ไปสบายแล้วครับ อาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน ครูดนตรีผู้บุกเบิกดุริยางคศิลป์ มมส


สำหรับ สุรศักดิ์ พิมพ์เสน ความเป็นอัจฉริยะทางด้านดนตรี ที่สามารถเล่นดนตรีได้เกือบทุกประเภท ทั้งสากล ไทย และท้องถิ่นอีสาน ปรากฎชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างดีในหมู่ประชาคม มศว. โดยเฉพาะ การเป่าแคน ที่อ่อนหวาน เป็นที่ออนซอน ไพเราะยิ่ง โดยเฉพาะลายพื้นเมืองหลายลาย เช่น ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายสุดสะแนน และลายกาเต้นก้อน แต่เหนืออื่นใด สุดยอด ความเป็นสุรศักดิ์ พิมพ์เสน นอกจากอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีแล้ว วิชาโหราศาสตร์ คือ พฤติกรรมเชิงประจักษ์ ที่บรรดาประชาคมชาวมศว. ผู้มีทุกข์ จิตใจไม่ปกติและไม่สบาย ย่อมมาพบสุรศักดิ์ พิมพ์เสน เพื่อช่วยเหลือขจัดปัดเป่าทุกข์ทางใจของพวกเขา อัจฉริยภาพทางโหราศาสตร์จึงเป็นปรากฎการณ์สำคัญและเป็นวาทกรรมแห่งการช่วยเหลือคนอย่างน่าชื่นชม

  ไปสบายแล้วครับ อาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน ครูดนตรีผู้บุกเบิกดุริยางคศิลป์ มมส

บทนำ

        

ในแวดวงอาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยเฉพาะในแวดวงศิลปกรรม ดนตรี และศิลปะวัฒนธรรม เมื่อปี 2530 – 2540 คนในประชาคม มศว. มหาสารคาม โดยเฉพาะในคณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  คงจะไม่มีใครไม่รู้จักนักวิชาการเหล่านี้ไปได้  บุคคลเหล่านี้ได้แก่  อาจารย์บุญทัน เชษฐสุราษฎร์ ศิลปินผู้ถือปริญญาโทด้านจิตรกรรม จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร มาเป็นครูสอนศิลปะ ที่ มศว.มค. อาจารย์พิทักษ์ น้อยวังคลัง ลูกหม้อ ศิลปศึกษา มศว.มหาสารคาม ศิษย์เอก อาจารย์อาคม วรจินดา และ ผศ.มณี พันทวี ที่ผันตัวออกจากโรงเรียนมัธยมที่อำเภอสุวรรณภูมิ แบกตำรามาสู่สำนักศิลป์แห่ง มศว.มค. ดร.อรรถ นันทจักร อาจารย์ประวัติศาสตร์จากโรงเรียนมัธยมที่อำนาจเจริญ โอนมาเป็นนักวิจัยที่สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานแล้วย้ายเข้าเป็นอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์  อาจารย์วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม ลาออกจากอาจารย์วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดมหาสารคามอายุราชการได้ 10 ปีบริบูรณ์ ขอบรรจุกลับเป็นนักวิจัยทางด้านศิลปะวัฒนธรรมที่ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน โดยมี อาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน ผู้ถือเป็นรุ่นพี่ที่มีวัยใกล้เคียงกัน หอบปริญญาดนตรีจากสำนักบ้านสมเด็จเจ้าพระยาอันเลื่องลือ เดินนำหน้ามาเป็นอาจารย์สอนดนตรีก่อนคนอื่น ๆ ก่อนที่จะผูกเสี่ยวเป็น เสี่ยวต่างรุ่นกับ วรรณศักดิ์พิจิตร เพราะอายุอานามสองคนคงต่างกันประมาณ 2-3 ปี เมื่อมาเรียน ปริญญาโทไทยคดีศึกษา (เน้นมนุษยศาสตร์) รุ่น 2 พร้อมกัน และใช้เวลาเรียนถึง 5 ปี เต็มเหมือนกัน ปล่อยให้ รศ.พิทักษ์ น้อยวังคลัง ซึ่งเรียนรุ่นไทยคดีศึกษา รุ่น 4 จบไปก่อนด้วยสมองอันปราดเปลื่อง 

 

อาจารย์หนุ่ม ร่วมสมัยหลากหลายวาทกรรม

       

ในบรรดานักวิชาการหนุ่มทั้ง 4 คน ได้โคจรมาบรรจบกันด้วยแง่มุม วาทกรรมทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ที่ทำงานของบุญทัน เชษฐสุราษฎร์ และพิทักษ์ น้อยวังคลัง ก็คือ อาคารโรงงานหลังสถาบันวิจัยฯ ถูกดัดแปลงให้เป็น shop สำหรับสอนนิสิต โดยมีครูศิลปินอาวุโส 2 คน คือ อาจารย์อาคม วรจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ และ ผศ.มุณี พันทวี หัวหน้าภาคศิลปศึกษา กำกับดูแล ส่วนวรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม มาปฎิบัติการเป็นนักวิจัย กับ ดร.ทรงคุณ จันทจร อาจารย์ทวี ถาวโร อาจารย์พิสิฎฐ์ บุญไชย  โดยอยู่ในความดูแลของอาจารย์อาคม วรจินดา ผศ.สมชาย ลำดวน  ผศ.ดร.เจริญไชย ชนไพโรจน์ ส่วนอาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน ที่ทำงานอยู่ที่คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาดนตรี มีหัวหน้าภาคชื่อ ผศ.ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์  ซึ่งในยุคนั้น สถานที่พบปะเสวนา เพื่อแสดงวาทกรรม ของอาจารย์หนุ่มทั้งหลายก็คือ ลานอโศก ข้างสถาบันวิจัยหลังเก่าข้าง Shop ศิลปะนั้นเอง  วาทกรรมที่นำเสนอในยุคนั้นก็คือ การกำลังจะปรับเปลี่ยนอนาคตมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ มหาสารคาม เป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ การยุบคณะมนุษยศาสตร์ การยุบคณะสังคมศาสตร์ กรอบการทำงานของแต่ละคน  ความไม่เข้าใจระหว่างอาจารย์ใหม่กับผู้บังคับบัญชา ซึ่งต่างมีมุมมองและวาทกรรมที่แตกต่างกัน

          บุญทัน พกเอาความเป็นศิลปินจากท่าช้างวังหลัง รั้วศิลปากร มาอย่างอหังการ ก้าวร้าวนิด ๆ  แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนมุมมองทางศิลปกรรมอย่างสิ้นเชิงจากครูบาอาจารย์ดั้งเดิม  พิทักษ์ น้อยวังคลัง ลูกหม้อมือดี แสดงถึงอัจฉริยภาพผลงานทางด้านวิชาการทางด้านศิลปะ อย่างโดดเด่น  วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม ครูภาษาไทยผู้ผันตัวเองเป็นนักวิจัยทางด้านวรรณกรรมท้องถิ่นและหัตถกรรมผ้า จนมีชื่อเสียงปรากฎอยู่บ้าง  สำหรับ    สุรศักดิ์ พิมพ์เสน ความเป็นอัจฉริยะทางด้านดนตรี ที่สามารถเล่นดนตรีได้เกือบทุกประเภท ทั้งสากล ไทย และท้องถิ่นอีสาน ปรากฎชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างดีในหมู่ประชาคม มศว. โดยเฉพาะ การเป่าแคน  ที่อ่อนหวาน เป็นที่ออนซอน ไพเราะยิ่ง โดยเฉพาะลายพื้นเมืองหลายลาย เช่น ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายสุดสะแนน และลายกาเต้นก้อน แต่เหนืออื่นใด สุดยอด ความเป็นสุรศักดิ์ พิมพ์เสน นอกจากอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีแล้ว วิชาโหราศาสตร์ คือ พฤติกรรมเชิงประจักษ์ ที่บรรดาประชาคมชาวมศว. ผู้มีทุกข์ จิตใจไม่ปกติและไม่สบาย ย่อมมาพบสุรศักดิ์ พิมพ์เสน เพื่อช่วยเหลือขจัดปัดเป่าทุกข์ทางใจของพวกเขา  อัจฉริยภาพทางโหราศาสตร์จึงเป็นปรากฎการณ์สำคัญและเป็นวาทกรรมแห่งการช่วยเหลือคนอย่างน่าชื่นชม

 

บทเพลงแห่งความจดจำ  มุมมองจากคนรุ่นเดียวกัน

         

ณ ใต้ร่มอโศก ข้างสถาบันวิจัยหลังเดิม ปัญหาความไม่เข้าใจวาทกรรม ซึ่งกันและกันกลายเป็นปัญหาเล็ก ๆ ที่ก่อให้เกิดบทเพลงที่คนฟังแล้วต่างหัวร่อ เมื่อวันหนึ่ง ผศ.ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ มีปัญหาความคิดด้านการบริหาร ภาควิชาดนตรี ที่มีอาจารย์อยู่สองท่าน คือ ผศ.ดร.เจริญชัย และอาจารย์สุรศักดิ์ กับลูกภาค คือ อาจารย์สุรศักดิ์ วงเสวนาได้แสดงวาทกรรมอย่างสนุกสนาน  บรรยากาศค่อนข้างร้อนแรง แต่เมื่อ บุญทัน เชษฐสุราษฎร์  ได้แต่งเพลงล้อเลียนเพลงหนึ่งขึ้นมา  และร้องในการแสดงวาทกรรมและร่ำอมฤตในค่ำคืนวันนั้น ทำให้ทั้งผศ.ดร.เจริญชัย และอาจารย์สุรศักดิ์ และทีมงานศิลปกรรมทั้งหลาย ต่างขำกลิ้งไปตาม ๆ กัน  ซึ่งเนื้อหาเพลงมีอยู่ว่า

              

               สองผู้ยิ่งใหญ่ ที่ใครใครรู้จักดี นักเลงเรียกพี่ นักดนตรีเขานับถือ

                เขาชื่อ บิ๊กสุ สุรศักดิ์ เจริญชัย แห่งวงการดนตรีไทย ผู้ยิ่งใหญ่ของพวกเรา

                บิ๊กเอยบิกสุ  สุรศักดิ์ พิมพ์เสน  คู่กรรมคู่เวร กะ ดร.เจริญชัย

                สองคนสองแบบ แยบยลคนละที คนหนึ่งชอบดนตรี อีกคนชอบหมอลำ

                อยู่มาวันหนึ่ง ขณะซ้อมดนตรี ท่านคณบดี สั่งให้รื้อโรงงาน………………”

 

หลังจากนั้น หนึ่งหัวหน้าภาคและหนึ่งลูกภาคก็กลับมาดีกันดังเดิม เพราะเพลง บิ๊กสุ ของ บุญทัน เชษฐสุราษฏร์ นั้นเองและกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการคัดค้านการยุบคณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ในระยะต่อมา

 

คัดค้าน ยุบคณะมนุษยศาสตร์ ยุบคณะสังคมศาสตร์  ความร่วมมือร่วมใจของศิลปินทั้งหลาย

 

          การปรับเปลี่ยนมศว.มหาสารคาม เป็น ม.มหาสารคาม สร้างความหวั่นไหวให้แก่คณาจารย์รุ่นเก่าอย่างยิ่ง เพราะเงื่อนไขหนึ่งที่มหาวิทยาลัยจะเป็นเอกเทศได้ จะต้องมีการยุบคณะมนุษยศาสตร์ และยุบคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งในการนั้น ภาควิชาต่าง ๆ ของสองคณะก็อาจถูกยุบไปด้วย ชื่อ คณะก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร ผู้คนหลายคนต้องออกไปอยู่คณะใหม่ อนาคตจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้  อาจารย์วัยสูงอายุยอมรับการเปลี่ยนแปลงโดยดุษฎี แต่อาจารย์หนุ่ม ๆ ในยุคนั้นกลับมองเห็นว่า ความไม่ชัดเจนของฝ่ายบริหารคือกำแพงสำคัญที่ทำให้เกิดความสับสน และกลายเป็นปัญหาต่อความหวาดระแวง ดังนั้น คณะคนหนุ่มหัวรุนแรงทั้งหลายในยุคนั้นจึง  ขัดขืน ต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น  รถปิ๊กอัฟ ของ วรรณศักดิ์พิจิตร  ดร.บุญสม ถูกขนกลองเพลใหญ่ที่ยืมมาจากวัด และกลองเส่ง ซึ่งเป็นกลองออกศึก บรรดาขุนพลทั้งหลายนำโดย สุรศักดิ์ พิมพ์เสน บุญทัน เชษฐสุราษฎร์ พิทักษ์ น้อยวังคลัง ทรงคุณ จันทจร พิสิฏฐ์ บุญไชย และอีกหลาย ๆ ต่อหลายคน โดยการสนับสนุนของ อาจารย์อาคม วรจินดา ผศ.สมชาย ลำดวน ผศ.บุญเลิศ สดสุชาติ ผศ.มุณี พันทวี และผศ.ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์   พร้อมนิสิตทั้งสองเอก คือ ศิลปะและดนตรี ต่างพากันออกมาคัดค้าน การยุบสองคณะซึ่งเป็นประวัติสำคัญรากเหง้าการก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ขบวนรถวนไปในที่ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ตั้งเดิม ทั้งสองฝั่งพร้อมทั้งเสียงกลองและเสียงรถกระจายเสียงป่าวร้องการคัดค้านการยุบคณะอย่างถึงที่สุด แต่สุดท้ายทั้งสองคณะก็ถูกยุบไปในที่สุด คณะถูกปรับเปลี่ยนเป็น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเคลื่นที่ตั้งมาที่ตั้ง มหาวิทยาลัยใหม่ที่อาคาร RN ทันที ถือเป็นการจบตำนาน สองคณะตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 

การต่อสู้ให้ได้มาซึ่งคณะศิลปกรรมศาสตร์ ผลพวงต่อเนื่องจากประวัติศาสตร์

         

          การยุบสองคณะหลัก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ใหม่อย่างมโหฬาร ประการที่หนึ่งคือ  ภาควิชาหลายภาคถูกทำให้ใหญ่ขึ้นและกลายเป็น คณะในยุคต้นหลายแห่ง ด้วยเหตุผลเพื่อหารายได้ให้แก่มหาวิทยาลัยใหม่ เช่น  คณะการบัญชีและการจัดการ ก็พัฒนาจากภาควิชาธุรกิจศึกษา ภาควิชาการจัดการ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์  เป็นต้น  ภาควิชารัฐศาสตร์ ได้พัฒนาสู่การเป็น วิทยาลัยการเมืองการปกครองต่อมาในที่สุดแต่ ภาควิชาทางด้านศิลปกรรม และภาควิชาทางด้านดนตรี ยังไม่มีทิศทางที่เห็นแนวว่าจะไปทางไหน  ดูประหนึ่งจะถูกให้อยู่กับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พร้อมกับ ภาควิชาทางด้านภาษา สังคมวิทยา มนุษยวิทยาและพัฒนาชุมชน ซึ่งดูประหนึ่งว่าผู้บริหารจะดองเค็มเพราะขัดขวางการยุบสองคณะ และดูประหนึ่งจะหารายได้ให้มหาวิทยาลัยไม่ได้เท่าใด

ดังนั้น การแสดงความคิดอ่านของคนในวงการศิลปะและดนตรีจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง  และกลายเป็นการทำงานสามประสาน กล่าวคือ พิทักษ์ น้อยวังคลัง และบุญทัน เชษฐสุราษฎร์ ถูกไปคิดค้น รูปร่าง ภาพวาดของคณะศิลปกรรม ควรจะเป็นอย่างไร  วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม เข้าไปแสดงพลังในฐานะ ตัวแทนข้าราชการ สาย ข ในกรรมการสภามหาวิทยาลัย ส่วนสุรศักดิ์ พิมพ์เสน มองและค้นหารูปแบบของ สายดนตรีและศิลปะการแสดง ว่าควรจะอยูอย่างไร พร้อมทั้งอาจารย์อีกหลายท่านที่เข้ามาสู่องคาพยพและการเป็นกำลังอย่างยิ่งทีผลักดันให้เกิด คณะ ขึ้นได้ในระยะต่อมา  เช่น รศ.สุพรรณี เหลืองบุญชู รศ.ปิยะพันธ์ แสนทวีสุข ผศ.ชำนาญ เล็กบรรจง รศ.ศุภชัย สิงยะบุศย์ และอีกหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวนาม  สุดท้ายคณะศิลปกรรมศาสตร์ ก็ได้เกิดขึ้นจริง แต่หาได้เกิดเดียวแต่ประการใดไม่ เพราะก่อนที่จะถือกำเนิดนั้น ผู้บริหารและหมอทำคลอด ได้ทำการผสมหลอดแก้ว โดยแทบไม่มีใครทราบ ดังนั้นเมื่อถือกำเนิดครั้งแรก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จึงได้คลอดออกมาเป็นทารกแฝด พร้อมน้องอีกคน คือ คณะสถาปัตยกรรมและผังเมืองฯ  นับว่าเป็นการก่อกำเนิดอย่างพิสดารที่สุดตั้งแต่มีมาเลยที่เดียว แต่ก็ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ชาวมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่สามารถปฎิเสธได้ เพราะการอุบัติถือกำเนิดของคณะทั้งสองคณะคือการกำเนิดมาด้วยกันอย่างแนบแน่น  โดยคณะพี่คือคณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่ทำให้คณะน้อง คือ คณะสถาปัตยกรรมฯ ถือกำเนิดมาพร้อมกับ  บุคลากรที่ก่อให้ถือกำเนิดเหล่านี้  ควรจะจดจำอย่างยิ่งและไม่สามารถลบออกจากประวัติศาสตร์บอกเล่าหน้านี้ได้  ท่านหนึ่งในนั้นก็คือ

อาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน  ครูดนตรีรุ่นบุกเบิกของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

ว่าที่ ดร.ไทศึกษา ผู้โบยบินโหยหาดุริยศิลป์ในทิพย์วิมาน

 

          ดูจะเป็นไฟท์บังคับของอาจารย์รุ่น Fifty ที่ต้องให้ได้ปริญญาเอกมาแขวนข้างฝา และประติดมานำหน้าชื่อแซ่ของตน พร้อมกับตำแหน่งทางวิชาการ เพราะมิฉะนั้นก็จะถูกดูแคลนจากประชาคมวิชาการ โดยลืมมองเห็นความสำคัญของ อัตลักษณ์ อย่างอื่น ไป เช่น ความสามารถเชิงชั้นทางวิชาการที่ตัวตนเขามี การสั่งสอนลูกศิษย์ให้มีความรอบรู้และมีธรรมะสามารถออกไปเป็นคนที่ดีของสังคม สิ่งเหล่านี้กลับถูกมองข้ามไป  ผมเคยพูดกับอาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน  ในตอนที่ไปออกภาคสนามการวิจัยในขณะเรียนปริญญาเอกด้วยกันว่า

 

 จริงๆ แล้วคนอย่างพี่แอ๊ดนี่ ไม่ต้องมาหาเรียนปริญญาเอกหรอก เพราะอีหยัง ๆ ก็ฮู้เหมิด โดยเฉพาะเรื่องดนตรี ผู้ใด จะมีควมฮู้ท่อเจ้า ข่อยว่าโจกโหลกฟ้านี้ บ่มีผู้ใดท่อเจ้าแล้วหล่าอ้าย  เรื่องซ่อยคน ดูมอ เบิ่งแยง ฤกษ์งามยามดีเจ้ากะเก่ง  บ่ต้องเฮียนดอก  บ่คือข่อยต้องเฮียนเพราะ ฮู้เคิ่ง ๆ กลาง ๆ  และที่สำคัญ ครู ผู้ใดจะมาฮู้ปานเจ้าอ้าย ข่อยว่าบ่มีดอก อ้ายแอ๊ด เอย 

 

แต่อาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน ก็ตั้งหน้าตั้งตาเรียนอย่างตั้งใจ และทราบว่าผ่านกระบวนการจนคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในเร็ววันนี้ ส่วนผมก็ตั้งหน้าตั้งตาแต่ดูแล้วจะไม่ใกล้ความจริงเลย ไม่รู้ว่าผมโง่หรือแกล้งโง่ไม่เป็นหรือเปล่า เลยไปไม่ถึงไหน

โลกของผมกับอาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน ทางด้านการต่อสู้ ทำกิจกรรมร่วมกันน้อยลง ต่างคนต่างมีภาระ แต่ผมกับอาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน มักจะได้เจอกัน อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง หรือสองอาทิตย์ครั้ง เมื่อผมมาช่วยงาน ผศ.ดร.ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ ครูบาของผม ที่กองกิจการนิสิต  สาเหตุที่พบกันก็คือ คุณเกรียงศักดิ์ มูลจันทร์ หัวหน้างานสวัสดิการนิสิต กับอาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน มักจะมีเวลาเสวนาเรื่อง พระเครื่อง ด้วยกันหลังเลิกงาน โดยเฉพาะช่วงหลัง อาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน มีพระพิมพ์ดินเผากรุนาดูนจำปาศรี อันเลื่องลือชื่อ มาให้ชมอยู่เสมอ ผมเลยกลายเป็นสมาชิกชมรมพระเครื่องกองกิจกลาย ๆ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

อย่างน้อยที่สุด ก็ได้เห็นได้ชมพระเครื่อง และพระกรุต่าง ๆ ที่อาจารย์มีมา มาอธิบายให้ความรู้เป็นประจำ ซึ่งอาจารย์ก็จะมาประจำ ไม่ระบุวัน เพราะคณะศิลปกรรมศาสตร์ กับโรงอาหารกลางซึ่งเป็นที่ตั้งกองกิจ ไม่ไกลกันนัก   อาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน ในปัจจุบันจึงเป็น ผู้รู้ อย่างหลากหลายในด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะ ผู้เชี่ยวชาญดนตรีอีสาน ผู้เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญทางพระเครื่อง ในที่สุด

 

อันว่าควมตายนี้แขวนคอทุกบาดย่าง ตื่นเซ้ามา เหลียวเห็นหน้า จั่งได้ฮู้ว่าหยัง 

 

          มนุษย์ต้องตาย ดับไป  เป็นสัจธรรม และเป็นไปตามกฎอนิจจัง อย่างมั่นคงซึ่งทุกคนก็รู้   สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้และเตือนสติทุกคนว่า ขอให้มีสติ และอย่าตั้งตนในความประมาท ทุกคนก็รู้  แต่ทุกคนก็ไม่รู้ว่า ตนจะไปเมื่อไหร่ เพราะไม่เคยมีใครบอกได้ว่า พอถึง 90 ปี 100 ปี ทุกคนจะตาย หรือต้องตาย บางคนเกิดก่อน ควรไปตายเอาตอนแก่ ก็ตายก่อนวัยอันควร บางคนแก่จนเดินไม่ได้ หายใจแผ่ว ๆ อยากจะตายวันละ 10 ครั้ง ก็ไม่ตาย

ทุกสิ่งทุกอย่างเลยไม่มีความแน่นอน ไม่มีความแน่นอน และความไม่แน่นอนจึงแน่นอนที่สุด บนโลกนี้  ผมออกมาทำงานตั้งแต่เช้าของวันที่ 8 กันยายน 2551 เพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุดและเป็นทั้งญาติและเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ แต่เราไม่มีโอกาสได้คุยกันเลย เพราะงานและวิถีแห่งงาน อยู่ ๆ เธอก็โทรมาหาผมตั้งแต่ เจ็ดโมงกว่า 

                

           อาจารย์วรรณศักดิ์ จริงหรือเปล่า อาจารย์สุรศักดิ์ เสียแล้ว

ผมงง ๆ เพราะผมไม่ค่อยได้ยินเสียงนี้ในโทรศัพท์เลย ผมเลยถามไปว่า

             ใครครับ กำลังพูดกับผม   และอาจารย์สุรศักดิ์ไหนครับ

เสียงนั่นตอบกลับมาว่า

            โอ้ยจำเสียงเอื้อยบ่ได้บ้อ พี่อ้อย พี่อ้อย จำได้บ่

ผมเลยตอบกลับว่า

           โอ๋ พี่อ้อย คนโก้ เหรอ    จำได้แล้ว อาจารย์สุรศักดิ์ ไหนเหรอพี่

           ก็ อาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน อาจารย์แอ๊ด คณะศิลปกรรม หมู่เจ้าน่า

ผมแป๊ปในใจ งง และหวิว ๆ เป็นไปได้ไง อาทิตย์ที่แล้วก็ยังเห็นเพิ่นอยู่

           เสียงอาจารย์ประเทศ ปัจจังคะตา ตะโกนออกมาจากอาคารสถาบันฯ ตอบแทนผม

           แม่นแล้วอาจารย์ เพิ่นเสียมื้อคืนนี้ ที่ กทม พี่น้องกำลังไปเอาศพมา

                         เสียง พี่อ้อย ลอยมาแล้วบอกว่า ถ้าศพมาแล้วบอกด้วยว่าเพิ่นเอาไปไว้ไหน และบอกข่าว สมาชิกประชาคม มมส ทุกคนด้วย

 

          ผมนั่งตั้งสติอยู่ในอาคารสถาบันหลังเก่า วันนี้เป็นวันจันทร์ ผมมีสอนนิสิตที่ ม.เก่าในวันจันทร์และกลับมานั่งทำงานที่ อาคารหลังเดิมกำลังเสวนา เรื่อง หายนะประเทศไทย กับอาจารย์อาวุโสหลายท่าน เช่น ผศ.สมชาย ลำดวน อาจารย์ไพบูลย์ อนุฤทธิ์ อาจารย์รุ่นหนุ่มอีกหลายคน เช่น รศ.นิยม วงศ์พงษ์คำ อาจารย์ประเทศ ปัจจัง คะตา อาจารย์กวีสิปป์วิชญื เมืองจันทร์ และนิสิตปริญญาโท อีกสองสามคน กำลังมองทางออกของประเทศไทยจะออกจากวิกฤติและวังวนอนาธิปไตยที่กำลังต้มยำทำแกง ประเทศไทย ได้อย่างไร กลับต้องยุติเรื่องนี้ไว้ชั่วคราว  และหันมามองค้นหา ตำนานนักรบทางศิลปะวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ชื่อ สุรศักดิ์ พิมพ์เสน แทน 

 

         โบยบิน โหยหาเถิด ญาอ้าย  วิมานบ่อนใดมีพิณแคนซอ ให้ญาอ้ายได้เสพ

          เฮ็ดให้ สวรรค์ เสพงัน บ่ได้หยุดบ่ได้ เซา เลย ญาอ้าย

          ให้เทวบุตร เทพธิดา ม่วนซื่น โฮแซ่ว บ่ได้หยุดบ่ได้เซา เลยญาอ้าย

          เอาจนเพิ่น เปิด โลด ญาอ้าย

 

          คั่นอยากได้ผู้ได่ ไปซ่อยอีก  มาบอก น้องซาย เจ้า อาจารย์หำน้อยผู้ข้า

          จะได้ไปอะโหล โป้ป่าวให้ หาคนสมัครไป คือ สมัครเฮียน ปริญญาเอก ปริญญาโท

          หรือ คือไปเล่น ดนตรี อยู่อเมริกา เทียวนั้นหนา เก่ง ๆ แบบ ลูกศิษย์อ้าย กะหลายอยู่เด

          จะเอาไปนำบ้อ จะประกาศข่าวให้ บอกมาเด้อ

 

 

อาลัย อาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน อย่างสุดซึ้ง สู่สุคติที่ดีงามมีดนตรีเสพงันทุกทิพยวิมาน เถิดพี่ชาย

อิศรา ประชาไท

9 กันยา  2008

 

 

 

 

 

         

 

         

 

 

หมายเลขบันทึก: 207113เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2008 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะท่านผช.ฯ

หนิงได้รับข่าวเมื่อเช้านี้  ยังตกใจและงง ด้วยค่ะ

อาจารย์สุรศักดิ์ พิมเสน ท่านเป็นอาจารย์หนิงค่ะ  หนิงเคยเรียนวิชา สุนทรียศาสตร์ซึ่งท่านสุรศักดิ์และท่านเจริญชัย จะเข้าไปสอนหนิงและเพื่อนๆในวศม.ด้วยค่ะ (เกือบ 20ปีมาแล้ว)

ขอร่วมไว้อาลัยกับครูดนตรีท่านนี้ด้วยค่ะ

RIP ค่ะท่านอาจารย์สุรศักดิ์  พิมเสน

สิ่งที่เสียใจที่สุดในชีวิต "คือการจากกันโดยไม่มีวันกลับ" ได้รับโทรศัพท์ประมาณ 10

โมงเช้า จากน้องจักรินบอกว่า อาจารย์สุรศักดิ์เสียชีวิตแล้วที่กรุงเทพฯ แทบช๊อคยังต่อว่า

น้องจักรินพูดเป็นเล่นไป จน ณ บัดนี้แน่ใจแล้วว่าท่านอาจารย์สุรศักดิ์คนที่แสนดีและ

สุภาพ ได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับอีกแล้ว ได้แต่นั่งงงและไม่รู้จะพูดอย่างไรดี รู้แต่ว่าน้ำตาไหลด้วยความอาลัยยิ่ง

"คนที่มีบุญ คือคนที่มีความสุขตอนอายุมากขึ้น เหมือนเตี้ยนั่นแหละ ลูกเรียนจบหมดแล้ว มีสามีที่ดี ร่างกายก็ดูสมบูรณ์มีน้ำมีนวล" นี่คือประโยคสุดท้ายที่ได้พูดคุยกับท่านอาจารย์สุรศักดิ์ ก่อนที่จะไม่มีวันได้พูดคุยกันอีกแล้ว "หลับเถอะอาจารย์ หลับให้สบาย

น้องสาวคนนี้ยังระลึกถึงเสมอ ความดีของอาจารย์ขอให้หนุนนำอาจารย์ได้สู่สุขคดิด้วยเทอญ"

เป็นกุศลกรรมที่ดีครับ ขอให้คนดี สู่สิ่งที่ดี

และขอบคุณทุกคน ที่ ส่งใจให้อาจารย์สู่ภพที่งดงาม

สาธุ

ข้าพ์อาลัยยิ่ง

แม้เป็นสิ่งไม่ประสงค์

ครูบาอาจารย์ท่านดำรง

อยู่ ณ ที่สวรรคาลัย

ขออาจารย์สู่สวรรคาลัย บรรเลงดนตรีให้อินทร์ไท้ได้อิ่มเอม

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • มาแสดงความเสียใจ ต่อการจากไปไม่มีวันกลับ ของท่านอาจารย์สุรศักดิ์ พิมพ์เสน ครูดนตรี-ดุริยางคศิลป์ มมส ขอให้ไปสู่สุคติ
สุธี พงษ์เพียรชอบ

ขอให้อาจารย์ไปอยู่ที่ที่มีแต่เครื่องดนตรีและเสียงดนตรีให้ท่าน

ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ

ลูกศิษย์โทดนตรี เสือดาว4

ครู นั้นยังคงอยู่ในจิตใจ ผมเสมอครับ

.....รักและคิดถึง..........จาก ณัฐวุฒิ ชัยสุโข

ขอให้ท่านอาจารย์...สุรศักดิ์ พิมพ์เสน...สู่สุคติด้วยเทอญ

ด้วยอาลัย อย่างสุดซึ้ง

ผ่านไป 5 ปี ผมเพิ่งมีโอกาสได้อ่าน ขอบคุณมากครับทุกท่าน ขอบคุณจริงๆ ผมซาบซึ้งและเชื่อว่าคุณพ่อต้องดีใจแน่ๆที่มีคนรักท่านมากมายขนาดนี้ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท