กุญแจ


ถ้าท่านปราถนาเข้าสู่ขุมสมบัตินี้ จงวางชะแลงของท่านลง ไม่ว่ามันจะแข็งแกร่งสักเพียงไรก็ไม่สามารถเปิดประตูได้ หากแต่จงใช้ลูกกุญแจแห่งความเมตตาและความใส่ใจ เมื่อท่านสอดลูกกุญแจนี้เข้าไป ท่านจะพบว่ามันพอเหมาะกับกุญแจจริงๆ และด้วยการหมุนลูกกุญแจเพียงเบาๆ ขุมสมบัติในห้องนิรภัยก็จะเป็นของท่าน

ในกาลครั้งหนึ่ง มีห้องนิรภัยห้องหนึ่งบรรจุไว้ด้วยทองคำ เพชร และอัญมณีจำนวนมาก ที่ประตูของห้องนิรภัยนี้มีกุญแจที่มั่นคงติดอยู่เพื่อรักษาความปลอดภัยของทรัพย์สินภายใน

เจ้าชะแลงผู้ทรงพลังได้มาพบเข้า และเห็นกุญแจเป็นประหนึ่งสิ่งที่ท้าทาย มันยังไม่เคยพบกับสิ่งใดที่มันไม่สามารถทำลายได้มาก่อน “พวกเขาคิดได้อย่างไรนะ ว่าจะสามารถป้องกันของภายในตู้นิรภัยได้ด้วยกุญแจธรรมดาๆเช่นนี้?”

ชะแลงเป็นแท่งเหล็กที่หนักและหนา ลังไม้ หีบ และตู้เฟอร์นิเจอร์จำนวนนับไม่ถ้วนได้ถูกมันทำให้แตกสลายมาแล้ว มันจึงทะนงตัวในความแข็งแรงและอำนาจในการทำลายของมัน เมื่อมองไปที่กุญแจแล้วมันแน่ใจว่าจะตีให้แตกได้ เพียงแค่เอาจริงเอาจังเท่านั้น

ชะแลงได้ตีลงไปที่กุญแจ ด้วยหวังว่าจะทำให้แตกออกเป็นชิ้นๆ แต่ไร้ผล ทำให้มันปลาดใจ จึงตีลงไปอีกด้วยความแรงที่เพิ่มขึ้น ไร้ผลเช่นเดิม---กุญแจไม่ปรากฏรอยบุบสลาย! ชะแลงเริ่มหงุดหงิด

มันกระหน่ำตีลงไปอีกอย่างสุดกำลัง ตี! ตี! ตี!....ประกายไฟกระเด็นวูบวาบ เสียงดังอึกทึก สุดท้ายต้องหยุดไปเพราะหมดแรง และรู้สึกประหลาดใจที่เห็นกุญแจยังคงสภาพเดิม นี่เป็นอุปสรรคหนักหนาที่สุดเท่าที่เคยพบ

มันพยายามประเมินว่าจะทำอย่างไรต่อไป ในที่สุดลูกกุญแจได้ปรากฏตัวขึ้น มันพิจารณาดูลูกกุญแจแล้วพบว่า ลูกกุญแจมีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับตัวมัน เป็นความแตกต่างที่น่าทึ่ง ชะแลงใหญ่มหึมาและแข็งแรง ส่วนลูกกุญแจดูเหมือนไร้ความหมายและอ่อนแอ

ลูกกุญแจได้ถามชะแลงว่า “เธอใช่ใหม ที่ทำเสียงอึกทึกครึกโครมทั้งหมดนี้?”

“ใช่แล้ว ประเดี๋ยวจะดังยิ่งกว่านี้อีก ของให้ฉันหายเหนื่อยก่อนเถอะ จะได้รู้กันไปว่าใครจะแน่กว่ากัน!”

“ไม่จำเป็นหรอก” ลูกกุญแจกล่าวพลางเลื่อนตัวเข้าไปในรูกุญแจแล้วหมุนตัวเพียงเล็กน้อย ชะแลงได้ยินเสียงดัง คลิ๊ก! และแล้วกุญแจก็หลุดออก

ชะแลงไม่อยากจะเชื่อเลย “เดี๋ยวก่อน เช่นนั้นมันไม่ถูกต้อง ฉันมีกำลังมากกว่าเธอ แล้วทำไมเธอสามารถเปิดมันได้อย่างง่ายดาย โดยที่ฉันกลับทำไม่ได้ ทั้งๆที่ได้พยายามเต็มที่แล้ว?”

ลูกกุญแจบอกกับชะแลงว่า “ก็เพราะว่าฉันเป็นหนึ่งในผู้ที่รู้ใจกุญแจนะซิ”

เราทุกคนล้วนเคยพบกับอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ทำให้ไม่ได้สิ่งที่ต้องการและพบกับความไม่สมหวัง เมื่อเราเผชิญกับอุปสรรคเช่นนั้น มันสะดวกดีที่จะทำเหมือนอย่างชะแลง ด้วยการใช้กำลังอย่างไร้เหตุผลทำลายสิ่งที่ขวางทางเสีย และเมื่อเราสามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ เราเรียกว่าเป็นการฝ่าอุปสรรค

และบ่อยครั้งอีกเหมือนกันที่เราพบว่าชะแลงทำงานไม่ได้ผล ตัวอย่างเช่นเซลแมนผู้เผชิญอุปสรรคต่อความก้าวหน้า เขาอาจต้องใช้กลยุทธในการขายให้มากขึ้น ส่วนการใช้วิธีของชะแลงนั้น ยิ่งใช้ความพยายามมากยิ่งทำให้อึกทึก แต่ประสบความสำเร็จน้อย หรือไม่ประสบความสำเร็จเลย

หรือเมื่อเกิดความไม่ลงรอยกับผู้อื่น และท่านรู้ว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก ท่านจะยิ่งใช้การบีบบังคับมากขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำลงไปบนความขัดแย้งและนำไปสู่การแตกหัก ท่านจะยิ่งขัดข้องใจมากขึ้น เขาก็จะยิ่งยึดติดกับทรรศนะที่ดื้อรั้นมากขึ้นกว่าเดิมด้วยการปฏิเสธที่จะรับพิจารณาเหตุผลของท่าน การมีปฏิกริยาระหว่างกันกลายเป็นการใช้กำลัง ในที่สุดก็เหมือนกับชะแลง ท่านต้องหยุดเพราะหมดแรง

ปราชญ์เต๋าเข้าถึงอุปสรรคชีวิตดังกล่าวด้วยวิธีที่แตกต่างไป เพราะจากการสังเกตุดูธรรมชาติทำให้ปราชญ์ตระหนักรู้ว่า การมีอำนาจอย่างแท้จริงมิได้มีการปรากฏของกำลัง และในระยะยาวจะพบได้เสมอว่า “อ่อน” สามารถพิชิต “แข็ง” ดังนั้นเต๋าเต็กเก็ง บทที่ ๔๓ จึงกล่าวว่า

“สิ่งที่อ่อนที่สุดในโลก พิชิตสิ่งที่แข็งที่สุดในโลก”

ตัวอย่างเช่น น้ำสามารถยืดหยุ่นและปรับให้เข้ากับรูปร่างต่างๆได้สุดคณานับ ขณะที่หินเป็นของแข็งและไม่ยินยอม แม้กระนั้นเมื่อให้เวลา น้ำจะสามารถแทรกซึมเข้าสู่ เจาะทะลุ และเซาะกร่อนหินได้

ยังมีตัวอย่างอื่นๆอีกมาก เมื่อพายุเฮอริเคนมา ต้นหญ้าที่ต่ำเตี้ยและยืดหยุ่นได้จะโอนอ่อนไปตามกระแสลม ทำให้อยู่รอด ส่วนต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงแต่ไม่สามารถยืดหยุ่นได้กลับถูกทำให้โค่นล้ม ถอนรากถอนโคน หรือเมื่อพิจารณาดูว่า อะไรเกิดขึ้นกับผู้คนที่ล่วงเข้าสู่วัยสูงอายุ จะเห็นว่าพวกเขาสูญเสียฟัน(แข็ง) แต่ลิ้น(อ่อน)ของพวกเขายังคงอยู่เหมือนเดิม

เมื่อเรานำหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้กับธุระกิจ เราจะเริ่มเข้าใจว่า การยัดเยียดมุมมองของท่านให้กับผู้อื่นนั้น มิใช่ความคิดที่ดีเยี่ยม “ความถูกต้อง”มิใช่สิ่งสำคัญที่สุด ท่านสามารถยืนยันความถูกต้องของท่านจนกระทั่งพูดไม่ออก แต่ก็ยังคงไม่ประสบความสำเร็จในการเอาชนะผู้อื่น ท่านอาจได้รับสิ่งตรงข้าม และเป็นการผลักไสเขาออกไป

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเราพยายามบังคับให้ทำหรือบังคับให้เห็นพ้อง ผลที่ได้รับออกมาจะน้อยมาก และไม่สมน้ำสมเนื้อกับงานที่เราใส่เข้าไป นอกจากความพยายามและการดิ้นรนไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นความรุดหน้าแล้ว ยังเป็นการทำให้เกิดความตึงเครียด ทำลายความสอดคล้อง และทำให้ความสัมพันธ์เสียไป

วิธีที่ดีกว่า---วิธีของเต๋า---ซึ่งคล้ายกับลูกกุญแจ กุญแจไม่เป็นอุปสรรคสำหรับลูกกุญแจ เพราะว่าลูกกุญแจรู้ถึงการทำงานภายในของกุญแจ ในทำนองเดียวกัน เมื่อเผชิญกับปัญหา สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือ ไม่โจมตีจากภายนอก หากแต่ต้องเข้าใจปัญหาจากภายใน เมื่อท่านเข้าใจทะลุประโปร่งในหัวใจของเรื่องราวดีแล้ว มันก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ในฐานะอุปสรรคได้อีกต่อไป จะไม่มีอะไรสำหรับให้ท่านทุบออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และไม่มีอะไรให้ท่านต้องฟันฝ่า

เมื่อได้รับการติดอาวุธด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว จากนั้นใช้ความพยายามเพียงน้อยนิดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ ดุจเดียวกับการหมุนเพียงเบาๆของลูกกุญแจ การกระทำของท่านดูเหมือนไม่มาก และท่านยังสามารถได้รับการเห็นพ้อง ขณะเดียวกันก็ลดความตึงเครียด สนับสนุนความสอดคล้อง และสร้างความสัมพันธ์ นี่คือกลเม็ดที่เรียกว่า “วูไว” ซึ่งเป็นการกระทำที่ดูเหมือนไม่ได้กระทำ ไม่มีอะไรที่ปราชญ์เต๋าทำไม่สำเร็จ ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของปราชญ์---การเห็นข้างในอย่างแท้จริง---คือคำเฉลยปัญหาของกลเม็ดนี้

หลักการเดียวกันนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่เพียงเฉพาะเมื่อเราประสบปัญหาเท่านั้น ยังสามารถนำไปใช้ได้เมื่อเรามีผลกระทบซึ่งกันและกันกับผู้อื่น วันแล้ววันเล่า หัวใจของทุกๆคนก็เหมือนกับห้องนิรภัยที่เก็บของมีค่า มีกุญแจที่แข็งแกร่งติดอยู่เพื่อรักษาความปลอดภัย สมบัติในตู้นิรภัยคือตัวแทนของศักยภาพแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ของหัวใจ มิตรภาพ และความเกื้อกูล

ถ้าท่านปราถนาเข้าสู่ขุมสมบัตินี้ จงวางชะแลงของท่านลง ไม่ว่ามันจะแข็งแกร่งสักเพียงไรก็ไม่สามารถเปิดประตูได้ หากแต่จงใช้ลูกกุญแจแห่งความเมตตาและความใส่ใจ เมื่อท่านสอดลูกกุญแจนี้เข้าไป ท่านจะพบว่ามันพอเหมาะกับกุญแจจริงๆ และด้วยการหมุนลูกกุญแจเพียงเบาๆ ขุมสมบัติในห้องนิรภัยก็จะเป็นของท่าน

โดย ภ.ก.เกรียงไกร  เจริญโท

หมายเลขบันทึก: 20033เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2006 01:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท