การใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์


การใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์

1. บีกเกอร์ (Beaker)

รูปที่ 1. บีกเกอร์ (Beaker) ขนาด100 mL ราคา 100 บาท

มีหลายขนาดและมีความจุต่างกัน โดยที่ข้างบีกเกอร์จะมีตัวเลขระบุความจุของบีกเกอร์ ทำให้ผู้ใช้สามารถทราบปริมาตรของของเหลวที่บรรจุอยู่ได้อย่างคร่าวๆ และบีกเกอร์มีความจุตั้งแต่ 5 มิลลิเมตรจนถึงหลายๆลิตร อีกทั้งเป็นแบบสูง แบบเตี้ย และแบบรูปทรงกรวย (conical beaker) บีกเกอร์จะมีปากงอเหมือนปากนกซึ่งเรียกว่า spout ทำให้การเทของเหลวออกได้โดยสะดวก spout ทำให้สะดวกในการวางไม้แก้วซึ่งยื่นออกมาจากฝาที่ปิดบีกเกอร์ และ spout ยังเป็นทางออกของไอน้ำหรือแก๊สเมื่อทำการระเหยของเหลวในบีกเกอร์ที่ปิดด้วยกระจกนาฬิกา (watch grass) การเลือกขนาดของบีกเกอร์เพื่อใส่ของเหลวนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของเหลวที่จะใส่ โดยปกติให้ระดับของเหลวอยู่ต่ำกว่าปากบีกเกอร์ประมาณ 1 - 1 1/2 นิ้ว

ประโยชน์ของบีกเกอร์

1. ใช้สำหรับต้มสารละลายที่มีปริมาณมากๆ

2. ใช้สำหรับเตรียมสารละลายต่างๆ

3. ใช้สำหรับตกตะกอนและใช้ระเหยของเหลวที่มีฤทธิ์กรดน้อย

หมายเหตุ : ห้ามใช้บีกเกอร์ทุกขนาดทดลองปฏิกิริยาระหว่างสารโดยเด็ดขาด

2. ไพเพท (Pipette)

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดปริมาตรได้อย่างใกล้เคียง มีอยู่หลายชนิด แต่โดยทั่วไปที่มีใช้อยู่ในห้องปฏิบัติการมีอยู่ 2 แบบ คือ Volumetric pipette หรือ Transfer pipette และ Measuring pipette Transfer pipette ซึ่งใช้ในการวัดปริมาตรได้เพียงค่าเดียว คือถ้าหาก Transfer pipette จุ 25 มล. ก็จะวัดปริมาตรของของเหลวได้เฉพาะ 25 มล. เท่านั้น Transfer pipette มีหลายขนาดตั้งแต่ 1 มล. ถึง 100 มล. ถึงแม้ไพเพทชนิดนี้จะใช้วัดปริมาตรได้อย่างใกล้เคียงความจริงก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อผิดพลาดซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของไพเพท เช่น

Transfer pipette ขนาด 10 มล. มีความผิดพลาด 0.2%

Transfer pipette ขนาด 30 มล. มีความผิดพลาด 0.1%

Transfer pipette ขนาด 50 มล. มีความผิดพลาด 0.1%

Transfer pipette ใช้สำหรับส่งผ่านของสารละลาย ที่มีปริมาตรตามขนาดของไพเพท เมื่อปล่อยสารละลายออกจากไพเพทแล้ว ห้ามเป่าสารละลายที่ตกค้างอยู่ที่ปลายของไพเพท แต่ควรแตะปลายไพเพทกับข้างภาชนะเหนือระดับสารละลายภายในภาชนะนั้นประมาณ 30 วินาที เพื่อให้สารละลายที่อยู่ข้างในไพเพทไหลออกมาอีก ไพเพทชนิดนี้ใช้ได้ง่ายและเร็วกว่าบิวเรท

รูปที่ 2. ไพเพท (Pipette)

Measuring pipette หรือ Graduated pipette (บางทีเรียกว่า Mohr pipette) จะมีขีดบอกปริมาตรต่าง ๆ ไว้ ทำให้สามารถใช้ได้อย่างกว้างขวาง คือสามารถใช้แทน Transfer pipette ได้ แต่ใช้วัดปริมาตรได้แน่นอนน้อยกว่า Transfer pipette และมีความผิดพลาดมากกว่า เช่น

Measuring pipette ขนาด 10 มล. มีความผิดพลาด 0.3%

Measuring pipette ขนาด 30 มล. มีความผิดพลาด 0.3%

3. บิวเรท (Burette)

เป็นอุปกรณ์วัดปริมาตรที่มีขีดบอกปริมาตรต่างๆ และมีก็อกสำหรับเปิด-ปิด เพื่อบังคับการไหลของของเหลว บิวเรทเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ มีขนาดตั้งแต่ 10 มล. จนถึง 100 มล. บิวเรทสามารถวัดปริมาตรได้อย่างใกล้เคียงความจริงมากที่สุด แต่ก็ยังมีความผิดพลาดอยู่เล็กน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของบิวเรท เช่น

บิวเรทขนาด 10 มล. มีความผิดพลาด 0.4%

บิวเรทขนาด 25 มล. มีความผิดพลาด 0.24%

บิวเรทขนาด 50 มล. มีความผิดพลาด 0.2%

บิวเรทขนาด 100 มล. มีความผิดพลาด 0.2%

รูปที่ 3. บิวเรท (Burette)

4. หลอดทดสอบ (Test tube)

มีหลายชนิดและหลายขนาด ชนิดที่มีปากและไม่มีปาก ชนิดธรรมดาและชนิดทนไฟ ขนาดของหลอดทดสอบระบุได้ 2 แบบคือ ความยาวกับเส้นผ่าศูนย์กลางริมนอกหรือขนาดความจุเป็นปริมาตร ดังแสดงในตารางต่อไปนี้

 

ความยาว * เส้นผ่าศุนย์กลางริมนอก

(มิลิเมตร) ความจุ

(มิลิเมตร)

75 * 11

100 * 12

120 * 15

120 * 18

150 * 16

150 * 18 4

8

14

18

20

27

รูปที่ 4. หลอดทดสอบ (Test tube)

หลอดทดสอบส่วนมากใช้สำหรับทดลองปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารต่างๆ ที่เป็นสารละลาย ใช้ต้มของเหลวที่มีปริมาตรน้อยๆ โดยมี test tube holder จับกันร้อนมือ

หลอดทดสอบแบบทนไฟจะมีขนาดใหญ่ และหนากว่าหลอดธรรมดา ใช้สำหรับเผาสารต่างๆ ด้วยเปลวไฟโดยตรงในอุณหภูมิที่สูง หลอดชนิดนี้ไม่ควรนำไปใช้สำหรับทดลองปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารเหมือนหลอดธรรมดา

5. กระบอกตวง (Cylinder)

มีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่ 5 มิลลิลิตรจนถึงหลายๆ ลิตร ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับวัดปริมาตรของของเหลวที่มีอุณภูมิไม่สูงกว่าอุณภูมิของห้องปฏิบัติการ กระบอกตวงไม่สามารถใช้วัดของเหลวที่มีอุณภูมิสูงได้เนื่องจากอาจจะทำให้กระบอกตวงแตกได้ กระบอกตวงจะบอกปริมาตรของของเหลวอย่างคร่าว ๆ ถ้าต้องการวัดปริมาตรที่แน่นอนต้องใช้อุปกรณ์วัดปริมาตรอื่นๆ เช่น ไพเพทหรือบิวเรท โดยปกติความผิดพลาดของกระบอกตวงเมื่อมีปริมาตรสูงสุดจะมีประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ กระบอกตวงขนาดเล็กใช้วัดปริมาตรได้ใกล้เคียงความจริงมากกว่ากระบอกตวงขนาดเล็ก

วิธีอ่านปริมาตรของของเหลวในกระบอกตวงนั้นสามารถทำได้โดยการยกกระบอกตวงให้ตั้งตรงและให้ท้องน้ำอยู่ในระดับสายตา และอ่านค่าปริมาตร ณ จุดต่ำสุดของท้องน้ำ

รูปที่ 5. กระบอกตวง (Cylinder)

6. เครื่องชั่งแบบ Tripl-beam balance

เป็นเครื่องชั่งชนิด Mechanical balance อีกชนิดหนึ่งที่มีราคาถูกและใช้ง่าย แต่มีความไวน้อย เครื่องชั่งชนิดนี้มีแขนข้างขวาอยู่ 3 แขนและในแต่ละแขนจะมีขีดบอกน้ำหนักไว้เช่น 0-1.0 กรัม 0-10 กรัม 0-100 กรัม และยังมีตุ้มน้ำหนักสำหรับเลื่อนไปมาได้อีกด้วย แขนทั้ง 3 นี้ติดกับเข็มชี้อันเดียวกัน

วิธีการใช้เครื่องชั่งแบบ (Triple-beam balance)

1. ตั้งเครื่องชั่งให้อยู่ในแนวระนาบ แล้วปรับให้แขนของเครื่องชั่งอยู่ในแนบระนาบโดยหมุนสกรูให้เข็มชี้ตรงขีด 0

2. วางขวดบรรจุสารบนจานเครื่องชั่ง แล้วเลื่อนตุ้มน้ำหนักบนแขนทั้งสามเพื่อปรับให้เข็มชี้ตรงขีด 0 อ่านน้ำหนักบนแขนเครื่องชั่งจะเป็นน้ำหนักของขวดบรรจุสาร

3. ถ้าต้องการชั่งสารตามน้ำหนักที่ต้องการก็บวกน้ำหนักของสารกับน้ำหนักของขวดบรรจุสารที่ได้ในข้อ 2 แล้วเลื่อนตุ้มน้ำหนักบนแขนทั้ง 3 ให้ตรงกับน้ำหนักที่ต้องการ

4. เติมสารที่ต้องการชั่งลงในขวดบรรจุสารจนเข็มชี้ตรงขีด 0 พอดี จะได้น้ำหนักของสารตามต้องการ

5. นำขวดบรรจุสารออกจากจานของเครื่องชั่งแล้วเลื่อนตุ้มน้ำหนักทุกอันให้อยู่ที่ 0 ทำความสะอาดเครื่องชั่งหากมีสารเคมีหกบนจานหรือรอบๆ เครื่องชั่ง

หมายเหตุ การหาน้ำหนักของสารอาจหาน้ำหนักทั้งขวดบรรจุสารและสารรวมกันก่อนก็ได้ แล้วชั่งขวดบรรจุสารอย่างเดียวทีหลัง ต่อจากนั้นก็เอาน้ำหนักทั้ง 2 ครั้งลบกัน ผลที่ได้จะเป็นน้ำหนักของสารที่ต้องการ

รูปที่ 6. เครื่องชั่งแบบ Tripl-beam balance

7. เครื่องชั่งแบบ Equal-arm balance

เป็นเครื่องชั่งที่มีแขน 2 ข้างยาวเท่ากันเมื่อวัดระยะจากจุดหมุนซึ่งเป็นสันมีด ขณะที่แขนของเครื่องชั่งอยู่ในสมดุล เมื่อต้องการหาน้ำหนักของสารหรือวัตถุ ให้วางสารนั้นบนจานด้านหนึ่งของเครื่องชั่ง ตอนนี้แขนของเครื่องชั่งจะไม่อยู่ในภาวะที่สมดุลจึงต้องใส่ตุ้มน้ำหนักเพื่อปรับให้แขนเครื่องชั่งอยู่ในสมดุล

รูปที่ 7. เครื่องชั่งแบบ Equal-arm balance

วิธีการใช้เครื่องชั่งแบบ (Equal-arm balance)

1.จัดให้เครื่องชั่งอยู่ในแนวระดับก่อนโดยการปรับสกรูที่ขาตั้งแล้วหาสเกลศูนย์ของเครื่องชั่ง เมื่อไม่มีวัตถุอยู่บนจาน ปล่อยที่รองจาน แล้วปรับให้เข็มชี้ที่เลข 0 บนสเกลศูนย์

2. วางขวดบรรจุสารบนจานทางด้านซ้ายมือและวางตุ้มน้ำหนักบนจานทางขวามือของเครื่องชั่งโดยใช้คีบคีม

3. ถ้าเข็มชี้มาทางซ้ายของสเกลศูนย์แสดงว่าขวดชั่งสารเบากว่าตุ้มน้ำหนัก ต้องยกปุ่มควบคุมคานขึ้นเพื่อตรึงแขนเครื่องชั่งแล้วเติมตุ้มน้ำหนักอีก

ถ้าเข็มชี้มาทางขวาของสเกลศูนย์แสดงว่าขวดชั่งสารเบากว่าตุ้มน้ำหนัก ต้องยกปุ่มควบคุมคานขึ้นเพื่อตรึงแขนเครื่องชั่งแล้วเอาตุ้มน้ำหนักออก

4. ในกรณีที่ตุ้มน้ำหนักไม่สามารถทำให้แขนทั้ง 2 ข้างอยู่ในระนาบได้ ให้เลื่อนไรเดอร์ไปมาเพื่อปรับให้น้ำหนักทั้งสองข้างให้เท่ากัน

5. บันทึกน้ำหนักทั้งหมดที่ชั่งได้

6. นำสารออกจากขวดใส่สาร แล้วทำการชั่งน้ำหนักของขวดใส่สาร

7. น้ำหนักของสารสามารถหาได้โดยนำน้ำหนักที่ชั่งได้ครั้งแรกลบน้ำหนักที่ชั่งได้ครั้งหลัง

8. หลังจากใช้เครื่องชั่งเสร็จแล้วให้ทำความสะอาดจาน แล้วเอาตุ้มน้ำหนักออกและเลื่อนไรเดอร์ให้อยู่ที่ตำแหน่งศูนย์

8. หลอดหยด (Dropper)

มีลักษณะเป็นหลอดแก้วที่ปลายข้างหนึ่งยาวเรียวเล็ก และปลายอีกข้างหนึ่งมีกระเปาะยางสวมอยู่ หลอดหยดใช้สำหรับดูดรีเอเจนต์จากขวดไปหยดลงในหลอดทดสอบที่มีสารอื่นบรรจุอยู่ เพื่อใช้ในการดูปฏิกิริยาเคมีของรีเอเจนต์นั้นๆ

รูปที่ 8. หลอดหยด (Dropper)

ข้อควรระวังในการใช้หลอดหยด : อย่าให้ปลายของหลอดหยดกระทบหรือแตะกับปากหลอดทดสอบ

9. Clamp

ทำด้วยเหล็กและมีไม้คอร์กหุ้มด้านในที่แตะกับแก้ว มักจะใช้ร่วมกับ Stand โดยมี Clamp holder เป็นตัวเชื่อม Clamp ใช้สำหรับจับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ขวดปริมาตร Clamp ที่ใช้จับบิวเรทเรียกว่า Buret Clamp

รูปที่ 9. Clamp

10. ไม้แก้ว (glass rod)

ใช้สำหรับคนสารละลายให้ผสมกันเป็นเนื้อเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ หรือใช้เมื่อจะเทสารละลายจากภาชนะหนึ่งลงในภาชนะอีกชนิดหนึ่ง โดยจะเทสารละลายให้ไหลไปตามไม้แก้ว ไม้แก้วที่มียางสวมอยู่ปลายข้างหนึ่งเรียกว่า Policeman จะใช้สำหรับปัดตะกอนที่เกาะอยู่ข้างๆ ภาชนะและถูภาชนะให้ปราศจากสารต่างๆ ที่เกาะอยู่ข้างๆ ยางสวมนั้นต้องแน่น

รูปที่ 10. ไม้แก้ว (glass rod)

11. Triangle

มีทั้งที่ทำจากหลอดดินเหนียวสวมคลุมลวดเหล็ก ที่เรียกว่า pipestem clay triangle และที่ทำจากลวด nichrome หรือ chromel สวมคลุมด้วย silliminite หรือ fused silica Triangle ที่ใช้กันมากและมีราคาถูกก็คือ Triangle ที่ทำจากหลอดดินเหนียว แต่ Triangle ที่ทำจากลวดจะมีความทนทานกว่าและมีราคาที่แพงกว่า ส่วนมาก Triangle ใช้สำหรับตังเบ้าเคลือบเมื่อเผาด้วยเปลวไฟจากตะเกียงบุนเซ็น

รูปที่ 11. Triangle

12.ตะแกรงลวด (wire gauze)

มีทั้งที่ทำจากลวดเหล็กและที่ทำด้วยลวด nichrome หรือ chromel ซึ่งไม่เกิดสนิมและใช้ได้ระยะเวลานานกว่า ตะแกรงลวดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสและมีใยหิน (asbestos) คลุมเป็นวงกลมที่ตากึ่งกลางตะแกรง ตะแกรงลวดใช้สำหรับตั้งบีกเกอร์ ขวดปริมาตร และอื่นๆ ที่นำมาต้มสารละลายด้วยเปลวไฟ

รูปที่ 12. ตะแกรงลวด (wire gauze)

13. ขวดชั่ง (weighing bottle)

มีลักษณะเป็นขวดเล็กๆ ก้นแบนและข้างตรงที่ปากและขอบของจุกเป็นแก้วฝ้า ขวดชั่งมีหลายแบบทั้งแบบทรงสูง แบบทรงเตี้ย และแบบทรงกรวย และยังมีหลายขนาดขึ้นอยู่กับปริมาตรหรือความสูงกับเส้นผ่าศูนย์กลางของปาก ขวดชั่งใช้สำหรับใส่สารที่จะนำไปชั่งด้วยเครื่องชั่งแบบวิเคราะห์

รูปที่ 13. ขวดชั่ง (weighing bottle)

14.กระจกนาฬิกา (Watch glass)

มีรูปทรงคล้ายกระจกนาฬิกาเรือนกลม มีหลายขนาดขึ้นอยู่กับความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลาง กระจกนาฬิกาใช้สำหรับปิดบีกเกอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อป้องกันสารอื่นๆ หรือฝุ่นระอองตกลงในสารละลายที่บรรจุอยู่ในบีกเกอร์และใช้ป้องกันสารละลายกระเด็นออกจากบีกเกอร์เมื่อทำการต้มหรือระเหยสารละลาย

รูปที่ 14. กระจกนาฬิกา (Watch glass)

15.กรวยกรอง (Funnel)

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้คู่กับกระดาษกรอง ( Filter Paper) ในการแยกของแข็งออกจากของเหลวและมักจะใช้สำหรับสวมบิวเรทเมื่อจะเทสารละลายลงในบิวเรท กรวยกรองมีมุมเกือบๆ 60 องศา และมีทั้งแบบก้านสั้นและก้านยาว กรวยก้านยาวจะกรองได้เร็วกว่ากรวยก้านสั้น ขนาดของกรวยกรองจะใหญ่หรือว่าเล็กขึ้นอยู่กับความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลาง (วัดขอบนอก)

รูปที่ 15. กรวยกรอง (Funnel)

16.ตะเกียงบุนเซน (Bunsen burner)

เป็นตะเกียงก๊าซที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทั่วไปเมื่อต้องการอุณหภูมิที่สูงพอประมาณ ตะเกียงบุนเซนสามารถปรับปริมาณของอากาศได้แต่ไม่มีที่ปรับปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิง ตะเกียงบุนเซนมีส่วนประกอบดังต่อไปนี้

รูปที่ 16. ตะเกียงบุนเซน (Bunsen burner)

1. ฐานของตะเกียง

2. ท่อตัวตะเกียง

3. ช่องทางเข้าของก๊าซซึ่งเป็นท่อที่ยื่นจากฐานของตะเกียง

4. ช่องปรับปริมาณของอากาศที่โดนท่อตัวตะเกียง

ข้อปฏิบัติในการใช้ตะเกียงบุนเซนมีดังต่อไปนี้

1. สวมปลายสายยางข้างหนึ่งกับท่อโลหะที่ยื่นออกมาจากฐานตะเกียง ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งของสายยางต่อกับท่อก๊าซเชื้อเพลิง

2. ปิดช่องทางเข้าของอากาศที่ฐานของตะเกียงให้สนิท

3. จุดไม้ขีดไฟหรือที่จุดไฟ (lighter) รอไว้ที่หัวตะเกียง แล้วเปิดก๊าซเชื้อเพลิงเข้ามาในตะเกียงจะได้เปลวไฟใหญ่สีเหลือง (luminous flame) หลังจากนั้นค่อยๆ เปิดช่องทางเข้าของอากาศที่ฐานของตะเกียงแล้วปรับให้ได้เปลวไฟไม่มีสี (non-luminous flame) ซึ่งเป็นเปลวไฟที่ให้ความร้อนสูงที่สุด

หมายเหตุ ถ้าเปลวไฟดับหรือมีเหตุการณ์อย่างอื่นเกิดขึ้น ต้องปิดก๊อกก๊าซเชื้อเพลิงทันทีแล้วเริ่มจุดตะเกียงตามขั้นตอน 1 , 2 และ 3 การใช้ตะเกียงบุนเซนไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องใช้เปลวไฟที่ไม่มีสีเสมอ ยกเว้นการทดลองที่ระบุให้ใช้เปลวไฟสีเหลืองเท่านั้น

4. หลังจากใช้ตะเกียงบุนเซนเสร็จแล้วให้ทำการดับตะเกียงโดยการลดปริมาณของก๊าซที่เข้ามาในตะเกียงให้น้อยลงและโดยการปรับก๊อกก๊าซจนกระทั่งเปลวไฟที่หัวตะเกียงเลื่อนมาเกิดที่ฐานตะเกียง แล้วทำการปิดก๊อกก๊าซทันที

ข้อควรระวัง

1. การสวมสายยางกับท่อก๊าซของตะเกียงหรือท่อก๊าซเชื้องเพลิงที่โต๊ะปฏิบัติการต้องสวมให้แน่น หากสายยางหลุดขณะใช้ตะเกียงไฟอาจจะลุกไหม้ได้

2. การจุดไม้ขีดไฟไปรอไว้ที่หัวตะเกียงก่อนที่จะเปิดก๊าซ อย่าใช้วิธีหย่อนไม้ขีดไฟจากระยะสูงเหนือตะเกียง เพราะจะทำให้ก๊าซที่ออกจากตะเกียงติดไฟในระดับสูงซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

3. สีและขนาดของเปลวไฟขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของอากาศกับก๊าซเชื้อเพลิงที่เข้าทางฐานของตะเกียงมีดังต่อไปนี้

3.1 ถ้าปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิงถูกปล่อยให้เข้าตะเกียงมากกว่าปริมาณของอากาศที่เข้ามาในตะเกียง เปลวไฟที่ได้จะเต้นและดับ หรือเปลวไฟที่ได้จะไม่สม่ำเสมอหรือมีช่องว่างระหว่างเปลวไฟกับหัวตะเกียง

3.2 ถ้าปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิงถูกปล่อยให้เข้าตะเกียงน้อยกว่าปริมาณของอากาศที่เข้ามาในตะเกียง เปลวไฟจะเกิดขึ้นที่ช่องทางที่ก๊าซจะเข้ามาในตัวตะเกียงในส่วนของฐานภายในของตะเกียง การที่เปลวไฟเกิดขึ้นภายในตะเกียงนี้เรียกว่าเปลวไฟสะท้อนกลับ (Stock back) ซึ่งถ้าเกิดขึ้นนานๆ จะทำให้ตะเกียงร้อนจัดเป็นเหตุให้โลหะตรงช่องทางเข้าของก๊าซเชื้อเพลิงในตะเกียงหลอมเหลวและทำให้เชื่อมปิดทางเข้าไปในตัวตะเกียงของก๊าซเชื้อเพลิง สายยางอาจละลายและลุกเป็นไฟ และทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)ที่เป็นก๊าซพิษอีกด้วย เมื่อเกิดเปลวไฟสะท้อนกลับ จะต้องทำการปิดก๊อกก๊าซให้เปลวไฟดับทันที

3.3 ถ้าปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิงถูกปล่อยให้เข้าตะเกียงมากกว่าปริมาณของอากาศที่เข้ามาในตะเกียงโดยไม่ได้เปิดช่องทางให้อากาศเข้ามาในตะเกียงหรือเปิดเพียงเล็กน้อย จะได้เปลวไฟสีเหลืองซึ่งเป็นเปลวไฟที่ไม่เหมาะที่จะใช้ในการทดลองเพราะอุณหภูมิของเปลวไฟไม่สูงพอทำให้มีเขม่าจับอุกรณ์ที่ใช้ทดลอง และทำให้ตะแกรงลวดผุเร็วกว่าปกติ เนื่องจากคาร์บอนในเปลวไฟทำปฏิกิริยากับเหล็กทำให้เกิดสารประกอบพวกคาร์ไบด์

3.4 ถ้าปริมาณของก๊าซเชื้อเพลิงถูกปล่อยให้เข้าตะเกียงมีอัตราส่วนเหมาะสมกับปริมาณของอากาศที่เข้ามาในตะเกียง เปลวไฟที่ได้จะไม่มีสีและมีอุณหภูมิที่สูง

17. Stand & Iron Ring

เป็นอุปกรณ์สำหรับติดตั้ง Clamp โดยมี Clamp Holder เป็นตัวเชื่อมและติดตั้ง Buret Clamp ส่วน Iron Ring ซึ่งติดกับ stand ใช้สำหรับวางหรือตั้งขวดปริมาตรโดยมีตะแกรงลวดรองรับ

รูปที่ 17. Stand & Iron Ring

18. Test Tube Rack

ใช้สำหรับตั้งหลอดทดสอบ มีทั้งทำด้วยไม้และโลหะ Funnel Support ใช้สำหรับตั้งกรวยกรองเมื่อทำการกรองสารละลาย

รูปที่ 18. Test Tube Rack

19. คีม (Tong)

มีอยู่หลายชนิด คีมที่ใช้กับขวดปริมาตรเรียกว่า flask tong คีมที่ใช้กับบีกเกอร์เรียกว่า beaker tong และคีมที่ใช้กับเบ้าเคลือบเรียกว่า crucible tong ซึ่งทำด้วยนิเกิ้ลหรือโลหะเจือเหล็กที่ไม่เป็นสนิม แต่อย่านำ crucible tong ไปใช้จับบีกเกอร์หรือขวดปริมาตรเพราะจะทำให้ลื่นตกแตกได้

รูปที่ 19. คีม (Tong)

20.เบ้าเคลือบ (Porcelein Crusible and Lid)

มีอยู่ 2 ขนาด คือแบบทรงเตี้ยและแบบทรงสูง และมีขนาดต่างๆ กันขึ้นอยู่กับความจุ เบ้ามักจะเคลือบทั้งข้างนอกและข้างใน ยกเว้นที่ก้นด้านนอก โดยทั่วไปใช้ในการเผาสารต่างๆ ที่อุณภูมิสูงและมักจะใช้ในการเผาตะกอน เนื่องจากเบ้าเคลือบสามารถถูกเผาในอุณภูมิสูงได้ (ประมาณ 1,200 องศาเซลเซียส) ถึงแม้เบ้าเคลือบจะถูกเผาในอุณภูมิที่สูง แต่น้ำหนักของเบ้าเคลือบก็ไม่เปลี่ยนแปลง

รูปที่ 20.เบ้าเคลือบ (Porcelein Crusible and Lid)

21.ชามระเหย (Evaporatinh Dish)

มีขนาดต่างๆ กับขึ้นอยู่กับความจุหรือความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลาง ชามระเหยส่วนมากเคลือบทั้งด้านในและด้านนอก แต่บางทีเคลือบเฉพาะด้านในด้านเดียวเพื่อทำให้ราคาถูกลง ชามระเหยส่วนมากใช้สำหรับระเหยของเหลวจนแห้ง และเผา ณ อุณภูมิที่สูงกว่า 100 องศาเซลเซียส

รูปที่ 21. ชามระเหย (Evaporatinh Dish)

22.สามขา (Tripod)

ทำด้วยเหล็ก และความสูงของสามขาที่ใช้ขึ้นอยู่กับความสูงของตะเกียงบุนเซ็น สามขาใช้สำหรับตั้งบีกเกอร์หรือขวดปริมาตรเมื่อต้มสารละลายที่บรรจุอยู่โดยมีตะแกรงรองรับ หรือตั้งเบ้าเคลือบเมื่อเผาด้วยเปลวไฟโดยวางบน Triangle

รุปที่ 22.สามขา (Tripod)

23.แปรง (Brush)

ใช้สำหรับทำความสะอาดอุปกรณ์ชนิดต่างๆ แปรงล้างเครื่องแก้วมีหลายขนาดและมีหลายชนิด ควรจะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของเครื่องแก้วนั้นๆ เช่น Test Tube Brush ใช้สำหรับทำความสะอาดหลอดทดสอบ Flask Brush ใช้สำหรับทำความสะอาดขวดปริมาตร และ Buret Brush ที่มีลักษณะเป็นแปรงก้านยาวใช้สำหรับทำความสะอาดบิวเรท การใช้แปรงล้างเครื่องแก้วต้องระมัดระวังให้มาก อย่าถูแรงเกินไป เนื่องจากก้านแปรงเป็นโลหะเมื่อไปกระทบกับแก้วอาจทำให้แตกและเกิดอันตรายได้

รูปที่ 23. แปรง (Brush)

คำสำคัญ (Tags): #วิทยาศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 203837เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2008 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

ไม่ค่อยละเอียดเท่าไรนะครับ

ขออนุญาตินำข้อมูลบางส่วนลงเว็บไซต์ http://www.vittayapun.com นะครับ จะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ

ยังไม่ชัดเจนและยังไม่ละเอียดค่ะ

ไม่ค่อยชัดเจนไม่มีรูปประกอบจะทำไงดีช่วยเอาภาพลงด้วยนะงะ

น่าจะมีวิธีใช้บอกด้วย

น่าจะมากกว่าน้นะค่ะ

ชอบมากเลยค่ะ

ได้รู้เรื่องต่างๆเกี่ยวกับวิทยศาสตร์

ขอบคุณค่ะ จะเอาไปมำรายงาน

อยากให้มีเยอะๆกว่านี้จัง

ขอคุณคะ ที่ให้ความรู้

BuT...

ขอแนะนำให้มีรูปภาพ คะ

อิอิ จะเอาไปทำรายงานพอดี แต่อยากได้รูปภาพงะ

ยิ่งดู ยิ่ง "งง"

้ิพาะดน้่ะพด้พดเ้


เด้เด้เด

ทำไมไม่มีรูปว่ะ

 

ความรู้เยอะดีจ๊ะ

ส่งรอบที่2แล้วคะอดส่งไม่ได้

ขอเนื้อหาให้เยอะกว่านี้หน่อยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท