การเสียสละเล็กๆ น้อยๆ


อ่านบันทึก “ ถูกต้อง ของคุณ Logos แล้วเห็นด้วยกับประโยคในความเห็นที่ว่า เสียสละไม่เสียหน้าหรอกครับ

อ่านแล้วก็ทำให้นึกถึง “อารมณ์ของตัวเอง” ช่วงขณะหนึ่งของเมื่อวานนี้

เป็นเรื่องสั้นๆ ที่เกิดขึ้นขณะเดินไปธนาคารที่อยู่ในโรงพยาบาล

ฉากหลังเป็น บริเวณหน้าอาคาร ที่เป็นที่จอดรถของอาจารย์แพทย์อาวุโส มีมีนักศึกษาแพทย์วัยฉกรรจ์ จับกลุ่มคุยกัน 5-6 คน มีผู้คนในชุดปฏิบัติการพยาบาลบ้าง พนักงานบ้าง เดินกันไปมาเพื่อผ่านออกประตูโรงพยาบาลด้านธนาคาร

มีผู้ชายคนหนึ่ง กำลังยักแย่ยักยันเข็นรถยนต์สีแดงคันโต แต่ดันอย่างไงรถก็ไม่เคลื่อน
…………..

ก็เดินไปและเห็นฉากนั้นในระยะไกล
เมื่อเดินเข้าไปใกล้ อภิโธ่ คนแก่ที่เห็นคืออาจารย์แพทย์อาวุโส อายุประมาณ 70 ปี กำลังพยายามดันรถเพื่อเปิดทางให้รถตัวเองขยับออกจากที่จอดได้
…ไม่มีใครสนใจมาช่วย …และก็ดูเหมือนว่าอาจารย์ท่านก็ไม่ได้คิดจะขอความช่วยเหลือจากใคร

……เห็นแล้วก็เลยเข้าไปช่วยเข็น …ในชุดพยาบาลนั่นแหล่ะค่ะ….แล้วก็พบว่าอาจารย์ท่านรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างมาก…

วูบหนึ่งของความคิด และอยากบันทึกไว้ คือ คำถามที่เกิดขึ้นขณะนั้นและภายหลังจากนั้น
เป็นคำถามตัวเอง ว่า
1 ที่ไปช่วยเพราะเคยรู้จักไหม….คำตอบคือ ไม่ใช่ ไม่เคยรู้จักหรือรับการรักษาหรือเรียนกับท่าน ..แต่คิดว่าทำเพราะท่านในขณะนั้นคือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
2 ไม่อายหรือที่แต่งชุดพยาบาลไปเข็นรถ…คำตอบคือ ไม่…ชุดพยาบาลจะศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร ถ้าตัวเองเพิกเฉยให้กับคนที่ต้องการการช่วยเหลือ
3 ทำไมไม่ไปเรียกนักศึกษาแพทย์เหล่านั้นมาช่วย….คำตอบคือ…คิดว่าเป็นขั้นต่อไป ถ้าหากว่าลองเข็นสองคนแล้วยังไม่ได้ ก็คงจะเดินไปขอความช่วยเหลือ (แม้จะแปลกใจนิดๆ ว่าทำไมนักศึกษาถึงทำเป็นไม่เห็น)
4 แล้วคิดถึงอนาคตตัวเองที่แก่กว่านี้และต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ไหม….คำตอบคือคิดอยู่บ้าง…สังคมไทยจะมีคนสูงอายุมากขึ้น และต่างคนต่างอยู่มากขึ้น ความเกื้อกูลหายไป ผู้คนให้ความเคารพในเปลือก (ชุด)ที่สวมมากขึ้น …เหมือนกรณีอาจารย์อาวุโสท่านนี้….นึกถึงว่าถ้าเป็นยามที่ท่านยังคงดำรงตำแหน่งบางอย่างอยู่ คงมีผู้คนแห่ล้อมและกุลีกุจอช่วยท่านแน่ๆ…และก็คิดว่าท่านก็คงเข้าใจโลกขณะนี้ถึงได้พยายามช่วยตัวเอง
….
อารมณ์เกิดแล้วก็ดับไป…กิจเล็กน้อยที่ทำก็ผ่านไปแล้ว …คนสองคนที่ไม่รู้จักกันได้เกื้อกูลกันในระยะสั้น คนหนึ่งได้ขับรถออก อีกคนหนึ่งก็ได้ความปลื้มที่สามารถช่วยได้


เสียสละไม่ได้ทำให้เสียหน้าหรือได้หน้าอะไร…แต่ได้ทำเวลาสั้นๆให้มีค่าขึ้นมาบ้าง อย่างนี้แหล่ะค่ะ

หมายเลขบันทึก: 203717เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2008 06:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

 ดัน  ดื้อ  ดึง  เป็นภาษากายผสมภาษาจิตใจ

แก่เมื่อไหร่ ดันไม่ไหวก็บอกนะ

อาจจะมีพยาบาลรุ่นหลังสืบทอดเจตนารมณ์ดีได้บ้าง

ถ้ายกเอากรณีนี้ไปสอน ไปบอกเหล่า ในหมู่นักสึกษา สึกกร่อน..

ที่ชอบเลือกปฎิบัติ  มิติในสังคมบกพร่อง สังคมผิดปกติ

หรือบางทีอาจจะหลงลืมไปบ้าง ก็อาจเป็นได้

ดังนั้นครูต้องเป็นตัวอย่าง

ครูควรหาบทเรียนสดๆมาเล่า ครูเขียนบันทึกบ่อยๆ อิอิ

  

  • ดีใจแทนอาจารย์อาวุโสค่ะ อาจารย์สร้อย
  • เพราะไม่รู้จักนักศึกษากลุ่มนั้นจึงไม่ช่วยเหลือถือเป็นข้ออ้างของการไม่มีน้ำใจมากกว่านะคะ
  • เจอบ่อยค่ะ เวลารอลิฟท์ จะมีนักศึกษาบางคนมาแทรกแถวที่เขายืนรอกันอยู่หน้าตาเฉย
  • สังคมปัจจุบันต่างคนต่างอยู่มากเกินไปหรือเปล่าคะ
  • ธุ อาจารย์สร้อยค่ะ..

น้ำเอย  น้ำใจ..นั้นหายากยิ่งในสังคมเมือง   หรือแม้กระทั่งสังคมปัจจุบันนี้ (ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบท)   สิ่งที่หายไปคือสังคมแห่งการถ้อยทีถ้อยอาศัยและช่วยเหลือเกื้อกูล

เด็กๆ นักศึกษากลุ่มนั้น..เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น   ต้อมถือว่านี่คือตัวตนของเขา   นั่นคือ "แล้งน้ำใจ"  

 

สวัสดีครับ อาจารย์

       อาจารย์มีจิตเป็นกุศลตั้งแต่ขณะที่คิดเข้าไปช่วยแล้ว ส่วนท่านอาจารย์แพทย์อาวุโสท่านนั้นย่อมรู้สึกได้ในความเอื้อเฟื้ออารี

       มองไปที่นักศึกษาแพทย์กลุ่มนั้น ไม่ขอตัดสินเขา แต่เชื่อว่า หากเขาได้เห็นอาจารย์เข้าไปช่วยเข็นรถ แม้จะเพียงแว่บเดียว แต่มโนธรรมสำนึกที่อยู่ในใจ ย่อมจะทำให้เขารู้สึกบางอย่างได้ แม่จะไม่รู้ตัวก็ตาม

       และก็หวังว่าในครั้งต่อๆ ไป "ตัวอย่างที่ดี" นี้ อาจจะทำให้บางคนในกลุ่มนั้น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และกล้าตัดสินใจทำอะไรบางอย่างให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นมากขึ้น ในเหตุการณ์อื่นๆ ทำนองเดียวกัน

      ผมชอบใจคำกล่าวของอาจารยเหลือเกินที่ว่า

      ชุดพยาบาลจะศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร ถ้าตัวเองเพิกเฉยให้กับคนที่ต้องการการช่วยเหลือ

      เพราะสามารถนำไปปรับใช้ได้กับแทบทุกบริบท....

      ชุดตำรวจจะศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร ถ้าเพิกเฉยกับการกระทำผิดกฎหมายต่อหน้าต่อตา

       ฯลฯ

       จริงๆ แล้ว แม้แต่ไม่ได้สวมชุดเครื่องแบบใดๆ อย่างเป็นทางการ ผมก็ยังคิดว่า หากคนๆ หนึ่งเชื่อมั่นและศรัทธาในหน้าที่การงานที่เขาทำอยู่ เขาก็ย่อมจะไม่เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เขาสามารถเข้าไปจัดการให้มันดีขึ้นได้ด้วยความรู้และประสบการณ์ที่เขามี ใช่ไหมครับ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท