อ.จารุจินต์ นภีตะภัฏ นักธรรมชาติวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย จากพวกเราไปแล้ว..


ขอแสดงความไว้อาลัยต่อการจากไปของนักธรรมชาติวิทยาของชาติ

"  ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ"

                    สนใจเรื่องสัตว์มาตั้งแต่จำความได้ และติดสอยห้อยตามหมอบุญส่ง เลขะกุลมานานหลายปี จนมากลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่รอบรู้สารพัดเรื่องกับสิงสาราสัตว์  ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือแมลง  และยังข้ามฟากไปดูเรื่องพืชพรรณ

ในบางครั้งบางคราว

                    ร่วมกับเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ในการรวบรวมและตั้งชื่อไทยให้กับแมลงชนิด ต่างๆจัดทำเป็นหนังสือคู่มือให้นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้ใช้ในการเรียนรู้เรื่องแมลงที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ อย่างง่ายๆ

                    ทำงานที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยอยู่พักใหญ่ก่อนจะ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ธรรมชาติวิทยา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๘ เป็นต้นมา

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ขออนุญาตพี่เกรียงไกรนำประวัติย่อของอาจารย์จากหนังสือคู่มือแมลงโดย เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์และดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดีมาลงครับ

            ผมทราบเรื่องการเสียชีวิตของอาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏจากพี่ระมาดพี่ที่ชมรมนักนิยมธรรมชาติเมื่อประมาณ ๑๘.๐๐ น.ของวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๑ ก็รู้สึกตกใจอยู่แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรไปมากแต่พอมาอ่านบทความด้านล่างที่พี่ อีกคนหนึ่งได้ลงไว้ในกระดานข่าวของชมรมฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ภาพจาก www.sarakadee.com 

อาจารย์ จารุจินต์  นภีตะภัฏ.. นักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญของประเทศไทย ท่านจากพวกเราไปแล้วเมื่อคืน วันศุกร์ ที่ 12 กันยายน 2551

ท่านคือหนึ่งในผู้ที่เป็นพหูสูตรอย่างแท้จริงของเมืองไทย ที่สนใจใคร่รู้ แทบทุกสิ่ง ที่รวมเป็นธรรมชาติ...

ประสบการณ์ของท่านหลากหลาย และ ถ่ายทอดอย่างสนุกสนานแก่ทุกคนที่ได้รับฟังเสมอ..

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าไม้ เรื่องสัตว์ป่า แมลง ผีเสื้อ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม... ฯลฯ

ตำแหน่งหน้าที่การงานสุดท้ายของท่าน คือ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ในเวลาสั้นๆบางช่วงที่ได้สัมผัสกับท่าน รู้สึกได้เลยว่า นี่คือผู้ทรงปัญญาโดยแท้..

ธรรมชาติมอบกฏเกณฑ์ปกติในการเกิด และ แตกดับไว้กับทุกชีวิตแล้ว

อาจารย์จารุจินต์ เป็นผู้ที่เข้าใจสิ่งนี้ดีที่สุดคนหนึ่ง.. และ พวกเราก็จะทำความเข้าใจกับมันครับ

ขอให้ อาจารย์ กลับเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ  กับดอกไม้งาม ผีเสื้อปีกบางสวย..

และ จะคงอยู่ในจิตใจของพวกเราตลอดไปครับอาจารย์

พวกเราจะรักษาธรรมชาติครับอาจารย์..

ด้วยความอาลัย...

ประพนธ์


* สำหรับ พิธีการทางสงฆ์ พรุ่งนี้ วันอาทิตย์ 14 กย. 51 เวลา 16.00 น. จะมีพิธีรดน้ำศพ อาจารย์จารุจินต์ ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน ผมยังไม่ทราบศาลาครับ ฝากทุกท่านที่เคารพ ประชาสัมพันธ์ข่าวนี้ด้วยนะครับ *

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

           นึกย้อนกลับไปถึงชื่อของอาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏว่าผมรู้จักท่านได้อย่างไร  "หนังสือคู่มือดูผีเสื้อในประเทศไทย"

โดยจารุจินต์ นภีตะภัฏ และเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ที่ใช้รูปผีเสื้อแพนซีเหลืองมาเป็นหน้าปก พิมพ์โดยสำนักพิมพ์วนาเพรสนั่นเองที่

ได้พาผมมารู้จักกับธรรมชาติเริ่มจากสนใจ การดูผีเสื้อ, พาครอบครัวไปอบรมการดูผีเสื้อในสวนรถไฟที่จัดโดยสำนักสิ่งแวดล้อมฯ

ของ กรุงเทพมหานคร, ครอบครัวของผมร่วมเดินทางไปดูผีเสื้อที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับพี่ เกรียงไกรและพี่ต้นระมาด ได้รู้จักเพื่อนๆพี่ๆจากกลุ่มรักษ์ผีเสื้อของชมรมนักนิยมธรรมชาติจากการที่ ครอบครัวของผมได้ไปร่วมกิจกรรมดูผีเสื้อถ่ายรูปด้วยกัน, จนมาถึงการที่ได้มีโอกาสมาอบรมพี่เลี้ยงเยาวชนของชมรมนักนิยมธรรมชาติ   การที่ผมและครอบครัวได้รู้จักกับธรรมชาติมากขึ้นจากเดิมที่ผ่านมาทางสื่อ ต่างๆ, ความรู้เดิมที่เกี่ยวกับธรรมชาติอันน้อยนิดจากในห้องเรียนบ้าง   ผมคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าท่านก็มีส่วนร่วมในการทำให้ผมรู้จักธรรมชาติมากขึ้น แม้ว่าผมจะไม่เคยได้รู้จักท่านเป็นการส่วนตัวหรือไม่มีโอกาสจะพบท่านในชีวิต จริงเลยก็ตาม

        ขอกราบขอบพระคุณ ขอแสดงความไว้อาลัยต่อการจากไปของนักธรรมชาติวิทยาที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของ ชาติ และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของอาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ ขอให้ดวงวิญญาณท่านไปสู่สุขคติภพด้วยครับ

 

ย้อน คิดไปถึงบรรดาเขา, โครงกระดูกสัตว์และซากนกที่คุณหมอบุญส่งที่ได้มอบให้เป็นสมบัติของชาติไว้ ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่คลองห้าจังหวัดปทุมธานี(สักวันคงได้มีโอกาสพา ครอบครัวไปชม)  แล้วนึกถึงโคลงโลกนิติบทหนึ่งที่ว่า

                  พฤษภกาสร  อีกกุญชรอันปลดปลง

                 โททนต์เสน่งคง  สำคัญหมายในกายมี

                 นรชาติวางวาย  มลายสิ้นทั้งอินทรีย์

                 สถิตทั่วแต่ชั่วดี   ประดับไว้ในโลกา

                                                               โคลงโลกนิติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าให้กรมพระยาเดชาดิศรทรงรวบรวมและจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพน

 

คนเรานั้นมาจากธรรมชาติ

เกิดขึ้น ดำรงอยู่โดยการอาศัยสิ่งปัจจัยต่างๆธรรมชาติ และก็ดับไปสู่ธรรมชาติเมื่อถึงกาล

ตามหลักของพระพุทธศาสนา

ทุกวันนี้เราอาศัยธรรมชาติในการดำรงชีพ  โปรดพิจารณาใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดของชาติอย่างคุ้มค่ากันเถิดครับ

หมายเลขบันทึก: 208541เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2008 02:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

พี่ต้นระมาดได้แจ้งในบอร์ดของชมรมนักนิยมธรรมชาติว่า

"ทางชมรมนักนิยมธรรมชาติ จะร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพ

ในวันจันทร์ที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๑ ที่ ศาลา ๑๒ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หลักสี่ เขตบางเขน กรุงเทพฯ"

ขอร่วมไว้อาลัยกับท่านอาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ ด้วยคนนะคะ

แม้ไม่เคยได้รู้จักส่วนตัวแต่เคยได้ยินชื่อเสียงและผลงานท่านมาบ้างค่ะ

ขอให้สิ่งดีดีที่ท่านทำอยู่เสมอ  ส่งผลให้ท่านสู่ภพที่ดีงามค่ะ

สวัสดีครับพี่หนิง

ขอบคุณครับที่เข้ามาร่วมแสดงความไว้อาลัยอาจารย์จารุจินต์

อาจารย์ครับ

เสียใจกับการจากไปแบบกระทันหันของอาจารย์

ขอให้อาจารย์ไปสู่สุคติครับ

จะจดจำความรู้ที่อาจารย์แนะนำเรื่องงานต่างๆตลอดไปครับ

ท่านคือผู้สร้างประโยชน์แก่ประเทศ แก่โลกโดยแท้ เสียดายยิ่งนัก แต่ท่านก็เดินทางตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ

ไปสู่สุขคิภพเถอะครับอาจารย์จารุจินต์

ข่างจากชมรมนักนิยมธรรมชาติ จะร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพ

ในวันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2551

ที่ ศาลา 12 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หลักสี่ เขตบางเขน กรุงเทพฯ ครับ

ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของอาจารย์ด้วยนะคะ เคยได้ร่วมงานกับอาจารย์ ท่านเป็นคนใจดีมากๆ ไม่น่าเชื่อว่าท่านจะจากเราไปเร็วเช่นนี้ เสียใจจริงๆ ค่ะ

นายสุเมธ อาวสกุลสุทธิ

ความดี เกียรติก่อก้อง

กังวาน แผ่ไกล

คุณค่า ผลงานเลิศ ยิ่งล้ำ

สายตา ที่มองไกล จักย่อม ถึงฝั่ง

สมชื่อ จดจำไว้ ส่งให้ โลกลือ

สุดอาลัยในรักแด่อาจารย์ ฝากผลงานทรงค่าน่าศึกษา

แต่งตำราวิจัยให้ปัญญา นำพาอนุชนชมชื่นใจ

นกสยามงามเด่นเลื่องลือชื่อ หนังสือสัตว์ป่าน่าพิสมัย

จารุจินต์ปราชญ์แห่งผีเสื้อไทย โลกจารึกชื่อไว้ตลอดกาล

ด้วยรักและอาลัย

นายสุเมธ อาวสกุลสุทธิ

นักวิชาการ 7 พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ประพันธ์บทร้อยกรองที่ หอพัก Sentinel Towers

มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ

วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

ขอบคุณพี่สุเมธครับ

ร้อยกรองเพราะมากครับ

ขออนุญาตนะครับนำไปแปะไว้ที่บอร์ดกลุ่มรักษ์ผีเสื้อกับบอร์ดชมรมนักนิยมธรรมชาติ

รีบมา(แบบช้าไปหน่อย)ให้กำลังใจและต้อนรับสมาชิกใหม่G2K คนนี้กันก่อน ดีใจมากเลยค่ะที่มาอยู่ครอบครัวเดียวกัน

พี่ก็เสียใจกับการจากไปของอาจารย์จารุจินต์ค่ะ พี่เคยพบท่านหลายครั้งจากการร่วมโครงการกันสมัยพี่ทำงานอยู่ที่ศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา และอาจารย์ยังอยู่ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

ขอบพระคุณพี่นุชอีกครั้งหนึ่งครับ

หากพี่นุชมีเรื่องราวหรือเกร็ดเล็กๆน้อยๆที่เกี่ยวกับท่านอาจารย์จารุจินต์ขอความกรุณาช่วยเผยแพร่หน่อยนะครับ

คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล บิดาแห่งธรรมชาติวิทยาของไทยพร้อมทั้งมือขวาและมือซ้ายของท่านได้จากไปแล้ว ขอแสดงความอาลัยต่อดวงวิญญาณของบรรพชนของชนกลุ่มน้อยแห่งสังคมไทยอีกครั้งหนึ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท