รวมศิษย์เก่า ฟังการบรรยายพิเศษ


ศิษย์เก่าจะเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนให้สำนักวิชามีความก้าวหน้าและเป็นปากเป็นเสียงในการเผยแพร่ชื่อเสียงของสำนักวิชา

วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๑ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ได้จัดการประชุมวิชาการเพื่อรวมศิษย์เก่าและถือโอกาสแสดงความยินดีกับ ศ.ดร.สมจิต หนุเจริญกุล ที่ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ณ ห้องประชุมเบญจมาศ โรงแรมทักษิณ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีอาจารย์อภิรยา พานทอง เป็นแม่งาน

สำนักวิชาพยาบาลศาตร์มีศิษย์เก่าปริญญาตรีจบไปแล้ว ๗ รุ่น ถึงเวลาที่ควรจะต้องจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่าได้แล้ว ศิษย์เก่าจะเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนให้สำนักวิชามีความก้าวหน้าและเป็นปากเป็นเสียงในการเผยแพร่ชื่อเสียงของสำนักวิชา อาจารย์อภิรยาจะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ร่วมกับศิษย์เก่าทุกรุ่น

การประชุมวิชาการในวันนี้ เราส่งจดหมายเชิญเฉพาะศิษย์เก่า อาจารย์อภิรยาได้ติดต่อศิษย์เก่าผ่านตัวแทนแต่ละรุ่น การนัดรวมพลศิษย์เก่าในครั้งแรกนี้มีผู้ที่สามารถเข้าร่วมได้จำนวนไม่มากนัก แต่ทุกคนที่มาก็มีความกระตือรือร้นและช่วยกันทำงานอย่างแข็งขัน เราจัดให้นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ ๓ และ ๔ เข้าร่วมประชุมด้วย บรรยากาศจึงเป็นกันเอง มีแต่พี่ๆ น้องๆ และครูบาอาจารย์ ในปีต่อๆ ไป เราตั้งใจจะจัดประชุมศิษย์เก่าในคราวเดียวกับการจัดประชุมวิชาการประจำปีของสำนักวิชา

ในงานครั้งนี้ ศ.ดร.สมจิต หนุเจริญกุล ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “บันไดความก้าวหน้าของวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์” ก่อนเริ่มการประชุม ลูกศิษย์ได้จัดพิธีไหว้ครูแก่อาจารย์สมจิต ผศ.ดร.จอม สุวรรณโณ เป็นผู้นำกล่าวคำไหว้ครู ให้ความรู้สึกดีๆ อีกเช่นกัน

 

พิธีไหว้ครู

อาจารย์สมจิตเล่าเรื่องย้อนหลังเมื่อกว่า ๑๐ ปีมาแล้ว ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่บันดาลใจให้อยากทำหลักสูตรใหม่ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ เอาชุมชนเป็นฐานเพราะ มวล.ไม่มีโรงพยาบาล เล่าภาพ มวล.ในระยะแรกเริ่ม ตอนนั้นมีแต่ตึก ไม่มีหญ้า แต่ก็มองออกว่ามีภูมิทัศน์สวยงาม แล้วปัจจุบันก็เป็นจริง อาจารย์สมจิตเปรียบเทียบว่า มวล. มี anatomy ที่ดีมาก ส่วน physiology ก็กำลังเดินหน้าแบบก้าวกระโดด

 

ศ.ดร.สมจิต หนุเจริญกุล ขณะบรรยาย

ตอนร่างหลักสูตรของ มวล. อาจารย์สมจิตวิเคราะห์ว่าปัญหาของประเทศคืออะไร ทุกอย่างอยู่ที่ชุมชน ไม่ใช่ปัญหาซับซ้อนด้านเทคโนโลยี แต่เป็นปัญหาซับซ้อนด้านพฤติกรรม อาจารย์มีประสบการณ์ทำงานกับ WHO จึงมองปัญหาออก หลักสูตรของ มวล.จึงเริ่มจากการดูแลคนดีและการสร้างเสริมสุขภาพ นักศึกษาต้องรับผิดชอบครอบครัวในชุมชน เมื่อไปเห็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล จะได้ไม่ลืมครอบครัวไม่ลืมชุมชน อาจารย์สมจิตยังพูดถึงความจำเป็นในการเปิดสอนระดับปริญญาโท เมื่อมีความพร้อมการเปิดสอนระดับปริญญาเอก จะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่แท้จริง

อาจารย์สมจิตมีความเป็นครูสูงมาก บรรยายได้อย่างต่อเนื่องเกือบ ๓ ชม. ดูอาจารย์มีความสุขที่ได้เล่าเรื่องเก่าๆ และถ่ายทอดข้อมูลทั้งความรู้ความคิดให้แก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย อาจารย์นำภาพอาคารของสภาการพยาบาลมาให้ดู บอกให้รู้ว่าสภาการพยาบาลเป็นองค์กรที่เป็นตัวกลางในการควบคุมคุณภาพและปกป้องคนของเรา ตึกสภาการพยาบาลมีสง่าราศี เป็นที่น่าภาคภูมิใจ สมาชิกของสภาการพยาบาลมีจำนวนมากถึงประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน พยาบาลเป็นวิชาชีพแรกที่ทำการสอบใบอนุญาตสำเร็จ

 

ผู้ฟัง

หัวข้อในการบรรยายมีหลายเรื่อง เช่น ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อทิศทางวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ อาทิ ปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน ความคาดหวังของประชาชนต่อคุณภาพการบริการ ระบบสุขภาพและแผนพัฒนาสุขภาพของประเทศ แหล่งประโยชน์

นอกจากนี้ยังกล่าวว่าพยาบาลและผดุงครรภ์เป็นกำลังหลักในระบบสุขภาพทั่วโลก  ให้ตระหนักถึงขอบเขตของการปฏิบัติการพยาบาล หน้าที่ตามกฎหมาย ความจำเป็นของการขยายขอบเขตของการปฏิบัติการพยาบาล การแก้ปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่สุขภาพ ในส่วนนี้การดึงคนไว้ในวิชาชีพและพัฒนาศักยภาพมีความสำคัญ และอย่าไปคิดว่าพยาบาลทุกคนต้องอยู่เวร

สภาการพยาบาลระหว่างประเทศประกาศให้พยาบาลรับบทบาทนำใน primary health care สอดคล้องกับประเทศของเรา เรามีพยาบาลชุมชนที่ทำงานดี มี best practice มากมาย ในส่วนของ secondary และ tertiary care ก็มีการปรับบริการให้โรงพยาบาลสามารถตอบสนองต่อความต้องการทั้งบุคลากรทางการแพทย์และของผู้ใช้บริการได้ดียิ่งขึ้น

ในด้านการธำรงรักษาพยาบาลไว้ในระบบ มีการกำหนดบันไดความก้าวหน้าในวิชาชีพและพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อให้พยาบาลได้ก้าวหน้าในสายวิชาการ สำหรับการศึกษาพยาบาลมีทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก หลักสูตรวุฒิบัตรแบบ training หลักสูตรเฉพาะทางที่มีระยะเวลาตั้งแต่ ๘-๒๐ สัปดาห์ อนาคตจะสามารถเทียบโอนหน่วยกิตจากการศึกษานอกระบบ

การสร้างและการจัดการความรู้ก็มีความสำคัญ ความรู้ explicit และ tacit ต่างเสริมกัน ความรู้ tacit ต้องการนักวิจัย APN ต้องคล่องในการจัดการความรู้ tacit

สุดท้ายได้กล่าวถึงการตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ ถ้าจะเปิดสอนระดับปริญญาเอก ต้องมีศูนย์ความเป็นเลิศ ซึ่งประกอบด้วย research and training, knowledge management, innovative model development พร้อมกับแนะนำว่าอย่าไปทำวารสารเองเพราะมีภาระมากและจะทำให้งานเป็นระดับ local วารสารระดับชาติเป็นที่พึ่งของนักศึกษา ป.โท วารสารนานาชาติเป็นที่พึ่งของนักศึกษา ป.เอก

จบการบรรยายเมื่อใกล้เวลา ๑๒ น. มีเวลาให้ลูกศิษย์ ๒-๓ คน ได้เล่าปัญหาเกี่ยวกับการทำงานให้ฟัง เช่น ทำงานใน รพ.เอกชนถูก (บังคับ) ให้ฉีด contrast media การต้องสั่งจ่ายยาที่ไม่อยู่ในบัญชี NP หัวหน้าพยาบาลเล่าว่าพยาบาลบางคนถูกดึงไปทำงานอื่น จะเอาตัวกลับมาก็ว่าทำงานพยาบาลไม่ถนัดแล้ว เป็นต้น อาจารย์สมจิตได้ตอบคำถามว่าสภาการพยาบาลกำลังทำอะไร เพื่อให้พยาบาลทำงานได้ดีขึ้น เช่น ถ้าจะให้พยาบาลฉีด contrast media พยาบาลต้องมีความรู้อะไรบ้าง จะต้องมีการอบรมและมีการปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่

ระหว่างการรับประทานอาหารกลางวัน มีกิจกรรมให้ลูกศิษย์ ป.ตรี ป.โท และ ป.เอก ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่ออาจารย์สมจิต ได้เวลาอาจารย์ต้องเดินทางกลับเครื่องบินในเที่ยวบ่าย ดิฉันก็กลับสำนักวิชาเพื่อ clear งานประจำ ส่วนศิษย์เก่าก็ประชุมหารือเรื่องการดำเนินงานกันต่อ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 202564เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2008 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณค่ะ...

เหมือนได้ร่วมรับฟังท่านอาจารย์สมจิต...เลยค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท