เมื่อไม่มีคนทำ - ใครจะทำ?


ประสบการณ์จากการแสดงบทบาทวิทยากรให้บุคลากรของศูนย์บำบัดยาเสพติดเชียงใหม่ ทำให้ผมได้เรียนรู้การบริหารจัดการและการจัดการความรู้แก่ตนเองและเพื่อน G2K ครับ

บรรยากาศเปิดใจเริ่มขึ้นและจบลงอย่างมีความสุข

บทสรุปของงานประชุมเพื่อรับทราบบทบาทกิจกรรมบำบัดในการทำงานร่วมกับทีมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดำเนินไปด้วยความราบรื่น ผมใช้เทคนิคการสอนให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาและโจทย์ที่แยกประเด็นชัดเจนในแต่ละกลุ่ม การใช้คลิปวิดีโอให้ผู้ฟังย้อนมองว่านักศึกษากิจกรรมบำบัดเรียนอย่างไร นักกิจกรรมบำบัดทั่วไปทำอะไร บทบาทนักกิจกรรมบำบัดในศูนย์บำบัดยาเสพติดคืออะไร และตัวอย่างโปรแกรมที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศเป็นเช่นไร

ศูนย์บำบัดยาเสพติดเชียงใหม่ เปิดมานานหลายปี มีโปรแกรมที่หลากหลายตามต้นแบบของศูนย์ธัญญรักษ์ แต่ริเริ่มงานกิจกรรมบำบัดได้อย่างน่าชื่นชม อย่างไรก็ตามด้วยวัยวุฒิและประสบการณ์ของการมองภาพรวมของการบริหารงานหน่วยกิจกรรมบำบัดในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาหลายๆด้านเช่นนี้ ย่อมต้องมีการพัฒนาให้เด่นชัดและสร้างบรรยากาศของภาวะผู้นำในหลายๆ ประเด็น คือ

1. ส่งเสริมผู้ติดยาเสพติดให้เรียนรู้

บทบาทและคุณลักษณะที่มีคุณค่าของตนเอง

ผลกระทบของยาเสพติดต่อบทบาทคุณลักษณะที่มีคุณค่าของตนเอง

นิสัยและพฤติกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้

ความสำเร็จในการฝึกทักษะและการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมในชีวิต

2. ทำงานร่วมกับบุคลากรฟื้นฟูสมรรถภาพ

ปรึกษาแพทย์ในการร่วมประเมินผลกระทบยาเสพติดต่อทักษะชีวิต

ปรึกษานักจิตวิทยาคลินิกในการร่วมปรับพฤติกรรมและการจัดการด้านอารมณ์ขณะทำกิจกรรมการรักษา

ปรึกษาพยาบาลในการร่วมให้ความรู้ด้านการจัดการปัญหาสุขภาพในระยะถอนยาเสพติด ระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ และระยะติดตามผลหลังกลับสู่ชุมชน

ปรึกษาเจ้าหน้าที่งานฝึกอาชีพในการร่วมพัฒนาทักษะการทำงานและกิจกรรมยามว่าง

3. กิจกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพน่าสนใจและควรปรับสู่โปรแกรม Self-management ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน  เช่น

สร้างโปรแกรมหลักทางกิจกรรมบำบัด พร้อมใช้แบบประเมินที่ชัดเจน

Cognitive and Psychosocial Program - Cooperative Education (Dynamic and structural station training in group) 

Self-management Program (ปรับจากหัวข้อที่มีอยู่ให้มีลำดับชัดเจน)

Week 1 – สำรวจตนเอง ตั้งเป้าหมายในชีวิต และเพิ่มคุณค่าของตนเอง

Week 2 -  ทักษะการควบคุมตนเองและทักษะการสื่อสารกับผู้อื่น

Week 3 – ทักษะการสำรวจและวางแผนการใช้เวลาและเงิน

Week 4 ทักษะการจัดการความเครียดและแก้ไขปัญหาชีวิต

Week 5 – ทักษะการพัฒนาศักยภาพของตนเอง (เลือกกิจกรรมทำงานอาชีพ)

Week 6 – ทักษะการพัฒนาศักยภาพของตนเอง (เลือกกิจกรรมยามว่าง)

4. บทบาทการประเมินผลด้านกิจกรรมบำบัดต้องสื่อสารกับทีมสหวิชาชีพได้ความชัดเจนและมีการจัดกิจกรรมนันทนาการเพื่อส่งเสริมองค์ประกอบความรู้ความเข้าใจน่าจะปรับเปลี่ยนสู่กิจกรรมการรักษาที่วัดผลได้ใน 2 สัปดาห์ เช่น

Phase I : Counseling and Detoxification

Phase II : Occupational Therapy Program (OT) – knowledge & ability to rebuilding self-esteem in daily livings

Phase III : Psychologist – social & anti-social personalities, personal values; Nurse – feeling of freedom & self-respect education onwards; OT and Social Worker – social skills in family and community participation; Multidisciplinary Team - quality of life and happiness

Phase IV : OT and Social Worker - parenting kids, working problems, other life situations; Multidisciplinary Team – home visit, community with no stigmatization

 

 

 

 

เวลาที่มีคุณค่าในหนึ่งวัน ทุกคนได้ share & learn how to work together well สำหรับผู้ติดยาเสพติด แต่ผมได้เน้นว่า สิ่งที่ทุกคนสร้างสรรค์ความคิดอย่างมีความรู้และคุณธรรมบนกระดานจะมีความหมายมากๆต่อการเป็นศูนย์ต้นแบบของสังคมไทย หากสิ่งต่างๆ ถูกนำมาปฏิบัติและพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ท้ายสุดผมกำลังจะนั่งเครื่องบินจากเชียงใหม่ถึง กทม. หลังจากทีมผู้จัดงานประชุมครั้งนี้เลี้ยงอาหารที่อร่อยมากและดูแลอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง ขอบคุณทุกๆท่านครับ ผมนึกถึงบทสนทนาจากผู้เข้าฟังที่มีทั้งชื่นชมและเสนอแนะ มีท่านหนึ่งที่มีประสบการณ์ทางคลินิกมากคนหนึ่งกล่าวให้ผมนำกลับมาคิดเป็นการบ้านดังนี้

"สิ่งที่อาจารย์นำเสนอวันนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีและมีโปรแกรมที่ผ่านการวิจัยมานาน แต่อาจารย์อาจจะมองเห็นหรืออ่านจากตำราโดยยังไม่มีโอกาสได้เห็นภาพของงานที่ศูนย์บำบัดฯ เชียงใหม่จริงๆ ว่าเราพัฒนาไปมากแล้ว หากอาจารย์ต้องการช่วยงานนี้จริงๆ น่าจะเสียสละบินมาศึกษาดูงานเองจริงๆ เพราะมีเงินเก็บจากเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล จะได้เห็นภาพและช่วยงานศูนย์อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าบรรยายวิชาการ"

ผมฟัง คิด และระงับอารมณ์ โดยไม่ตอบโต้ คิดลึกๆและถามตัวเองในใจว่า คนที่กำลังแนะนำผมอยู่ เขารู้ไหมว่าผมมีบทบาทอะไรหลังจากจบเป็นดอกเตอร์คนที่ 7 ด้านกิจกรรมบำบัดและเป็นคนเดียวที่ผ่านการเรียนเฉพาะทางด้านกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ผมเสียสละกับงานบริการวิชาการในฐานะอาจารย์มหิดลนะ มิใช่ลุยงานด้านยาเสพติดอย่างเดียว ผมมีงานประจำคือประธานและอาจารย์ประจำหลักสูตรกิจกรรมบำบัด งานรองลงมาที่ทำในเชิงพัฒนาความรู้ บริการวิชาการ และเป็นที่ปรึกษางานระบบกิจกรรมบำบัดในด้านอื่นๆ งานรองเหล่านี้ทำไปเพราะอยากให้สังคมไทยรับทราบบทบาทที่หลากหลายของนักกิจกรรมบำบัดและนำมาซึ่งเครือข่ายฝึกปฏิบัติงานและวิชาการแก่อาจารย์และนักศึกษากิจกรรมบำบัด ม.มหิดล

สาเหตุที่ต้องทำหลายสิ่งหลายอย่าง มิใช่เพราะต้องการชื่อเสียง แต่ทำไปเพราะไม่มีใครสามารถเข้าไปช่วยเหลือหรือช่วยสร้างสรรค์ได้ทันตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เช่น งานกิจกรรมบำบัดในการศึกษาของเด็กออทิสติก งานกิจกรรมบำบัดในหน่วยงานจิตเวช งานกิจกรรมบำบัดในศูนย์ฝึกอาชีพ งานกิจกรรมบำบัดในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยอัมพาต งานกิจกรรมบำบัดในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุที่มีปัญหาระบบการทรงตัวและวิงเวียนศรีษะ เป็นต้น

จริงอยู่ที่ผมไม่ถนัดหรือมีประสบการณ์มากนักในด้านผู้ติดยาเสพติด แต่ผมมั่นใจในระบบความคิดและความเข้าใจหลังจากการเรียนเฉพาะทางที่ออสเตรเลียให้สามารถสร้างเหตุผลทางคลินิกกิจกรรมบำบัดในผู้รับบริการทุกช่วงวัย เน้นการพัฒนาศักยภาพด้านจิตสังคมที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพด้านร่างกายในการมีความสุขต่อทักษะชีวิต นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีในที่สุด

ผมย้อนนึกถึงคำกล่าวข้างต้น แล้วถามตัวเองอีกครั้งว่า นักเรียนทุนรัฐบาลไม่ได้มีเงินมากมายพอที่จะบินไปบินมาเพื่อพัฒนาหน่วยงานใดๆ แต่เขาควรใช้ศีล สมาธิ สติ และปัญญา ในการคิดหาวิธีการที่เหมาะสมในการช่วยเหลือสังคมอย่างกว้างขวาง และช่วยเหลืองานประจำอย่างลึกซึ่ง วิธีที่ผมทำอยู่คือ ให้ความรู้เชิงปฏิบัติการให้บุคลากรในหน่วยงานนี้และเป็นที่ปรึกษาในเชิงวิชาการ ก็น่าจะดีที่สุดแล้ว หากต้องการให้ผมบินไปดูงานและปรับปรุงระบบทั้งหมดคงเป็นไปได้ยาก เพราะการพัฒนาหน่วยงานหนึ่งๆ ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ มิใช่ดอกเตอร์หนึ่งคน อาจจะดูผมเป็นดอกเตอร์เด็กและอ่อนหัดในมุมมองของท่านผู้นี้ แต่ผมกำลังเรียนรู้จากความอ่อนหัดและพยายามสร้างทัศนคติที่ดีกับบุคคลท่านนี้โดยไม่ตอบโต้ บุคคลท่านนี้ผมมองว่า มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีแต่การสื่อสารในเชิงจัดการความคิดและการปฏิบัติของผู้อื่น ย่อมเกิดจากการไม่เปิดใจกว้างและไม่คิดทบทวนความรู้สึกที่ว่า "คิดถึงใจเขาใจเรา หากต้องการทำงานร่วมกัน"

การทำงานเป็นทีมไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปหากเรามีการสื่อสารและเปิดใจกว้างให้เรียนรู้บทบาทที่ชัดเจนและบทบาทที่ร่วมกันพัฒนาองค์กร

 

หมายเลขบันทึก: 204297เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2008 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • มาให้กำลังใจ
  • การที่เราลงพื้นที่
  • ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ครับน้อง
  • เคยทำกับทีมทหาร  นอกจากนี้ยังมีทีม กอรม และโรงเรียน
  • ที่นี่ครับ
  • อันนี้น่าสนใจ
  • เอามาฝากครับ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจจากอาจารย์พี่ชายขจิตครับผม

ชอบอ่านบันทึกของอาจารย์..เพราะว่าอาจารย์พยายามให้ความรู้และนำเสนอแนวคิดที่บางทีเราไม่รู้หรือไม่แน่ใจ..ได้รู้เรื่องใหม่ๆ/ทบทวนของเดิมแต่ทำให้ชัดเจนขึ้น..เป็นสิ่งที่ดีมากนะคะ.

.ส่งกำลังใจให้..สู้ๆค่ะ

ที่รพ.ไม่มีนักอาชีวบำบัด...แต่เคยเห็น/รู้จักตอนเด็กๆที่อาศัยอยู่ในรั้วรพ.จิตเวชเห็นการใช้กิจกรรมกลุ่มและการกระตุ้นสมรรถภาพผู้ป่วยทั้งด้านของจิตใจและอาชีวสังคม(ไม่รู้เรียกถูกหรือเปล่า)คนไข้มีความสุขในการเข้าร่วมกิจกรรม...บางคนก็พูดถึงปัญหาของตัวเองกับเจ้าหน้าที่หรือให้ข้อคิดกับเพื่อนคนไข้ด้วยกันเอง..สะท้อนให้เห็นถึงการมีความสนใจและต้องการที่จะหาทางช่วยเหลือตนเองหรือคนใกล้ชิดให้หายจากสภาพความเจ็บป่วย หรืออาจจะอยากออกจากโรงพยาบาลกลับไปสู่บ้าน/ครอบครัวของเขาด้วยความมั่นใจว่าเขาจะไม่ได้ถูกรังเกียจหรือไปทำร้ายคนที่เขารัก...

ในกลุ่มยาเสพติดของที่รพ.บางครั้งเรานำคนไข้ไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ/แนะนำวิทยากรมาฝึกสอนอาชีพเพื่อทั้งเป็นอาชีพเสริมหรืองานอดิเรกซึ่งผู้ป่วยมีความสนใจและตื่นตัวที่จะมาเข้าร่วมอย่างสัปดาห์ที่แล้วสอนทำน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผู้ป่วยก็กระตือรือล้นช่วยกวนหัวสารทำน้ำยาปรับผ้านุ่มหรือ ทำละลายสีและน้ำหอม..มีการคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างกันเองและบางคนก็บอกว่าจะลองเอาไปทำต่อที่บ้านแล้วจะเอาตัวอย่างมาให้ดูในสัปดาห์ถัดไป.

.สิ่งที่เราดีใจไม่ใช่การจะได้น้ำยาฟรีจากผู้ป่วยแต่การได้เห็นสีหน้าหรือการแสดงความมุ่งมั่นของเขา หลายคนบอกว่าเดี๋ยวนี้เขามีทางเลือกอื่นเวลาที่เครียดแทนการออกข้างนอกไปสูบบุหรี่/ดื่มเหล้า..เขาเอางาน/กิจกรรมบำบัดที่เราเคยสอน(เช่นการพับกระดาษ,เขียนบันทึก)มาทดลองใช้..แม้จะไม่มากหรือทุกครั้งแต่สำหรับทีมงานเราฟังแล้วมีความสุขดีค่ะ

ขอบคุณมากครับคุณ seangja สำหรับประสบการณ์ที่น่าสนใจและนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้น่าประทับใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท