ข่าว...คำเตือนเรื่องภัยพิบัติ!


        ผมไปติดตามประเมินผลฯที่ สพท.และโรงเรียนในจังหวัดน่านและแพร่ 2 สัปดาห์ เพิ่งกลับมาวันนี้  เลยว่างเว้นบันทึกบล็อกเสียหลายวัน  มีหลายเรื่องที่ไปพบเห็นจะนำมาเล่าในโอกาสต่อไป 
        ตอนไปที่จังหวัดน่าน  ฝนตกตลอดทั้งวันทั้งคืน แต่น้ำยังไม่ทันท่วม  ผมได้ขึ้นไปบนดอยภูฟ้า  ไปเยี่ยมโรงเรียนบ่อเกลือ  ทางที่ขึ้นไปมีดินสไลด์ลงมากองบนถนนหลายแห่ง  เจ้าหน้าที่ต้องเฝ้าระวังคอยมาเกลี่ยปรับถนนให้รถวิ่งได้ตลอดเวลา   ผอ.โกมล(ผอ.โรงเรียนบ่อเกลือ ซึ่งอยู่ที่นี่มา 10 ปี) เล่าแบบติดตลกถึงเหตุการณ์ที่นี่ทำให้เกิดผลกระทบว่า 
       
  ดินสไลด์  ไฟดับ  โทรศัพท์เสีย...เมียบ่น...(เพราะลงมาจากเขาไม่ได้)
      ไปเห็นเหตุการณ์ที่น่าน  เลยนึกถึงกรุงเทพฯและปริมณฑลบ้านตนเองไม่ได้  พอไปอ่านพบคำเตือนภัยภิบัติ     
ของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ออกมาแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แล้วก็อดจะหวาดเสียวไม่ได้ เลยเอามาฝากกัน
        เมื่อวันที่
4 มิถุนายน 2551  ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ครั้งนี้ ได้เสวนาเรื่อง แผนรับมือวิบัติภัยในมหานครกรุงเทพ ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร การเสวนาครั้งนี้ มี นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมเสวนาด้วย
       ดร.สมิทธ กล่าวว่า จากการศึกษาและติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติมาโดยตลอด พบว่า ภัยพิบัติที่จะกระทบ กทม.และปริมณฑล มีอยู่ 2 ประเภท คือ ภัยที่เกิดจากแผ่นดินไหว และภัยที่เกิดจากน้ำท่วมขัง ซึ่งเกิดจากสภาวะโลกร้อน โดยภัยที่เกิดจากแผ่นดินไหวเป็นภัยที่รุนแรงและมีผลกระทบต่อมนุษย์จำนวนมาก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ 13 รอย และจากการศึกษาพบว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ รอยเลื่อนทั้งหมดเกิดรอยร้าวเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน ซึ่งการเกิดรอยร้าวดังกล่าวทำให้อาคารที่โครงสร้างไม่แข็งแรงใน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ มีโอกาสถล่มลงมาได้
      ดร.สมิทธ กล่าวต่อว่า ในพื้นที่ กทม.อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากรอยเลื่อน 2 รอย คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี หากเกิดแผ่นดินไหวซ้ำขึ้นมาอีก เชื่อว่าจะส่งผลให้เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์แตก และทำให้น้ำปริมาณกว่า 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลทะลักเข้าสู่ จ.ราชบุรี จ.นครปฐม และ กทม.
         'กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนดินเลน เมื่อได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวแล้ว ระยะสั่นสะเทือนจะขยายตัว 2-3 ริกเตอร์ ทำให้อาคารที่สูงไม่เกิน 6 ชั้น อาจแตกร้าวและพังทลายลงมา ส่วนอาคารสูงไม่น่าเป็นห่วง เพราะวิศวกรได้ออกแบบอาคารไว้รองรับอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีความพร้อมในการรับมือกับแผ่นดินไหว โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงอาจทำให้เกิดความเสียหายมาก' ดร.สมิทธ กล่าว
        ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ภัยที่เกิดจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากสภาวะโลกร้อนขึ้นนั้น จากสถิติไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าพายุที่เกิดในมหาสมุทร อินเดียจะมีแรงลมสูงมากถึงขนาดเป็นไซโคลน แต่ตอนนี้เกิดขึ้นแล้ว คือ พายุไซโคลนนาร์กีส ซึ่งมีความเร็วลมสูงถึง 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อขึ้นฝั่งในลุ่มน้ำอิระวดีในพม่า แรงลมสูงสุดถึง 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความรุนแรงถึงระดับ 4
         'ผมขอทำนายว่าในเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคมนี้ จะมีพายุขนาดใหญ่พัดถล่มประเทศไทย ทางด้านอ่าวไทย ไล่ตั้งแต่ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.เพชรบุรี เข้ามา ซึ่งอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ สตรอม เสิร์ช (Strom Search) หรือ น้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้น้ำทะเลไหลเข้ามาถึงบริเวณปากอ่าวเจ้าพระยา และเข้าท่วมพื้นที่ กทม. โดยกว่าจะไหลย้อนกลับสู่ทะเลต้องใช้เวลานานกว่า 2-3 สัปดาห์ และหากท่วมเหนือคลองประปา จะทำให้ประชาชนไม่มีน้ำในการอุปโภคบริโภค' ดร.สมิทธ กล่าว
          ด้าน นายต่อตระกูล กล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่าหากเกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นจริงจะทำให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญหลายแห่งเสียหายโดยเฉพาะวัดพระแก้ว ซึ่งก่อสร้างในสมัย รัชกาลที่ 1 ไม่ได้มีการฝังเสาลงดิน หากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่พระบรมมหาราชวังก็จะทำให้เสื่อมความแข็งแรงลงอย่างรวดเร็ว
         หลังการเสวนา ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง ดร.วัฒนา กันบัว ผู้อำนวยการฝ่ายอุตุนิยมวิทยาทะเล กรมอุตุนิยมวิทยา เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดพายุใหญ่พัดถล่มประเทศไทยตามที่ ดร.สมิทธ กล่าวในการเสวนา ดร.วัฒนา ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม อาจจะเกิดพายุใหญ่ถล่มประเทศไทย เพราะช่วงดังกล่าวเป็นช่วงฤดูฝน อยู่ระหว่างช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าประเทศไทย จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าช่วงดังกล่าวมีพายุพัดถล่มประเทศไทยมาแล้วหลายครั้ง อย่างเช่น พายุไต้ฝุ่นเกย์ พายุไต้ฝุ่นลินดา ที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อนก็เกิดขึ้นในช่วงนี้
        ดร.วัฒนา กล่าวต่อว่า สภาวะโลกร้อนอาจส่งผลให้ความรุนแรงของพายุเพิ่มมากขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า หากพายุพัดเข้าสู่พื้นที่ที่เป็นเมืองก็อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะหากพายุเคลื่อนเข้าประเทศไทยทางฝั่งภาคตะวันออกจะทำให ้ เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ กทม.โดยตรง ซึ่งมีความเป็นห่วงว่า หากมีพายุพัดเข้าบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่ กทม. เนื่องจากขณะนี้แม้จะมีการสร้างเขื่อนกั้นริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาในหลายจุด แต่การสร้างเขื่อนที่ผ่านมาทำเพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำเหนือไหลหลาก ไม่ได้มีไว้รองรับพายุที่พัดเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้บริเวณปากแม่น้ำยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อน หากเกิดพายุพัดกระหน่ำจริง เขื่อนที่มีอยู่ก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมได้
       ดร.วัฒนา กล่าวด้วยว่า มีความเป็นห่วงว่าหากช่วงเวลาที่เกิดพายุตรงกับช่วงที่ระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวอาจทำให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์พัดกระหน่ำบริเวณชายฝั่ง หากอาคารบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งไม่แข็งแรงก็จะสร้างความเสียหายร้ายแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยามีการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมความพร้อมไว้ด้วย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอพยพผู้ประสบภัย เพราะขณะเกิดเหตุภัยพิบัติหากมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัยได้รวดเร็ว ความเสียหายต่อชีวิตของประชาชนก็จะลดน้อยลง

       มีผู้แนะนำเรื่องการเตรียมการของประชาชนไว้ ดังนี้ (สำหรับความลำบากเป็นเวลาเดือนหรือ สองเดือน)
           1. เตรียมแสงสว่าง ซื้อเทียน ไม้ขีดไฟ ตุนไว้ครับไฟฟ้าดับแน่นอน
           2. เตรียม น้ำสะอาดไว้ดื่ม และ ชำระร่างกาย เช่น ถังน้ำตุนน้ำไว้
           3. เตรียม ข้าวสาร อาหารแห้ง แก๊สสำหรับหุงต้ม
           4. ถุงดำเล็ก ใหญ่ ไว้ทิ้งขยะและปลดทุกข์
           5. เก็บของขึ้นที่สูงไว้ป้องกันน้ำท่วม
           6. เตรียมกระสอบทรายไว้กั้นเวลาน้ำจะเข้าบ้าน หรือทรัพย์สิน
           7. อุปกรณ์ขอความช่วยเหลือ เช่น นกหวีด ชูชีพ
           8. อยู่ห่างตึกหรืออาคารสูงถ้าเกิดแผ่นดินทรุดครับ
           9.  ติดตามข่าวสารเรื่องภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง
        เตรียมตัวไว้ล่วงหน้า  ใครจะว่ากระต่ายตื่นตูมก็ช่าง ถ้าไม่เกิดก็เอาที่ตุนไว้มาใช้มากิน ก็ไม่เสียหาย ผู้แนะนำบอกมาอย่างนี้ครับ..
       โทรสอบถามเรื่องภัยพิบัติต่างๆในประเทศ     CALL Center  1860 ทั่วประเทศ
       เว็บที่รายงานเรื่องแผ่นดินไหวแบบเรียบไทม์ (ทุกๆๆชั่วโมง) ทั่วโลก

http://www.hdrtnsrs.com/
รายงานแผ่นดินไหวในประเทศ
http://www.hdrtnsrs.com/Earthquake_local.htm
รายงานแผ่นดินไหวที่ผ่านมานอกประเทศ
http://www.hdrtnsrs.com/Earthquake_June08.htm
รายงานแผ่นดินไหวของกรมอุตุนิยมวิทยา
http://www.tmd.go.th/earthquake_report.php
เส้นทางเดินพายุโดยกรมอุตุนิยมวิทยา
http://www.tmd.go.th/storm_tracking.php
เรดาห์ตรวจสอบอากาศผ่านดาวเทียม
http://www2.tmd.go.th/radar/
แผนที่อากาศผ่านดาวเทียม
http://www.sattmet.tmd.go.th/newversion/mergesat.html

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 199300เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2008 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ธุค่ะ..

สำหรับตัวเอง   ต้อมคงเตรียมพร้อมที่จะรับมืออย่างมี "สติ" ค่ะ  ^^

ใช่เลยต้องมีสติ และใช้ปัญญาด้วย

...พอผมกลับจากน่านเมื่อวานนี้ ก็มีข่าวฝนตกหนัก น้ำท่วมใหญ่หลายอำเภอในจังหวัดน่าน ผมก็โทรไปถามข่าว ผอ.โกมล ท่านบอกว่า อำเภอปัวที่เราไปพักน้ำท่วมหมด และทางขึ้นไปอำเภอบ่อเกลือ ดินสไลด์ลงไปในถนนรถวิ่งไม่ได้แล้ว ท่านบอกว่าผมโชคดีที่กลับเสียก่อน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท