รศ.พิชิต เลี่ยมพิพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม


               รศ.พิชิต  เลี่ยมพิพัฒน์  เกิดเมื่อวันที่  5  กันยายน  พ.ศ. 2486  ที่บ้านตลาดหนองตม  ตำบลวังฆ้อง  อำเภอพรหมพิราม  จังหวัดพิษณุโลก  เป็นบุตรคนที่ 8ของนายซีเดี้ยน กับนางล่วน  เลี่ยมพิพัฒน์  มีพี่ 7 คน คือ  นายฮ่งเซียม (ถึงแก่กรรม) นางสุจิตรา  ศิริเพิ่มพูนชัย  นางเพ็ญนิภา  สนองคุณ  นางวิไล  ชัยรัตน์ เด็กชายฮ่งบก(ถึงแก่กรรม) นายศักดิ์  และเด็กหญิงบุญมี เลี่ยมพิพัฒน์(ถึงแก่กรรม)  มีน้อง  4 คน คือ  นายสุเมธ  นางสุรางค์  รักษาสัตย์  เด็กหญิงน้องน้อย (ถึงแก่กรรม) และนายสุชาติ  เลี่ยมพิพัฒน์
       เริ่มเข้าเรียนระดับประถมศึกษาใน พ.ศ. 2492 ที่โรงเรียนจินตง  บ้านตลาดหนองตม อำเภอพรหมพิราม โดยเป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่ง  เมื่อจบชั้นประถมปีที่ 4ใน พ.ศ. 2496ได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 1 ที่โรงเรียนนวลนรผล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จบชั้นมัธยมปีที่ 3 ใน พ.ศ. 2500 แล้วเรียนต่อที่โรงเรียนอำนวยศิลป์  จังหวัดพระนคร จบชั้นมัธยมปีที่ 6 (รุ่นเจ้าอาวาส)  ใน พ.ศ. 2503  แล้วสามารถสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 แผนกวิทยาศาสตร์ (รุ่น 22)  ใน พ.ศ.2505  จากนั้นได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้รับพระราชทานปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต(สถ.บ.) วิชาเอกออกแบบอุตสาหกรรม  ใน พ.ศ.2510     และต่อมา ได้รับทุน
USOMไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่North Carolina State University  ประเทศสหรัฐอเมริกา  สำเร็จได้รับปริญญา M.P.D.(Master of Product Design) ใน พ.ศ. 2515
             รองศาสตราจารย์พิชิตได้รับทุนและได้รับคัดเลือกให้ไปฝึกอบรมและศึกษาดูงานในต่างประเทศหลายแห่งคือ
            พ.ศ.
2518  ได้รับทุนองค์การสหประชาชาติ  ฝึกอบรมด้านการจัดการอุตสาหกรรม ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์  เป็นเวลา 5 เดือน
            พ.ศ.
2521  ได้รับทุน APO ไปศึกษาดูงานกิจการอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ที่ประเทศฟิลิปปินส์และสาธารณรัฐไต้หวัน  เป็นเวลา  3 สัปดาห์
           พ.ศ.
2521  ได้รับทุนองค์การสหประชาชาติให้ไปฝึกอบรมและดูงานด้าน
พลาสติก ณ สถาบันพลาสติก
LKT-TGM กรุงเวียนนา  ประเทศออสเตรีย  เป็นเวลา  2 เดือน
           พ.ศ. 
2522 ได้รับทุน APO ให้เข้าร่มสัมมนาการออกแบบผลิตภัณฑ์   ณ ประเทศฮ่องกง  เป็นเวลา  2  สัปดาห์
           พ.ศ. 
2523  ได้รับทุน APO ให้ไปฝึกอบรมเรื่อง  การคบคุมคุณภาพการผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก  ณ กรุงโตเกียว  ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 6 สัปดาห์
           พ.ศ. 
2529  ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการจัดการศึกษาในโรงเรียน    กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  เป็นเวลา 1 สัปดาห์      
           รองศาสตราจารย์พิชิต มีประวัติการรับราชการดังนี้  
         พ.ศ. 2511
2526 รับราชการที่กองบริการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  กระทรวงอุตสาหกรรม  โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้างานออกแบบผลิตภัณฑ์ ระดับ 6 เป็นตำแหน่งสุดท้าย
        พ.ศ. 2527
2530  โอนไปรับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  สำนักนายกรัฐมนตรี โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ระดับ 7 เป็นตำแหน่งสุดท้าย      
        พ.ศ. 2530  โอนมารับราชการเป็นอาจารย์ที่สถาบันราชภัฎพระนคร(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร) คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เนื่องจากไม่ชอบทำงานด้านการบริหาร  แต่ชอบงานด้านการสอนมากกว่า  เพราะเห็นว่าการเป็นอาจารย์ผู้สอน เป็นงานที่อิสระและมีโอกาสที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้พัฒนาเทคนิคการสอนใหม่ๆ และสามารถสอนให้คนนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ด้วย  โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อาจารย์ 3 ระดับ 8  เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2530  และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ 9 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน  พ.ศ.2541  จนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2546
       แม้รองศาสตราจารย์พิชิตจะรับราชการเป็นอาจารย์สอนที่สถาบันราชภัฎพระนครเพียง 16 ปี  แต่ด้วยความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุตสาหกรรมพลาสติกที่สั่งสมมาจากการศึกษาในระบบ  การฝึกอบรมและดูงานในต่างประเทศหลายประเทศ  และจากการปฏิบัติงานที่กระทรวงอุตสาหกรรม
และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค   รวมทั้งการเป็นผู้มีความมุ่งมั่นศึกษา ค้นคว้า วิจัยและทดลองปฏิบัติจริงมาโดยตลอด และการทุ่มเทให้กับการสอนนักศึกษาในคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง  จึงเป็นผู้ที่มีผลงานด้านการสอนและผลงานด้านวิชาการโดดเด่นปรากฏมากมาย  ส่งผลให้นักศึกษาแต่ละรุ่นที่เรียนกับรองศาสตราจารย์พิชิต  ต่างได้รับความรู้และทักษะในรายวิชาที่สอนอย่างเต็มตามศักยภาพ สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือไปประกอบอาชีพจนประสบผลสำเร็จมากมาย
           รองศาสตราจารย์พิชิตสอนในหมวดวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  โปรแกรมวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  โปรแกรมวิชาศิลปหัตถกรรม และอื่นๆ  รายวิชาที่สอนได้แก่ พลาสติกเบื้องต้น  งานพลาสติก  พลาสติกและไฟเบอร์กล๊าส  กรรมวิธีตกแต่งผิวโลหะ  งานชุบหล่อ  การชุบโลหะ  การชุบและการรมสีบนผิวโลหะ  วัสดุและกรรมวิธีการผลิต  วัสดุศาสตร์  วัสดุศาสตร์อุตสาหกรรม  ออกแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพลาสติก  และออกแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเครื่องประดับ              
            นายนพดล  เฮงเจริญ  เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวถึงการสอนนักศึกษาของรองศาสตราจารย์พิชิตไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพรองศาสตราจารย์พิชิต  เลี่ยมพิพัฒน์  ความตอนหนึ่งว่า
         
“…ได้ทุ่มเทการสอนแก่ลูกศิษย์ให้มีความรู้และทักษะในวิชาเรียน  เกี่ยวกับอุตสาหกรรมขนาดย่อม  และอุตสาหกรรมในครัวเรือน  ซึ่งมีส่วนสนับสนุนนโยบายหนึ่งตำบล  หนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) ของรัฐบาล  นับเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้เป็นครู…” 
           พ.ศ.
2539  รองศาสตราจารย์พิชิต ได้รับทุนวิจัยของสถาบันราชภัฎพระนครและทำวิจัยจนแล้วเสร็จ  2 เรื่องคือ
          
1. ศึกษาและพัฒนารูปแบบเรือไฟเบอร์กล๊าส ชนิดใช้ในสวนสนุก  ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาเครื่องเล่นในสวนสาธารณะและสวนสนุกประเภทเรือ  ให้เป็นเครื่องเล่นชนิดใหม่ที่มีรูปทรงสวยงามสดุดตา  และเพื่อใช้เป็นตัวอย่างประกอบการเรียนการสอนนักศึกษาโปรแกรมวิชาเอกออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
          
2. คุณลักษณะของบัณฑิตสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามความคิดเห็นของหน่วยงานผู้ใช้และผู้ผลิต  เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาหลักสูตรโปรแกรม
วิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  ของสำนักงานสภาสถาบันราชภัฎ  ซึ่งรองศาสตราจารย์พิชิตเป็นทั้งกรรมการร่างหลักสูตร  กรรมการคัดเลือกนักศึกษาเข้าศึกษาต่อและอาจารย์ผู้สอนด้วย 
          รองศาสตราจารย์พิชิต ได้แต่งหนังสือวิชาการ รวม
11 เล่ม  ซึ่งใช้เป็นหนังสือประกอบการเรียนการสอนในระดับต่างๆอย่างแพร่หลาย และใช้ในการศึกษาค้นคว้าสำหรับการประกอบอาชีพของประชาชนด้วย  ได้แก่  เรื่องพลาสติก  การออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  พลาสติกหล่อ  ไฟเบอร์กล๊าส  พลาสติกแผ่นดัด  เคลือบรูปพลาสติก  ชุบทอง  รมดำ  เอฟอาร์พี  พลาสติกวิศวกรรม  และเครื่องประดับ   หนังสือบางเล่มเป็นที่นิยมของผู้อ่านสูง  จนต้องตีพิมพ์จำนวนหลายครั้ง  เช่น  เรื่องพลาสติก  ตีพิมพ์ 16 ครั้ง  เรื่องเคลือบรูปพลาสติก  ตีพิมพ์ 12 ครั้ง  เรื่องไฟเบอร์กล๊าส  ตีพิมพ์ 9 ครั้ง  เรื่องชุบทอง  ตีพิมพ์ 8 ครั้ง  เป็นต้น 
              นอกจากนี้รองศาสตราจารย์พิชิต ยังได้รับเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ  เป็นวิทยากรบรรยาย  และเป็นกรรมการ ในเรื่องต่างๆ ได้แก่             
               - เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาโครงการวิจัยชุดโครงการอัญมณีและเครื่องประดับ  ของกองทุนสนับสนุนงานวิจัย(สกว.)  จำนวน 
4 โครงการ  รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักวิจัยทั้ง 4 โครงการ
              - เป็นผู้ตรวจและประเมินผลงานทางวิชาการด้านอุตสาหกรรม  ในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ของสถาบันราชภัฎ  และตำแหน่งอาจารย์
3  ของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
               - เป็นอาจารย์พิเศษสอนระดับปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
               - เป็นวิทยากรอบรมวิชาชีพ สาขาเครื่องประดับ  ผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์กล๊าส  การชุบทอง  และการเคลือบรูป  ตามคำเชิญของหน่วยงานต่างๆ
               เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทานคือ  ประถมาภรณ์ช้างเผือก 
ประถมาภรณ์มงกุฎไทย  และเหรียญจักรพรรดิมาลา
             รองศาสตราจารย์พิชิต สมรสกับนางสาวพนิดา  เฮงเจริญ ใน วันที่  7  เมษายน  พ.ศ. 2515  และไม่มีบุตร
             รองศาสตราจารย์พิชิต  เลี่ยมพิพัฒน์ เป็นคนที่ทำงานด้วยความตั้งใจ  มีความซื่อสัตย์สุจริต  รักความยุติธรรม  ดูภายนอกจะเป็นคนเงียบขรึม  แต่ส่วนลึกเป็นคนที่มีความโอบอ้อมอารี  มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับผู้ร่วมงาน ญาติพี่น้องและคนทั่วไป  มีนิสัยชอบการทำบุญทำกุศลมาโดยตลอด    หลังเกษียณอายุราชการจึงมุ่งสู่การปฏิบัติธรรม  ได้เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง
4 แห่ง ที่ประเทศอินเดีย   เดือนมกราคม พ.ศ. 2547  ได้ไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่  และได้สร้างพระพุทธรูปถวายวัดต่างๆอีกหลายวัด   จนวันที่  22  มีนาคม พ.ศ. 2547  ได้ถูกทำร้ายร่างกายจนทำให้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างกะทันหัน  สิริอายุได้  60 ปี  6 เดือน 17 วัน 
                                                                                                    ธเนศ  ขำเกิด
                                                                                                      ผู้เรียบเรียง
                                                         

                                                                                ข้อมูลอ้างอิง
           1. หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ รองศาสตราจารย์พิชิต  เลี่ยมพิพัฒน์  ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม  กรุงเทพมหานคร  วันจันทร์ที่ 29  มีนาคม  พ.ศ. 2547 
           2. ข้อมูลส่วนบุคคลของนายพิชิต  เลี่ยมพิพัฒน์  จากสถาบันราชภัฎพระนคร  พ.ศ. 2546

หมายเลขบันทึก: 200942เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2008 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

กำลังสงสัย การค้นหัวข้อที่ตัวเองบันทึกจะค้นอย่างไร หรือจะค้นหาหัวเรื่องที่สนใจจะทำอย่างไร จะบันทึกทำอย่างไร

ผมเข้าใจก็ได้จากหนังสือของอาจารย์ มีข้อดีหลายอย่างน่าศึกษาสำหรับมือใหม่

หนูดีใจที่ได้เป็นศิษย์อาจารย์

ครูดีไม่มีวันตาย ผลงานฝากไว้แม้กายจะม้วยมรณ์

ผมคนหนึ่งที่ได้เรียน..ไฟเบอร์กลาส..อาจารย์ได้ชักให้ไปสร้างพระที่ประเทศลาว..ก่อนอาจารย์เสียประมาณ1สัปดาห์ผมได้เจออาจารย์โดยบังเอิญ. ที่คณะอุตราชภัฎพระนครอาจารย์ได้ชวนไปเที่ยวบ้านที่พิษณุโลก..มาทราบข่าวจากอาจารย์.,กรกิต ว่าอาจารย์เสียแล้ว//ถึงยังไงยังได้เจอครั้งสุดท้ายรดน้ำศพที่วัด///อาจารย์เป็นคนดีมากคับ..

เชาวน์วัฒน์ ศรีชะบา

เคยได้มีโอกาสกราบเรียนเชิญท่านอาจารย์ไปบรรยายสัมมนาในหัวข้อ "วัสดุอุตสาหกรรม" ที่ สจล. ราวๆ ปี 2543 ท่านอาจารย์ถึงจะเป็นคนที่งานยุ่งมากแต่ให้เกียรติไปเป็นวิทยากรรับเชิญโดยไม่มีการปฏิเสธ ผมรู้สึกสำนึกในพระคุณท่านอาจารย์ที่สละเวลาเพื่อประสิทธิ์ประสาทวิชา ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของท่านให้เหล่านักศึกษาได้เป็นผู้เป็นคน มีที่ยืนในสังคมอย่างมีเกียรติ 

ได้ทราบข่าวการจากไปของท่านอาจารย์ก็รู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างมาก แต่พระคุณของท่านจะอยู่ในใจของผมตลอดไป

เพิ่งทราบข่าวการจากไปของท่านอาจารย์รู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างมากเป็นลุกศิษย์ของท่านในเรื่องการชุบทองและเป็นศิษย์ทางตำราเรื่องไฟเบอร์กล๊าส

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท