หน้าต่างโลก The Knowledge Window ชุด The Temple of Preah Vihear ปราสาทพระวิหาร มหาสถานบนรอยเขตอธิปไตย ตอน ปราสาทพระวิหาร เทวสถานบนยอดผาศักดิ์สิทธิ์ ๒ จบ


ปราสาทพระวิหาร

 หน้าต่างโลก  The Knowledge Window

ชุด The Temple of Preah Vihear ปราสาทพระวิหาร  มหาสถานบนรอยเขตอธิปไตย  

ตอน  ปราสาทพระวิหาร เทวสถานบนยอดผาศักดิ์สิทธิ์  ๒ จบ

และต่อจากนี้ ผู้เขียนใคร่ขอนำท่านผู้อ่านเข้าเยี่ยมชมความงดงามขององค์ประกอบสำคัญส่วนต่างๆของปราสาทพระวิหาร[๑๑]  โดยเริ่มจากพื้นที่ต่ำสุดทางทิศเหนือสู่พื้นที่สูงสุดอันเป็นที่ตั้งขององค์มหางปราสาทชั้นบนสุดทางทิศใต้ 

โดยเริ่มจาก  บันไดหินด้านหน้า  เป็นทางเดินใหญ่ขึ้นลงของปราสาททางทิศเหนือ ช่วงแรกมี ๑๖๒ ขั้น  ช่วงที่สองมีบันได ๕๔ ขั้น ถัดจากนั้น จะเข้าสู่ลานนาคราชเป็นลานหินพักชั้นซึ่งสองข้างขนาบด้วยนาคราช         เจ็ดเศียร  ต่อจากนั้นมีบันขึ้นไปยัง โคปุระชั้นที่ ๑  อันมีลักษณะเป็นโถงรูปกากบาท หลังคาจตุรมุข ไม่มีฝาผนัง ซึ่งที่ซุ้มประตูทิศตะวันออกมีถนนเขื่อนหินทำเป็นขั้นบันไดจากไหล่เขาลงสู่เบื้องล่าง เรียกว่า ช่องบันไดหัก[๑๒] อันเป็นช่องทางติดต่อกับพื้นราบเขมรต่ำได้

จากโคปุระชั้นที่ ๑ มีถนนเขื่อนหินยาวถึง ๒๗๕ เมตร  โดยริมถนนดังกล่าวด้านตะวันออก มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรียก สระสรง ขังน้ำฝนซึ่งไหลมาจากลาดผา       ตอนบน สุดถนนเขื่อนหินอันยาวเหยียดนี้ คือ โคปุระ           ชั้นที่ ๒ สูงขึ้นมาอีกหนึ่งชั้น ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม             รูปกากบาท  มีมุข ๔ ทิศ โดยประตูมุขด้านใต้มีภาพสลักที่งดงามมากคือ ภาพจำหลักเรื่อง นารายณ์สิบปาง  ตอนกูรมาวตารกำลังกวนเกษียรสมุทร และที่ทับหลังมีรูปจำหลัก นารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่มีความสมบูรณ์             และงดงามมาก โดยบนลานชั้นเดียวกันกับโคปุระหลังที่ ๒ นี้  ยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นคือ สระหัวสิงห์  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของทางขึ้นสู่พระมหามณเฑียร

      จากถนนยาวกว่า ๑๔๘ เมตรจากโคปุระชั้นที่ ๒ สุดถนน คือ พระมหามณเฑียร (โคปุระชั้น            ที่ ๓) เป็นอาคารสถานใหญ่โตกว้างขวางประกอบด้วยอาคารถึง ๕ หลังด้วยกัน สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่ประทับของกษัตริย์ในยามเสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ณ ปราสาทพระวิหาร

 


จากลานหินชั้นที่ ๓ อันเป็นที่ตั้งของพระมหามณเฑียรนี้ มีบันได้ ๗ ขั้นขึ้นสู่ถนนอันมุ่งตรงไปยังอาคารสถานชั้นสูงสุด คือ มหาปราสาท ซึ่งมีปรางค์ประธานอันเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ มีอาคารสถานประกอบด้วย โคปุระ ระเบียงคด บรรณาลัย และ หัวใจแห่งปราสาทพระวิหารคือ ภวาลัย ซึ่งเป็นพระปรางค์ที่ประดิษฐานศิวลึงค์ ล้อมรอบด้วยระเบียงคด แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันพระปรางค์             องค์ดังกล่าวได้ทรุดพังลงเสียแล้ว  และยอดผาสูงแห่งเทือกเขาดงรัก อันเป็นที่สถิตแห่งปราสาทพระวิหารนั้น มีชื่อว่า  เป้ยตาดี ซึ่ง ณ หน้าผาด้านหลังมหาปราสาททางทิศใต้ สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันงดงามของดินแดนเขมรต่ำได้อย่างชัดเจน 

             

และนอกจากนี้  บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารยังมีสถานที่สำคัญอื่นๆอีก ได้แก่ [๑๓]

 

สถูปคู่  อยู่ต้นทางก่อนถึงลานหินเบื้องล่าง  มีลักษณะเป็นสถูปหินสององค์  ยอดมนคล้ายตะปูหัวเห็ด ข้างในเป็นโพรงสำหรับบรรจุวัตถุสิ่งของแต่ได้มีผู้ขุดค้นไปแล้วเมื่อครั้งที่นักวิชาการจากฝรั่งเศสสำรวจระยะแรกๆ

มออีแดง เป็นบริเวณหน้าผาสูงชันอีกแห่งหนึ่งอันเป็นที่ตั้งหน่วยปฏิบัติการทหารพรานไทย      มีภาพสลักนูนต่ำรูปบุรุษสตรีเรียงกัน ๓ องค์ เป็นศิลปะขอมที่เพิ่งค้นพบไม่นานมานี้ เชื่อว่าเป็นร่องรอยของช่างฝีมือชาวขอมซักซ้อมฝีมือก่อนการสร้างสรรค์ผลงานจริงที่ปราสาทพระวิหาร

สระตราว หรือ ห้วยตราว  มีลักษณะเป็นธารน้ำอยู่ตรงบริเวณลานหินเชิงเขาพระวิหารไหลลงงสู่ที่ต่ำผ่านถ้ำใต้เพิงหิน  มีผู้สันนิษฐานว่าตำแหน่งที่ลุ่มดังกล่าวคือ บาราย (แหล่งเก็บน้ำ)  ที่จะไหลลงสู่พื้นราบ อำเภอกมลาสัย จังหวัดศรีสะเกษ

 

 การค้นพบปราสาทพระวิหาร

             ปราสาทพระวิหารถูกปล่อยให้ทิ้งร้างตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๔ หลังจากที่กรุงศรียโสธรปุระของกัมพูชาเสียให้แก่          กองทัพกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒[๑๔]  โดยทั้งประเทศกัมพูชาและไทยก็มิได้กล่าวถึงมหาเทวสถานบนยอดเขาดงรักนี้มานานเกือบ ๕๐๐ ปี

            ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  นายพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์[๑๕]  ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการหัวเมืองลาวตะวันออกเฉียงเหนือ (ลาวกาว)ในขณะนั้น ทรงค้นพบปราสาทพระวิหารเป็นผู้แรก  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ (ร.ศ.๑๑๘) โดยได้ทรงจารึกพระนามและปีรัตนโกสินทร์ศกที่พบว่า ๑๑๘ สรรพสิทธิ  ณ ชะง่อนผาเป้ยตาดี  แต่หลังจากนั้นเป็นเวลา ๖๐ ปี ปราสาทพระวิหารที่ประเทศไทยค้นพบ ก็ถูกศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษา          ให้อยู่ภายใต้อธิปไตยของราชอาณาจักรกัมพูชา

 

นับเป็นเวลากว่าหนึ่งพันปีแล้วที่ มหาเทวสถานศรีศิขรีศวร หรือปราสาทพระวิหารได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้น  แม้ในปัจจุบันจะเป็นเพียงซากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่สามารถยังประโยชน์ได้เช่นในอดีตอันรุ่งเรืองก็ตาม  ปราสาทพระวิหาร ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถยืนยันและสะท้อนได้ว่าในอดีตที่ผ่านมานั้น  พื้นที่ในดินแดนเอเชียอาคเนย์ของเราเคยมีอารยธรรมที่รุ่งเรืองเพียงใด  และหลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับปราสาทพระวิหารไปพอสมควรแล้ว หน้าต่างโลก - The Knowledge Windows”  ตอนต่อไป  ผู้เขียนจะนำเสนอเรื่องราวในครั้งที่ราชอาณาจักรสยามต้องเผชิญกับการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสอันเห็นมูลเหตุสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียปราสาทพระวิหารจากเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในเวลาต่อมา  (โปรดติดตามต่อฉบับหน้า)

 

################

                 

[๑๑] ธิดา สาระยา, อ้างแล้ว, หน้า ๔๗-๙๑  (นอกจากนี้ เพื่ออรรถรสในการทำความเข้าใจองค์ประกอบสิ่งปลูกสร้างของปราสาทพระวิหารแต่ละส่วน                โปรดดู   แผนผังโบราณสถาน เขาพระวิหาร จาก  Silpa Bhirasri, A Visit to Khao Pha Viharn (แปลโดย ศ.มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล), พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พลัสเพรส, ๒๕๕๑), แผ่นแทรกที่สอง ) ประกอบ

[๑๒]  ช่องบันไดหักนี้ ฝ่ายไทยได้ใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการกำหนดเขตแดนหลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้มีคำพิพากษา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยปรากฎตาม คำกล่าวปราศรัยของ พลเอกประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ที่ลานปราสาทเขาพระวิหารในวันส่งมอบดินแดนตามคำพิพากษา เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ดังนี้ ...เขตแดนนี้เริ่มจากจุดแรกที่ ช่องบันไดหัก โดยนับระยะห่างจากถนนหินโบราณลงมา ๒๐ เมตร เราจะปักป้ายที่นี่ และแนวเขตจะเล็งเป็นเส้นตรงจากหลักที่ ๑ มาสู่ปลายบันไดนาค ห่างจากจุดกึ่งกลางปลายบันได ๒๐ เมตร เป็นเส้นที่ ๒ แล้วจึงเล็งเป็นแนวตรงไปเป็นหลักสุดท้าย ห่างจากแนวปราสาทในเส้นกึ่งกลาง ๑๐๐ เมตร ตัดตรงลงไปจนทะลุหน้าผาเป้ยตาดี...  (โรม บุนนาค, เขาพระวิหาร ไทยเสียดินแดนครั้งสุดท้าย, ๒๕๕๑)  

[๑๓] ธิดา สาระยา, อ้างแล้ว, หน้า ๘๗.  (ซึ่งสถานที่สำคัญต่างๆดังที่จะกล่าวนี้ อยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของไทย ), (ผู้เขียน)

[๑๔]  พระบาทสมเด็จพระบรมราธิราชที่ ๒ หรือ เจ้าสามพระยา  ทรงพระปรีชาสามารถในด้านการปกครองและการรบ โดยทรงยกทัพไปล้อมพระนครหลวงของกัมพูชา ในปี พ.ศ. ๑๙๗๔ นานถึงเจ็ดเดือนจึงสามารถยึดได้ ซึ่งถือว่าเป็นการขยายพระราชอาณาเขตอย่างเป็นรูปธรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

[๑๕] อ่านว่า สัน-พะ-สิด-ทิ-ประ-สง

     

     

                 

 

 

 

 

           

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                                                                                                                                                                        

 

 

 

 


คำสำคัญ (Tags): #ปราสาทพระวิหาร
หมายเลขบันทึก: 197494เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2008 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท