การบริหารจัดการในยุคปัจจุบันนี้ผู้บริหารเป็นเสมือนผู้ประสาน ดูแล อำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้ผู้ร่วมงานในองค์การ/หน่วยงานได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานที่เป็นพันธกิจขององค์การให้ประสบผลสำเร็จ โดยใช้กระบวนการบริหารแบบมีส่วนร่วม กล่าวคือให้ทุกคน "ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมพัฒนา และร่วมอาสาเป็นเจ้าภาพ" ฉะนั้นกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เอื้ออาทรหรือกลุ่ม STAR จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมโดยมีแนวดำเนินการดังนี้ คือ
สมาชิกที่สนใจในการปัญหาหรือต้องการพัฒนางานที่เหมือนๆกันหรือคล้ายคลึงกัน เข้าร่วมกลุ่มกันประมาณ 3-5 คน กลุ่มจะเลือกประธาน รองประธานและเลขานุการที่เหลือเป็นสมาชิก ในแต่ละวันจะหาโอกาสพบปะพูดคุยกันหรือประชุมร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อระดมสมองกำหนดประเด็นปัญหาหรือแนวทางการพัฒนางานพร้อมทั้งช่วยกันเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหา/พัฒนางานโดยใช้แผนภูมิก้างปลา กำหนดให้หัวปลาเป็นปัญหา ก้างปลาเป็นสาเหตุของปัญหา และหางปลาเป็นผลการแก้ไขปัญหา/การพัฒนางาน จากนั้นกลุ่มจะเลือกแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามระดับความสำคัญและร่วมมือกันแก้ปัญหาจนสำเร็จลุล่วง ทั้งนี้อาจใช้เทคนิคอื่นๆร่วมด้วยเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีตัวอย่างการจัดตั้งกลุ่มลักษณะนี้คล้ายคลึงกลุ่มควบคุมคุณภาพ QCC. มีข้อแตกต่างกันเพียงชื่อเท่านั้น สำหรับหน่วยงานสถานศึกษาใดจะนำไปใช้สามารถทำได้ไม่ยากนัก หรือจะขอดูแนวทางได้ที่โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ผลดีที่เกิดจากการรวมกลุ่ม STAR มีหลายประการ ประการแรกจะทำให้บุคลากรทุกคนในหน่วยงาน/องค์การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เนื่องจากได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลสารสนเทศและประสบการณ์ความรู้อยู่เนืองนิตย์ ประการที่สองจะทำให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันรับผิดชอบแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางานตามความถนัดความสนใจของตนเอง ส่งผลให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น และประการสุดท้ายก่อให้เกิดความรักความผูกพันต่อหน่วยงาน/องค์การ (sense of belonging) เพราะทุกคนมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมพัฒนาและร่วมอาสาเป็นเจ้าภาพ
ข้อจำกัดในการทำกิจกรรมลักษณะนี้ หากไม่มีวัฒนธรรมองค์การในการบริหารแบบมีส่วนร่วม หรือผู้บริหารระดับสูงไม่มีการกระจายอำนาจหรือเปิดโอกาสให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมในการบริหารงานก็เป็นการยากที่จะทำให้กลุ่ม STARไปถึงดวงดาว