บุญข้าวจี่


บุญข้าวจี่ หรือ บุญเดือนสามบ้านเฮา

         ในวันเพ็ญเดือนสามให้ทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา เริ่มพิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ขนาดเท่ากำปั้นแล้วใช้ไม้ไผ่ที่เหลากลมๆ เสียบตรงกลาง ตามยาวของปั้นข้าวเหนียวแล้วนำไปปิ้งพอเกรียมแล้วชุบด้วยไข่ ย่างไฟจนสุก แล้วใส่ภาชนะไปตั้งใว้ในศาลาวัด นิมนต์พระมาให้ศีลให้พร แล้วเอาข้าวจี่ใส่บาตรนำถวายแด่พระสงฆ์ พร้อมด้วยอาหารอื่นๆ เมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการแสดงพระธรรมเทศนา ตอนเย็นมีการเวียนเทียนมาฆบูชาฟังเทศน์ที่วัด
มูลเหตุที่ทำ
         เนื่องจากในเดือนสาม อากาศของภูมิภาคอีสาน กำลังอยู่ในฤดูหนาว ในตอนเช้าผู้คนจะใช้ฟืนก่อไฟผิงแก้หนาวเมื่อฟืนถูกไฟเผาเป็นถ่าน ชาวบ้านจะเอาข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลม โรยเกลือวางไว้บนเตาไฟ เราเรียกว่า ข้าวจี่
        มีเรื่องเล่าในพระธรรมบทว่า มีหญิงคนหนึ่งชื่อนางปุณณทาสี เป็นคนยากจนต้องไปเป็นทาสีรับใช้ของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งเศรษฐีให้นางไปซ้อมข้าว นางซ้อมตลอดวันก็ไม่หมด ตกตอนเย็นนางก็จุดไฟซ้อมต่อไป ได้รับความเหน็ดเหนื่อยเป็นอันมาก พอถึงตอนเช้ามานางก็เอารำทำเป็นแป้งจี่ เผาไฟให้สุกแล้วใส่ไว้ในผ้าของตนเดินไปตักน้ำปรารถนาจะบริโภคด้วยตนเอง ครั้นถึงกลางทางได้พบพระศาสดาเกิดความเลื่อมใส คิดว่าเราเป็นคนยากจนในชาตินี้ ก็เพราะมิได้ทำบุญไว้แต่ปางก่อนและชาตินี้เราก็ยังไม่เคยทำบุญเลย เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วนางก็น้อมเอาข้าวแป้งจี่นั้นเข้าไปถวายแด่พระศาสดา พระองค์ทรงรับแล้ว และนางคิดอีกว่าพระศาสดาคงไม่เสวย พราะอาหารเศร้าหมอง เมื่อพระศาสดาทรงทราบวารจิตของนางเช่นนั้น พระองค์จึงประทับเสวยต่อหน้าของนาง ครั้นเสวยเสร็จแล้วก็ตรัสอนุโมทนากถาโปรดนางจนสำเร็จโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา กาลํ กตฺวา ครั้นนางทำกาลกิริยาแล้วก็ได้ไปเกิดบนดาวดึงส์สวรรค์เสวยทิพย์สมบัติ อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภา มีนางฟ้าแวดล้อมเป็นยศบริวาร ดังนั้น ชาวนาเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจึงพากันทำบุญข้าวจี่ เพราะถือว่าการถวายข้าวจี่มีอานิสงฆ์มาก

พิธีกรรม
        พอถึงวันทำบุญข้าวจี่ซึ่งมักจะเป็นวันเพ็ญเดือนสาม ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจัดเตรียมข้าวจี่ แล้วนิมนต์พระสงฆ์มารวมกันที่ศาลาโรงธรรมญาติโยมจะมาพร้อมกันแล้วอาราธนาศีล ว่าคำถวายข้าวจี่เส็จแล้วเอาข้าวจี่ไปใส่บาตร พระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว ญาติโยมยกอาหารคาวหวานไปถวายพระฉันเสร็จแล้วอนุมโทนาเป็นการเสร็จพิธีถวายข้าวจี่ ในปัจจุบันชาวบ้านนอกจากจะทำบุญข้าวจี่แล้วยังทำบุญมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง วันมาฆบูลานี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนสาม เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพระทูทธศาสนา 4 ประการคือ
        1. เป็นวันเพ็ญเดือนสาม ดวงจันทร์เสยวมาฆฤกษ์
        2. พระสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันที่เวฬุวันมหาวิหารโดยมิได้นัดหมายกันล่วงหน้า
        3. พระสงฆ์ที่มาประชุมครั้งนี้นล้วนเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา (ภิกษุที่พระพุทธเจ้าบวชให้)
        4. ท่านเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์
คำถวายข้าวจี่ (สำนวนของมหาอานิสงฆ์ 108 กัณฑ์ โดย จอม บุญตาเพศ ป.)
        นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสัมฺพุทฺธสฺส ( 3 หน)
        สทา ชาครมานานํ อโหรตฺตานุสิกฺขินํ
        นิพฺพานํ อธิมุตฺตานํ อฎฐํ คจฉนฺติ อาสวาติ ฯ
วันมาฆบูชา
       วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพุทธศานาคือ เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงกระทำวิสุทธิปาฎิโมกข์ ทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ในท่ามกลางพระอรหันต์ 1250 องค์
       นับตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะในวันเพ็ญเดือน 6 ต่อจากนั้นพระองค์ได้เสด็จเทศนาสั่งสอนผู้ควรสั่งสอนเป็นลำดับมา ครั้งแรกทรงเทศนาโปรดเบญจะวคีย์ทั้ง 5 ให้มีความเชื่อความเลื่อมใสแล้วขอบวชแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ต่อมาเมื่อมีพระอรหันตสาวกเกิดขึ้นในโลกรวม 60 องค์ พระองค์ก็ส่งไปประกาศพระศาสนา ส่วนพระองค์ก็เสด็จตรงไปยังอุรุเวลาเสนานิคม มุ่งจะแสดงธรรมแก่ชฏิล 1,003 คน และชฏิลเหล่านั้นยอมรับนับถือ บวชเป็นภิกษุ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด แล้วเสด็จเข้าสู่พระนครราชคฤห์พร้อมด้วยพระอรหันต์อดีตชฏิล
       พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ จึงพร้อมด้วยราชบริวารออกไปเฝ้า ณ พระราชเวฬุวัน ทรงสดับพระธรรมเทศนา มีพระทัยเลื่อมใส ทรงถวายพระราชเวฬุวันเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนาพร้อมด้วยพระสงฆ์ พระเวฬุวันนี้เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนาเรียกว่า เวฬุวันมหาวิหาร หรือวัดเวฬุวันในสมัยที่ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันนั้น มีนักบวชอีกพวกหนึ่งที่เรียกว่าปริพาชก จำนวน 250 คน มีหัวหน้าอุปติสสะ และโกลิตะเข้าไปเฝ้ามีความเลื่อมใส บวชเป็นภิกษุและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
       วันที่พระสารีบุตรสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น ตรงกับวันมาฆบุรณมี คือเดือน 3 กลางเดือน วันเพ็ญเดือน 3 นี้ตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ถือว่าเป็นวันสำคัญ เป็นวันลอยบาปคือวันศิวราตรี วันแห่งพระศิวะหรือพระอิศวร เมื่อถึงวันนั้น เวลากลางคืนพากันลงอาบน้ำดำเกล้าสะสนานให้ตนบริสุทธิ์สะอาดด้วยประการทั้งปวง ถือว่าได้ลอยปาปไปตามกระแสน้ำแล้วหมดบาปไปคราวหนึ่ง ถึงปีก็ทำใหม่ เป็นการกระทำประจำปี
      พระอรหันต์ 1000 รูป อดีตชฏิล และพระอรหันต์อีก 250 รูปอดีตปริพาชก ยังอยู่ในสำนักของพระองค์ ณ พระเวฬุวันมหาวิหารนั้น ต่างปรารภร่วมกันว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์คือเป็นวันลอยปาป พระบรมศาสดาของเราควรจะทำอย่างไรบ้าง จึงพร้อมกันไปเฝ้าพระบรมศาสดาในที่เฉพาะพระพักตร์ โดยที่พระองค์มิได้รับสั่งให้เข้าเฝ้า พระองค์ทรงถือเอาเหตุนั้น จึงทรงกระทำปาริสุทธิอุโบสถ ทรงแสดงโอวาทปาฎิโมกข์ในท่ามกลางพระอรหัจต์ 1250 รูป เรียกวันมหาสันนิบาตประชุมใหญ่นั้นว่า จาตุรงคสันนิบาต การประชุมประกอบด้วยองค์ 4 คือ
       1. พระสงฆ์ 1250 รูปนั้น ล้วนบวชเฉพาะจากพระองค์ ที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
       2. พระสงฆ์ 1250 รูปนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
       3. พระอรหันต์ 1250 รูปมาเฝ้าพระองค์ โดยพระองค์มิได้รับสั่งให้เฝ้า
       4. วันนั้นเป็นวันมาฆบุรณมี คือเดือน 3 กลางเดือน
        พระองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งจัดว่าเป็นวันประดิษฐานพระพุทธศาสนา คือวางหลักแห่งการปฏิบัติ วางหลักแห่งการประกาศพระศาสนา โอวาทปาฏิโมกข์นั้นไม่ใช่ภิกขุปาฏิโมกข์ ดังที่ภิกษุสวดกันทุกวันนี้ โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นโอวาทคำสั่งสอนที่วางหลักแห่งความประพฤติเป็นส่วนธรรมะ มิใช่วินัย
       โอวาทปาฏิโมกข์มีพระบาลี ดังที่ยกขึ้นเป็นหัวข้อเทศนาว่า "ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา" แปลว่า ขันติความอดใจ คือความอดทนเป็น   ตบะคือเป็นธรรมเผาผลาญกิเลสอย่างยิ่ง หมายความว่า คนเรายังมีกิเลสทำใจให้เร่าร้อน ถ้าไม่เผากิเลสจะทำให้เร่าร้อนยิ่งขึ้น การเผากิเลสนั้นจะเผาด้วยไฟเทียน ด้วยไฟฟ้าหรือไฟอะไรๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น ต้องเผาด้วนขันติคือความอดทนเมื่อมีความอดทนแล้ว ก็สามารถเผาผลาญกิเลสตัณหาให้สงบไปหรือให้หมดไป หรือแม้การทำงาน การประกาศพระศาสนาก็ต้องอาศัยความอดทน ถ้าไม่มีน้ำอดน้ำทนทำไม่ได้ เพราะจะต้องประสบกับอุปสรรคต่างๆเช่นบุคคลในลัทธิอื่นบ้าง ศานาอื่นซึ่งมีอยู่ก่อน ซึ่งฝังอยู่ในใจของชนทั้งหลายบ้าง ถ้ามีความอดทนแล้ว ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรค บรรลุถึงเป้าหมายได้แน่โดยมิต้องสงสัย ลังเลใจแต่อย่างใด
       และว่า "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา" แปลว่า ท่านผู้รู้ทั้งหลายสรรเสริญว่าพระนิพพานเป็นธรรมสูงยิ่ง หมายความว่า นิพพานะ คือความดับกิเลสได้หมดสิ้น กิเลสที่ดับได้แล้วทุกอย่างไม่กลับฟื้นขึ้นอีก ถ้าจะเปรียบด้วยคนตายก็คือตายแน่ไม่ใช่สลบ ซึ่งไม่มีโอกาสจะฟื้นขึ้นมาอีก ผู้ถึงนิพพานไม่เกิด แก่ เจ็บ ตายอีกต่อไป ที่เรียกว่าไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ดับกิเลส เป็นที่สุดแห่งทุกข์ เป็นที่สุดแห่งการปฏิบัติ ผลแห่งการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาซึ่งสูงที่สุดคือนิพพาน
       และว่า "น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต" ผู้ที่ได้ชื่อว่าบรรพชิตและสมณะนั้น ต้องสงบระงับไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน จึงชื่อว่าเป็นสมณะ ถึงจะบวชและปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ถ้ายังเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนอยู่ ก็ไม่ชื่อว่าสมณะ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
         และว่า   สพฺพปาปสฺส อกรณํ
                      การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
                      กุสลสฺสูปสมฺปทา
                      การอบรมกุศลคือคุณความดีทั้งปวง
                      สจิตฺตปริโยทปนํ
                      ความทำจิตของตนให้ผ่องใส
                      เอตํ พุทฺธานสาสนํ
                 ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นหัวใจแห่งพระพุทธศาสนา

        และพระองค์ตรัสต่อไปว่า "บรรพชิตต้องไม่พูดกระทบกระทั่งผู้อื่นให้เกิดความโกรธ ความเกลียดชังเดือดร้อน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายหรือด้วยประการใดๆ เว้นข้อที่พระองค์ห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต บริโภคอาหารเพื่อจะยังอัตภาพให้เป็นไปเพียงเพื่อจะได้อยู่ปฏิบัติกิจให้ผ่านไปโดยชอบ ยินดีในเสนาสนะคือที่อยู่อาศัยที่สงัด พยายามอบรมจิตของตนให้สงบระงับปราศจากกิเลสไปตามกำลังของความปฏิบัติ" นี้เป็นคำสอนในพุทธศาสนา และปฏิปทาแห่งบรรพชิตในพุทธศาสนา
       ในวันมาฆบูชานี้ ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรในตอนเช้าสมาทานศีล ฟังพระธรรมเทศนา และตอนกลางคืนจะมีการนำดอกไม้ ธูปเทียนไปเวียนเทียนที่วัด
คำบูชาพระวันมาฆบูชา
        อชฺชยํ มาฆปุณฺณมี สมฺปตฺตา มาฆนกฺขนฺเตน ปุณฺณจนฺโท ยุตฺโต ตถาคโต อรหฺ สมฺมาสมฺพุทฺโธ จาตุรงฺคิเก สาวกสนฺนิปาเต โอวาทปาติโมกฺขํ อุทฺทิสิ ตทาหิ อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ สพฺเพสํเยว ขีณาสวานํ สพฺเพเต เอหิภิกฺขุกา สพฺเพปิ เต อนามนฺติตาว ภควโต สนฺติกํ อาคตา เวฬุวเน กลนฺทกนิวาเป
        มาฆปุณฺณมิยํ วฑฺฒมานกฉายาย ตสฺมิญฺจิ สนฺนิปาเต ภควา วิสุทฺธุโปสถํ อกาสิ อยํ อมฺหากํ ภควโต เอโกเยว สาวกสันฺนิปาโต อโหสิ จาตุรงฺคิโก อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ สพฺเพสํเยว ขีณาสวานํ มยนฺทานิ อิมํ มาฆปุณฺณมี นกฺขตฺตสมยํ ตกฺกาลสทิสํ สมฺปตุตา จิรปรินิพฺพุฒมฺปิ ตํ ภควนฺตํ อนุสฺสรมานา อิมสฺมึ ตสฺส ภควโต สกฺขิภูเต เจติเย อิเมหิ ทีปธูปปุปฺผาทิสกฺกาเรหิ ตํ ภควนฺตํ ตานิ จ อฑฺฒเตรสานิ ภิกฺขุสตานิ อภิปูชยาม สาธุ โน ภนฺเต ภควา สาวกสงฺโฆ สุจิรปรินิพฺพฺโตปิ คุเณหิ ธรมาโน อิเม สกฺกาเร ทุคฺคตปณฺณาการภูเต ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

คำสำคัญ (Tags): #บุญเดือนสาม
หมายเลขบันทึก: 197789เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2008 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านแล้วก็อยากทำบุญ(ร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน) นะครับ :) แต่ว่า ตัวอักษรตัวจิ๋วไปหน่อยนะครับ

อนุโมทนาบุญนำเด้อครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท