระที่จะมาหยิบใช้น้ำยาเหล่านี้ได้ตามสบาย ดังนั้นงานที่แต่ละคนต้องทำจึงมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะลองผิด ลองถูก ลองไปจนกว่าจะแน่ใจ โดยไม่มีใครเข้ามาวุ่นวาย หรือพูดจาให้ระคายเคืองใจ ผลก็คือ ความสนุกในการทำงาน เพราะทุกอย่างที่คิดมีอิสระที่จะทำ และพิสูจน์ว่าสิ่งที่คิดอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งในความเห็นของผมแล้ว การมีอิสระในการคิดเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ และการมีช่องทางในการพิสูจน์ว่าสิ่งที่คิดอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่  เป็นการวิธีการแปลงความฝันให้เป็นความจริง ในขณะที่บ้านเรา อาจไม่ถูกจำกัดในการคิด แต่ละคนจะคิดอะไรก็ได้ จะถูกจะผิดอย่างไรก็เป็นแค่เพียงความคิด ส่วนช่องทางในการพิสูจน์ว่าความคิดที่คิดอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่มีอิสระในการทำ เพราะราคาของน้ำยาที่ค่อนข้างแพง คงไม่มีใครอยากให้เอามาถลุงเล่น เพื่อพิสูจน์ความคิดที่ไม่รู้ว่าจะเป็นจริงได้หรือไม่  ตอนที่ผมเรียนปริญญาโท ต้องทำ protein gel electrophoresis แล้วต้องใช้ ladder marker เพื่อเป็นตัวบอกขนาดว่าโปรตีนที่แยกได้มีขนาดโมเลกุลใหญ่ขนาดไหน ความที่เป็นแล็บใหม่สำหรับผม และเป็นงานที่ไม่ค่อยได้ทำบ่อยนัก ก็ต้องไปหาเจ้าตัว ladder marker นี่จากห้องที่ทำงานด้าน molecular แล้วผมก็ไปขออนุญาตอาจารย์ท่านหนึ่งเพื่อขอใช้เจ้า marker ตัวนี้ อาจารย์ท่านก็มีเมตตาครับและอนุญาตให้ใช้ได้ครับ เพียงแต่มีเงื่อนไข เงื่อนไขนั้นคือ ทุกครั้งที่ใช้ต้องมาบอก ห้ามหยิบไปใช้เองโดยพลการ และทุกครั้งอาจารย์ต้องเป็นผู้ดูด markerให้เท่านั้น ครั้งละ 5 ไมโครลิตร ผมเล่าเรื่องนี้ไม่ได้มีเจตนาลบหลู่อาจารย์ท่านนั้น เพราะท่านเองก็มีเมตตาอนุญาตให้ผมใช้ marker ได้ ทำให้ผมสามารถบรรจุงานด้าน protein electrophoresis เป็นส่วนหนึ่งของปริญญานิพนธ์มหาบัณฑิตของผมได้ แต่เงื่อนไขเหล่านี้ ทำให้ไม่มีอิสระที่จะทำงาน เพราะจะ run gel แต่ละครั้งผมต้องคอยตรวจสอบว่าอาจารย์ท่านนั้นจะอยู่หรือไม่ ติดงานสอนตอนไหนหรือเปล่า แล้วกว่าจะหาตัวอาจารย์พบก็เป็นเรื่องที่ลำบากพอสมควร นี่แค่ marker ที่มีราคาไม่มากนัก แล้วถ้าผมต้องขอ taq polymerase ล่ะ อูย....ไม่กล้าคิด
     การถ่ายเอกสาร ที่นี่ให้อิสระในการถ่ายเอกสาร คุณจะถ่ายเท่าไหร่ก็ได้ สิ่งที่ทำก็เพียงแค่หยิบบัตรถ่ายเอกสารไปใส่เข้าเครื่อง จากนั้นก็ถ่ายไปจนกว่าจะเสร็จแล้วก็มาบันทึกว่าใครถ่ายไปจำนวนเท่าไร ทุกคนมีอิสระที่จะถ่ายอะไรก็ได้ที่เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะถ่าย ในขณะที่บ้านเรา การถ่ายเอกสารเป็นเรื่องวุ่นวาย ไม่สะดวกที่จะทำ เนื่องจากในภาควิชาฯไม่มีเครื่องถ่ายเอกสาร ต้องให้เจ้าหน้าที่ไปถ่ายให้ ดังนั้นแต่ละเรื่องก็จะต้องผ่านการพิจารณาจากผู้เกี่ยวข้องก่อนว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องถ่ายหรือไม่ ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็ต้องพิจารณาเพิ่มด้วยว่าแล้วที่ถ่ายนั้นเป็นโควต้าใคร เรื่องบางเรื่องต้องส่งเอกสารราชการโดยมีจำนวนเอกสารที่ต้องส่ง 7 ชุด เวลาส่งต้องคอยตอบคำถามวุ่นวาย สุดท้ายก็เลยไปถ่ายเอกสารเองก็ได้หมดเรื่องหมดราว ขอเพียงแม่เจ้าประคูณช่วยดำเนินการส่งเอกสารต่อให้ก็พอ และในบางหน่วย การใช้ laser printer ก็เป็นเรื่องวุ่นวายที่จะต้องมีการตรวจสอบว่าเรื่องที่พิมพ์เป็นเรื่องอะไร เหมาะสมที่จะพิมพ์หรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องของภาคที่ไม่เกี่ยวกับหน่วยก็ให้ไปพิมพ์ที่ภาค อะไรมันจะขนาดนั้น
     ผมเข้าใจว่าการตรวจสอบและการสร้างขั้นตอนขึ้นมากลั่นกรอง ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพียงแต่เราคงต้อง justify กันว่าอย่าให้มันรัดตัวจนไม่มีอิสระ จนคนที่เกี่ยวข้องไม่อยากเข้าไปวุ่นวาย สุดท้ายควักกระเป๋าจ่ายเองก็ได้ ไม่ใช่เงินมากมาย เรื่องนี้ระหว่างความฟุ่มเฟือยที่ใช้กันตะบี้ตะบันไม่ใช่เรื่องราชการ เรื่องส่วนตัวก็เอามาใช้ กับสุดโต่งอีกข้างหนึ่งคือห้ามไม่ให้ใช้ก่อน ถ้าจะใช้ต้องผ่านการพิจารณาให้รอบคอบว่าสมควรได้ใช้จริง จุดตรงกลางของมันคือความประหยัด คืออนุญาตให้ใช้ มีอิสระที่จะใช้ แต่ให้พิจารณาเองว่าควรเป็นเรื่องราชการหรือเรื่องของหน่วยงานเท่านั้น เรื่องนี้ขึ้นกับมุมมอง ว่าคุณจะมองในมุมมองไหน ถ้ามองว่าคนทั่วไปอยู่ในทฤษฎี X คือเห็นคนเป็นคนไม่รักงาน หนีได้ก็จะหนี เอาเปรียบหน่วยงานได้ก็จะเอาเปรียบ วิธีการแก้ไขคือสร้างกฎระเบียบขึ้นมากำกับ ห้ามไว้ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าสมควร ส่วนถ้ามองว่าคนทั่วไปอยู่ในทฤษฎี Y คือมองว่าคนรักงาน อยากทำงานให้กับส่วนรวม ทางออกคือให้อิสระที่จะให้คนทำงาน สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้คนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผมมั่นใจว่าหัวหน้าภาคพยาธิวิทยาคนปัจจุบัน ท่านมีมุมมองมองคนแบบทฤษฎี Y แน่นอน แต่ในอีกหลายๆหน่วย ผมไม่ได้สนิทด้วยก็เลยตอบไม่ได้ว่ามีมุมมองแบบไหน  แค่มุมมองที่ไม่เหมือนกัน.....การกระทำก็ต่างกันแบบสุดขั้วแล้ว
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21021เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2006 07:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คิดว่าบรรดาหัวหน้าทั้งหลายคงเป็นแบบ X ผสม Y แต่ว่าจะใช้แบบไหนมากว่ากันล่ะ

  • ไม่แน่ในว่า เป็นแบบไหน ผมไปเยี่ยมโรงเรียนหนึ่ง เจ้าหน้าที่เอากุญแจล็อกตู้หนังสือ ผมถามว่าล็อกทำไม ได้คำตอบว่ากลัวนักเรียนหยิบไปอ่าน เดี๋ยวหนังสือเก่า เป็น x หรือ Y ละครับ
  • ผมมองว่าระบบราชการบางครั้งมีระเบียบมากเกินไป ไม่ได้มองพื้นฐานว่า คนมีความคิดนะ ระบบราชการจะควบคุมไปทุกอย่าง แม้แต่เรื่องการทำลายกระดาษ
  • คุณหมอประเวศ วะสีเล่าให้ฟังว่าแม้แต่การจะตัดหญ้าขจรจบก็ต้องนำเข้าครม.
  • ขอบคุณครับที่ทำให้ต่อมความคิดของผมได้ใช้บ่อยๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท