นายสม วิวรรณ : อาจารย์ปู่ บรมครูแห่งเวียงป่าเป้า


          นายสม  วิวรรณ  เกิดเมื่อวันที่  2  มีนาคม  พ.ศ. 2469  ณ บ้านสันคอกช้าง  ตำบลรอบเวียง  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย  เป็นบุตรคนโตของ  นายวิน และนางบัวนำ  วิวรรณ  มีน้อง 2 คน คือ  นายสอน  และเด็กหญิงสมศรี  วิวรรณ (ถึงแก่กรรมตั้งแต่เด็ก)
        นายสมได้เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงราย  เมื่อ พ.ศ. 2476
2478  แล้วเข้าเรียนโรงเรียนช่างไม้จังหวัดเชียงราย  จนสำเร็จได้รับประกาศนียบัตรมัธยมอาชีวศึกษา  ต่อมาเมื่อเข้ารับราชการครู  ได้ศึกษาด้วยตนเอง สอบได้ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมูล(พ.) ใน พ.ศ.2492  และสอบได้ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษประถม(พ.ป.) ใน พ.ศ.2506
      นายสมเริ่มเข้ารับราชการครู เมื่อ พ.ศ.2487  โดยการชักชวนของน้าเขยซึ่งเป็นศึกษาธิการอำเภอเวียงป่าเป้า  ได้เริ่มเป็นครูที่โรงเรียนบ้านในเวียง  อำเภอเวียงป่าเป้า  จังหวัดเชียงราย  ได้รับเงินเดือนเดือนละ 12 บาท  สอนอยู่ได้ไม่กี่ปีก็ลาออกจากการเป็นครู  แล้วมาสมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการครูอีกครั้งใน พ.ศ.2501 โดยได้สอนในโรงเรียนบ้านในเวียง  ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่จัตวาในโรงเรียนเดิม  แล้วย้ายไปเป็นครูใหญ่จัตวาที่โรงเรียนบ้านป่างิ้ว  ในอำเภอเดียวกัน  จนได้เลื่อนเป็นครูใหญ่ชั้นเอก ใน พ.ศ. 2507 และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่ ระดับ 6 โรงเรียนบ้านป่าสัก  ในอำเภอเดียวกัน  จนเกษียณอายุราชการ  ใน พ.ศ. 2530
          นายสมเป็นครูที่รักการสอนนักเรียนอย่างมาก  แม้ชีวิตราชการส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหาร  แต่จะมีชั่วโมงสอนตลอด  ทั้งสอนในชั่วโมงเรียนและสอนนอกเวลาเรียน  วิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่นายสมถนัดในการสอนมากที่สุด  ได้ทุ่มเทเอาใจใส่นักเรียนให้อ่านออกเขียนได้  โดยใช้วิธีสอนแบบจำแนกคำ หรือที่เรียกว่า
แจกลูก   การสอนเขียนและอ่านจะฝึกนักเรียนให้เขียนและอ่านถูกต้องตามอักขระวิธี  การคัดลายมือก็เน้นให้สวยงามและมีหัวด้วย  ฝึกให้นักเรียนอ่านและท่องจำอาขยาน  อ่านทำนองเสนาะ  ทั้งโคลง  กลอน  กาพย์ และอื่นๆ  การสอนทุกครั้ง จะใช้เทคนิคการสอน และใช้สื่อการสอนประกอบเสมอ  ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างสนุกสนาน  นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
           นอกจากนี้นายสมยังฝึกอบรมนักเรียนด้านคุณธรรมจริยธรรม โดยใช้บัตรความดี  ถ้านักเรียนคนใดประพฤติปฏิบัติตนไม่เหมาะสม  ก็จะถูกยึดบัตรความดี  ถ้าใครทำดีก็จะเพิ่มบัตรความดีให้   จนครบ 1 เดือนก็จะสรุปและให้คะแนนความดี  ใครมีบัตรมากก็ได้คะแนนมาก  ทำให้นักเรียนตื่นตัว ทำความดีกันมากขึ้น
           การฝึกฝนด้านประชาธิปไตยแก่นักเรียน  เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นายสมทำได้ดี  ในสมัยนั้นการฝึกฝนด้านประชาธิปไตยยังไม่ดำเนินการกันแพร่หลาย  แต่นายสมได้เริ่มฝึกให้มีการเลือกตั้งสภานักเรียน  มีการหย่อนบัตรเลือกประธานและกรรมการสภานักเรียนเป็นประจำทุกปี  เมื่อนายสมย้ายไปอยู่โรงเรียนใด  ก็ยังส่งเสริมสนับสนุนให้ทำกิจกรรมนี้ทุกแห่งด้วย
           นายสมเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถหลายด้าน  ที่มีผลงานเด่นชัดมากที่สุดมี 2 เรื่อง คือ  ผลงานด้านดนตรี  และผลงานด้านการแต่งคำประพันธ์ 
           ผลงานด้านดนตรี  ได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ทางดนตรีอย่างแท้จริง  โดยเล่นดนตรีเป็นเกือบทุกชิ้น  ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล  มีฝีมือยอดเยี่ยมในการตีขิมและเป่าแซกโซโฟน  ที่เกิดจากการฝึกฝนด้วยตนเองทั้งสิ้น  รวมทั้งมีความรู้เรื่องโน้ตสากลเป็นอย่างดีด้วย  นายสมได้ถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีโดยเฉพาะดนตรีไทย เช่น  ขิม  ระนาด  ซออู้  ซอด้วง  และอื่นๆให้แก่ศิษย์ทุกรุ่น  โดยสอนปูพื้นฐานและฝึกจนชำนาญ           
         ศึกษาธิการอำเภอเวียงป่าเป้าในสมัยนั้น  ได้สนับสนุนให้นายสมตั้งวงดนตรีสากลประเภทคอมโบ้ขึ้น ซึ่งเป็นวงดนตรีวงแรกของอำเภอเวียงป่าเป้า  ที่มีนายสมเป็นหัวหน้าวงดนตรี มีคณะครูและข้าราชการในอำเภอเวียงป่าเป้าเป็นสมาชิก  นายสมได้นำวงดนตรีออกไปช่วยงานของชุมชนและหน่วยงานต่างๆอย่างต่อเนื่อง  เช่น งานกาชาด  งานฤดูหนาวประจำปี  งานวัด  เป็นต้น  จนเป็นที่ชื่นชมของชาวเวียงป่าเป้าทั่วไป
         นายสมเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงในการแต่งเพลง  ได้แต่งเพลงไว้ทั้งหมด 42 เพลง  ที่ได้รับความนิยมมากคือเพลงประจำอำเภอและเพลงประจำตำบล เพื่อปลูกฝังให้คนรักท้องถิ่นของตน  เช่น  เวียงป่าเป้ารำลึก  แม่ขะจานที่รัก  ป่างิ้วที่รัก  บ้านโป่งเทวีที่รัก  ป่าสักที่รัก  ฮ่างต่ำที่รัก เป็นต้น  เพลงเหล่านี้มีความไพเราะ เป็นที่ประทับใจ  เป็นที่รู้จักกันดีในอำเภอเวียงป่าเป้า  และมักจะถูกนำมาขับร้องในโอกาสต่างๆอยู่เสมอ  เช่น  งานเลี้ยง  งานมงคลสมรส  งานขึ้นบ้านใหม่  เป็นต้น  โดยนายสมจะเป็นทั้งผู้แต่งเนื้อร้อง  ทำนอง  เป็นผู้เล่นดนตรี และเป็นนักร้องด้วย
        ตัวอย่าง 
เพลงเวียงป่าเป้าของเรา
        
เวียงป่าเป้าของเรามีเขาบังเป็นรั้วกั้น  จรดกับขอบฟ้าที่น่ายล  ยามสายัณห์ตะวันจะจากไปฟากโน้น  เรานี้สิ้นกังวลความหนาวจะดลมาเยือน
          แว่วเสียงชะนีที่โหวกโวย  ลมโชยดอกไม้ใจลอยเลื่อน  สุขใจหนอชื่นใจอะไรจะเหมือน  แม้นใครได้มาเยือน  คงระรื่นชื่นอารมณ์
        น้ำแม่ลาวหนุ่มสาวมาอาบเล่น  สาดกระเซ็นและเห็นชื่นอารมณ์  ปลาน้อยลอยวนแหวกว่าย  เกลื่อนกระจายหมายใจให้คนชม  สาวหนุ่มเขาเราหยอกเย้าเร้าเริงรมย์  บัวลอยแฝงบ่มภุมรินทร์พากลิ่นขจร
       เวียงป่าเป้าของเรามีเขาบังเป็นรั้วกั้น  เด่นวิวทิวไม้ในดงดอน  ฟังเสียงครวญชวนให้อกใจสะท้อน  ปลายยุคนธรตะวันจะจรแรมไกล  นั่นเสียงดนตรีที่บรรเลง  เป็นเพลงให้หายคลายหมองไหม้  ค่ำคืนหนอชื่นชูมองดูทางไหน  เหลียวมองทั่วทิศใดดั่งเมืองแมนแดนวิมาน

         ผลงานด้านการแต่งคำประพันธ์   ถือเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แก่นายสมเป็นอย่างมาก  โดยได้แต่งคำประพันธ์อันไพเราะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง  ตลอดจนบทกวีและบทเพลง   ได้ประพันธ์เพลงพื้นบ้าน ค่าวฮ่ำ และจ้อยซอ ได้อย่างไพเราะประทับใจ  แต่งตั๋วเมือง(ตัวหนังสือล้านนา)  เล่าเจี้ย(เล่าเรื่องขำๆ)  กำบ่าเก่า(สุภาษิตโบราณของชาวล้านนา) โดยผลงานดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือต่างๆ  วารสารครูเชียงราย  จุลสารวนาเทวี  และหนังสือพิมพ์เวียงกาหลง  อย่างต่อเนื่อง ที่รวบรวมได้มี 219 รายการ
          นอกจากนี้ยังได้เขียนลำนำเพลงออกอากาศทางสถานีวิทยุ เอฟเอ็ม ราชดำริสัมพันธ์ จังหวัดลำพูน  จำนวน 76 ลำนำ  เช่น  ลำนำยอยศพระเจ้าพรหมมหาราช  ตำนานเวียงสีดาวง  ตำนานโยนกนาคนคร  เป็นต้น  และแต่งโคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน  เพื่อเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์  รวมทั้งแต่งคำประพันธ์เพื่ออวยพรวันเกิดแด่คณะครู และสำหรับอ่านในงานศพ
         ตัวอย่าง ผลงานการประพันธ์ด้วย  ภุชงคประยาตรฉันท์  สำหรับอ่านในงานฌาปนกิจศพ  นายดำรง  จินดารัตน์ ที่นายสม  วิวรรณ ประพันธ์
       
ณ คาบนี้ฤทัยหมอง        ระวีทองมิแจ่มใส
      พระพายเงียบสงัดใน          และใจเศร้าสลดพลัน
      สุโนกนั้นมิส่งเสียง             วิเวกเพียงจะโศกศัลย์
      ธิดาบุตรก็จาบัลย์                ชลเนตรชโลมปราง
      ศศิธรก็เผือดสี                     ลุราตรีสิซีดจาง
      เพราะร่มโพธิหักกลาง        คละไล่ล่วงละสังขาร
     พระคุณพ่อนภากาศ             ก็มิอาจจะเทียบปาน
     ทะเลกว้างฤจักรวาล             ก็น้อยนิดจะเปรียบไป
     ถนอมบุตรธิดานัก                ประจักษ์อยู่เสมอไป
     ณ แต่นี้จะร้างไกล                มิยินเสียงสำเนียงฟัง
     ผิวมาดแม้นจะมีฤทธิ์            นิรมิตชีวินยัง
     จะแลกเอาก็เพราะหวัง         จะขอชีพบิดามา
     อนาถนักมิอาจทำ                 ลุคืนค่ำก็โหยหา
     ระทมจิตอนิจจา                    กำศรวลโศกสะเทือนใจ
     ประณตน้อมอธิษฐาน           และกราบกรานบิดาให้
     สถิตสวรรค์พิมานไกล          สราญรื่นเสมอเทอญ

             
              นายถวิล  ใจคำ  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าสัก   ได้เขียนไว้ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์สม  วิวรรณ  ความตอนหนึ่งว่า
        
...ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีมากในการทำงาน  เป็นครูของครู  และเป็นครูของคนมากมาย...เป็นทั้งครู  เป็นทั้งนักประพันธ์  เป็นกวีเอกแห่งเมืองเชียงราย  บทประพันธ์ของท่านมีนักเขียนหลายคน  มีนักอ่านหลายคน  ชื่นขอบและนำไปเป็นแนวในการศึกษา...
          พ.ต.ท.ประทวน  สังข์สิริพงศ์  อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านสันกู่ และอดีตผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน  ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน  ความตอนหนึ่งว่า
         
...ท่านเป็นคนเก่งในหลายๆด้าน  มีปรัชญาในการดำรงชีวิตที่ไม่เหมือนใคร  เป็นช่างไม้  นักดนตรี  นักโบราณคดี  นักคิด  นักเขียน  นักกลอน  เป็นปูชนียบุคคลที่สร้างสรรค์ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ...
          ด้วยเหตุนี้นายสมจึงเป็นที่รักของศิษย์โดยทั่วไป  ทั้งรุ่นพ่อ  รุ่นลูก  และรุ่นหลาน  ต่างพากันขนานนามนายสมว่า  อาจารย์ปู่ บรมครูแห่งเวียงป่าเป้า  และได้รับเกียรติบัตรในฐานะผู้มีผลงานทางวัฒนธรรม  สาขาวรรณกรรม  ในวันอนุรักษ์มรดกไทย  จากสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ใน พ.ศ. 2543
         ผลงานอื่นของนายสม เช่น  เป็นประธานกลุ่มโรงเรียนป่างิ้ว  ประธานกลุ่มโรงเรียนวนาเทวี  กรรมการประถมศึกษาอำเภอเวียงป่าเป้า  วิทยากรลูกเสือชาวบ้านทุกรุ่นในอำเภอเวียงป่าเป้า  เป็นต้น
        เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทานคือ  ตริตาภรณ์ข้างเผือก  ตริตาภรณ์มงกุฎไทย  และเหรียญจักรพรรดิมาลา
        นายสม  สมรสครั้งแรกกับนางสาวศรีนวล  ใจกันทา  มีบุตร 1 คน คือ  นายสืบศักดิ์  วิวรรณ  สมรสครั้งที่ 2  กับนางสาวสร้อย  วงษา  มีบุตร 1 คน คือ  นายปฏิภาณ  วิวรรณ   และสมรสครั้งที่ 3  กับนางสาวอัมพวัน  สวามิวัสดุ์  มีบุตร 2 คน คือ  นายคนธรรพ์  และ นางสาวคันธรส  วิวรรณ
       หลังเกษียณอายุราชการนายสมยังทำงานอุทิศเวลาให้กับการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น  โดยใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเขียนหนังสือ  เขียนคำประพันธ์  และสอนดนตรีให้แก่ศิษย์อย่างต่อเนื่อง   ต่อมาเริ่มป่วยเป็นโรคเบาหวาน  ต้องรับประทานยาทุกวัน  ซึ่งมีผลทำให้ไตเสื่อม  และมีโรคความดันโลหิตสูงแทรกด้วย  จนเมื่อวันที่ 20  สิงหาคม พ.ศ. 2547  มีอาการป่วยทรุดลง  จึงได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล  และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่  29  สิงหาคม  พ.ศ. 2547  สิริอายุได้ 78 ปี  5 เดือน  27 วัน
                                                                                 นายธเนศ  ขำเกิด    ผู้เรียบเรียง

                                                              ข้อมูลอ้างอิง
          1.หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพอาจารย์สม  วิวรรณ  วันอาทิตย์ที่ 5  กันยายน  พ.ศ. 2547  ณ สุสานป่าสัก  ตำบลป่างิ้ว  อำเภอเวียงป่าเป้า  จังหวัดเชียงราย
          2. นายสุธน  จินดารัตน์  ผู้ให้ข้อมูลประวัติเพิ่มเติม

    

หมายเลขบันทึก: 200276เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2008 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูลดีๆ ที่หลานชายแท้ๆอย่างผม ยังรู้ไม่เท่านี้เลยครับ

คิดถึงปู่ครับ

ไม่ทราบคุณณัฐพล ได้อ่านหนังสือประวัติครูของคุรุสภา ที่ผมเขียนถึงอาจารย์สม วิวรรณ หรือยัง...อาจติดต่อที่คุรุสภาก็ได้ครับ

เรียน คุณธเนศ

อ่านแล้ว สะดุจที่ คุณสืบศักดิ์ วิวรรณ ถ้าไม่ผิดคนเป็นคุณครูสอนที่โรงเรียนป่างิ้วเมื่อ 20 ปีก่อนหรือไม่ครับ ส่วนคุณคันธรส วิวรรณ ก็น่าจะเป็นเพื่อนสมัยเรียนที่ ป่างิ้ว ปี ประมาณ พ.ศ 2527 ทราบข้อมูลที่ชัดเจน ส่งข้อมูลให้ผมได้ตาม e mail ได้ครับ

ขอบคุณครับ

สราวุธ

ผมไม่ทราบจริงๆ ข้อมูลก็ได้จากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ และต้นสังกัดส่งมาให้ ติดต่อใครก็ไม่ได้เพราะนานแล้ว

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ ดิฉันเป็นหลานของปู่สม วิวรรณ พอดี search หาข้อมูลไปหัดทำบล็อก ไม่รู้จะทำบล็อกอะไรดีก็เลยจะทำบล็อกเกี่ยวกับผลงานของครอบครัววิวรรณ ขออนุญาติคุณธเนศ นำข้อความไปแปะในบล็อกนะคะ ขอบคุณค่ะ

ดิฉันคันธรส หรืออุ๊ย ลูกสาวพ่อสมค่ะ

ขอขอบคุณ คุณธเนศ เป็นอย่างสูงที่ได้นำประวัติข้อมูลของคุณพ่อมาเผยแพร่

เพราะเป็นความภูมิใจสูงสุดของครอบครัวเรา ดิฉันคิดอยู่หลายครั้งที่จะนำข้อมูล

บทประพันธ์ของคุณพ่อมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ เพราะดิฉันเก็บไว้กับตัวและที่บ้านเชียงราย

(ขณะนี้ดิฉันทำงานบริษัทโฆษณา ในกรุงเทพ) แต่ทำเว็บไซต์ไม่เป็น จึงไม่มีโอกาส

ได้สานต่อความคิด

หากต้องการข้อมูล ดิฉันยังพอมีเก็บไว้บ้างนะคะ

ติดต่อได้ที่ [email protected] ค่ะ

สวัสดีค่ะ หนูเป็นหลานของปู่สมค่ะ พูดเเล้วจะหาว่าไม่จริง สามารถติดต่อหนูได้ที่ [email protected] ค่ะ

ไขข้อข้องใจคุณสราวุธค่ะ คุณจำไม่ผิดหรอกค่ะ จารย์สืบศักดิ์ วิวรรณ คือคนที่คุณกล่าวถึงนั้นเองค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท