จากการเสวนา "เราจะปกป้องศิลปวัฒนธรรมของชาติได้อย่างไร? กรณีศึกษามูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต"


สิ่งที่เราทำได้คือร่วมกันสนับสนุนให้ท่านได้มีสุขภาวะที่ท่านจะมีความสุขกับการสร้างสรรค์ผลงานไปอีกนานเท่านาน นี่เป็นสิ่งที่คนไทยต้องคิดและช่วยกัน โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องใส่ใจ เพราะเรากำลังทำเพื่อศิลปวัฒนธรรมของแผ่นดิน ที่จะฝากไว้ยืนยาวในกาลเวลา ยิ่งกว่าอายุของศิลปิน และคนในรุ่นเรา
  • เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๑ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานเสวนา “เราจะปกป้องศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างไร?: กรณีศึกษามูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต” ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
  • เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากการที่จะมีการก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูงกว่าสามสิบชั้นติดมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ซึ่งจะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมของมูลนิธิอย่างยิ่ง
  • ผู้ที่ไม่เคยทราบเรื่องมาก่อนว่าปัญหาคืออะไร ผู้เขียนได้เล่าไว้ในบันทึก

          http://gotoknow.org/blog/k-creation/174587?page=1

  • คุณวัชราภรณ์ อาจหาญ แห่งมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ได้กรุณาแจ้งข่าวและส่งจดหมายเชิญคนข้างกายและผู้เขียนให้ไปร่วมฟังด้วย และในวันงานได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดียิ่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ

รายชื่อผู้เสวนานั้น เห็นแล้วทำให้อยากไปฟัง ประกอบด้วย

·         ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ นักคิด นักเขียน นักวิจัยดีเด่นสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลศรีบูรพา

·         อาจารย์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี ๒๕๓๖ รางวัลซีไรท์ ปี ๒๕๒๓

·         ศ.ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม (แต่ไม่ได้มาร่วมเสวนา และ ไม่มีผู้ใดมาแทนด้วย แปลกนะคะ)

·         อาจารย์ ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ

·         ดำเนินรายการโดย คุณ นิวัติ กองเพียร คอลัมนิสต์ชื่อดัง

ผู้เขียนอยู่ฟังได้แค่ทั้งสามท่านพูดรอบแรก เพราะต้องไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิไปงานเสวนามาตรฐานผ้าย้อมครามสกลนครที่เขียนถึงไปแล้วนั่นเองค่ะ ดังนั้นจึงขอสรุปแนวคิดที่น่าสนใจยิ่งจากปรมาจารย์ทั้งสามท่านมาเล่าสู่กันนะคะ

*      ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้พูด ๓ ประเด็น

v  ในต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่น ความหมายของการยกย่องให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” คือการเป็น National Treasure หรือ สมบัติแห่งชาติ เป็นสิ่งมีคุณค่าสูง ซึ่งคำว่า Treasure นั้น หมายรวมได้ทั้งคน และ สิ่งของ มูลนิธิจักรพันธุ์ฯ น่าจะอยู่ในความหมายเดียวกัน

 

พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในเมืองไทยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ “ตาย”แล้ว แต่ของอาจารย์จักรพันธุ์ นั้นมีชีวิต อาจารย์จักรพันธุ์ได้ใช้วิธีเรียนรู้จากสิ่งเก่า สร้างสรรค์สิ่งใหม่-เก่า ให้งอกงามต่อไปได้ อันควรจะเป็นตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ทุกชนิดที่เกิดขึ้นในเมืองไทย คือสิ่งที่เก็บนั้นต้องเป็น “ฐาน” ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ให้ของเก่ายังมีชีวิตต่อ ตอบสนองชีวิตในสังคมสมัยใหม่

 

ดร.นิธิ ได้เล่าถึงตัวอย่างจากญี่ปุ่นว่า ทางรัฐบาลจะเป็นผู้ส่งเสริม และให้ทุนรอนแก่ “ครู” ให้ทำงานได้ มีพลัง เพื่อสร้างศิษย์รุ่นต่อๆไปให้สืบทอดความรู้

 

v  ประเด็นที่สองนั้น ดร.นิธิ พูดถึงเรื่อง ผังเมือง

Ø  กทม. มีการกำหนดโซน(Zone)ว่าเขตไหนเป็นอะไร ทำอะไร แต่เป็นการกำหนดของรัฐ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนด หรือ ที่ร้ายกว่าก็คือ คนที่มีเงินยังเข้าไปเปลี่ยนโซนได้ การทำZoning นักวิชาการขาดการหาความรู้เกี่ยวกับ วิถีชีวิต คนในชุมชน ไปดูแค่ แผนที่

Ø  การอนุมัติสร้างอาคารสูงโดยเขตุ ไม่ดูว่าสิ่งใหม่ที่จะทำกลมกลืนกับชุมชนเดิมที่อยู่หรือไม่ การบริหารผังเมือง ชุมชน/สังคมมักไม่ได้มีส่วนร่วม

Ø  คนเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ อยู่ในสังคมเมือง การจัดการชีวิตในเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ทุกคนต้องคิดว่าจะจัดการเมืองอย่างไรเพื่อคนรุ่นต่อไป เมืองใหญ่ๆในต่างจังหวัดไม่ได้เรียนรู้อะไรจากกรุงเทพเลย บทเรียนจากกรุงเทพนั้นราคาแพง แต่ความบกพร่องที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพไม่มีใครได้เรียนรู้(ที่จะไม่ทำผิดซ้ำกัน)

 

v  ประเด็นที่สามดร.นิธิ ชี้ถึงการกระจายอำนาจการใช้/การจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการได้จริงๆ ปกติจะได้แต่เงินหรืองบประมาณอุดหนุนแต่ไม่มีอำนาจ เป็นเหมือน ไม่มีทางเลือกให้ทำดี เช่น   อบต.ส่วนใหญ่จะสร้างแต่ถนน แต่ประชาชนไม่มีอำนาจที่จะเลือกว่าจะเอา/ไม่เอา ได้

 

ชุมชน ที่ หมายถึง คนที่อยู่ด้วยกันมีปฏิสัมพันธุ์กันไม่มีอีกแล้วในปัจจุบัน เราทำลาย มากกว่าสร้าง เช่น ไม่มีเรื่องของการไปโรงเรียนเดียวกัน หรือ ทำบุญวัดเดียวกันของคนในชุมชน (แต่ประเทศที่เจริญก้าวหน้ามากๆเช่น อเมริกา ฝรั่งเศส ยังมีชุมชนที่ยังคงมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน)

 

วิชาผังเมือง มองแต่กายภาพ ไม่ได้มองเรื่องของ สังคม

 

*      อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เล่าถึงประสบการณ์ในประเทศต่างๆที่มีการให้ความสำคัญแก่ศิลปิน เช่น

 

Ø  ประเทศรัสเซียครั้งที่อาจารย์ได้ไปงาน“ฉลอง ๒๐๐ ปีสุนทรภู่”  ที่มอสโคว์ อาจารย์ได้ไปเมืองต่างๆอีกหลายเมือง แต่ละเมืองที่ไปเห็นล้วนมีรูปปั้นศิลปินเป็นศรีสง่าของเมือง

Ø  ในเมืองไทย การรักษาชุมชนเช่น ย่านถนนพระอาทิตย์ มีความพยายามทำย่านเก่าให้มีชีวิต การพัฒนาต้องทำด้วยความเข้าใจ หากไร้ความเข้าใจก็จะทำลายเสน่ห์ของชุมชน อาจารย์ชมการอนุรักษ์เมืองเก่าต่างๆทางตอนใต้ของฝรั่งเศสมาก

การจะพัฒนาจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนเข้าใจประวัติศาสตร์ของตนเอง และ คงเสน่ห์แห่งตนไว้ได้ ผนวกกับการที่ชุมชนมีสิทธิและสามารถใช้อำนาจแห่งสิทธินั้นได้จริงๆ อาจารย์เล่าถึงครั้งหนึ่งย่านมงมาร์ต ในปารีส ซึ่งเป็นย่านศิลปิน กำลังจะจัดงานฉลอง แล้วมีบริษัทน้ำอัดลม(น้ำดำ)ข้ามชาติเข้ามาร่วมสนับสนุนติดธงทิวแต่มีตรายี่ห้อหรา คนในชุมชนซึ่งมีความรัก เข้าใจ และภูมิใจในเสน่ห์ของชุมชนตน บอกว่ารับไม่ได้ ทางบริษัทก็ต้องเอาธงออกหมด

ชุมชนคนไทยไม่มีสิ่งนี้ ไม่มีสำนึกร่วมกันจึงไม่มีพลัง

อาจารย์ทิ้งท้ายว่าหรือนี่จะเป็นธรรมดาอย่างที่มีคนเรียกว่าเป็นทุนนิยมแบบสามานย์ที่สลายความเป็นมนุษย์

 

*      อาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ อาจารย์ยอดเยี่ยมพูดในฐานะสถาปนิก และกล่าวว่า อยากจะเปลี่ยนหัวข้อเสวนาว่า “ศิลปวัฒนธรรมของชาติกำลังจะถูกทำลายด้วยสถาปัตยกรรม”

อาจารย์ยอดเยี่ยมบอกว่าไม่ได้รู้จักอาจารย์จักรพันธุ์เป็นส่วนตัวมาก่อน แต่เท่าที่ทราบถึงสิ่งที่อาจารย์จักรพันธุ์ทำนั้น มองว่าท่านเป็นทรัพยากรของแผ่นดิน เป็นศิลปินของชาติไทยในจำนวนไม่กี่คนที่ได้สร้างงานศิลปวัฒนธรรมไว้มาก ทั้งยังได้สร้างคนรุ่นต่อๆไปให้สืบทอดและสร้างสรรค์งานต่อได้อีกด้วย

อาจารย์ยอดเยี่ยมชี้ให้คนไทยคิดอย่าง อริยสัจ ๔ เพื่อหาทางออก และทราบว่าเราควรทำอะไรต่อ อย่าคิดแค่ อริยสัจ ๒ อย่างคนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ คือ มีทุกข์แล้วแก้ทุกข์เลย โดยไม่ดูเหตุที่เกิด และ แนวทางที่จะปฏิบัติเพื่อแก้ไข อาจารย์มองว่าเรื่องการสร้างคอนโดมิเนียม มาถึงในขั้นนี้เราต้องยอมรับว่านายทุนสิงคโปร์เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย มีแนวทางใหญ่ที่เกิดได้ ๓ ทางเลือก

ü  การสร้างคอนโดมิเนียม เขาไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย หากตอนนี้เมื่อมีผู้คนต่อต้าน ผู้สร้างถอดใจไม่สร้าง อย่างไรเสียก็จะต้องมีรายใหม่เข้ามาสร้างแน่นอน

สิ่งน่าคิดคือ เขาทำถูกกฎหมาย แต่ทำไมเราต้องเป็นฝ่ายสูญเสีย

 

ü  ฝ่ายไทยก็สามารถทำสิ่งถูกกฎหมายที่จะยื้อให้เขาสร้างไม่ได้ หรือให้ยืดเยื้อ อาจารย์พูดแบบติดตลกว่า เป็นต้นว่าใช้กฎหมายเข้าไปจัดการเขาทุกข้อ ห้ามผิดแม้แต่นิดเดียว เช่น หากหินสักก้อนตกใส่บ้าน ก็แจ้งตำรวจระงับการก่อสร้างเป็นช่วงๆ หรือ บริษัทค้าวัสดุก่อสร้างที่ส่งวัสดุให้โครงการนี้จะถูกบอยคอต แต่จะทำไปทำไม ไม่ได้อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้กลัวศิลปินจะเซ็งมากกว่า

 

ü  ทางเลือกที่สามคือ ที่ดินผืนนี้ราคา ๑๕๐ ล้านบาท ทางคนจะมาสร้างเขาไม่รู้ว่าจะมีปัญหาเช่นนี้ ที่จริงเขาก็ไม่ได้ผิด เมื่อรู้ว่ามีปัญหา เราก็หาเงินจำนวนนี้ไปขอซื้อคืนมาเป็นพื้นที่สาธารณะไปเลย ซึ่งก็มาร่วมกันคิดว่าจะหาเงินอย่างไร จะใช้พื้นที่อย่างไร

 

  • มีการอภิปรายจากผู้เข้าร่วมเสวนาซึ่งทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้สรุปไว้ที่ลิงค์นี้ (ขอขอบคุณอาจารย์วัชราภรณ์ อาจหาญ ที่ให้ข้อมูลอัพเดทเรื่องราวอย่างต่อเนื่องค่ะ)

            http://www.asa.or.th/2008/index.php?q=node/96922

  • ผู้เขียนได้ฟังอีกหลายท่านพูดคุยนอกรอบ มีความเห็นว่ามีแนวทาง หรือ ทางเลือกที่ ๔ คือ ย้ายมูลนิธิไปอยู่ในพื้นที่ที่กว้างขวาง อากาศปลอดโปร่ง ส่วนมูลนิธิที่ซอยเอกมัย นั้นก็คงไว้ เป็น สำนักงานมูลนิธิในเมือง หรือ ขายนำเงินไปสร้างสิ่งต่างๆในพื้นที่ใหม่ให้อลังการแค่ไหนก็ได้
  • อย่างไรก็ตามผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องยากและไม่สมควรที่เราจะไป “คิดแทน” ผู้ที่เป็นศิลปิน และ ในกรณีนี้ ท่านเป็นยิ่งกว่าศิลปิน คือเป็นถึงจิตวิญญาณศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งต้องใช้ความละเมียดละไม ละเอียดอ่อนแห่งอารมณ์ในการสร้างสรรค์ผลงาน ว่าต้องเลือกวิธีใด สิ่งที่เราทำได้คือร่วมกันสนับสนุนให้ท่านได้มีสุขภาวะที่ท่านจะมีความสุขกับการสร้างสรรค์ผลงานไปอีกนานเท่านาน นี่เป็นสิ่งที่คนไทยต้องคิดและช่วยกัน โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องใส่ใจ เพราะเรากำลังทำเพื่อศิลปวัฒนธรรมของแผ่นดิน ที่จะฝากไว้ยืนยาวในกาลเวลา ยิ่งกว่าอายุของศิลปิน และคนในรุ่นเรา

§  ใครคิดจะร่วมด้วยช่วยกันในการทำให้มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต และ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต สามารถสร้างสรรค์ จรรโลง ศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างมีความสุข ไปลงชื่อออนไลน์กันได้ที่ลิงค์นี้นะคะ

               http://www.petitiononline.com/FoC2008/petition.html

§  ข้อมูลมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต เชิญที่

http://www.chakrabhand.org/

 

  • ชมภาพถ่ายการซ้อมการแสดงหุ่นกระบอกตะเลงพ่ายของมูลนิธิฯได้ที่ http://analaya.multiply.com/photos/album/13
หมายเลขบันทึก: 202544เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2008 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • เสียดายจังเลย
  • ผ่านมาแล้ว
  • แต่ได้อ่านจากพี่ดีมากเลยครับ
  • พี่นุชสบายดีไหมครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต พี่สบายดี และ มีกิจกรรมให้ต้องทำโน่นนิดนีหน่อยอยู่เรื่อยๆ เลยห่างๆการไปอ่านและมาเขียนมาตอบบล็อกค่ะ

เรื่องการดูแลทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนี่เป็นเรื่องสำคัญนะคะ เพราะเป็นเรื่องที่แสดงความเป็นชาติ มีวัฒนธรรม อารยธรรม พี่ยังมีเสวนาอีกเรื่องในหัวข้อทำนองนี้น่าสนใจมาก แล้วจะรีบเขียนเมื่อมีโอกาสค่ะ

มาเยี่ยม คุณนายดอกเตอร์

สำหรับงานศิลปะของ

จักรพันธุ์ โปษยกฤต

ผมเองก็ชอบผลงานของท่าน ผู้นี้นะ ดูแล้วเนียนในเนื้องาน เหมือนงามออกมาจากใจคนทำนะนี่

ขอบคุณครับ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ยูมิP งานของอาจารย์จักรพันธุ์ท่านงามทุกสิ่งที่ทำเลยจริงๆค่ะ เห็นแล้วภูมิใจว่าชาติไทยของเราก็มีศิลปินระดับที่เป็นจิตวิญญาณของชาติ โชคดีที่ได้เกิดในยุคนี้ ได้ทันเห็นผลงานและพบตัวจริงของท่านค่ะ

สวัสดีค่ะพี่นุช

มาติดตามข่าวเรื่องนี้ค่ะ เลยถือโอกาสไปลงชื่อแล้วค่ะ ถูกอย่างที่พี่นุชว่า ทำอย่างไรให้อาจารย์จักรพันธุ์ ไม่เป็นทุกข์และมีความสุขในสิ่งที่สร้างสรรค์ให้ดำรงสืบต่อไป เวลาจะทำให้ทุกอย่างคลี่คลายลงด้วยดีนะคะ

สวัสดีค่ะคุณอุ๊ ขอบคุณที่ติดตามข่าวแถมยังไปช่วยลงชื่อด้วย ทางเมืองไทยนั้นผู้คนที่เห็นความสำคัญเรื่องนี้กำลังร่วมแรง รวมพลังกันอย่างคึกคัก (แต่ไม่สร้างความเดือดร้อนเหมือนพวกพันธมิตร บ้านเมืองเราหาความสันติสุขได้ยากในหลายปีมานี้ค่ะ)

สวัสดีครับ

ไม่ค่อยแวะมาเลย

ช่วงนี้อะไรมะรุมมะตุ้มเยอะไปหมด

หมดเรื่องยุ่งๆ คงได้ไปเที่ยวอยุธยาอีก

พี่สบายดีนะครับ

สวัสดีค่ะคุณP ธ.วั ช ชั ย ช่วงนี้พี่ก็เช่นกันค่ะ ยุ่งทั้งเรื่องของตนเองและเรื่องของคนอื่นค่ะ อิ อิ นึกว่าจะผ่านมาช่วงนี้จะได้ขอแรงมาช่วยคนถูกน้ำท่วมแถวอยุธยาบ้างเนอะ

ครั้งหน้ามาทางอยุธยาเราคงมีโอกาสได้พบกันนะคะ

  • A_2569541  
  • พี่นุช หายเงียบไปเลยนะค่ะ
  • คิดถึงนะค่ะพี่
  • มาทักทายพี่นุช
  • มาชวนไปงานวันที่ 8
  • ว่างไหมครับ
  • คิดถึงๆๆๆ
  • เอามาฝาก
  • จากที่บ้านไร่ครับ

ขอบคุณน้องP อ้อยควั้น และ P อาจารย์ขจิตค่ะ มีเหตุให้ต้องเดินทางไปต่างแดนในช่วงติดๆกัน เลยทำให้ห่างหายไปจากบล็อกซะนาน กลับมาแล้ว เตรียมพบกับภาพสวยๆและเรื่องราวสนุกๆจากการเดินทางได้ในเร็วๆนี้ค่ะ แน่ะ อย่างกับโฆษณาหนังเลย :)

ขอติดตามเป็นสาวกของ "คุณนายดอกเตอร์"ด้วยคนนะคะ

 

สวัสดีค่ะคุณP  ladygenius ยินดีค่ะ ไม่ต้องถึงกับเป็นสาวกหรอกค่ะ มาเป็นแฟนประจำให้คนเขียนรู้สึกดีที่มีคนตามอ่านก็ขอบคุณมากค่ะ

ยินดีด้วยนะคะที่ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์วิจารณ์ในการทำวิทยานิพนธ์ ได้แวะไปที่บล็อกของคุณแต่ยังไม่ได้ฝากรอยเยี่ยมไว้เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท