ชีวิตที่พอเพียง : ๕๘๐. ทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชน (๒)


 

          วันที่ ๒๕ ส.ค. ๕๑ เราประชุมโครงการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ๔ ภาค ที่ธนาคารไทยพาณิชย์   โครงการนี้มีกำหนด ๓ ปี ดำเนินการโดย สรส. ที่มีคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ เป็นผู้อำนวยการ   การประชุมเป็นการนำเสนอผลงาน ๒ เดือน ในลักษณะของการนำเสนอทุนเดิมเกี่ยวกับกิจกรรมดีๆ ของเยาวชนในท้องถิ่นที่ทีมจัดการความรู้มีอยู่แล้ว    เพราะทีมนี้ทำงานสนับสนุนการจัดการความรู้ หรือการเรียนรู้ในพื้นที่มานานหลายปี


          วันนี้ถือเป็นวันแห่งความสุขของผม    เพราะผมได้เห็นความก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่งของการทำงานของนักพัฒนาในพื้นที่ ในการใช้ KM ในการทำงาน    ซึ่งผมเคยเขียนเล่าความในใจไว้เมื่อ ๒ ปีที่แล้วที่นี่ และ 23 

 
          ผมรู้สึกทั้งหดหู่ ที่เด็กและเยาวชนของเราถูกสังคมทุนนิยมวัตถุนิยมรังแกเหลือเกิน    แต่ก็รู้สึกดีใจที่ทีม สรส. ทั้งภาคใต้ (คุณปาน – สมโภชน์ นาคกล่อม), ภาคอีสาน (คุณอ้อย – วราภรณ์ หลวงมณี), ภาคเหนือ (คุณกุ้ง – สหัทยา วิเศษ)  และหัวหน้าโครงการ (คุณทรงพล เจตนาวณิชย์) รวบรวมทุนสังคมสำหรับทำงานพัฒนาเยาวชนในพื้นที่มาได้มากมาย   ในลักษณะของ mapping กลุ่มเยาวชนที่กำลังดิ้นรนทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ และการอยู่รอดของตัวเอง    ผมมองว่ากิจกรรมเหล่านี้แหละ ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ตามความหมายที่ในหลวงรับสั่งในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง


          ในที่ประชุม เราย้ำกันว่า เป้าหมายที่แท้จริงของโครงการนี้ คือการขับเคลื่อน ชุมชน และพื้นที่ให้เอาใจใส่เยาวชนของตน   โดยการใส่ทรัพยากรเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการพัฒนาเยาวชน   เวลานี้ อปท. มีงบประมาณมาก    อปท. ควรตั้งงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาเยาวชน   คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเข้ามาเป็นเจ้าของโครงการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่   เป้าหมายของโครงการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ๔ ภาค ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลสนับสนุน   คือการเชื่อมโยงให้ อปท. และประชาสังคมในท้องถิ่น เข้ามาเป็นเจ้าของเยาวชน และเป็นเจ้าของกิจกรรมพัฒนาเยาวชนของตน  


          เป้าหมายของโครงการนี้อยู่ที่ความยั่งยืนของกิจกรรมพัฒนาเยาวชนในพื้นที่     มูลนิธิสยามกัมมาจลไม่ต้องการผลงานพัฒนาเยาวชนโดยตรง   แต่ต้องการผลงานเชื่อมโยงให้เกิดการเห็นคุณค่าของการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่    และ อปท. มีทักษะในการสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาเยาวชน


          มองในมุมหนึ่ง เป้าหมายคือการพัฒนานโยบายสาธารณะเรื่องเด็กและเยาวชน   ให้ อปท. ถือว่าตนมีหน้าที่ดูแลการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่   และนักการเมืองท้องถิ่นหาเสียงด้วยนโยบายพัฒนาเยาวชน


          ที่จริงมีหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนมากมาย   และผมมีข้อสังเกตว่า หลายหน่วยงานต้องการผลงานระยะสั้น   เพื่อให้ตัวบุคคลหรือหน่วยงานได้ผลงาน   สนับสนุนช่วงสั้นๆ   เมื่อถือว่าได้ผลงานแล้วก็เลิก   ผมคิดว่าพฤติกรรมเช่นนี้ก่อผลเสียต่อบ้านเมืองมากกว่าผลดี   เพราะสร้างวัฒนธรรมผิวเผิน ทำงานเอาหน้าเอาผลงาน   ไม่คิดถึงผลกระทบระยะยาวและยั่งยืน   ผมแนะนำมูลนิธิสยามกัมมาจลไม่ให้ตกหลุมดำนี้


          จากผลงาน mapping กลุ่มเยาวชนทำกิจกรรมเรียนรู้ ผมเสนอแนะคุณเปา ผจก. มูลนิธิฯ ว่าน่าจะทำ mapping ลง แผนที่ GPS ให้คนเข้าไปค้นได้ทางอินเทอร์เน็ต โดยคลิกที่แผนที่   เพื่อส่งเสริม networking ระหว่างเยาวชน
 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ ส.ค. ๕๑

 

บรรยากาศในที่ประชุม

 

 

อีกมุมหนึ่งของห้องประชุม

 

หมายเลขบันทึก: 205013เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2008 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท