การประจบประแจง


จงระมัดระวังเกี่ยวกับความทะนงตน ที่มักยกระดับตัวของท่านเองให้สูงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านคิดว่าคำสอนในเต๋าเต็กเก็งสองบทนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ อาจารย์ในเรื่องนี้ไม่รู้ตัวว่าเขาเป็นคนโอ้อวดหรือคุยโว และเขายังได้เปิดเผยจุดยืนซึ่งตรงกันข้ามอย่างยิ่งกับผู้ที่เขาคิดว่าเขาเป็น เราสามารถเรียนรู้ได้มากจากแบบอย่างของเขา!

บทที่๒๒ของเต๋าเต็กเก็งได้กล่าวถึงพฤติกรรมของปราชญ์ไว้ดังนี้

ท่านมิได้แสดงตนให้ปรากฏ ดังนั้นจึงทำให้เห็นเด่นชัด

ท่านมได้ผยองลำพอง ดังนั้นจึงทำให้มีชื่อเสียง

ท่านมิได้ยกย่องตนเอง ดังนั้นจึงมีคุณงามความดี

ท่านมิได้โอ้อวด ดังนั้นจึงอยู่ได้นาน

 

ในบทที่๒๔ ได้กล่าวไว้เกือบเหมือนกันว่า

ผู้ที่แสดงตนให้ปรากฏ จะไม่เป็นที่รู้จัก

ผู้ที่ผยองลำพอง จะไม่มีชื่อเสียง

ผู้ที่ยกย่องตนเอง มิได้มีคุณความดี

ผู้ที่โอ้อวด จะอยู่มิได้นาน

 

คำพูดที่กระชับและรวบรัดทั้งหมดที่เต๋าเต็กเก็งได้ให้ไว้ในบทที่๒๔นี้เป็นการกล่าวย้ำที่น่าสังเกตและน่าสนใจ มันเป็นการบอกเป็นนัยว่านี่คือบทเรียนที่มีความสำคัญ ดังนั้นเราควรเอาใจใส่เป็นพิเศษ

คนจำนวนมากอาจคิดว่านี่เป็นเรื่องง่ายๆสำหรับอาจารย์ เพราะพวกเขาไม่โอ้อวดอยู่แล้ว อาจจัดอยู่ในจำพวกเหนียมอาย ไม่แสดงตน ไม่ลำพอง ไม่ยกย่องตัวเอง และไม่ขี้โม้เหมือนคนทั่วไป แต่ถ้าเรามองให้ลึกลงไปสักหน่อยจะพบว่า ความจริงแล้วมันไม่ง่ายเช่นนั้น เนื่องจากความต้องการของอัตตาได้ปรับตัวไปอยู่ในรูปแบบที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

นับเป็นเรื่องปรกติอยู่แล้วสำหรับผู้ฝึกฝนเต๋าที่จะนึกว่าตัวเองได้เปรียบผู้ที่ไม่รู้เรื่องเต๋า เพราะว่าปรัชญาเต๋าทำให้มีความรอบรู้ในทางโลกมากกว่า งดงามกว่า และทำให้สอดคล้องได้มากกว่าระบบความเชื่อถืออื่นๆ เรามักสันนิฐานไว้ก่อน---โดยปราศจากพื้นฐานใดๆ---ว่ามันทำให้เราเหนือกว่าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราทึกทักเอาเองประหนึ่งว่าเรามิได้สนใจคำพูดหรือการกระทำที่เป็นเปลือกนอกมากเกินไป นี่คือบางสิ่งที่พวกเราส่วนมากยอมรับอยู่ในใจ

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้แสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนเกี่ยวกับการประจบประแจงที่ท่านอาจนึกไม่ถึง

เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยที่การปกครองของจักรพรรดิ์ดำเนินไปตามระบบของขงจื๊อ ในระบบนี้พวกขุนนางจะต้องถูกคัดเลือกมาจากบรรดาสานุศิษย์ของขงจื๊อที่มีพฤติกรรมดีงาม

ศิษย์สองคนที่ประสบความสำเร็จจากการคัดเลือกในครั้งนี้ต้องไปดำรงตำแหน่งในหัวเมืองห่างไกล พวกเขาจึงเข้าไปลาอาจารย์และขอคำแนะนำ ตามประเพณีในสมัยนั้น

อาจารย์ได้สอนพวกเขาว่า “ในสังคมปัจจุบันนี้ ถ้าเธอซื่อสัตย์สุจริตอย่างเถรตรงเกินไป หรือเด็ดขาดเกินไป เธอจะต้องพบอุปสรรคอย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อเธอมีผลกระทบซึ่งกันและกันกับผู้อื่น จงสรรเสริญเยินยอเขา แล้วทุกๆอย่างจะดำเนินไปได้ราบรื่นดีขึ้น”

“ถูกของอาจารย์, ขอรับ” หนึ่งในศิษย์น้อมศีรษะแสดงอาการเห็นด้วย “เท่าที่ศิษย์พิจารณาดูโลกทุกวันนี้ มีน้อยคนมากที่จะไม่ชอบการประจบประแจงอย่างเช่นอาจารย์”

อาจารย์พอใจกับความเห็นนี้เป็นอย่างมาก พวกเขาสนทนากันต่ออย่างสนุกสนาน จนถึงเวลาที่ศิษย์ต้องลาจากไป

เมื่อออกมาพ้นบ้านอาจารย์ ศิษย์คนที่แสดงความคิดเห็นกับอาจารย์ได้หันมาถามเพื่อนร่วมชั้นเรียนว่า “เป็นยังไง, ท่านคิดว่าการสรรเสริญเยินยอในครั้งแรกของข้าพเจ้าเป็นอย่างไรบ้าง?”

นิทานเรื่องนี้เป็นการเหน็บแนมที่น่าขบขัน อาจารย์ได้แสดงความเสียใจที่ผู้คนทั่วไปมีจุดอ่อนต่อการประจบประแจง โดยไม่รู้ตัวว่าตัวเองก็หวั่นไหวง่ายเช่นเดียวกัน เนื่องจากคิดว่าตัวเองเหนือคนอื่นๆ เขาจึงตกเป็นเป้าหมายแรกของการสรรเสริญเยินยอ การยกตัวเองอยู่เหนือผู้คนส่วนมาก เป็นสิ่งที่ทำให้เขาลดต่ำลงสู่ระดับเดียวกัน

จุดประสงค์ของนิทานเรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับเราผู้ซึ่งอยู่บนวิถีแห่งการบ่มเพาะเต๋า ถ้าหากเรารู้สึกว่าตัวเองอยู่สูงเกินกว่าที่จะเรียนรู้บทเรียนแห่งการอ่อนน้อมถ่อมตน นั่นแหละ....ที่จริงแล้วไม่รู้อะไรเลย!

อาจารย์ในเรื่องนี้เป็นบุคคลประเภทยกย่องตัวเอง ในใจของเขามีความเชื่อมั่นในคุณความดีของตัวเอง ถึงแม้จะไม่เคยพูดออกมาดังๆ แต่ก็สามารถเห็นได้ถึงการไม่ถ่อมตัวอย่างชัดเจน เขาไม่รู้ว่าการยกย่องตัวเองที่อยู่ข้างในได้ถูกศิษย์ของเขาสังเกตเห็น เขามองไม่เห็นการยกยอปอปั้นที่ตัวเองได้รับ เพราะว่ามันเข้ากันได้พอดีกับความคิดเห็นส่วนตัวของเขา ดังนั้นมันจึงสามารถรอดพ้นจากความสามารถในการจับผิดของเขาไปได้

เต๋าเต็กเก็งได้บอกเราว่า บุคคลเช่นนั้นไม่มีคุณงามความดีที่แท้จริง ภาพลักษณ์แห่งตัวตนที่ผยองลำพองของเขามีพื้นฐานมาจากความไม่มั่นคงมากกว่าจากความสามารถที่แท้จริง ผู้ที่ไม่บรรลุผลย่อมต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ทุกๆอย่างเกี่ยวกับการบรรลุผลเพียงน้อยนิดที่เขามีอยู่ ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่บรรลุผลสำเร็จอย่างแท้จริงอาจไม่สนใจที่จะยกระดับตัวเอง เนื่องจากเขาเพ่งความสนใจอยู่ที่การทำงานของเขา ไม่ใช่อยู่ที่การส่งเสริมตนเอง

มันดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ถาวรของธรรมชาติมนุษย์ ในการที่สามารถมองเห็นผู้อื่นได้ชัดเจนกว่าการเห็นตัวเอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราสามารถมองเห็นความไร้สาระของคนคุยโวและคุณค่าแท้จริงของบางคนว่าไม่ได้มีมากอย่างที่เขาอวดอ้าง การพูดเพื่อเอาใจและวิธีการจัดการที่ลวงตาอาจปกปิดความจริงได้ชั่วครู่ชั่วยาม ในไม่ช้าเราก็สามารถคิดคำนวณออกมาได้ นี่คือทำไมการโอ้อวดจึงทำให้อยู่ไม่ได้นาน

จงระมัดระวังเกี่ยวกับความทะนงตน ที่มักยกระดับตัวของท่านเองให้สูงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านคิดว่าคำสอนในเต๋าเต็กเก็งสองบทนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ อาจารย์ในเรื่องนี้ไม่รู้ตัวว่าเขาเป็นคนโอ้อวดหรือคุยโว และเขายังได้เปิดเผยจุดยืนซึ่งตรงกันข้ามอย่างยิ่งกับผู้ที่เขาคิดว่าเขาเป็น เราสามารถเรียนรู้ได้มากจากแบบอย่างของเขา!

โดย ภ.ก.เกรียงไกร  เจริญโท

หมายเลขบันทึก: 20030เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2006 00:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท