เกาะติดสถานการณ์ภาพยนตร์ในประเทศ


ข้อเสนอ คือ การสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์ เพื่อเป็นการสร้างปัญญาแก่ผู้ชม และสนับสนุนให้เกิดความหลากหลาย สนับสนุนให้คนทั้งประเทศสามารถเข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ในเรื่องต่างๆ ได้จะเป็นเรื่องดี ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้นับว่าค่อนข้างเปิดโอกาสให้ทำเช่นนั้นได้ง่ายขึ้น

สรุปจากเวทีประเมินสถานการณ์ด้านภาพยนตร์ในสังคมไทย
วันจันทร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๑

เวลา ๑๔.๐๐ - ๑๗.๓๐ น.

ห้องประชุม ๑ ชั้น ๒๑
อาคารธนาลงกรณ์ กระทรวงวัฒนธรรม

 ๑. ศึกษาสถานการณ์ด้าน "การบังคับการใช้เรตติ้งในโรงภาพยนตร์"
   โดย คุณสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ ตัวแทนจากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ

  • เมื่อทราบเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับเรตติ้งภาพยนตร์ ทางโรงภาพยนตร์มักจะมีคำถามตลอดเวลาในเรื่อง  การพิจารณาและการบังคับใช้ โดยเฉพาะการบังคับจากภาครัฐ โดยเฉพาะการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ การมีอำนาจในการกำหนดค่าธรรมเนียม ตลอดจนบทลงโทษ

  • ส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรงภาพยนตร์ คือ การประกาศให้แสดงให้เห็นอยู่หน้าโรงภาพยนตร์ตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลปัญหากับระบบมัลติเพล็กซ์ ที่ปกติจะจัดให้การฉายหนังตามความต้องการของผู้บริโภค กรณีถ้าภาพยนตร์ได้รับความนิยมมากขึ้น หนังดัง แล้วจะขยายโรงฉาย เปลี่ยนโรงฉายจะต้องแก้โดยการนำใบประกาศไปแปะทุกโรงหรือไม่ อย่างไร? ข้อเสนอ คือ ปฏิบัติให้ประกาศไว้เป็นกองกลางที่ป้ายโฆษณาได้หรือไม่

  • ข้อสงสัยเกี่ยวกับ การเรตติ้งตัวหนังโฆษณา (Trailer) ว่าจะระบุอย่างไร เนื่องจากการตัดตัวอย่างเพื่อโฆษณาหนัง มักจะทำตอนที่ภาพยนตร์ยังไม่เสร็จเป็นเรื่อง ในส่วนนี้เราต้องรอให้ภาพยนตร์เสร็จเป็นเรื่องก่อน ได้รับเรตติ้ง แล้วค่อยนำตัวอย่างหนังโฆษณามาฉายหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้เสียเวลามาก

  • อยากทราบความคืบหน้าของกฎกระทรวงฯในเรื่องนี้ เสนอให้มีการสื่อสารออกไปสู่สาธารณะอย่างชัดเจนให้มากขึ้นกว่านี้

๒. ศึกษาสถานการณ์ด้าน "การส่งเสริม" ภาพยนตร์แนวอิสระ (วิทยากร ๒ ท่าน)
    (วิทยากรท่านแรก มรว. เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระและเจ้าของเว็บไซต์ www.fukduk.tv)

  • ตั้งข้อสังเกตว่า "ภาพยนตร์อิสระ" จะเข้าข่ายตามพรบ.นี้หรือไม่? ในกรณีที่ทำภาพยนตร์ น่าจะมาเริ่มทำความเข้าใจความหมายของภาพยนตร์ประเภทนี้เสียก่อน การส่งเสริมภาพยนตร์อิสระจะเป็นแนวทางการตลาดตามสภาพ

  • ถามเรื่องความต้องการการสนับสนุนและการสร้างโอกาส สิ่งที่ภาพยนตร์อิสระต้องการ"น่าจะเป็นเรื่องความอิสระ" มากกว่า ซึ่งเป็นอัตลักษณ์และหัวใจของภาพยนตร์ประเภทนี้ โดยเฉพาะในเรื่องอิสระทางความคิด แต่รัฐมักจะมีข้อบังคับที่บีบรัดเกิน

ข้อเสนอของการส่งเสริมในทางรูปธรรม

  • เงินทุน

  • พื้นที่แสดงออกถึงผลงาน และเชื่อมโยงให้ประชาชนเข้าใจในถึงภาพยนตร์ประเภทนี้ได้มากขึ้น

  • การพัฒนาบุคลากร และด้านความรู้ โดย
    ๑. การพัฒนาองค์ความรู้ด้านให้แก่ผู้สนใจไม่ใช่เพียงแค่นักศึกษา
    ๒. หากทางรัฐสามารถสร้างพื้นที่กลางในสร้างสรรค์ผลงานได้ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) กลางเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนหมู่มาก
    ๓. พัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงไม่กี่แห่ง เช่น ม.สุโขทัยธรรมาธิราช รวมทั้งการแปลหนังสือเกี่ยวกับเทคนิคการทำภาพยนตร์ที่แท้จริง การทำให้องค์ความรู้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นก็จะสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์อิสระให้กว้างขึ้นตามไปด้วย
    ๔. ควรมีการประเมินสถานการณ์ด้านการเรียนการสอนเรื่องภาพยนตร์ในปัจจุบัน ซึ่งมีความเป็นได้ที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัย อาจจะมีอุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อการเรียน ปริมาณอาจารย์ผู้สอนต่อนักศึกษาที่มากเกิน เช่น อาจารย์ที่ปรึกษา ๑ คน ต่อนักศึกษา ๒๐๐ คน
    ๕. บุคลากรหลายท่านในหน่วยงานให้การศึกษาไม่มีความกระตือรือร้นในการสอน ซึ่งมองว่าควรสนับสนุนในเรื่องนี้ตั้งแต่พื้นฐานน่าจะเป็นการสนับสนุนที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

๒. ศึกษาสถานการณ์ด้าน "การส่งเสริม" ภาพยนตร์แนวอิสระ
(วิทยากรท่านที่สอง คุณภาณุ อารี ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ)

  • เห็นด้วยในเรื่อง แหล่งเงินทุน ที่จำเป็นจะต้องมองเห็นความสำคัญของศิลปะประเภทนี้ ซึ่งปัจจุบันสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยก็ได้ดำเนินการอยู่ แต่หากเป็นไปได้ควรมีการสร้างจุดเชื่อมโยงโดยการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น เพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ผลิตภาพยนตร์ประเภทนี้จะขอทุนจากต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเทียบในเรื่องความสามารถและทักษะทางการผลิตของเรา ถือว่ามีคุณภาพที่ดีกว่า แต่ผู้ที่จะขอทุนจากต่างประเทศได้ต้องมีทักษะทางภาษาที่ดี ที่ผ่านมามักจะติดขัดด้านการนำเสนอผลงานโดยใช้ภาษาอังกฤษ ที่นับเป็นปัญหาของผู้ผลิตไทย(แบบอิสระ) ส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงขอเสนอว่า น่าจะประชาสัมพันธ์กองทุนภายในประเทศให้มากขึ้น

  • รวมไปถึงเรื่องของกฎกติกาในการขอการสนับสนุนเรื่องทุน ก็มักจะมีปัญหาเรื่อง "อายุ" ของผู้ที่จะขอทุน ที่มักจะจำกัดอายุ โดยกองทุนส่วนใหญ่ในประเทศมักจะทำโครงการสนับสนุนกับเยาวชนเป็นหลัก จึงขาดการสนับสนุนแก่ประชาชนในระดับทั่วไป

  • เสนอให้มีการจัดตั้งโรงภาพยนตร์อิสระ หรือสถานที่ที่เปิดโอกาสให้งานหนังประเภทนี้ได้มีที่แสดงผลงานมากขึ้น เช่น การใช้หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ (แยกปทุมวัน) ซึ่งมีขนาดประมาณ ๒๐๐ ที่นั่ง

  • การสนับสนุนหรือพัฒนาทักษะ ปัจจุบันเน้นอบรมเรื่องทางเทคนิคมากกว่าการอบรมเรื่องการบริหารจัดกร หรือการเป็น "โปรดิวเซอร์" ซึ่งในระบบต่างประเทศ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

๓. สถานการณ์การเลือกรับสื่อภาพยนตร์ของเยาวชนในสังคมไทย (วิทยากร 2 ท่าน)
    (วิทยากรท่านแรก คุณอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นายกสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร)

  • ได้แยกการเลือกรับสื่อออกเป็น ๒ ส่วน คือ ภาพยนตร์อิสระ และภาพยนตร์อุตสาหกรรม
    มองว่า เยาวชนยังขาดความรู้ทั้งในการผลิตภาพยนตร์ และ การรับชมภาพยนตร์ ด้านความรู้ในการผลิต ควรมีองค์กรหรือสถาบันกลางที่สามารถให้การสนับสนุนพัฒนาทักษะในเรื่องดังกล่าวได้ ส่วนการให้ความรู้ในการรับชมภาพยนตร์ เพื่อให้รู้เท่าทันสื่อ ก็ควรมีการเผยแพร่ความรู้ออกมาเป็นระยะอย่างต่อเนื่องก็จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนได้

(วิทยากรท่านที่สอง คุณวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ เครือข่ายประธานนักเรียนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล)

  • ยกกรณีโศกนาฏกรรมที่ญี่ปุ่น รัฐบาลแก้ไขโดยการจัดการปัญหาความรุนแรง แต่ในขณะที่ในประเทศไทยเมื่อเกิดกรณีขึ้น มักจะไปจัดการที่สื่อมากกว่า จึงมองว่า ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะดีกว่า การไปแก้ที่สื่อเหมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

  • ได้มีโอกาสที่รับชมภาพยนตร์ เรื่อง แสงศตวรรษ ซึ่งห้ามฉายบางฉาก ทำให้เยาวชนไม่มีโอกาสได้ดูถือเป็นการปิดกั้นเยาวชน โดยที่ฉากที่ถูกตัดออกก็ไม่ได้มีอะไรเกินไปในสายตาของตน(ผู้พูด) โดยสรุปส่วนตัวคิดว่า สถานการณ์ที่ปรากฏในสังคมมักเป็นความต้องการป้องกันเยาวชนด้วยการปิดตาเยาวชนให้เห็นแต่ภาพที่สวยงาม ซึ่งโดยความเป็นจริงภาพยนตร์ก็มีทั้งที่ดีและไม่ดี จึงอยากจะสนับสนุนให้มีโอกาสด้านการส่งเสริมช่องทางมากกว่าการปิดช่องทาง

  • ก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมาย อยากจะให้มีการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และรณรงค์ให้เกิดความร่วมมือกันเกี่ยวกับมาตรการเรื่องเรตติ้ง ซึ่งหากขาดการสื่อสารกับสังคมก็เท่ากับว่าขาดการมีส่วนร่วมของภาคสังคมอย่างแท้จริง

๔. สถานการณ์ด้านการสื่อสารเรื่องเรตติ้งกับบริบทสังคมไทย
โดย คุณสุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการบริหารนิตยสารไบโอสโคป

  • สังคมไทยอยู่กับระบบเซ็นเซอร์มานาน การจะจัดให้มีเรตติ้งใน พรบ.ภาพยนตร์นี้ มองว่าควรเป็นเพียง "ข้อแนะนำ" และเป็น "เครื่องมือให้ผู้ปกครอง" และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ นอกเหนือไปกว่านั้น คือ การสร้างปัญญา และมองว่าควรสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการวิจารณ์ ซึ่ง ๓๐ ปีที่แล้วมาได้มีความพยายามที่จะสร้างปัญญาให้แก่สังคมมาแล้ว

  • ข้อเสนอ คือ การสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์ เพื่อเป็นการสร้างปัญญาแก่ผู้ชม และสนับสนุนให้เกิดความหลากหลาย สนับสนุนให้คนทั้งประเทศสามารถเข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ในเรื่องต่างๆ ได้จะเป็นเรื่องดี ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้นับว่าค่อนข้างเปิดโอกาสให้ทำเช่นนั้นได้ง่ายขึ้น

สรุปเรื่องการส่งเสริมพัฒนาภาพยนตร์
   ๑. ต้นแบบพื้นฐานทั้งการผลิตและพื้นฐานการความคิดสร้างสรรค์
   ๒. การสนับสนุนในเรื่องรางวัลทางสังคม และเหมาะสมสำหรับเยาวชนในสังคม
   ๓. การสนับสนุนเรื่องเครื่องมือกลางของสังคม

สรุปประเด็นการประเมินสถานการณ์ฯ โดย พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล
   ๑. เรื่องการจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ ความเข้าใจที่ตรงกันคือเป็นเครื่องให้ผู้ผลิต ผู้ชมและผู้ปกครองใช้ประกอบการตัดสินใจ แต่ไม่ได้หมายความว่า ภาพยนตร์เรื่องนั้นดีหรือไม่ งานที่ต้องทำร่วมกันก็คือ การทดลองใช้ โดยจะนำเสนอในรูปแบบการพัฒนาคู่มือในการจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์
   ๒. ระบบและกลไลของการสนับสนุนภาพยนตร์ การส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายและทำให้เกิดทางเลือก รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้
   ๓. วัฒนธรรมของการชมภาพยนตร์ในสังคมไทย ซึ่งขณะนี้ขาดองค์กรเจ้าภาพในการสนับสนุนที่ชัดเจน

อาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์ นำเสนอโจทย์ตั้งต้นในการทำงานครั้งต่อไป
๑. ภาพยนตร์ไทย ๑๐ เรื่องที่ควรส่งเสริม อาจจะแบ่งได้เป็น
    ๑.๑ ภาพยนตร์กระแสหลัก
    ๑.๒ ภาพยนตร์อิสระ
๒. ๑๐ โครงการภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมพัฒนาภาพยนตร์
๓. ๑๐ พื้นที่ในการฉายหนังเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ อาทิ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, HOUSE RCA, การจัดเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ เป็นต้น
๔. ๑๐ องค์กรเด่นที่สนับสนุนด้านเงินทุนในการพัฒนาและผลิตภาพยนตร์
๕. ต้นแบบการพัฒนาความรู้ : ปัจจุบันอยู่ในสภาพกระจัดกระจายไปทุกแห่ง ซึ่งยังขาดในเรื่องแบบแผนและรูปธรรมที่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้
 ต้นแบบพื้นฐานทั้งการผลิตและพื้นฐานการความคิดสร้างสรรค์
 การสนับสนุนในเรื่องรางวัลทางสังคม และความเหมาะสมสำหรับเยาวชนในสังคม
 การสนับสนุนเรื่องเครื่องมือกลางของสังคม (Facility)
 ทัศนคติ รสนิยม และองค์ความรู้ของกลุ่มผู้ชม


กระบวนการกิจกรรมต้นแบบ
  ๑. ต้นแบบของการสนับสนุน เครื่องมือกลางในการสร้างภาพยนตร์
  ๒. กิจกรรมต้นแบบในการสร้างวัฒนธรรมในการวิจารณ์
  ๓. แนวทางในการบังคับใช้เรตติ้งภาพยนตร์ในทางปฏิบัติ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 208163เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2008 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท