บูรณาการธรรมะ-สู่กระบวนการเกิดปัญญา


ธรรมะสู่ปัญญา

 

พุทธศาสนากับกระบวนการทางปัญญา

กระบวนการทางปัญญานั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกระบวนการการเรียนรู้ที่ถูกต้อง พุทธศาสนาเน้นมากในเรื่องกระบวนการการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ตามหลักพุทธศาสนานั้นเริ่มต้นตั้งแต่การได้ใกล้ชิดกับกัลยาณมิตรหรือสัตบุรุษ เมื่อใกล้ชิดก็ได้สดับฟังสิ่งที่ดีงาม จนเกิดโยนิโสมนสิการตามมา และนำไปสู่ธรรมานุธรรมปฏิบัติ หรือการปฏิบัติโดยสมควรแก่ธรรม ทั้งหมดมี 4 ขั้นตอนใหญ่ๆ

ขั้นแรก คือ การได้ใกล้ชิดบุคคลที่ดีงามแล้วเกิดสุตะ คือ การฟัง รวมทั้งการอ่าน แล้วเกิดการคิดที่ถูกต้อง จากนั้นจึงนำไปสู่การปฏิบัติ และเมื่อได้ปฏิบัติก็เกิดการเรียนรู้มากขึ้น เมืองไทยตอนนี้ไม่ใช่มีกระบวนการการเรียนรู้ แต่เราเรียนรู้ไปในทางที่ผิด กระบวนการเรียนรู้ทุกอย่างกำลังมุ่งไปสู่การกระตุ้นกิเลสเพื่อให้มีการบริโภคมากขึ้น เวลานี้เด็กไทยจำนวนไม่น้อยรู้หมดว่าโทรศัพท์มือถือมีกี่ยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อมีกี่รุ่น ทำอะไรได้บ้าง นี่เป็นกระบวนการการเรียนรู้ที่รับใช้ระบบบริโภคนิยม มุ่งการเสพเสวยเพื่อสนองกิเลส แต่กระบวนการการเรียนรู้ที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีแทบจะขาดหายไป หรืออ่อนแรงลงมาก

ที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างก็คือ การศึกษาที่มีเป้าหมายดีงามมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องกระบวนการเรียนรู้เท่าใดนัก แต่ไปเน้นหนักเรื่องการสอน หัวใจของการศึกษานั้นไม่ได้อยู่ที่การสอน แต่อยู่ที่การเรียนรู้ หลายคนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องมีครูสอน ทุกวันนี้เรามีผู้รู้ที่จัดว่าเป็น "แฟนพันธุ์แท้" ด้านต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลิเวอร์พูล ทศกัณฐ์ หรือพระเครื่อง คนเหล่านี้ไม่มีครู แต่เรียนรู้ด้วยตนเอง เขาศึกษาเรื่องเหล่านี้จนชำนาญ แต่คนเหล่านี้เป็นส่วนน้อย เพราะเวลานี้เราเน้นการสอนหรือการพูดมากกว่าการกระตุ้นการเรียนรู้

ขอให้สังเกตว่าพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ใช้วีธีเทศนาสั่งสอนอย่างเดียว บ่อยครั้งพระองค์ใช้วิธีกระตุ้นให้คนคิดเองด้วยการตั้งคำถาม หรือย้อนถามกลับไป บางทีก็ทรงชี้แนะให้เขาคิดจากประสบการณ์จริงๆ อย่างกรณีพระรูปหนึ่งซึ่งหลงใหลนางสิริมาซึ่งเคยเป็นนางคณิกาที่มีรูปร่างงดงาม แต่เมื่อตายก็ถูกนำศพไปไว้ที่ป่าช้า เมื่อศพเริ่มจะเน่า พระองค์ได้พาพระรูปนั้นไปดูนางสิริมา จากเดิมที่หลงใหลผู้หญิง พระรูปนั้นได้กลายมาเป็นโสดาบันโดยที่พระองค์ไม่ได้เทศนา เพียงแต่ทรงชี้ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จากศพของนางสิริมา ซึ่งเมื่อยังมีชีวิตอยู่มีคนต้องการอยากเข้าหา แต่พอกลายเป็นศพกลับไม่มีใครเอา

การเรียนรู้จากของจริงเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่พระพุทธองค์ใช้เพื่อนำไปสู่การบรรลุธรรม ในสมัยพุทธกาลมีตัวอย่างแบบนี้มาก แต่ในปัจจุบันเรากลับเน้นที่การสอนของครูมากกว่าการเรียนรู้ของเด็ก พูดเช่นนี้ไม่ได้ปฏิเสธการสอน เพียงแต่ต้องการบอกว่าการสอนเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา แต่ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุดของการศึกษา ส่วนที่สำคัญที่สุดของการศึกษาคือการเรียนรู้ การสอนอาจไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ก็ได้ หากสอนแบบยัดเยียดหรือไม่สร้างฉันทะให้แก่ผู้เรียน ขณะที่การเรียนรู้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีผู้สอน ขอให้สังเกตดูว่าเด็กๆ สามารถเรียนรู้อะไรต่ออะไรมากมายโดยไม่ต้องมีครูสอน เขาเชี่ยวชาญเรื่องโทรศัพท์มือถือ หรือเกมคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องมีใครสอนเลย แต่เรียนรู้เองโดยอาจอาศัยข้อมูลที่ป้อนจากสื่อหรือโฆษณา ที่จริงสื่อในปัจจุบันมีบทบาทมากในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก แต่ส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง คือเป็นการเรียนรู้ที่ตอบสนองกิเลสหรือบริโภคนิยม

คำถามก็คือ ทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีงาม โดยมีปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อน นี่คือโจทย์สำคัญสำหรับผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษา เวลานี้เราไปเน้นเรื่องการศึกษาแบบในระบบมาก จนเข้าใจไปว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นไม่ได้หากอยู่นอกระบบการศึกษาที่เป็นทางการ

แม้แต่คณะสงฆ์เองก็เน้นตรงนี้มาก จนสมัยหนึ่งถึงกับรังเกียจพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เนื่องจากท่านไม่ได้เรียนสูง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(อ้วน ติสโส) เมื่อครั้งเป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน ถึงกับขับไล่พระอาจารย์มั่นและลูกศิษย์ของท่านออกจากเขตปกครองของท่านเป็นประจำ เพราะเห็นว่าเป็นพระจรจัดไม่อยู่เป็นหลักแหล่งตามระเบียบคณะสงฆ์ แต่ตอนหลังสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เกิดศรัทธาในพระอาจารย์มั่น ในการพบปะคราวหนึ่ง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ถามพระอาจารย์มั่นว่า ทำไมพระอาจารย์มั่นจึงมีความรู้ทางธรรมเยอะทั้งๆ ที่ไม่ได้จบเปรียญ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ท่านจบประโยค 9 ท่านเข้าใจว่าความรู้ทางธรรมต้องได้จากการเรียนนักธรรมบาลีเท่านั้น ท่านไม่เข้าใจว่าพระอาจารย์มั่นรู้ธรรมได้อย่างไร พระอาจารย์มั่นตอบว่า "สำหรับผู้มีปัญญา ธรรมะมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า" นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าความรู้นั้นไม่ได้เกิดจากการสอนเสมอไป แต่เกิดจากการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ถ้าเรียนรู้เป็นก็สามารถศึกษาได้จากทุกสิ่งรอบตัว ไม่เว้นแม้แต่ต้นไม้ใบหญ้าหรือป่าเขาอย่างที่พระอาจารย์มั่นเป็นแบบอย่าง

พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้มาก คือเห็นว่าคนเราเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และสามารถเรียนรู้ได้จากทุกสิ่ง สรรพสิ่งสามารถสอนเราเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ย้ำว่า เราควรรู้จักฟังเสียงต้นไม้พูด ฟังก้อนหินสอนธรรมะ แม้กระทั่งความเจ็บไข้ก็สามารถทำให้เราเกิดปัญญา ท่านอาจารย์พุทธทาสชอบพูดว่า "ความเจ็บไข้มาเตือนให้เราฉลาดขึ้น" จะเห็นได้ว่าทุกอย่างรอบตัวเราและที่เกิดขึ้นกับเราสามารถสอนธรรมให้เราได้หมด แม้กระทั่งความเจ็บไข้และความตาย ถ้าเราเข้าใจและมีวิธีการเรียนรู้อย่างถูกต้อง เช่น มีโยนิโสมนสิการ คือ การรู้จักคิด เราก็สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งจากความทุกข์ ความล้มเหลว ทุกอย่างสามารถเป็นครูได้หมด ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ หรือแมลงตัวเล็กๆ

ปัญหาก็คือ ตอนนี้กระบวนการเรียนรู้ของไทยนอกจากจะอ่อนแล้ว ยังพาไปในทางที่ไม่ถูกต้อง คือกระตุ้นตัณหา ส่งเสริมบริโภคนิยม แถมยังเก่งในทางสนองกิเลสอีกด้วย เดี๋ยวนี้เราเก่งมากในเรื่องทุจริต ไม่ว่าในวงราชการ ธุรกิจ หรือในวงการศึกษา ตั้งแต่โรงเรียนประถมศึกษาไปจนถึงมหาวิทยาลัย มีการโกงข้อสอบกันอย่างแพร่หลาย และกำลังแทรกซึมไปถึงวงการสงฆ์ ตอนนี้สังคมไทยเป็นสังคมที่ทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่าเราเก่งในเรื่องการเรียนรู้เพื่อสนองกิเลสด้วยวิธีที่เหนื่อยน้อยที่สุด แต่ไม่ได้ใช้ฉันทะหรือปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อน

เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในหมู่คนไทย เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีฉันทะเป็นแรงจูงใจ ไม่ใช่โลภะหรือตัณหา เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งศึกษาจากความจริงโดยไม่จำกัดที่ตำรา เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ ทั้งบวกและลบ ทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลว ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี

++++++++++++++++++++++
บทความโดย... พระไพศาล วิสาโล เครือข่ายพุทธิกา

หมายเลขบันทึก: 199975เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2008 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท