เมื่อท่านทำให้บางอย่างแตกหัก
ท่านสร้างสรรค์สิ่งของขึ้น
เมื่อท่านสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง
ท่านทำลายสิ่งของไป
สรรพสิ่งที่เป็นรูปธรรม
ไม่มีการสร้างสรรค์หรือทำลาย
ในที่สุดแล้วแนวความเห็นเหล่านี้
ก็เชื่อมโยงดุจเป็นหนึ่งเดียวกัน
ทีแรกอาจดูเหมือนสับสน “สร้างสรรค์” และ “ทำลาย” ดูประหนึ่งเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง แต่จวงจื๊อกล่าวว่ามันเชื่อมโยงดุจเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นไปได้อย่างไร? จวงจื๊ออธิบายดังนี้
ผู้ที่รู้แจ้งแล้วเท่านั้นที่มองออกว่า
สิ่งเหล่านั้นเชื่อมโยงดุจเป็นหนึ่งเดียวกัน
ดังนั้นแทนที่จะโต้เถียงกันในเรื่อง
นี้ด้วยความรู้ที่มีอยู่เดิม
จงเข้าหามั้นด้วยวิธีธรรมดาๆ
การเข้าหาด้วยวิธีนี้เป็นการใช้ความคิดอย่างตรงไปตรงมา
ผู้ที่ใช้มัน เชื่อมโยงกับมัน
ผู้ที่เชื่อมโยงกับมัน บรรลุมัน
การเข้าใจได้ง่ายๆเช่นนี้ อยู่ไม่ไกล
จวงจื๊อได้แนะนำวิธีที่ดีที่สุดในการเรียนรู้แนวคิดนี้ให้แล้ว ลองทำตามคำแนะนำ และพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ อาจช่วยให้เข้าใจคำพูดที่ดูประหนึ่งขัดแย้งกันนี้ได้ดีขึ้น
ลองพิจารณาดูว่าในการสร้างเฟอร์นิเจอร์นั้นต้องทำอะไรบ้าง? ทำไมเราจึงต้องตัดต้นไม้ออกเป็นท่อนๆเพื่อใช้ในการก่อสร้าง! ในการสร้างรูปแกะสลักนั้นปฏิมากรต้องทำอะไรบ้าง? อา....เขาต้องใช้สิ่วและฆ้อนสกัดบางส่วนของก้อนหินออกไป!
จากทั้งสองตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า การสร้างได้เกิดขึ้นตลอดเวลาที่อยู่ในขั้นตอนของการทำลาย ไม่สามารถที่จะมีสิ่งหนึ่งโดยปราศจากอีกสิ่งหนึ่งได้ การกระทำทั้งสองชนิดที่เห็นว่าตรงกันข้ามนี้ ความจริงแล้วก็คือสองด้านของเหรียญเดียวกัน
เมื่อเราใช้การเข้าหามันด้วยวิธีธรรมดาๆตามที่จวงจื๊อแนะนำ จึงพบว่าคำพูดที่ดูประหนึ่งขัดแย้งกันนั้นได้อันตรธานไป เราสามารถเชื่อมโยงกับความคิดเห็นนั้นได้อย่างง่ายดาย และเข้าใจอย่างชัดเจน------------จริงตามที่จวงจื๊อกล่าว
มันทั้งหมดเลื่อนไหลไปตามธรรมชาติ
การบรรลุภาวะเช่นนี้ และแม้จะไม่รู้จักมัน
คือสิ่งที่เราเรียกว่า เต๋า
ทุ่มเทความพยายามเพื่อรวมสิ่งเหล่านี้ให้เป็นหนึ่ง
โดยไม่รู้ว่ามันเป็นหนึ่งเดียวกันอยู่แล้ว
นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า “เช้าสาม”
อะไรคือ “เช้าสาม”?
จวงจื๊อได้บอกไว้แต่ต้นแล้วว่า วิธีที่ดีที่สุดในการเข้าหาปัญหานี้คือ อย่าโต้เถียงกันโดยใช้ความคิดที่มีอยู่เดิมของเรา ตอนนี้ท่านได้ขยายความตรงจุดนี้โดยบอกเราว่า การกระทำเช่นนั้นมีแต่เหนื่อยเปล่าเท่านั้น จากนั้นได้สาธิตความหมายของท่านด้วยนิทานเรื่องนี้
ชายผู้หนึ่งเลี้ยงลิงไว้ฝูงหนึ่ง เขาพูดกับลิงว่า พวกเจ้าจะได้กินลูกเกาลัดก็แต่เพียงสามลูกในตอนเช้า กับอีกสี่ลูกในตอนเย็น พวกลิงได้ยินเช่นนั้นก็พากันโกรธแค้นยิ่งนัก ชายคนนั้นจึงพูดเสียใหม่ว่า ถ้าเช่นนั้นเราจะให้พวกเจ้าได้กินสี่ลูกในตอนเช้าและอีกสามลูกในตอนเย็น พวกลิงพากันดีใจ ถึงแม้ปริมาณอาหารและคุณภาพอาหารในแต่ละวันมิได้ถูกเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นผลให้เกิดความโกรธและความพอใจ ทั้งหมดนี้เนื่องจากการจัดการที่แตกต่างกัน
การที่ฝูงลิงพากันโกรธในตอนแรก เนื่องจากส่วนแบ่งสามลูกในตอนเช้าและสี่ลูกในตอนเย็นดูประหนึ่งไม่ยุติธรรม ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คนเลี้ยงลิงรู้ดีว่าลิงคิดอย่างไร เขาจึงทำให้พวกลิงผ่อนคลายลงอย่างง่ายดายด้วยการสลับอาหารทั้งสองมื้อเสีย
สำหรับพวกลิงแล้ว การจัดการเสียใหม่ทำให้ดูเหมือนแตกต่างไป และดังนั้นต้องแตกต่างกัน พวกมันไม่ตระหนักรู้ว่าความแตกต่างนั้นเป็นเพียงผิวเผิน ส่วนแบ่งที่ได้รับแต่ละวันของพวกมันยังคงเป็นเจ็ดลูกเหมือนเดิม มิได้เปลี่ยนไปเลยแม้แต่น้อย
เราอาจเปรียบได้ว่าลิงในเรื่องก็เหมือนกับเรา ส่วนคนเลี้ยงลิงเปรียบเสมือนความเป็นจริงที่เราสัมผัสรู้ เพราะว่าคนส่วนมากมองหรือคิดอะไรตื้นๆเหมือนเช่นลิง เรามักไม่สามารถสัมผัสรู้ความเป็นหนึ่งที่เป็นพื้นฐานของการดำรงอยู่ เราเห็นว่าเป็นการแบ่งและการแยกออกจากกัน แม้ในขณะที่มันเป็นมายา
ตัวอย่างเช่นเรายึดติดกับการมีชีวิต(การสร้างสรรค์) และกลัวการตาย(การทำลาย) เพราะเราไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทั้งสองสิ่งนั้นรวมกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งหมด ขั้นตอนของการมีชีวิตเกิดขึ้นในขณะเดียวกันกับที่การตายก็ดำเนินต่อไปอยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถมีสิ่งหนึ่งโดยปราศจากอีกสิ่งหนึ่งได้
สำหรับสิ่งที่ไม่เคยมีชีวิตอยู่เลย มันก็จะไม่สามารถตายได้เช่นกัน ความตายคอยเราอยู่เพียงเพราะว่าในขณะนี้เรามีชีวิตอยู่อย่างรุ่งโรจน์ ถ้าปราศจากความตายย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีชีวิตอันเป็นที่ทนุถนอมอย่างยิ่งเช่นนี้ ดังนั้นการมีชีวิตและการตายจึงเป็นด้านทั้งสองของเหรียญเดียวกัน บรรดาผู้ที่ไม่สามารถเห็นความจริงนี้จึงไม่ได้ดีไปกว่าพวกลิงในนิทานที่ถูกทำให้หลงผิดอย่างง่ายดาย โดยคิดว่าของสองสิ่งแตกต่างกันโดยพื้นฐาน เพียงเพราะถูกนำเสนอโดยคนละวิธีเท่านั้น
ส่วนผู้ที่สามารถเห็นความจริงนี้ จะเริ่มเข้าใจว่าทำไมบรรดาผู้ที่บ่มเพาะเต๋าที่แท้จริงจึงไม่กลัวตาย พวกเขาไม่ได้ “พิชิต”ความตาย เพราะว่าไม่มีอะไรให้พิชิตหรือเอาชนะ พวกเขาเพียงแค่ยอมรับความตายอย่างเต็มที่เท่าๆกับยอมรับการมีชีวิตเท่านั้น
โดย ภ.ก.เกรียงไกร เจริญโท
ไม่มีความเห็น