กินอยู่อย่างไร ห่างไกลมะเร็งต่อมลูกหมาก


 

...

เป็นที่ทราบกันดีว่า คนที่อายุยืนมากๆ จะเสี่ยงต่อมะเร็งมากเป็นพิเศษ 2 ชนิด โดยจะแบ่งเป็นฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงจะเสี่ยงมะเร็งเต้านม ฝ่ายชายจะเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก

วันนี้มีคำแนะนำจากเว็บไซต์อินเทลิเฮลต์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งมีอาจารย์จากวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ ทบทวนความถูกต้องของบทความมาฝากครับ

...

(1). ไขมันอิ่มตัว

  • คนเอเซียที่อยู่ในเอเซียมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 2% (ตลอดชีวิต) เมื่อคนเอเซียบางส่วนอพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ ลูกหลานของคนเอเซียเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากถึง 10% (ตลอดชีวิต)

...

  • การศึกษาหลายรายงานพบว่า การกินไขมันสัตว์มากขึ้นมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • คำแนะนำคือ ไม่ควรใช้น้ำมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมู ฯลฯ ควรลดปริมาณเนื้อลงสักครึ่งหนึ่ง และใช้โปรตีนจากพืช เช่น เต้าหู้ ถั่วเหลือง ถั่วชนิดต่างๆ ฯลฯ แทน

...

(2). เซเลเนียม

  • การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การได้รับสารเซเลเนียม (selenium) น้อยเกินเพิ่มเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก ทว่า... การเสริมสารนี้เข้าไปไม่ช่วยลดความเสี่ยงจากมะเร็ง

...

  • คำแนะนำคือ ให้กินอาหารหลายๆ อย่างหมุนเวียนสับเปลี่ยนกัน อย่ากินอาหารที่ปลูกในแหล่งเพาะปลูกเดียวกันซ้ำซากเป็นเวลานาน เนื่องจากดินบางแห่งมีสารนี้มาก บางแห่งมีสารนี้น้อย ถ้ากินอาหารจากแหล่งที่มีสารนี้ต่ำนานๆ อาจขาดสารนี้ได้
  • อาหารที่มีธาตุเซเลเนียมสูงหน่อยได้แก่ เนื้อ ปลา ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังเติมรำ(โฮลวีท) ถั่ว ฯลฯ

...

(3). วิตามิน D

  • การได้รับวิตามิน D เพิ่มขึ้นมีส่วนช่วยลดความเสี่ยง(โอกาสเป็น)มะเร็งต่อมลูกหมากชนิดลุกลาม (advanced)

...

  • ร่างกายเราสร้างวิตามิน D ได้ถ้าได้รับแสงแดดอ่อนๆ ตอนเช้าหรือเย็นวันละ 15 นาทีขึ้นไป
  • การกินวิตามินรวมวันละ 1 เม็ดหรือกินผลิตภัณฑ์นมหรือนมถั่วเหลืองที่เสริมวิตามิน D มีส่วนช่วยให้เราได้รับวิตามิน D เพียงพอทุกวัน ทว่า... จำเป็นต้องกินอาหารเหล่านี้พร้อมกับอาหารที่มีไขมัน เนื่องจากวิตามิน D ในอาหารจำเป็นต้องใช้ไขมันเป็นตัวทำละลาย

...

(4). ไลโคพีน

  • สารไลโคพีน (lycopene) เป็นสารพฤกษเคมีหรือสารคุณค่าพืชผักที่พบในผักผลไม้ที่มีสีแดง เช่น มะเขือเทศ เสาวรสสีชมพู แตงโม ฯลฯ

...

  • สารนี้จะดูดซึมได้ดีขึ้นถ้าผ่านการปรุงด้วยความร้อน หรือทำให้สุก เช่น ซอสมะเขือเทศ ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ ฯลฯ และกินพร้อมอาหารที่มีไขมัน

...

(5). ผักผลไม้

  • การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การกินผักผลไม้น้อยเกินเพิ่มความเสี่ยง (โอกาสเป็น) มะเร็งต่อมลูกหมาก

...

  • คำแนะนำคือ กินผักผลไม้ (ผลไม้ทั้งผลที่ไม่หวานจัด ไม่ใช่น้ำผลไม้) หลายๆ สี (อย่างน้อยควรมีสีจราจร = เขียว แดง เหลือง) วันละ 5 ส่วนบริโภคขึ้นไป (1 ส่วน = กล้วยหรือส้มขนาดกลาง 1 ผล = แผ่น CD โดยมีความหนาประมาณนิ้วก้อย)

...

(6). ปลา

  • การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า คนที่กินปลาน้อยเกินมีความเสี่ยง (โอกาสเป็น) มะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น

...

  • คำแนะนำคือ ให้กินปลาที่ไม่ผ่านการทอด เช่น ปลาต้ม ปลานึ่ง ปลาย่าง ปลาปิ้ง ฯลฯ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อให้ได้ไขมันชนิดดีพิเศษ หรือโอเมกา-3 มากพอ
  • ปลาทะเลมีโอเมกา-3 มากกว่าปลาน้ำจืด

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

 

...

ที่มา                                                             

 

... 

  • Thank Intelihealth > The dietary-prostate connection > [ Click ] > April 7, 2008.

...

  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือหมออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร
  • ขอขอบคุณ > อ.อนุพงษ์ แก้วมา + อ.ณรงค์ ม่วงตานี > สนับสนุนเทคนิค iT.

...

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 11 สิงหาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 200501เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2008 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท