การเสริมพลังอำนาจกลุ่มสตรี: บทเรียนจากการสนทนากลุ่มสตรี ตำบลคลองใหม่


สตรีเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของครอบครัวและชุมชน

การเสริมพลังอำนาจกลุ่มสตรี: บทเรียนจากการสนทนากลุ่มสตรี  ตำบลคลองใหม่

 

อ. ดร. อาภา  ยังประดิษฐ, รศ. ดร. ชื่นชม เจริญยุทธ,

รศ. ปรางค์ทิพย์  อุจะรัตน, ผศ. ทิพา ต่อสกุลแก้ว และ อ. ยุพา  จิ๋วพัฒนกุล

 บทนำ    การจัดสนทนากลุ่มสตรี เมื่อวันที่ 24  ตุลาคม 2548  ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล  ตำบลคลองใหม่   เป็นการสนทนาอย่างเป็นทางการครั้งแรกของกลุ่มสตรี  ตามโครงการเครือข่ายการวิจัยบูรณาการเพื่อการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มสตรี  และเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการดำเนินงานของกลุ่ม  ภาวะสุขภาพตลอดจนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของสตรีและประชาชน  ในตำบลคลองใหม่   นอกจากนี้ยังต้องการกระตุ้นให้กลุ่มสตรีมีผลผลิตหรือกิจกรรมไปแสดงในงานมหกรรมสุขภาพ ที่จะจัดขึ้นประมาณต้นปี พ.ศ.  2549  บทความต่อไปนี้เป็นการถอดบทเรียนการสนทนาดังกล่าว  เพื่อใช้เป็นประโยชน์ต่อการจัดกิจกรรมเสริมพลังอำนาจครั้งต่อไป

ข้อมูลทั่วไป  สมาชิกของกลุ่มสตรีที่เข้าร่วมสนทนามีจำนวน 26  คน   จำแนกเป็นหมู่ 1 จำนวน  1 คน หมู่ 2  จำนวน 4  คน  หมู่ 3  จำนวน 4 คน  หมู่ 4   จำนวน  2 คน  หมู่ 5  จำนวน 4 คนและหมู่ 6  จำนวน  11 คน  มีอายุ ระหว่าง 17-54 ปี   การรับรู้ว่าภาวะสุขภาพของตนเองอยู่ในระดับดี  38.46%  ค่อนข้างดี 15.38%  ปานกลาง 42.31% และ ไม่ดี  3.85%  ปัญหาสุขภาพที่พบ เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ปวดข้อ เหนื่อยหอบ ภูมิแพ้ ปวดหลัง กระดูกพรุน ความดันโลหิตต่ำ และกระเพาะอาหารอักเสบ สิ่งที่สมาชิกต้องการมากที่สุดคือ  ต้องการให้ตนและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรง  72.41%  ไม่จน มีงานทำ 17.24%  เรียนจบปริญญาโทและเอก 6.90%  และหายเจ็บเข่า 1 คน 3.45%  สิ่งที่สมาชิกคาดหวังหรือต้องการจากมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น  เกือบทั้งหมด (92.31%) ต้องการให้นักวิจัยมาพัฒนาสุขภาพและชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวคลองใหม่  มีเพียง 7.69%  ที่ตอบว่า ไม่คาดหวัง  

กระบวนการและสาระจากการสนทนา    ขั้นตอนแรก  ให้สมาชิกลงทะเบียนแล้วกรอกแบบสอบถาม จำนวน 1 หน้า  (ดังแนบ) วัตถุประสงค์นอกจากเพื่อรวบรวมข้อมูลทั่วไป  ข้อมูลสุขภาพและความคาดหวังต่อทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลแล้วยังเพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะอีกด้วย  (ข้อมูลเหล่านี้ส่วนหนึ่งนำมาใช้ประกอบการสนทนากลุ่ม)    เมื่อสมาชิกพร้อมแล้ว  จัดให้นั่งเก้าอี้เป็นวงกลม  เพื่อให้สามารถมองเห็นกันได้อย่างทั่วถึง   สมาชิกทุกคนรวมทั้งนักวิจัยจะติดป้ายชื่อ  ซึ่งอาจเป็นชื่อจริงหรือชื่อเล่นก็ได้  เพื่อให้เรียกชื่อกันได้อย่างถูกต้อง และเกิดความใกล้ชิด  ทีมนักวิจัยแบ่งหน้าที่ระหว่างดำเนินการสนทนา  โดยเป็นวิทยากรกระบวนการ 1  คน  เป็นผู้ช่วยวิทยากรกระบวนการ 2  คน เพื่อเขียนสาระที่ได้จากสมาชิกบนกระดานและช่วยวิทยากรกระบวนการเก็บประเด็นต่างๆ  ขณะดำเนินการสนทนา   และเป็นผู้สังเกตการณ์ 2  คน     การกระบวนการดำเนินงาน มีดังนี้

1  กระชับสัมพันธภาพและบอกวัตถุประสงค์ของการสนทนา      วิทยากรกระบวนการดำเนินการสร้างสัมพันธภาพและให้ความเป็นกันเอง   โดยเริ่มจากแนะนำทีมนักวิจัย    หลังจากนั้นให้สมาชิกทุกคนแนะนำตนเอง   แล้วแจ้งวัตถุประสงค์ของการสนทนาครั้งนี้  ซึ่งได้แก่ ต้องการมาพบปะพูดคุยกับกลุ่มสตรีอย่างเป็นทางการและทำความรู้จักกลุ่มสตรีให้มากขึ้นรวมทั้งเพื่อปรึกษาหารือว่า  ประมาณเดือน มกราคม 2549  ทางโครงการจะจัดให้มีงานมหกรรม   กลุ่มสตรีจะนำสิ่งใดไปแสดงความเข้มแข็งของกลุ่ม    บทเรียนที่ได้พบว่า  ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากแบบสอบถามช่วยวิทยากรกระบวนการในการสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง   และการตอบแบบสอบถามช่วยเตรียมสมาชิกกลุ่มสตรีให้มีความพร้อมในการสนทนา

  2  ค้นหาที่มาที่ไปและวิธีการทำงานของกลุ่ม      เริ่มเปิดประเด็นจากสอบถามโครงสร้างของกลุ่มสตรี ตลอดจนลักษณะการทำงานหรือวิธีการคิดและตัดสินใจของกลุ่ม   

โครงสร้างของกลุ่มสตรี   ระดับหมู่บ้าน  แต่ละหมู่มีสมาชิกประมาณ 10 – 20 คน  และมีประธาน  รองประธาน  เลขานุการ  รองเลขานุการ ประชาสัมพันธ์และผู้ช่วยประชาสัมพันธ์    ระดับตำบล  มีตำแหน่งต่างๆ เหมือนระดับหมู่บ้าน   ซึ่งจะคัดเลือกมาจากหมู่บ้านต่างๆ  เพื่อทำหน้าที่ระดับตำบล   กิจกรรมที่กลุ่มสตรีได้ดำเนินการไปแล้ว มีสองลักษณะคือ การมีผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์จากผ้าใยบัว  ซึ่งได้รับอนุมัติเป็นสินค้า OTOP แล้ว  และดอกไม้จันทร์     ในส่วนของการผลิตสินค้า   เริ่มจาก พัฒนากรจะให้คำแนะนำและสอนให้กลุ่มสตรีสามารถทำผลิตภัณฑ์  แล้วกลุ่มสตรีจะฝึกฝน  พัฒนาความสามารถเพิ่มขึ้น ใครสมัครใจจะทำต้องลงทุน 100 บาท    สำหรับเวลาการทำงานนั้น  ส่วนใหญ่จะเป็นเวลาหัวค่ำ  หลังจากเสร็จภารกิจ   โดยทางอบต. ช่วยจัดหาสถานที่เก็บผลิตภัณฑ์  การแบ่งผลประโยชน์ ได้ประมาณ ร้อยละ 5 -10    เงินทุนมาจากการขายหุ้น  สิ้นปีจะแบ่งให้ผู้ถือหุ้น ร้อยละ 40   ขณะนี้มี 130  หุ้น  

อีกลักษณะคือการมีกิจกรรมในวันสำคัญๆ  ต่างๆ   ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการส่วนใหญ่นั้น  สมาชิกกลุ่มสตรีไม่ได้ริเริ่มขึ้นแต่เป็นกิจกรรมที่ริเริ่มจากหน่วยงานของรัฐ  หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ แนะนำหรือกำหนดให้      เช่น วันเด็กและวันสงกรานต์มีการเลี้ยงอาหาร    และวันสิ่งแวดล้อม มีการตัดหญ้า เก็บขยะและกวาดถนน

ในขั้นตอนนี้  บทเรียนที่ได้พบว่า  การรวมตัวของกลุ่มสตรีมีลักษณะหลวมๆ   แม้ว่ากลุ่มสตรีทั้งระดับตำบลและหมู่บ้านจะมีโครงสร้างของกลุ่มอย่างชัดเจน   แต่การดำเนินงานยังไม่เป็นทิศทางเดียวกัน  ไม่มีแผนการทำงานที่ชัดเจน  กิจกรรมที่มีส่วนใหญ่แล้วแต่ทางการจะร้องขอหรือสั่งการ  สิ่งที่กลุ่มสตรีภูมิใจที่สุดคือ การที่ดอกไม้ประดิษฐ์จากผ้าใยบัวได้รับการรับรองให้เป็นสินค้าOTOP    นอกจากนี้ยังสังเกตเห็นว่า  การสื่อสารระหว่างสมาชิกของหมู่บ้านต่างๆ  ยังไม่ดีพอ  กล่าวคือ บางกิจกรรมที่ดำเนินไปนั้นสมาชิกบางหมู่บ้านยังไม่ทราบ  และบ่อยครั้งที่ต้องใช้งบประมาณส่วนตัวของประธานกลุ่ม         

 3  มองอนาคตของกลุ่มสตรี     ประธานกลุ่มสตรีตำบลคลองใหม่  ซึ่งเป็นประธานกลุ่มสตรีหมู่ 2   กล่าวว่าโครงการในอนาคตคือ ส่งกลุ่มสตรีให้ได้รับการอบรมตามระเบียบที่กำหนด  นอกจากนั้นยังมีโครงการทำบายศรี  ปลอกหมอนและหรีดผ้า    เมื่อถามว่านอกจากโครงการที่เสนอแล้ว  ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพกลุ่มสตรีต้องการทำอะไรบ้าง   วิทยากรกระบวนการได้ถามสมาชิกเวียนไปที่ละคน  สรุปได้ว่าสมาชิกต้องการออกกำลังกาย   ต้องการเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องการตรวจสุขภาพเช่นวัดความดันโลหิต  ตรวจและดูแลสุขภาพเบื้องต้น  ตรวจเต้านมด้วยตนเอง  การใช้ยาทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน ความรู้เรื่องกระดูกและข้อ  การทำอาหารและขนม และทำบายศรี   เนื่องจากสิ่งที่กลุ่มสตรีสนใจมีมาก  จึงได้แจกบัตรคำให้สมาชิกเขียนสิ่งที่อยากทำมากที่สุด เพียง 1 อย่าง   ผลปรากฏว่าสิ่งที่สมาชิกอยากทำมากที่สุดคือ ออกกำลังกาย รองลงมาคือการตรวจสุขภาพ (วัดความดันโลหิต  ตรวจโรคเบื้องต้น  การใช้ยาและตรวจเต้านมด้วยตนเอง)  และทำบายศรี    ในส่วนของการออกกำลังกายนั้น  มีผู้เสนอมากที่สุดคือ แอโรบิค  และโยคะ    และมีนักวิจัยท่านหนึ่งเสนอว่ารำดอกบัว เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงอายุ และผู้ที่ปวดเข่า    จึงได้นัดหมายว่า ในวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน จะมีการออกกำลังกายทั้งสามประเภทเพื่อ ให้กลุ่มสตรีพิจารณาว่าจะเลือกออกกำลังกายแบบใดบ้าง  

 

บทเรียนที่ได้พบว่า   กลุ่มสตรีให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมาก   และอยากมีกิจกรรมด้านสุขภาพหลายกิจกรรม  แต่ยังขาดการกระตุ้น  การริเริ่ม  และความรู้ ทักษะต่างๆ   และยังพบว่า  สมาชิกในกลุ่มที่มีศักยภาพมีจำนวนมาก เช่น มีผู้ที่สามารถนำเต้นแอโรบิค  โยคะ  ร้องเพลง  แต่งกลอน  นักเขียน  ทำบายศรี  ถักปลอกหมอน  สานตะกร้าด้วยทางมะพร้าว  ทำอาหาร  นอกจากนั้นยังมีสมาชิกจำนวนมากที่มีจิตสาธารณะ  ที่พร้อมจะทำงานเพื่อชุมชนของตน    

เมื่อการสนทนาเสร็จสิ้นลง  ก่อนรับประทานอาหารกลางวัน  วิทยากรกระบวนการได้ขอให้สมาชิกแสดงความสามารถพิเศษ    โดยมีสมาชิกคนหนึ่งได้อ่านกลอนที่แต่งขึ้นเองให้สมาชิกคนอื่นๆฟัง   มีสมาชิก 2 คนร้องเพลงให้กลุ่มสมาชิกฟัง  ซึ่งนักวิจัยในทีมได้ร่วมร้องเพลงด้วย   กิจกรรมนี้ช่วยผ่อนคลายบรรยากาศให้หายตึงเครียด    หลังจากนั้นสมาชิกกลุ่มสตรีและนักวิจัยจึงรับประทานอาหารร่วมกัน

บทเรียนอื่นๆ ที่ได้จากการสนทนากลุ่ม  

1   สมาชิกในกลุ่มสนทนาควรมีตัวแทนจากหมู่ต่างๆ  ครบทุกหมู่   เพื่อไม่ให้เกิดการเหลื่อมล้ำหรือความขัดแย้ง  เพื่อให้กลุ่มมีความหลากหลายในการแสดงความคิดเห็นและที่สำคัญเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง   อีกทั้งวิทยากรกระบวนการควรให้ความสำคัญต่อสมาชิกทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน 

2   ผู้เข้าร่วมสนทนา มีจำนวนมากเกินไป   ทำให้วิทยากรกระบวนการควบคุมสถานการณ์ได้ไม่ดี  บางคนคุยกันเอง  บางคนพูดแล้ว วิทยากรกระบวนการไม่ได้ยิน  การสนทนาครั้งนี้สมาชิกกลุ่มสตรีมีจำนวน 26 คน    ทั้งนี้เนื่องจากการประสานงานครั้งแรก  กลุ่มสตรีส่งรายชื่อสมาชิกของหมู่บ้าน เพียง 2 หมู่บ้าน  จำนวน ประมาณ 15 คน  แต่วิทยากรกระบวนการเห็นว่าการสนทนาเช่นนี้ควรมีผู้แทนมาจากหมู่บ้านต่างๆ  ให้ครบ  เพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียงหรือความขัดแย้งในภายหลัง  จึงขอรายชื่อผู้แทนจากหมู่บ้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก หมู่บ้านละ 1 – 2 คน  แต่เวลาจัดสนทนาจริงมีผู้มาร่วมสนทนามากเกินความคาดหมาย   ในการสนทนาครั้งต่อไปควรวางแผนการจัดคนเข้าร่วมสนทนาให้เหมาะสม

3   บรรยากาศการสนทนากลุ่มควรมีลักษณะผ่อนคลาย  ไม่เร่งรัด หรือรีบร้อน   เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ เป็นวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย   ประกอบกับความจำกัดด้านการรับรู้      วิทยากรกระบวนการควรใช้ภาษาที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย  และไม่พูดยาวจนเกินไป    นอกจากนั้นการสนทนาหรือการปรึกษาหารือกับชาวบ้านนั้น  นักวิจัยควรตั้งเป้าหมายไว้หลวมๆ พยายามทำความเข้าใจและดำเนินการไปตามธรรมชาติของกลุ่ม  โดยให้ความสำคัญกับกลุ่ม  ไม่พยายามเป็นผู้ควบคุม (dominator)  เหมือนการจัดกิจกรรมในกลุ่มนักวิชาการด้วยกัน ซึ่งมักไม่ได้ต้องการการเสริมพลังอำนาจ  แต่มักต้องการให้งานสำเร็จตามเป้าหมายเท่านั้น

บทสรุป  การสนทนากลุ่มครั้งนี้บรรลุตามวัตถุประสงค์บางประการในด้านของการสร้างเสริมพลังอำนาจ   กลุ่มสตรีได้มีโอกาสแสดงศักยภาพและความต้องการของกลุ่ม   กลุ่มนักวิจัยมีบทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือประคับประคอง (facilitator)  เพื่อช่วยให้กลุ่มสตรีสามารถจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพด้วยตนเองได้    และสามารถแสดงผลงานของกลุ่มในงานมหกรรมสุขภาพที่จะจัดขึ้นในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า   การสนทนากลุ่มครั้งต่อไปจะดำเนินการภายหลังที่สมาชิกกลุ่มสตรีได้ร่วมกันออกกำลังกายแบบรำดอกบัว  เต้นแอโรบิคและโยคะแล้ว   โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการออกกำลังกายขึ้นในกลุ่มสตรี  ทั้งนี้จะต้องนำบทเรียนของการจัดสนทนากลุ่มในครั้งนี้ไปปรับปรุงการดำเนินการสนทนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 203825เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2008 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เจอพลังสตรีแบบนี้น่าชื่นชมมากๆๆครับ
  • รออ่านกิจกรรมอีกครับผม
  • ดีใจๆๆๆ
  • แหววเข้ามารายงานตัวและก็มาเยี่ยมเยียนหาประสบการณ์ค่ะ อาจารย์ถอดบทเรียนละเอียดยิบดีจังค่ะ... ขอร่วมเป็นเครือข่ายด้วยคนนะคะ
  • แหววเป็นลูกศิษย์อาจารย์หลักสูตรเวชปฏิบัติ (กลุ่มอยุธยาค่ะ) จะบอกว่าเรียนกับอาจารย์สนุกดีด้วยค่ะ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท