หมอบ้านนอกไปนอก(75): เยี่ยมชมโรงหมอ


โรงพยาบาลราชการของสกอตแลนด์มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ พนักงานไม่ได้เป็นข้าราชการแบบเมืองไทย ส่วนของแอนท์เวิปเป็นหน่วยงานที่ไม่หวังกำไร ที่รับงบประมาณจากปริมาณงานและประเภทของงานจากประกันสังคม ที่เหมือนกันคือไม่มีการตรวจผู้ป่วยนอกทั่วไปแต่มีผู้ป่วยนอกเฉพาะทางที่มาจากการส่งต่อหรือการนัดหมายเท่านั้น

เข้าสัปดาห์ที่ 40 อากาศไม่หนาวแล้ว เย็นสบายขึ้น ช่วงที่ไปทัศนศึกษาสกอตแลนด์ที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงที่ได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่และระบบสุขภาพของสกอตแลนด์ แต่ก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่รู้สึกคิดถึงครอบครัวอย่างมากพร้อมความวิตกกังวลอย่างสูงเนื่องจากเป็นช่วงที่ได้รับจดหมายแจ้งจากทางอำเภอให้ภรรยาและลูกๆไปทำบัตรผู้อยู่อาศัยชั่วคราว (Residence card) ได้ ซึ่งจะใช้แทนวีซ่าที่ทำจากสถานทูตเบลเยียมที่เมืองไทยที่ออกให้เป็นแบบไม่เกิน 90 วันและเข้าออกได้ครั้งเดียวเฉพาะในพื้นที่ของเบลเยียมเท่านั้น ภรรยาเองก็ยังไม่คุ้นกับเบลเยียมมากนัก ต้องพาลูกๆไปติดต่อทางอำเภอซึ่งยังไม่เคยไปมาก่อน ผมเคยไปก็มีคนพาไป จำสถานที่ไม่ได้ อาศัยทางศูนย์บริการนักศึกษาเขาเขียนแผนที่ให้ เอ้ต้องพาลูกๆไปถ่ายรูปใหม่ เป็นแบบที่ใช้ทำวีซ่าเข้าอังกฤษ ขนาด 1 นิ้วแบบเห็นใบหน้าชัดๆ ถ่ายแค่คอ ฉากหลังเป็นสีขาว 4 รูปในราคา 500 บาท แล้วพาเด็กๆไปที่ทำการรับทำเอกสารที่ใกล้ๆถนนคนเดิน เป็นที่ที่ทางคอมมูนเช่าไว้สำหรับจัดทำเอกสารแล้วส่งเอกสารทั้งหมดไปที่บรัสเซลส์ ส่วนตอนรับเอกสารให้ไปรับที่ว่าการอำเภอซึ่งอยู่อีกที่หนึ่ง

การขอออกบัตรผู้อยู่อาศัยชั่วคราวนี้ทำได้ในกรณีขอวีซ่าแบบอยู่กับครอบครัวหรือระยะยาวมากกว่า 3 เดือน ใช้เวลานับจากวันยื่นเอกสารให้คอมมูนประมาณ 90 วัน ซึ่งเรารอไม่ได้ต้องใช้ระบบทางด่วนภายใน 3 วันโดยจ่ายเงิน 90 ยูโรต่อคน แต่ของลูกๆเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ต้องใช้ เขาออกเป็นบัตรกระดาษแข็งที่มีรายชื่อเด็กๆให้คนละใบ โดยไม่ต้องใช้รูปถ่ายติดในบัตร เอ้บอกว่าเจ้าหน้าที่ให้ทำแค่นี้ก็พอ ส่วนของผู้ใหญ่ต้องทำบัตรอิเล็กโทรนิกส์ ผมเองก็สงสัยว่าทำไมไม่ต้องทำแต่ก็ไม่ได้ไปถามใครเพิ่มอีก ก็คิดว่าเจ้าหน้าที่เขาบอกว่าใช้ได้ เราก็เชื่อเขาและเรื่องบัตรของเด็กๆก็กลายเป็นเหตุระทึกขวัญตอนใกล้จะกลับเมืองไทยที่ผมจะได้เล่าในตอนต่อๆไป เอ้ได้แสดงให้ผมเห็นว่าเขาสามารถอยู่ในต่างแดนได้ ไปโน่นไปนี่ได้เอง พาลูกๆไปร่วมงานเลี้ยงของโรงเรียน ไปงานเลี้ยงวันเกิดที่บ้านเพื่อนๆของลูกได้ แสดงให้เห็นว่าเขาปรับตัวได้เร็วและเก่งมาก แม้ลูกๆจะแอบบ่นให้พ่อฟัง (แบบให้แม่ได้ยิน) ว่าแม่พาเดินหลงทางไปตั้งไกลกว่าจะถึงบ้านเพื่อนที่เลี้ยงวันเกิด

ที่สกอตแลนด์ ผมได้ไปดูงานศูนย์แพทย์ชุมชนของเขาแห่งหนึ่งที่เกิดจากมีการรวมตัวกันของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือเวชปฏิบัติครอบครัวแล้วเปิดให้ประชาชนมาขึ้นทะเบียนโดยไม่จำกัดเขตพื้นที่รับผิดชอบ ขึ้นตามความสมัครใจ มีแพทย์อยู่ 7 คน การทำสัญญากับรัฐบาลเป็นแบบรัฐบาลกับหน่วยงาน ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับแพทย์คนใดคนหนึ่งโดยตรง ในขณะที่สถานีอนามัยที่เบลเยียมที่ไปดูงานก็เช่นกันเป็นของภาคเอกชนที่ไม่หวังกำไรที่มาบริหารจัดการและจ้างแพทย์ให้มาอยู่ประจำ ทำให้ไม่เป็นภาระต่อค่าใช้จ่ายด้านต่างๆของรัฐบาล จ่ายแต่เพียงค่าเหมาจ่ายรายหัวประชากรเท่านั้นและยแกจากกันชัดเจนระหว่างศูนย์แพทย์ชุมชนหรือสถานีอนามัยที่ทำเรื่องบริการปฐมภูมิกับโรงพยาบาลที่ดูเรื่องทุติยภูมิ ในส่วนของโรงพยาบาลผมก็ได้มีโอกาสไปดูงาน 2 แห่งคือโรงพยาบาลหลวงแห่งเอดินเบอระของสกอตแลนด์กับโรงพยาบาลสตีเวนเบิร์กแห่งแอนท์เวิป เบลเยียม

โรงพยาบาลหลวงแห่งเอดินเบอระ (the royal Infirmary of Edinburgh) เป็นของราชการแต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม่ได้เป็นข้าราชการ เป็นการจ้างมาทำงานตามข้อกำหนดและสัญญาจ้าง จึงเป็นโรงพยาบาลราชการที่พนักงานไม่ได้เป็นข้าราชการ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ.ปี 1729 มีสี่เตียง โดยเช่าบ้านที่คอว์เกตในย่านเมืองเก่า ได้งบประมาณปีละ 97 ปอนด์ใช้ในleeches มีหมอ 1 คน พยาบาล 1 และนักเรียนแพทย์ 82 คน ในปี 1736 ย้ายสถานที่และออกแบบสร้างเป็นโรงพยาบาลที่ถนนinfirmary ปี 1879 ย้ายไปที่ลอริสตันเพลส จนปี 2003 ย้ายมาอยู่ที่ปัจจุบันที่ Little France

เป็นโรงพยาบาลขนาด 869 เตียง 44 neonatal cots และเป็นteaching hospital ในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ, Napier University และ Queen Margaret college โรงพยาบาลอยู่ใน The University Hospitals Division ของ NHS Lothian ที่ดูแลคนกว่าแปดแสนคนใน 4 เขตของโลเทียน มีสถานพยาบาล 8 แห่งที่อยู่ในเครือข่ายนี้คือwestern general hospital, Royal infirmary, St John’s hospital, Royal Victoria hospital, Liberton hospital, Princess Alexandra Eye pavilion, The Lauriston Building และ Royal Hospital for Sick Children

นักบุญใจดีเจ้าหน้าที่ของแผนกดดูแลทางจิตวิญญาณ พาเราเดินชมบริเวณต่างๆของโรงพยาบาลแบบนอกโปรแกรมที่ขอไว้ เขาทำงานนอกเหนือหน้าที่ที่ทำให้ผู้ศึกษาดูงานพึงพอใจเป็นอย่างมากด้วยกริยาอาการและการกระทำที่มีความสุขอย่างไม่รู้เบื่อที่จะบอกเล่าแนะนำสิ่งต่างๆให้กับคณะผู้ดูงาน ผังโรงพยาบาลแห่งนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักๆคือทางเข้าด้านหน้า ที่ผู้รับบริการมาจากสถานีรถบัส แท็กซี่หรือที่จอดรถส่วนบี ถัดเข้าไปเป็นอาคารให้บริการชั้นล่าง (Ground floor) ที่เป็นส่วนให้บริการช่วงวันแบบไปกลับ (Day case and day case surgery) และอีกส่วนเป็นทางเข้าด้านหลัง ผู้รับบริการที่มาจอดรถส่วนซีเข้ามาใช้บริการได้

อาคารบริการแบ่งออกเป็น 3 ชั้นคือชั้นล่าง (Ground floor) เป็นส่วนของอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ศูนย์อนามัยการเจริญพันธุ์ (Reproductive health) การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจทางรังสีวิทยา การตรวจด้วยการส่องกล้อง ศูนย์พิษวิทยา ศูนย์จิตเวช เภสัชกรรม เวชระเบียน การเงิน แผนกดูแลทางจิตวิญญาณ ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อที่นั่งพักผ่อนของผู้มารับบริการและส่วนให้บริการผู้ป่วยนอก 6 ส่วน (OPD1-6) คือ

OPD1 เน้นทางศัลยกรรม (หัวใจทรวงอก ทั่วไป) ศูนย์ฮีโมฟิเลีย คลินิกไขมัน ศูนย์การนอนหลับ คลินิกแยกสเต็มเซล การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะและคลินิกวัณโรค OPD2 เน้นทางอายุรกรรม (โรคโคร์น เบาหวาน อายุรกรรมทั่วไป คลินิกเท้าเบาหวาน โรคหลอดเลือดดำอุดตัน โรต่มไร้ท่อ ไทรอยด์ โรคเลือด ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุ ระบบประสาท ระบบเส้นเลือดประสาท การควบคุมน้ำหนักและศูนย์ควบคุมความดันโลหิตสูงแบบชั่วคราว OPD3 เน้นโรคระบบปอด หัวใจ ทรวงอกและหลอดเลือด OPD4 เน้นคลินิกการฟอกไต ถุงน้ำดี กระเพาะอาหารและลำไส้ ศัลยกรรมทั่วไป ตับและไต ทางเดินน้ำดี ไส้เลื่อน คลินิกระงับปวด และโรคหลอดเลือด OPD5 เป็นคลินิกโรคจากการประกอบอาชีพ กายภาพบำบัด การฟื้นฟูสภาพ โรคผิวหนัง อาหาร อรรถบำบัดและภาษา OPD6 เป็นคลินิกทางศัลยกรรมกระดูก

ชั้นแรก (First floor) เป็นแผนกผู้ป่วยในจำนวน 13 หอผู้ป่วย (ward) และห้องผ่าตัด (Theatres) เช่นโรคหลอดเลือดสมอง ไอซียูโรคหัวใจทรวงอก 2 แผนก ผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจ ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมกระดูก แผนกดูแลอย่างใกล้ชิด (High Dependency unit) แผนกผู้ป่วยหนัก (Intensive care unit) เป็นต้น

ชั้นสอง (Second floor) เป็นแผนกผู้ป่วยในอีก 9 แผนก เช่นผู้สูงอายุ สูตินรีเวช หลังคลอด ฟื้นฟูหลังผ่าตัดกระดูก Trauma หลังคลอด แผนกเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ แผนกฟอกไต อายุรกรรมโรคทางเดินหายใจและส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ ห้องประชุมกลุ่ม ห้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยทางการแพทย์ ศูนย์ควบคุมการติดเชื้อ เคมีวิทยาคลินิก แผนกวิสัญญีวิทยาและศูนย์อนามัยการเจริญพันธุ์

มีแผนกการดูแลทางจิตวิญญาณ (Spiritual & Pastoral care) มาตั้งแต่ 1756 ที่ให้การดูแลทั้งชุมชน ผู้ป่วย ญาติ ครอบครัว เจ้าหน้าที่ โดยการฟัง สนับสนุน เคารพความเชื่อของบุคคลและประสบการณ์ส่วนตัว ทำงานบนฐานความเชื่อของบุคคลที่มีผลต่อสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ศาสนา ความต้องการทางจิตวิญญาณที่มีขึ้นในยามวิกฤติ เจ็บป่วย วิตกกังวล โดยเขาถือว่า Spiritual care ถือเป็นส่วนหนึ่งในการบูรณาการดูแลสุขภาพเพื่อรักษาคนทั้งคน (whole person)

กลุ่มเราเดินดูงานด้วยความสนใจ ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ สังเกตว่าทุกแผนกมีการรณรงค์เรื่องการป้องกันควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลที่เรียกว่า HAIs หรือ Health associated infections

วันอังคารที่ 10 มิถุนายน 2551 ไม่ได้ไปไหน อยู่บ้านคนเดียว เอ้ไปฝึกงานที่โรงพยาบาล ส่วนเด็กๆไปโรงเรียน ไม่อยากทำอะไร นั่งเขียนบันทึกเกือบทั้งวัน

วันพุธที่ 11 มิถุนายน 2551 เอ้ฝึกงานครึ่งวัน กลับมาเราพาลูกๆไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดรูริ เพื่อผู้หญิงชาวญี่ปุ่นของน้องขลุ่ย เด็กอนุบาลหนึ่งที่โรงเรียนดาร์วินชี เราซื้อของขวัญและของกินไปร่วมงานด้วย เดินจากบ้านพักไปไม่ไกล อยู่ตรงข้ามกับสวนสาธารณะขนาดใหญ่ของเมือง แคน ขิม ขลุ่ย เอร็ดอร่อยกับอาหารญี่ปุ่นจนต้องห่อกลับบ้านด้วย เด็กๆที่มางานต่างเชื้อชาติต่างภาษาแต่ก็สามารถเล่นกันได้อย่างมีความสุข น้องขลุ่ยบอกพ่อกับแม่ว่ารูริเป็นแฟนน้องขลุ่ย คงเป็นความรู้สึกชอบแบบเด็กๆ ทั้งที่ตอนอยู่เมืองไทยน้องขลุ่ยเป็นเด็กขี้อายมาก ล้อเรื่องชอบใครไม่ได้เลย มาอยู่เมืองนอกไม่เท่าไหร่กล้าขึ้นเยอะเลย แต่หนูรูริ เขาก็น่ารักจริงๆเหมือนตุ๊กตา แก้มฟูๆ ขาว ใส่ชุดสีชมพู สวมแว่นตากรอบสีชมพู น่ารักแบบเด็กๆ

วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน 2551 เช้ามีการฝึกนำเสนอวิทยานิพนธ์ให้เพื่อนๆได้ช่วยกันวิพากษ์ ช่วงเย็นไปกินข้าวเย็นบ้านน้าปราณีที่อยู่ใกล้ทาวน์ฮอลล์ ลูกสาวน้าปราณีแต่งงานกับสามีชาวเบลเยียม มีลูกชายน่ารักชื่อคริสตัน ช่วงนี้ลูกสาวและหลานกลับเมืองไทย น้าปราณีเป็นคนอัธยาศัยดี คุยสนุก หุงข้าวเหนียว ส้มตำ แกงเขียวหวานไก่และทำอาหารไทยๆไว้เลี้ยงเรา ส่วนเอ้ก็ทำลาบหมูถือติดมือไปด้วย ลูกเขยน้าปราณีได้ชิมฝีมือลาบแล้วชมว่าอร่อยมาก

วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2551 ช่วงเช้าอยู่บ้านคนเดียว พอบ่ายได้ไปดูงานโรงพยาบาลสตีเวนเบิร์ก (ZNA Stuivenberg hospital)ที่เอ้ไปฝึกงาน ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมการเรียนของผม แต่ผมต้องการเอง จึงอาศัยเอ้ช่วยคุยกับทีน่าช่วยคุยกับผู้อำนวยการให้ จึงทำให้ได้มาดู เคยคุยกับอาจารย์บรูโนเรื่องการดูงานในหลักสูตร อาจารย์บอกว่าขอดูงานโรงพยาบาลในเบลเยียมยากมาก พอไปถึงโรงพยาบาลทีน่ากับเอ้พาผมไปพบคุณหมอโบว์แมน อายุรแพทย์โรคทรวงอก เป็นผู้นำผมเดินดูในโรงพยาบาล เขาถามผมว่าอยากดูแผนกไหนบ้าง ผมบอกเขาว่าทุกแผนกที่โรงพยาบาลสามารถให้ดูได้ ลักษณะการดูงานจึงเป็นแบบHospital round ที่ไม่ได้เจาะลึกนัก ในขณะที่การฝึกงานของเอ้จะลงลึกไปในระบบงานและการปฏิบัติมากกว่า

ZNA Stuivenberg เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองAntwerp เป็น รพ.ที่เน้นบริการสำหรับประชากรเมืองที่มีรายได้น้อย ZNA  stuivenberg เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 400 เตียง มีชื่อเสียงประสบการณ์ เชี่ยวชาญและเป็นที่รู้จักหลาย ๆ ด้าน เช่น ศูนย์ผ่าตัดกระดูกสันหลัง  ศูนย์ศัลยกรรมลดความอ้วน  ศูนย์ดูแลผู้ป่วยบาดแผลไหม้ขนาดใหญ่ 1 ใน 6 ของเบลเยียม ศูนย์ปลูกและเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก  เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติในบริการสาขาโลหิตวิทยา  ได้รับการยอมรับและยกย่องว่าเป็น state-of-the-art treatment  สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเลือดทุกชนิด

แผนกต่างๆของโรงพยาบาลคล้ายๆกับโรงพยาบาลที่เอดินเบอระ มีแผนกผู้ป่วยนอกของโรคเฉพาะทางที่ผู้ป่วยต้องมาตามนัดหมาย ไม่สามารถ walk in มาตามใจได้ มีแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินที่ปิดประตูมิดชิด มีตำรวจเฝ้าแล้วรอการเรียกออกไปรับผู้ป่วยของหน่วย EMS ไม่เหมือนของบ้านเราที่เปิดโล่งตลอดเวลา ใครอย่างเข้ามาโวยวาย เมาเหล้าเอะอะมะเทิ่ง ด่าหมอด่าพยาบาลก็ได้ ของเขาคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่บุคลากรของเขาก็ไม่สามารถเข้าไปได้ ช่วงแรกๆที่เอ้ไปฝึกงาน ผมขอตามไปดุงานด้วยแต่ที่ห้องฉุกเฉินผมก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป เขาคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทอดทิ้งเรื่องความปลอดภัยของผู้ให้บริการด้วย

จากการเดินชมสถานที่ภายในอาคารของโรงพยาบาลมีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างมาก ผู้คนไม่พลุกพล่าน จุดให้บริการต่างๆมีป้ายบอกอย่างชัดเจน แต่เป็นภาษาดัชท์ ตามทางเดินในอาคารมีการติดรูปภาพสวยๆที่มีความหมายแฝงอยู่ไว้เป็นระยะๆ มีระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์เพื่อให้บริการและเก็บข้อมูลผู้ป่วย ในหลายๆแผนกมีระบบการทำงานแบบเหลือมเวลากันของเจ้าหน้าที่ แล้วแต่งานของแต่ละคนเช่น บางคนมา 7 โมงเช้า บางคน 8 โมงเช้า บางคน 9 โมงเช้า แล้วก็เหลื่อมเวลากลับตามชั่วโมงการทำงาน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมีห้องเปลี่ยนชุดปฏิบัติงานให้ที่มีระบบรหัสเฉพาะตัวจึงจะเข้าไปได้ มีชุดปฏิบัติงานบริการให้และนำไปซักให้ทุกวัน จึงไม่มีการนำเชื้อโรคจากโรงพยาบาลกลับไปบ้านหรือจากบ้านไปโรงพยาบาลผ่านทางเสื้อผ้าชุดปฏิบัติงาน

เรื่องยา นั้นมีจ่ายให้คนไข้เฉพาะขณะนอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ถ้าจำหน่ายก็เขียนใบสั่งยาให้ผู้ป่วยไปซื้อหรือรับยาจากร้านขายยา ผมถามหมอโบว์แมนว่า อย่างผู้ป่วยวัณโรคนี่หมอจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยกินยาครบทุกวัน เขาบอกผมว่าอย่าว่าแต่รู้ว่ากินยาหรือไม่เลย แค่ผู้ป่วยไปรับยาหรือไม่เขายังไม่รู้เลย ผมได้ไปดูโรงอาหารผู้ป่วย แผนกซักรีดและได้ไปดูส่วนที่เขาให้ผู้ป่วยมาพักผ่อนทางจิตใจเพื่อดูแลทางจิตวิญญาณตามแนวคิดทางศาสนา เขาก็ให้ความสนใจเรื่องนี้เช่นกัน

ในเรื่องการเงิน โรงพยาบาลได้รับเงินจากประกันสังคมตามปริมาณงานที่ทำ เงินมากน้อยตามชนิดและปริมาณหัตถการที่ดูแลผู้ป่วย ในขณะที่การจ่ายเงินเดือนให้หมอหรือเจ้าหน้าที่เป็นแบบเงินเดือนตายตัวทำให้ขาดแรงจูงใจในการทำหัตถการของแพทย์ ก็เห็นว่า เรื่องเงินก็ยังคงเป็นแรงจูงใจให้คนทำงานอยู่เหมือนกัน แม้ในประเทศที่เจริญแล้ว

พิเชฐ  บัญญัติ(Phichet Banyati)

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

19 มิถุนายน 2551, 22.35 น. (แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 18 กันยายน 2551 เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 209657เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2008 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2012 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าอิจฉามากเลยคะ

ยังงัยก้อเอามาให้อ่านอีกนะคะ

ขอร่วมแสดงความชื่นชมยินดีกับแพทย์ดีเด่นในชนบทของกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร มูลนิธิแพทย์ชนบท ประจำปี 2551 ทั้ง 2 ท่านครับ

1. แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า แม่อ่องสอน ร่วมแสดงความยินดีกับน้องติ๊กด้วยครับ ดีใจกับน้องมอชอ ศิษย์เก่าเด็กค่ายอาสา พอช.ครับ

2. นายแพทย์สุธี สุดดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวารินชำราบ ร่วมแสดงความยินดีกับคุณหมอผู้เห็นคุณค่าของงานในสถานีอนามัยและในชุมชนครับ

ดีจังเลยค่ะ

ได้อ่านเรื่องราวที่บางทีเราคิดไม่ถึง :)

ขอบคุณทั้งสองท่านครับ บันทึกซีรีย์หมอบ้านอกไปนอก ยังมีไปอีก ยังไม่จบครับแต่ก็ใกล้แล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท