วิธีการสื่อสารของสัตว์


วิธีการสื่อสารของสัตว์

วิธีการสื่อสารของสัตว์
..............ถึงแม้ว่าสัตว์ไม่สามารถพูดได้เช่นเดียวกับมนุษย์ แต่สัตว์สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยวิธีต่าง ๆ หลายวิธี การที่สัตว์แต่ละชนิดจะใช้วิธีการใด วิธีการหนึ่งติดต่อสื่อสารกันนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นกับอวัยวะที่ใช้ในการส่งข่าวสาร และอีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ใช้ในการรับข่าวสาร ซึ่งอวัยวะทั้ง 2 ประการนี้สัตว์แต่ละชนิดมีไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีการสื่อสารที่สัตว์แต่ละชนิดใช้จึงแตกต่างกันออกไป สัตว์เลี้ยงซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงที่มีการพัฒนาการต่าง ๆ ทางด้านกายภาพมากพอที่จะใช้สื่อสารระหว่างกันได้มากกว่า 1 วิธี
.............. การสื่อสารทางเสียง
.............การส่งสัญญาณเสียงนับว่าเป็นวิธีการสื่อสารทางไกลที่มีความสำคัญมาก สัตว์มักจะส่งเสียงร้องเรียกหากันเมื่อถูกแยกออกจากฝูง หรือเมื่อแม่และลูกถูกแยกจากกัน ในกรณีของแม่และลูกสัตว์การสื่อสารทางเสียงนับว่ามีความสำคัญในการสร้างและรักษาสายสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น แม่สุกรจะส่งเสียงเรียกลูกมาดูดนมเมื่อถึงเวลาให้นม หรือแม่ไก่จะส่งเสียงร้องเรียกให้ลูกให้หลบมาซุกใต้ปีกเมื่อเห็นศัตรูเข้ามาใกล้ เป็นต้น สัตว์บางชนิดมีการใช้เสียงแสดงอาณาเขต เช่น สุนัขจะเห่าขับไล่เมื่อมีผู้บุกรุกเข้ามาบริเวณบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า เสียงมีส่วนช่วยในการผสมพันธุ์ของสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัขป่าส่งเสียงหอนเรียกหาคู่ในฤดูผสมพันธุ์ หรือเสียงของพ่อสุกรสามารถกระตุ้นให้แม่สุกรที่กำลังเป็นสัดแสดงอาการยืนนิ่งเพื่อรับการผสมพันธุ์ เป็นต้น
.............สัตว์บางชนิดมีความสามารถในการใช้เสียงความถี่สูงเป็นเครื่องช่วยในการหาทิศทาง เช่น ค้างคาว และปลาโลมา เป็นต้น วิธีการใช้เสียงเพื่อหาทิศทางนี้เรียกว่า Echolocation แต่อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ามีสัตว์เลี้ยงชนิดใดที่มีความสามารถด้านนี้เลย
..............การสื่อสารทางกลิ่น
.............สัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ใช้กลิ่นเป็นเครื่องมือในการหาอาหาร หาคู่ผสมพันธุ์ เตือนภัย หรือกำหนดอาณาเขตุ สารเคมีที่สัตว์ขับออกมานอกร่างกายแล้วมีผลต่อพฤติกรรมหรือสรีรวิทยาของสัตว์ตัวอื่นๆ ใน Species เดียวกัน เรียกว่า "Pheromone" ซึ่งโดยปกติจะถูกขับออกมาจากต่อมกลิ่นที่มีหน้าที่โดยเฉพาะ Pheromone นี้อาจจะถูกขับออกสู่อากาศรอบๆ ตัว หรือป้ายทิ้งไว้ตามสิ่งต่าง ๆ เช่น พื้นดิน ต้นไม้ มูล หรือปัสสาวะ เป็นต้น
.............กลิ่นที่สัตว์ขับออกมานี้ ส่วนมากจะมีผลกระตุ้นให้ผู้รับแสดงอาการตอบสนองทางพฤติกรรมออกมาอย่างทันทีทันใด เช่น กลิ่นของ Muskone (5 ? - androst 16 -ene - 3 - one) ขับออกมาจาก preputial gland ของพ่อสุกร มีผลในการกระตุ้นให้แม่สุกรที่กำลังเป็นสัดแสดงอาการยืนนิ่งในท่ารับการผสมพันธุ์ นอกจากนี้กลิ่นของสารจำพวก Hydroxysteroids จากต่อม Submaxillary gland ของพ่อสุกรที่ถูกขับออกมาในน้ำลายเมื่อกำลังมีความตื่นตัว ทางเพศอย่างเต็มที่ ก็มีผลในการกระตุ้นแม่สุกรในทำนองเดียวกัน ในปัจจุบันได้มีการใช้สารเหล่านี้ในการตรวจสัดแม่สุกรได้อย่างแม่นยำ แพะและแกะตัวเมียสามารถแยกลูกของมันเองจากลูกของตัวอื่นได้โดยการดมกลิ่นจากตัวลูก แต่ยังไม่เป็นที่ทราบว่าสารเคมีตัวไหนเป็นต้นกำเนิดของกลิ่นนี้
.............นอกจากกลิ่นจะมีผลในการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมได้โดยตรงแล้ว ยังมีผลในการทำให้เกิดพฤติกรรมโดยทางอ้อมได้อีก โดยการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระวิทยาของตัวรับ ให้สัตว์นั้นมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การมีพ่อแกะอยู่ร่วมในฝูงแกะตัวเมียจะมีอัตราการเป็นสัดมากขึ้นในช่วงต้นหรือช่วงปลายของฤดูผสมพันธุ์ ผลของการกระตุ้นนี้จะมีผลมากขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนพ่อแกะตัวใหม่เรื่อยๆ แทนที่จะใช้พ่อแกะตัวเดิมตลอดเวลา เชื่อว่าผงการกระตุ้นโดยพ่อแกะนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากกลิ่น แต่ยังไม่ทราบถึงสารเคมีที่เป็นตัวการของกลิ่นนี้ ปรากฏการณ์เช่นเดียวกันนี้สามารถพบได้ในหนูที่อาศัยอยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป โดยที่ปัสสาวะของหนูตัวผู้สามารถกระตุ้นให้หนูตัวเมียสามารถเป็นสัดพร้อมกันได้ สารเคมีที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้คือ สารที่ได้จากการสลายตัวของฮอร์โมนแอนโดรเจน หรือผลผลิตของเนื้อเยื่อที่ผลิตฮอร์โมนแอนโดเจน ทั้งนี้เพราะผลในการกระตุ้นปัสสาวะจะหมดไปเมื่อหนูตัวผู้นั้นถูกตอน และสามารถทำให้เกิดผลเช่นนี้ได้อีกเมื่อฉีดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนให้กับหนูตัวผู้นั้น
.............ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด มีการใช้มูลปัสสาวะเป็นเครื่องหมายแสดงอาณาเขตหรือทางเดิน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พฤติกรรมทิ้งเครื่องหมายของสุนัขโดยการปัสสาวะทิ้งไว้ตามจุดต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ ตัวอย่างอื่น ๆ เช่น ฮิปโปโปเตมัสทิ้งเครื่องหมายโดยการโบกหางอย่างแรงและเร็วเมื่อถ่ายมูล เพื่อหว่านมูลทั่งอาณาเขตของมัน ในกระต่ายมีการปัสสาวะรดสมาชิกทุกตัวในครอบครัวเพื่อที่จะได้จดจำกันได้ นอกจากนี้มูลของกระต่ายที่มี Pheromone จากต่อมรอบทวารหนัก (Anal gland) เคลือบอยู่ ก็ถูกใช้เป็นเครื่องแสดงอาณาเขตได้ กระต่ายยังมีป้าย Pheromone จากต่อมใต้คาง ไว้ในที่ต่างๆ เช่น ทางเข้ารู ตัวเมียและลูกๆ เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ขนาดต่อมใต้คางและใต้ทวารหนักนี้ขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนของเพศผู้ โดยที่ตัวผู้มีต่อมเหล่านี้โตกว่าในตัวเมียและตัวที่มีฐานะทางสังคมสูงจะมีต่อมเหล่านี้โตกว่าตัวที่มีฐานะทางสังคมต่ำ
.............. การสื่อสารการแสดงท่าทาง
.............การแสดงท่าทางเป็นการสื่อสารที่ใช้ได้ดีมากในระยะใกล้ ดังนั้นจึงนับว่าเป็นการสื่อสารที่มีความสำคัญมากในสัตว์เลี้ยง การสื่อสารแบบนี้อาจทำได้โดยการเปลี่ยนแปลงรูปทรง เปลี่ยนท่าทาง หรือเปลี่ยนสี แต่เนื่องจากสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดตาบอดสี ดังนั้นการสื่อสารโดยการเปลี่ยนรูปทรงหรือเปลี่ยนท่าทาง จึงมีความสำคัญมากกว่าการเปลี่ยนสี ในการกระตุ้นพฤติกรรมการขัดแย้ง และพฤติกรรมทางเพศของสัตว์เลี้ยงเหล่านี้
.............สัตว์จำพวกนกนับว่ามีการสื่อสารแบบนี้อย่างเด่นชัดมาก เช่น ในการเกี้ยวพาราสีก่อนการผสมพันธุ์ของไก่ ไก่ตัวผู้จะมีการรำป้อตีปีกไปรอบๆ ตัวเมีย เพื่อกระตุ้นให้ตัวเมียนอนหมอบลงรับการผสมพันธุ์ หรือในการเกี้ยวพาราสีของห่านจีน ตัวผู้จะเดินแยกตัวไปออกจากฝูงไปยังแหล่งน้ำเป็นสัญญาณให้ตัวเมียเดินเข้าไปหา แล้วต่างยืนหันหน้าเข้าหากัน ยืดคอออกเต็มที่ ทั้งสองตัวต่างก็ยกหัวสลับกันหลายครั้ง หลังจากนั้นก็จะมายืนขนานกันมีการขยับหัวขึ้นลงพร้อมๆกันอีกหลายครั้งก่อนที่ตัวเมียจะนอนหมอบให้ตัวผู้ขึ้นผสมพันธุ์ ในผึ้งก็จะมีการสื่อสารโดยการแสดงท่าทางที่น่าสนใจยิ่ง กล่าวคือ เมื่อผึ้งงานตัวหนึ่งไปพบแหล่งอาหารมันจะบินกลับมารังแล้วแสดงการเต้นรำในแบบที่จำเพาะ เป็นการบอกให้ผึ้งตัวอื่นๆรู้ถึงแหล่งอาหาร และระยะทางจากรังไปยังแหล่งของอาหารนั้นด้วย การกระพริบแสงของหิ่งห้อยตัวผู้เพื่อดึงดูดให้ตัวเมียมาร่วมผสมพันธุ์ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสื่อสารโดยการแสดงท่าทาง ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมการสื่อสารแบบนี้ไม่ค่อยเด่นชัดนักแต่ก็พอมีให้สังเกตเห็นได้บ้าง เช่น เมื่อสุนัขแสดงท่าทางข่มขู่ ขนจะพองขึ้นทำให้มันเหมือนมีขนาดโตขึ้นและดูน่าเกรงขามขึ้น หรือการแสดงพฤติกรรมการข่มขู่ของโคตัวผู้ ซึ่งจะก้มลงชี้เขาไปยังคู่ตัวสู้ และใช้เท้าหน้าตะกุยดินสาดหลัง หรือใช้ไหล่ถูดิน เป็นต้น

สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี

 

คำสำคัญ (Tags): #การสื่อสาร
หมายเลขบันทึก: 207867เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2008 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แสดงความคิดกันหน่อยเร็ว พวกเรา

สนุกดีค่ะให้ความรู้ดีมาก ออมขอขอบคุณค่ะ

อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของแกะ พฤติกรรมการดื่มกินม,พฤติกรรมการดูดนม,พฤติกรรมการเคี้ยวเอื้อง ทางเพศ การเป็นแม่ การขับถ่าย การขัดแย้งและพฤติกรรมการตรวจสอบ ขอบคุณร่วงหน้าครับ

สุดยอดครับอาจารย์ผมขอฝากตัวเป็นศิษร์ด้วยน่ะครับ   คนที่ว่าอาจารย์บ้าคนนั้นแหละคนบ้า       ขอแสดงความนับถืออาจารย์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท