การเรียนรู้สู่ความเบิกบาน


Learning การเรียนรู้ สู่ความเบิกบาน

Learning การเรียนรู้ สู่ความเบิกบาน

 

" ชีวิตคือการเรียนรู้ " เป็นคำนิยามที่คนนิยมให้คำจำกัดความของคำว่าชีวิต ซึ่งก็แน่นอนว่าตั้งแต่เราเกิดมาจนถึงกาลอวสานสิ้นลม หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตล้วนแล้วแต่เป็นการเรียนรู้แทบทั้งสิ้น อาตมามองว่าชีวิตนี้คือมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ มีประสบการณ์เป็นครู มีโลกเป็นโรงเรียน มีเหตุการณ์ต่างๆ เป็นแบบฝึกหัดข้อสอบ มีลมหายใจเป็นอุปกรณ์ในการเรียนรู้ มีความสุขและความสำเร็จเป็นใบปริญญา เราทุกคนล้วนแต่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น การเรียนรู้จะทำให้เกิดความรอบรู้ การอ่านมากทำให้รอบรู้กว้างขวาง การเขียนมากทำให้แม่นยำแตกฉาน การหมั่นตรึกตรองขบคิดทำให้ลึกซึ้งแยบคาย การเรียนรู้ในศาสตร์ต่างๆ ล้วนมีคุณค่าและความหมาย

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทำให้รอบรู้ เพิ่มพูนไหวพริบ

เรียนรู้วรรณกรรม ทำให้หลักแหลมและรื่นรมย์

เรียนรู้คณิตศาสตร์ ทำให้ละเอียดถี่ถ้วน

เรียนรู้ปรัชญา ทำให้คนเข้าใจความจริงต่างๆ อย่างลึกซึ้งกว้างขวาง

เรียนรู้ตรรกศาสตร์ ทำให้พูด คิด อย่างมีเหตุผล

เรียนรู้จริยธรรม ทำให้เป็นคนดีมีคุณค่าต่อสังคม

เรียนรู้ชีวิต ทำให้รู้ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเบิกบาน

L = Learning การเรียนรู้ สู่ความเบิกบาน เพราะการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้เพราะความรู้เก่าอาจผิดได้ การเรียนรู้ช่วยให้ความรู้ไม่เก่าและไม่ผิด จริงๆ แล้วทั้งการเรียนรู้ และความรู้มีความสำคัญ การเรียนรู้เป็นกระบวนการเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง ความรู้อาจหยุดนิ่ง มีนักปราชญ์ได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้ที่แท้จริง หมายถึง ความสามารถที่จะดึงเอา ความรู้ ที่มีอยู่ออกมาใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็น การที่เราจะมีความสุข หรือความเบิกบานในชีวิตนั้น สิ่งสำคัญ คือการเข้าใจในชีวิต และนำชีวิตของตนให้พ้นจากความทุกข์ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ หากบอกว่าชีวิตคือการเรียนรู้ เพื่อที่จะอยู่อย่างรู้จักและเข้าใจชีวิต ถามว่าชีวิตที่มีอยู่เราต้องเรียนรู้อะไรบ้าง

1. เรียนรู้ตนเอง
2.
เรียนรู้ผู้อื่น
3.
เรียนรู้การเปลี่ยนแปลง
4.
เรียนรู้จังหวะของชีวิต
5.
เรียนรู้ความดีงาม
6.
เรียนรู้ความจริงแห่งชีวิต

คนที่เรียนรู้และทำความเข้าใจในชีวิตมาก ก็จะมีความสุขในชีวิตมาก และมีโอกาสที่จะ ประสบความสำเร็จในการมีชีวิตอยู่มาก ชีวิตคนเรานอกจากจะต้องเรียนรู้วิชาการทางโลกเพื่อประกอบอาชีพ เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อมนั้นอย่างมีความสุข ยังต้องเรียนรู้ชีวิตของตนเพื่อให้รู้จักและเข้าใจชีวิตที่แท้จริงอีกด้วย บนเส้นทางของชีวิตที่ผ่านสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นสุข หรือทุกข์ ชอบหรือชังนั้นเท่ากับเป็นการเรียนรู้อยู่ทุกขณะ อย่างที่ได้บอกไปว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาล้วนเป็นครูในประสบการณ์มันมีทั้งดีและไม่ดี มีทั้งถูกและผิด โบราณได้บอกไว้ว่า ผิดเป็นครู จงเรียนรู้จากความผิดพลาด และอย่าให้ผิดซ้ำ การที่จะทำอะไรไม่ให้ผิดพลาด และดำเนินไปบนเส้นทางของชีวิตอย่างเบิกบาน จะต้องได้รับการฝึกฝน อบรม เรียนรู้มาอย่างดี สิ่งที่จะต้องเรียนรู้ต่อไปนี้ คือ

1.
เรียนรู้ตนเอง

ลองถามตัวเองว่า ท่านรู้จักตัวเองมากน้อยแค่ไหน หลายท่านอาจไม่มีคำตอบให้กับคำถามนี้ ถ้าเราไม่รู้จักตนเองก็จะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เช่น ถ้าเรารู้ตัวเองว่า หงุดหงิดง่าย ก็จะต้องเตือนตัวเองให้ใจเย็น หรือถ้าเป็นคนปากร้าย ก็จะต้องระวังคำพูดเป็นต้นลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้เรามีปัญหกระทบกระทั่งกับผู้อื่นน้อยลง พยายามดูตัวเองให้ออก บอกตัวเองให้ได้ และเข้าใจตัวเองให้ดี เพราะหากเรามีความเข้าใจตัวเองดีแล้ว เราก็จะเข้าใจคนทั้งโลก ความรู้สึกหรือความต้องการของคนเราไม่ต่างกันนักหรอก เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใดคนอื่นก็ฉันนั้นเรากับเขาไม่ต่างอะไรกันเลย รู้จักและเข้าใจในตนเองอย่างถ่องแท้ เป็นปฐมเหตุสู่การรู้แจ้งอย่างแท้จริง

2. เรียนรู้ผู้อื่น

รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง แม้บางครั้งไม่ต้องรบก็ชนะ เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก มีครอบครัวมีเพื่อนฝูง มีสังคมในที่ทำงานและสังคมอื่นๆ ดังนั้นเราต้องเรียนรู้คนที่อยู่รอบตัวเราโดย เฉพาะอย่างยิ่งคนที่เราจะต้องปฏิสัมพันธ์ด้วยเสมอในชีวิตประจำวัน เราจำเป็นต้องรู้จักให้มาก เพราะการที่เรารู้จักคนเหล่านี้มากเท่าไรก็จะ ยิ่งทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ของการอยู่ร่วมกันได้มากเท่านั้น หากเราต้องอยู่กับคนอื่น เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้จักและเข้าใจในคนให้มากๆ เพราะคนจิตใจของเรานั้นยากแท้จะหยั่งถึง การรู้จักและเข้าใจผู้อื่นจะก่อให้เกิดความรักความเมตตาและการรู้จักใจเขาใจเราไม่เอาเปรียบกันอยู่กันด้วยความสันติ

3. เรียนรู้การเปลี่ยนแปลง

คนเรานั้นต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงทั้งทางกายและทางใจเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ไม่น่ากลัวเท่ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากคน เพราะการเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติมันค่อยเป็นค่อยไป คนสามารถปรับเข้าหามันได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงจากคนมันรวดเร็วมาก โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงของจิตใจที่ไม่มั่นคง แปรปรวน รวนเร ท่านจึงไม่ให้คาดหวังและคาดคั้นว่ามันจะต้องเป็นไปดังใจเรา ให้เข้าใจสักนิดว่าทุกชีวิตมีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาเพราะโลกนี้มันมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมา อยากให้มองว่าการเปลี่ยนแปลงคือโอกาสในการริเริ่มและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การเปลี่ยนแปลง คือการก้าวไปข้างหน้าของบุคคลและองค์การแม้ตำแหน่งอาจจะลดลง แต่โอกาสในการทำงานอาจจะดีขึ้น ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงโลกก็ไม่อาจพัฒนา

4. เรียนรู้จังหวะชีวิต

จังหวะของชีวิต ไม่เหมือนกับจังหวะของดนตรี ที่มีตัวโน้ตบ่งชี้ว่าต้องเล่นคีย์ ไหนเล่นอย่างไรซึ่งมีบอกไว้ตายตัว แต่จังหวะชีวิตไม่อาจเป็นเช่นนั้น มันอาจพลิกผันตลอดเวลา จังหวะชีวิตที่มีขาขึ้นและขาลง สามารถขึ้นลงได้ทุกขณะ เพราะในการดำเนินชีวิตของเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ ดังนั้น การดำเนินชีวิตต้องอาศัยจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม ต้องรู้จักรุกเมื่อโอกาสให้รุก และรู้จักถอยเมื่อโอกาสไม่เอื้อ ไม่ใช่รุกตลอดเวลาดันทุรัง ไม่ดูจังหวะและโอกาส ขาดความใคร่ครวญโดยถ้วนถี่ การที่เราพยายามทำอะไรในบรรยากาศหรือสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย นอกจากจะต้องใช้ทรัพยากรมากแล้วบางครั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งและผลเสียหายกับตนเองและผู้อื่น

5. เรียนรู้ความดีงาม

สุภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า "ไม่สั่งสมความดี ย่อมไม่อาจสร้างชื่อลือชา ไม่สั่งสมความชั่ว ย่อมไม่ทำลายตนเอง คนถ่อยเห็นความดีเล็กน้อยไร้ประโยชน์ ก็ไม่ทำ เห็นความชั่วเล็กน้อยไม่เป็นโทษ ก็ทำโดยไม่กลัว ความชั่วจึ่งพอกพูน จนไม่อาจปิดบัง โทษกรรมจึงล้นฟ้า จนไม่อาจให้อภัย" คนเราได้เรียนรู้ความก้าวหน้าในวิชาการสายอื่นๆ มาแล้วมากมาย แต่ในเรื่องของชีวิต ของจิตใจ ยังรู้กันน้อยเหลือเกิน คนส่วนมากพากันสนใจแต่เรื่องปากท้องและสิ่งมอมเมาต่างๆ ขาดการเรียนรู้เรื่องความดีงามที่มีอยู่ในจิตใจ ทั้งที่รู้ว่าความดีมีคุณต่อโลกเพียงใด ทั้งที่รู้ว่าความดีทำแล้วได้รับผลเป็นเช่นไร แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่คนเราพากันละเลยที่จะสนใจเรื่องความดีงามกัน ให้ความสำคัญกับวัตถุภายนอกมากกว่าความงดงามของจิตใจ ไม่ยากเลยที่จะมาตระหนักรู้แล้วอยู่กันด้วยความดี มีความรู้สึกที่ดีๆ ต่อกัน ความดีงามสามารถพบได้ในทุกๆ ที่ เพราะทุกจิตใจล้วนใฝ่หาความดีงามกันทั้งสิ้น

6. เรียนรู้ความจริงแห่งชีวิต

ต้องรู้ว่าแห่งความเป็นจริงนั้นมีสองด้านเสมอ เช่นเดียวกับเหรียญที่มีสองด้าน โลกนี้มีกลางวันก็มีกลางคืน มียิ้มรื่นก็มีร้องให้ มีดีใจก็มีเสียใจ มีการให้ก็มีการรับ มีสวยก็มีขี้เหล่ มีรวยก็มีจน เป็นต้น ดังนั้นเมื่อสิ่งที่ประสบไม่เป็นไปอย่างที่คิดหรือคาดหวังก็ให้เข้าใจว่า นั่นคือความ จริงแห่งชีวิต ที่ต้องรับให้ได้ จงยอมรับ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ เพื่อที่จะแก้ไขปรับปรุง พัฒนาให้เหมาะสมกับสถานการณ์และชีวิต การเรียนรู้ความจริงของชีวิตเป็นการการปลดเปลื้องปัญหาและความทุกข์ออกจากชีวิตได้อย่างแท้จริงปัญหาและความทุกข์ของชีวิตถือว่าเป็นบทเรียนที่มีค่ามาก ชีวิตยิ่งลำบากเท่าใด ก็ยิ่งมีค่าเท่านั้น หากสามารถฝ่าฟันมาได้ จะมีความภูมิใจในคุณค่าชีวิตอย่างยิ่ง คนส่วนมากมักจะตีคุณค่าของชีวิตด้วยความมั่งคั่งภายนอก เช่น ยศ ตำแหน่ง ความสนุกสนานสำราญใจ ซึ้งแท้ที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้มีคุณค่ากับชีวิตน้อยมาก ถึงน้อยที่สุด แต่สิ่งที่ให้คุณค่าแก่ชีวิตจริงๆ คือ การกระทำ หรือพฤติกรรมที่ทำให้ยกจิตใจในระดับสูงขึ้นไปได้ ความทุกข์ยากและความผิดหวังเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนทำให้เรารู้จักโลกและชีวิตดีขึ้น เป็นการเรียนรู้ชีวิตจากความผิดพลาด เพราะเป้าหมายหลักของชีวิตก็คือการพัฒนาสิ่งทีมีอยู่ในตัวเราให้เจริญ ดังนั้นไม่ว่าทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาจะเล็กหรือใหญ่ ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งแห่งบทเรียนที่เราจะต้องเรียนรู้ทั้งสิ้น

พระพุทธศาสนาสอนว่า การเรียนรู้ล้วนอยู่ในกิจกรรมทุกอย่างของชีวิต นับตั้งแต่เราเกิดมาก็ต้องเริ่มที่จะเรียนรู้ เพื่อที่จะให้ชีวิตเป็นอยู่ด้วยดี มีความสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งได้แสดงหลักการไว้สรุปได้อย่างหนึ่งก็คือ สอนให้เรียนรู้และอยู่กับความจริง ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาที่รู้และเข้าใจความจริงของธรรมชาติ ไม่หนีความจริง ให้รู้ความจริงตามความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง รู้จักและเข้าใจในความเป็นไปของชีวิตด้วยสติ ปัญญา และนำเอาสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิตเป็นบทเรียน ประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณค่าช่วยให้คนเรารู้จักเข้าใจทั้งคนอื่น และตนเอง คนที่รู้จักและเข้าใจตนเองจะสามารถครองตนได้อย่างเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวมั่นคงในหลักการ อุดมการณ์ กล้าหาญพอที่จะสวนกระแส โต้คลื่นฝ่าลม พากเพียร อดทนต่อความยากลำบาก ต่อสายตา คำเสียดสี คำเย้ยหยันว่าโง่ เพราะรู้ว่าตนเองเกิดมาเพื่ออะไร และจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร จะสร้างให้ตนเองมีคุณค่าและประโยชน์ต่อโลกต่อสังคมได้อย่างไร

เพื่อจะมีชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง จึงจำเป็นที่จะเรียนรู้จักชีวิต เรียนรู้จักโลกและสังคม และข้อสำคัญก็คือให้รู้จักตัวเอง กับทั้งฝึกฝนพัฒนาทั้งกายและใจของตนด้วย จงเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเบิกบาน ปีติสุขและผ่องแผ้ว เพราะชีวิตคือห้วงเวลาแห่งการอยู่อย่างรื่นรมย์ มิใช่ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด ... .. .

หมายเลขบันทึก: 199976เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2008 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ แต่จะเบิกบานมากกว่านี้นะครับ ถ้าตัวใหญ่ๆหน่อย สวัสดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท