การจัดการการเปลี่ยนแปลง : ทางรอดขององค์กรในศตวรรษที่ 21


การจัดการการเปลี่ยนแปลง

การจัดการการเปลี่ยนแปลง  :  ทางรอดขององค์กรในศตวรรษที่ 21

ดร.กุลเชษฐ์  มงคล

 

องค์กรที่รอด  คือองค์กรที่เปลี่ยนแปลง

                ผู้บริหารในองค์กรธุรกิจและองค์กรภาครัฐในศตวรรษที่ 21  ต่างพยายามคาดเดาและรอคอยอย่างใจจดใจจ่อว่า   ว่ามีสถานการณ์อะไรรอคอยพวกเขาอยู่ข้างหน้า  สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกขององค์กรมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีอัตราเร่งเร็วขึ้นเรื่อย ๆ   กลยุทธ์ทางการบริหารจัดการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน   ซึ่งเคยทำให้องค์กรประสบผลสำเร็จมาตลอด  อาจกำลังเป็นกลยุทธ์ที่นำพาองค์กรไปสู่ความพ่ายแพ้และเสียหายในอนาคต   Philip  Kotler  ศาสตราจารย์  และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจาก  Northwestern University  ตั้งข้อสังเกตว่า  ในโลกของการแข่งขันที่รุนแรงนี้  มีบริษัทอยู่เพียงสองประเภท   คือ บริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลง  และบริษัทที่ล้มละลาย  หรือหายสาบสูญไปจากวงการธุรกิจ ในอดีตบริษัทอาจจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์กร  โดยใช้ผลงานของตัวเองเป็นเกณฑ์  แต่ในปัจจุบันบริษัทจำเป็นต้องปรับปรุง โดยใช้บริษัทคู่แข่งเป็นตัวเปรียบเทียบ  จุดเน้นของการบริหารในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง  จึงต้องเริ่มปรับทิศทางจากบริษัทหรือองค์กรที่เคยสนใจเฉพาะเรื่องการจัดการในประเทศ  ก็จำเป็นต้องให้ความสนใจกับการจัดการในระดับโลก  (Global  Management)  และสภาพแวดล้อมภายนอกต่างๆ  เพิ่มมากขึ้น  จากบริษัทที่เน้นการจัดการองค์กรแบบจากบนลงสู่ล่าง  (Top  Down)  และรวมอำนาจ  (Centralization)  ก็อาจจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นแบบกระจายอำนาจ  (Decentralizaiton)  เป็นต้น

 

การเปลี่ยนแปลงในองค์กรภาครัฐ

                ความจำเป็นในการจัดการเปลี่ยนแปลงนั้น  ครอบคลุมและแผ่ขยายไปถึงองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร  (Non  Profit  Organization)  และองค์กรภาครัฐ  (Public Sector)  ด้วยองค์กรทั้งสองประเภทนี้  ต่างมีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบการบริหารจัดการ  เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในปัจจุบันเช่นเดียวกัน  องค์กรธุรกิจ  แบบจำลอง  (Model)  กระบวนทัศน์  (Paradigm)  ด้านการจัดการภาครัฐแนวใหม่  (New  Public  Management)  ถูกคิดค้นขึ้นจากนักวิชาการต่าง ๆ ทั้งในกลุ่มประเทศแองโกลเซลติก  รวมถึงประเทศอังกฤษ  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  และจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา  แนวความคิดด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่  เช่น  การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์  (Result  Based  Management)  การจัดจ้างจากภายนอก  (Outsourcing)  ระบบข้อตกลงเกี่ยวกับสมรรถนะและความสามารถในการทำงาน  (Performance  Agreement  System)  รวมถึงระบบการบริหารงานและประเมินผลทั่วทั้งองค์กร  (Balanced  Scorecard)  ถูกนำมาปรับใช้กับองค์กรภาครัฐ  ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการจัดการของภาครัฐ  ให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ  และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลง

                คนจำนวนมากมีความเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก  ซึ่งในความเป็นจริง  การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ยากทั้งในด้านความคิดและการปฏิบัติ  โดยสาเหตุเบื้องต้นของความยากนั้น  ได้แก่การเปลี่ยนแปลงทำให้องค์กรและบุคคลในองค์กรต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ  ที่จะเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เช่น  ปัญหาเกี่ยวกับคนหรือปัญหาเกี่ยวกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ความเป็นจริงอีกประการหนึ่งคือ  องค์กรทุกแห่งมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อยมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  เพียงแต่ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทวีความรุนแรงและรวดเร็วมากขึ้นกว่าในอดีต  ทำให้เราสามารถมองเห็นถึงการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง  (Resistance  to  change)  ได้ชัดเจนมากขึ้น

                คำถามใหม่ก็คือ  แล้วจะมีวิธีการลดแรงต้านจากการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

                ถ้าคนในองค์กรมีความเข้าใจถึงคำถามพื้นฐานคือ

1.        อะไรเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำความสำเร็จมาสู่องค์กร

2.        ทำอย่างไรจึงจะนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร

3.        ใครเป็นบุคคลที่จะนำความสำเร็จมาสู่องค์กร

ก็จะช่วยให้มีแนวทางการจัดการกับแรงต้านการเปลี่ยนแปลงให้ลดลงหรือหมดไปได้   นอกเหนือจากการพยายามขจัดการต่อต้านที่เกิดขึ้นแล้ว   ความเข้าใจของคนในองค์กรที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง  ความร่วมมือของคนในองค์กร  รวมถึงกระบวนการในการออกแบบและจัดระบบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ  ก็เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงด้วย

Robert  Jacobs  ผู้แต่งหนังสือ  Real  Time  Strategic  Change  ได้อธิบายถึงลำดับกระบวนการในการจัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพไว้ 3 ขั้นตอน  ดังนี้

1.        การสร้างความน่าเชื่อถือและการสร้างเครื่องมือในการวัดผลที่มีประสิทธิภาพ ในการวัดความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง

2.        การคิดค้นวิธีการหรือแผนการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายและเหมาะสมต่อองค์กร

3.        การรับผิดชอบต่อแผนปฏิบัติการที่วางไว้อย่างเคร่งครัด

 

การเปลี่ยนแปลงที่ควบคุมไม่ได้

                องค์กรแต่ละองค์กรมีระดับความสำเร็จและความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากันบางบริษัทอาจจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างรวดเร็ว  ในขณะที่บางบริษัทอาจจะประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง  ระดับความสำเร็จของการบริหารการเปลี่ยนแปลง  นอกจากจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้  (Uncontrollable Factors)  เช่น สภาพแวดล้อมทางด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม  ทำให้การเปลี่ยนแปลงขององค์กรไม่ประสบผลสำเร็จตามที่องค์กรได้ตั้งเป้าหมายไว้

                ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในองค์กรภาครัฐของประเทศไทยก็พยายามจะปฏิรูประบบราชการ โดยนำเอาแบบจำลองการจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่กล่าวข้างต้นมาเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนแปลง  เนื่องจากองค์การภาครัฐประสบปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย  เช่น ความไม่ร่วมมือของข้าราชการ  การขาดเครื่องมือวัดผลที่มีประสิทธิภาพความไม่มั่นคงทางการเมือง  เป็นต้น  ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้แผนการต่าง ๆ ได้ศึกษาและวางไว้ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง  และชัดเจนทำให้การปฏิรูประบบราชการของประเทศไทยยังดูคลุมเครือ  และไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ จึงอาจกล่าวได้ว่า  องค์กรที่ต้องการความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง  จำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดีจากผู้บริหารโดยผู้บริหารต้องสร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงรวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรในองค์กรนอกจากนี้  ผู้บริหารยังต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล  รวมทั้งมีความสามารถในการบริหารจัดการองค์การให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงได้

หมายเลขบันทึก: 205754เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2008 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณคับสำหลับข้อมูล

เชื่อเหมือคนที่ผมรู้จักเลย

ชื่อเล่น ปลา

ชื่อจริง ก็ปารชาต

เรียนที่ มน.อีก

แต่ว่าเป็น ป.ตรี สาฯสุข

ขอบคุณสหรับเนื้อหาดีดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปง

เพราะจะได้ไปใช้ในการรายงานกลุ่ม ขอบคุณครับ

เพิ่มเติมครับ

การบริหารการเปลี่ยนแปลง

อำนาจ วัดจินดา

วิทยากรและที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการองค์กร

[email protected]

ในปัจจุบันมนุษย์ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการวิจัยและพัฒนาโดยใช้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การตัดต่อทางพันธุกรรม การโคลนนิ่ง หรือการพัฒนาการติดต่อสื่อสาร ทั้งในแบบมีสาย และไร้สาย แต่สิ่งที่มนุษย์เรายังไปสามารถควบคุมหรือเอาชนะได้นั่นคือความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้น และกำลังมีแนวโน้วไปในเชิงรุ่นแรงมากขึ้นโดยเฉพาะสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

ในมิติทางการบริหารก็เช่นเดียวกัน การดำเนินงานขององค์กรก็ย่อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อภายในและภายนอก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสำเร็จขององค์กรอย่างอยากที่จะหลีกเลี่ยง ดังนั้นนักบริหารคงต้องมีความรู้ความเข้าใจและ ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง ที่พร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา และคงต้องเรียนรู้วิธีการ หรือเทคนิคต่างๆเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ

การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) คืออะไร

จากการประมวลความหมายของการบริหารการเปลี่ยนแปลงสรุปความหมาย

ได้ว่า “การจัดการกับเหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอกองค์การ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีเหมาะสมทำให้เกิดการพัฒนาองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล”

รูปแบบของการเปลี่ยนแปลง

• การเปลี่ยนแปลงเชิงรุก(Proactive)

เป็นการเปลี่ยนแปลงตนเองก่อนที่จะได้รับการเปลี่ยนแปลงจากผู้อื่นซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์สถานการณ์ และแนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเตรียมการรองรับ ซึ่งถ้าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีผลในเชิงลบ

ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็อาจบรรเทาเบาบางลง

• การเปลี่ยนแปลงเชิงรับ(Reactive)

เป็นการถูกเปลี่ยนแปลงโดยผู้อื่นตัวเองไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลง หรือมีความคิดติดยึดในแนวทางเดิมๆมานาน ซึ่งอาจไปเหมาะสมกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน และอนาคต ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในแนวนี้ผลร้ายมักเกิดขึ้นต่อผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง

ช่วงของกระบวนการเปลี่ยนแปลง

• ช่วงละลายพฤติกรรม (Unfreezing)

เป็นความพยายามละลายระบบ หรือรูปแบบพฤติกรรมเดิม เปรียบเสมือนละลายน้ำแข็งให้เป็นน้ำ ทั้งนี้ จะต้องทำให้บุคคลรู้สึกมีความมั่นคง และหลีกเลี่ยงการคุกคาม หรือทำให้รู้สึกว่ามีความเสี่ยง โดยใช้วิธีการจูงใจทั้งเชิงบวกและลบในการบริหารงาน

• ช่วงการเปลี่ยนแปลง(Changing)

เป็นช่วงที่เป็นการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่จนนำไปสู่พฤติกรรมที่องค์การพึงปรารถนา โดยผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น การสอนงาน การพัฒนา ฝึกอบรม ฯลฯ

• ช่วงตกผลึกอีกครั้ง(Refreezing)

เป็นช่วงที่พฤติกรรมใหม่ที่ได้จากการเรียนรู้เริ่มจะอยู่ตัวจึงต้องมีการเสริมแรงให้พฤติกรรมธำรงอยู่อย่างยั่งยืน โดยการจัดทำเป็นระบบ มาตรฐาน และมีกระตุ้นและจูงใจให้บุคคลปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

แนวทางการบริหารความเปลี่ยนแปลง

• ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง(Change Agent)

บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารคือการเป็นผู้นำสำหรับผู้ใต้บังคับบัญชากล่าวคือต้องเป้นตัวอย่างที่ดี ดังนั้น การแสดงบทบาทที่สนับสนุนมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอคงต้อง ริเริ่มหรือกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นด้วย

• ต้องบริหารเชิงรุก หรือ Proactive

การบริหารที่ต้องมีการคาดการณ์และว่างแผนไว้ล่วงหน้าอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆที่

อาจเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับการบริหารเชิงรุกซึ่งอาจกล่าวได้ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” นั่นเอง

• ต้องพิจารณาทบทวนองค์ประกอบหลัก 3 ประการในความรับผิดชอบ ได้แก่

1. โครงสร้างของการบริหาร (Structure)

ในองค์กรต่างๆย่อมมีการจัดหน่วยงานต่างๆที่ทำหน้าที่อันหลากหลายแตกต่างกัน การพิจารณาว่าหน่วย

งานดีควรเพิ่มบทบาทหน้าที่หรือลดบทบาท เป็นสิ่งที่ผู้นำต้องทบทวนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

2. กระบวนการในการทำงาน (Process)

วิธีการทำงานเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความทันสมัย หรือความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งการบงชี้ว่าองค์กรใดมีกระบวนการทำงานที่ดีในมีติของการเปลี่ยนแปลงคงต้องพิจาราณาว่ามีการคิดระบบใหม่ ๆ มาใช้หรือไม่ ซึ่งการคิดกระบวนการหรือวิธีการใหม่นั้น อาจแบ่งได้ 2 ประเภทคือ คิดกระบวนการใหม่ที่มีรากฐานมาจากกระบวนการเดิมๆอยู่บ้างไม่มากก็น้อย หรือไม่ก็เปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน (Radical Change) จนไม่เหลือเค้าโครงเดิม

3. บุคลากร

ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารการเปลี่ยนแปลงคือบุคลากรหรือคนที่ดำรงอยู่ในองค์กรซึ่งต้องมีการ

สำรวจความพร้อม โดยต้องเริ่มจากสภาพปัจจุบันว่ามีวัฒนธรรมการทำงานเช่นไร มีความรู้ความสามารถ และ

มีทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องนั้นๆหรือไม่อย่างไร ซึ่งคงต้องนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับภาวะที่ต้องการ

เปลี่ยนแปลง โดยต้องหาช่องว่างเพื่อพัฒนาบุคลากรต่อไป

การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติซึ่งในทางพุทธศาสนากล่าวว่าสิ่งใดในโลกล้วนอนิจจัง คือความไม่เที่ยงยอมมีการเปลี่ยนแปลงดังนั้นการที่จะบริหารงานให้ได้รับประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงคงต้องมีความรู้และความเข้าใจต่อเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพื่อความสำเร็จขององค์กรเอง

การเปลี่ยนแปลงการบริหาร Management Change คือ วิวัฒนาการของแนวคิดทางการบริหารตามภาวการณ์ต่างๆ อาทิ การบริหารแนววิทยาศาสตร์ มนุษยสัมพันธ์ เชิงระบบและตามถานการณ์ ภาวการณ์ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท (Context) ของสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ฯลฯ เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องบริหารแบบรู้เท่าทัน ทันการณ์ มีวิสัยทัศน์ โดยใช้พื้นฐานความรู้เดิมเป็นตัวตั้ง แล้วนำมาวิเคราะห์เรียบเรียง เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจ แล้วจัดการกำจัดจุดอ่อน และเพิ่มจุดแข็ง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย “การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management)”

รูปแบบการบริหารการเปลี่ยนแปลง ในการบริหารการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการพัฒนาองค์กร ซึ่งมีรูปแบบวิธีการที่ดีอย่างน้อย 3 รูปแบบ ดังนี้

1. รูปแบบ 3 ขั้นตอน ตามแนวคิดของ Kurt Lewin ประกอบด้วย การคลายตัว (unfreezing) เนื่องจากเกิดปัญหาจึงต้องเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลง (changing) คือ การเปลี่ยนจากพฤติกรรมเก่า ไปสู่พฤติกรรมใหม่ และการกลับคงตัวอย่างเดิม (refreezing) เพื่อหล่อหลอมพฤติกรรมใหม่ให้มั่นคงถาวร

2. รูปแบบ 2 ปัจจัย ตามแนวคิดของ Larry Greiner ที่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดจากแรงบีบภายนอก กับการกระตุ้นผลักดันภายใน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงมีอยู่ตลอดเวลา ปัจจัยทั้งสองเกิดขึ้นตลอดเวลา จึงต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงโดย ศึกษาการเปลี่ยนแปลง ค้นหาวิธีการที่ดีกว่า ทดลองวิธีใหม่ หล่อหลอมข้อดีเข้าด้วยกัน เพื่อบริหารการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ

3. รูปแบบผลกระทบของปัจจัย ตามแนวคิดของ Harold J. Leavitt ที่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของ งาน โครงสร้าง เทคนิควิทยาการ และคน ทั้ง 4 ประการนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งผลกระทบเกี่ยวพันกัน และการเปลี่ยนแปลงบางเรื่องอยู่เหนือการควบคุม ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องสนใจสิ่งที่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง และผลกระทบที่เกิด หรือจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแต่ละปัจจัย

แนวโน้มของกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับองค์การ

1. ด้านโครงสร้าง (Structure)

2. องค์ประกอบของประชากร (Demographic)

3. เกิดจริยธรรมใหม่ของการทำงาน (New work ethic)

4. การเรียนรู้และองค์ความรู้ (Learning and knowledge)

5. เทคโนโลยีและการเข้าถึงสารสนเทศ (Technology and access to information)

6. เน้นเรื่องความยืดหยุ่น (Emphasis on flexibility)

7. ต้องพร้อมเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (Fast-paced change)

สิ่งที่ต้องพิจารณาเปลี่ยนแปลงในองค์การ

1. เป้าหมายและกลยุทธ์

2. เทคโนโลยี (Technology)

3. การออกแบบงานใหม่ (Job redesign)

4. โครงสร้าง (Structure)

5. กระบวนการ (Process)

6. คน (People)

ผู้บริหารที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่คุณภาพการศึกษา

1. เป็นผู้นำวิสัยทัศน์( visionary Leadership ) และสามารถกระจายวิสัยทัศน์ไปยังบุคคล ต่าง ๆ ได้

2. ใช้หลักการกระจายอำนาจ ( Empowerment ) และการมีส่วนร่วม ( Participation )

3. เป็นผู้มีความสัมพันธ์กับบุคลากร ทั้งภายในและนอกองค์กร

4. มีความมุ่งมั่นในการทำงาน

5. ผู้นำคุณภาพจะต้องมีความรู้ความสามารถในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีและใช้ข้อมูลสถิติ ในการวิเคราะห์และตัดสินใจ

6. ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือลูกน้อง

7. ความสามารถในการสื่อสาร

8. ความสามารถในการใช้แรงจูงใจ

9. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ( Chang Leadership )

ความท้าทายการเปลี่ยนแปลง (Challenges of Change)

 องค์การที่มีโครงสร้างองค์การชนิดที่มีสายการบริหารหลายขั้นตอนหรือสั่งการหลายชั้นภูมิจะอยู่รอดได้ยาก ในอนาคตองค์การต่าง ๆ ต้องประสานความร่วมมือกันโยงใยเป็นเครือข่าย ในขณะเดียวกันโครงสร้างภายในองค์การก็จะต้องกระจายความสามารถในการตัดสินใจให้กับกลุ่มงานต่าง ๆ ให้มากที่สุด และมีลำดับชั้นการบริหารน้อยที่สุด และต้องเปลี่ยนแปลงองค์การเพื่อรองรับและก้าวให้ทันความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งท้าทายและมีอิทธิพลต่อความอยู่รอดขององค์การในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างมาก (ธวัช บุณยมณี, 2550)

แรงกดดันที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Force for Change)Robbins (1996, อ้างถึงใน ธวัช บุณยมณี, 2550: 142-144) ได้สรุปให้เห็นถึงปัจจัยกระตุ้น หรืแรงกดดันที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

1. ลักษณะของแรกกดดันจากงาน (Nature of the work force) เช่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ

2. เทคโนโลยี (Technology) เช่น ความเจริญก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์ แนวคิดเรื่องการจัดการคุณภาพ การปฏิรูปองค์การ

3. ความชะงักงันทางเศรษฐกิจ (Economic Shocks) เช่น การตกต่ำของตลาดหลักทรัพย์ การแกว่งตัวของอัตราดอกเบี้ย

4. การแข่งขัน (Competition) เช่น การแข่งขันแบบโลกาภิวัตน์ การรวมตัวกันของกลุ่มต่างๆ

5. แนวโน้มของสังคม (Social Trends) เช่น การเข้าสู่สถาบันระดับอุดมศึกษามากขึ้น การชะลอการต่างงาน

6. การเมืองของโลก (World Politics) เช่น การเปิดประเทศ ความขัดแย้งหรือการรุกรานกันของประเทศต่าง ๆ

แบบจำลองภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเปลี่ยนแปลงสามารถจำแนกออกเป็น 3 ลักษณะ คือ การเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง จากล่างขึ้นสู่เบื้องบน และแบบบูรณาการ (Schermerhorn, 2002:480 อ้างถึงใน ธวัช บุณยมณี, 2550)

1. การเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง (Top-Down Change) เป็นการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่มาจากผู้บริหารระดับสูง ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับ ความสมัครใจหรือความเต็มใจของพนักงานระดับกลางและระดับล่าง ทางธุรกิจเรียกว่า ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงแบบอี (Theory E Change)

2. การเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน (Bottom-Up Change) เป็นการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่มาจากทุกระดับในองค์การและได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับต้นและระดับกลางในฐานะที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทางธุรกิจเรียกว่า ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงแบบโอ (Theory O Change)

3. การบูรณาการภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Integrated Change Leadership) เป็นการนำประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบนมาใช้ การริเริ่มจากระดับบนมีความจำเป็นในการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแบบแผนดั้งเดิม การริเริ่มจากระดับล่างเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความสามารถของสถาบันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั้งยืน

ขอบคุณมากค่ะ ที่เพิ่มเติมให้

อยากทราบมากเลยค่ะ...ทำไมการจัดการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้องค์กรทุกองค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น นั้น เกิดการพัฒนาในทางที่ดีมากขึ้น

ช่วยให้ความกระจ่างหน่อยได้มั้ยค่ะ ท่านผู้รู้ทุกท่าน

ขอบคุณมากครับสำหรับความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท