สื่อการเรียนรู้กับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อผู้เรียนเป็นสำคัญ


หลักสูตร !!! จ้าพี่น้อง

สื่อการเรียนรู้กับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อผู้เรียนเป็นสำคัญ

                                                      

                พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช  2542  เป็นกฎหมายแม่บทในการจัดการศึกษา      ของประเทศให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  2540          โดยสาระสำคัญมุ่งเน้นในการบริหารและจัดการทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  มีเอกภาพในเชิงนโยบายและมีความหลากหลายในการปฏิบัติ  มีการกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่การศึกษาและมีการกำหนดให้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2544  เป็นหลักสูตรแกนกลางของประเทศ  และกำหนดให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  เพื่อให้มีสาระหลักสูตรเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับสภาพปัจจุบันปัญหาของชุมชนและสังคม  ภูมิปัญญาท้องถิ่นตลอดจนให้สามารถจัดการศึกษาให้บรรลุตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์  เพื่อให้การพัฒนาผู้เรียนบรรลุเป้าหมาย  เป็นคนเก่ง  เป็นคนดี  และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข  บนพื้นฐานของความเป็นไทย  พร้อมทั้งให้จัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  ใช้สื่อการเรียนเรียนรู้ที่หลากหลาย  เรียนรู้อย่างบูรณาการมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน

                การจัดการศึกษาที่  "ผู้เรียนสำคัญที่สุด" ก็คือการกำหนดหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน  เพื่อให้ผู้เรียนแต่ละคนเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง  เรียนรู้อย่างมีความสุข  โดยผ่านกระบวนการที่เป็นธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ  ทั้งยังสามารถสนองตอบความต้องการของแต่ละคน         ในการจัดการศึกษาครูหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง  จะต้องคำนึงถึงผู้เรียนเป็นอันดับแรก  ในการจัดการเรียน        การสอนต้องให้ผู้เรียนได้มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้เรียนรู้เพื่อการนำไปปฏิบัติได้

               

ในการปฏิรูปการศึกษา  จึงเป็นความพยายามที่มุ่งดำเนินการเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน         โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ  มีการสนับสนุน  นิเทศ  ตรวจสอบเพื่อให้ครูในสถานศึกษาสามารถพัฒนาการจัดการเรียนรู้ได้อย่างสะดวกและต่อเนื่อง  โดยมีหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2544  เป็นหลักสูตรแกนกลาง  และ ให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา    ขึ้นเอง  โดยมี  องค์ประกอบทั้งที่กำหนดจากหลักสูตรแกนกลางข้างต้น  และที่สถานศึกษาต้องกำหนด

 

 

จากส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหา  ความต้องการของโรงเรียน  ของนักเรียน  ของสังคมและชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ด้วย  ความเป็นหลักสูตรสถานศึกษาจึงจะสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์และทั้งนี้ทั้งนั้น  "ผู้เรียนเป็นสำคัญ"   ยังคงเป็นฐานสำคัญที่หลักสูตรสถานศึกษาต้องคำนึงถึง  หลักสูตรสถานศึกษาจึงเป็นหลักสูตรที่มีความหลากหลาย ที่จะมุ่งพัฒนาคนให้มีความสมดุลทั้งด้านความรู้  ความคิด  ความสามารถ  ความดีงามและความรับผิดชอบต่อสังคม

                ภาพรายละเอียดของหลักสูตรสถานศึกษาที่จะแสดงให้เห็นถึงการยึดถือว่า  "ผู้เรียนเป็นสำคัญ"   หรือ   "เพื่อผู้เรียนเป็นสำคัญ" นั้น จะดูได้จากองค์ประกอบของหลักสูตรแต่ละส่วนของหลักสูตรสถานศึกษานั้น ๆ ล้วนสะท้อนถึงเป้าหมายการมีกระบวนการและความพยายามที่ชัดเจนเพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง  ซึ่งส่วนประกอบดังกล่าวของหลักสูตรสถานศึกษาได้แก่  วิสัยทัศน์ ( Vision )  ที่ดีควรมีลักษณะ เป็นภาพที่สถานศึกษาปรารถนาให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนในอนาคต  ที่วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง  มีความขัดเจนสอดคล้องกับนโยบายของสถานศึกษา  เกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกฝ่ายและเป็นความต้องการของท้องถิ่น  มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการพัฒนาผู้เรียน  ภารกิจ  (  Mission )  ที่ดีมีลักษณะแสดงวิธีดำเนินการของสถานศึกษา  เพื่อให้การดำเนินการบรรลุตามวิสัยทัศน์ที่กำหนด ควรนำภารกิจไปใช้ในการดำเนินการตามแผนของสถานศึกษา   เป้าหมาย  (Goal )  ที่ดีควรมีลักษณะแสดงความคาดหวังที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์  ภารกิจ  และจุดหมายของหลักสูตร  คุณลักษณะอันพึงประสงค์  โรงเรียนต้องกำหนดบนฐานความเป็นจริงและความเป็นไปได้ของนักเรียนในโรงเรียน  โครงสร้างสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กำหนดอย่างมีเหตุผลถึงความเอาใจใส่ในการพัฒนาผู้เรียนอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ  ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ความสะดวกของครูหรือการบริหารของโรงเรียน การกำหนดสาระการเรียนรู้  หน่วยการเรียนรู้  กิจกรรมการเรียนรู้ของหลักสูตรสถานศึกษา      ก็ต้องกำหนดแบบเข้าใจผู้เรียนแต่ละคน  แต่ละกลุ่มเป็นฐานประกอบกันกำหนดอย่างพยายามให้ผู้เรียนแต่ละคนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างแท้จริงตามธรรมชาติ การกำหนดแนวการวัดประเมินผลของหลักสูตรสถานศึกษา ก็ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ  เน้นเพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่องมากกว่าการตัดสินเลื่อนชั้น แต่เป็นไปตามประเมินตามสภาพจริง  มิใช่แค่ความสะดวกของการประเมิน

                การเรียนรู้แบบยึดผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น  สื่อการเรียนรู้ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้กระบวนการเรียนรู้ได้รับผลตามวัตถุประสงค์และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้  หลักการและแนวคิดของสื่อการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เป็นสื่อที่ใช้ในการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองทั้งของผู้เรียนและของผู้สอน  ครูและนักเรียนสามารถจัดทำหรือพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเอง  รวมทั้งนำสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัวมาใช้ในการเรียนรู้โดยใช้วิจารณญาณ  ในการเลือกสื่อและแหล่งเรียนรู้  โดยเฉพาะหนังสือเรียนควรมีสาระครอบคลุมตลอดช่วงชั้น  สถานศึกษาควรจัดให้มีแหล่งสิ่งพิมพ์อย่างเพียงพอ  และให้ผู้เรียนสามารถยืมได้จากศูนย์สื่อ หรือห้องสมุดของสถานศึกษา

                ลักษณะของสื่อการเรียนรู้ที่จะนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น  ควรมีความหลากหลาย  เพื่อส่งเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีคุณค่าและกระตุ้นให้ผู้เรียนได้รู้จักการแสวงหาความรู้  เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและกว้างขวางตลอดเวลา  รูปแบบของสื่อการเรียนรู้ไม่อยู่กับหนังสือเรียนเท่านั้น  อย่างไรก็ตามสื่อที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้  ควรจัดให้สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้  ธรรมชาติของสาระการเรียนรู้และจัดตามศักยภาพของผู้เรียน

 

                สื่อที่ใช้กับหลักสูตรสถานศึกษา  แบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ คือ สื่อสิ่งพิมพ์  ได้แก่  หนังสือเรียน  หนังสือค้นคว้า  พจนานุกรม  สารานุกรม  ภาพพลิก  แผ่นพับ  โปสเตอร์และอื่น ๆ สื่อเทคโนโลยี  ได้แก่  วีดีทัศน์  แถบบันทึกเสียง  สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  ซีดีรอม  อินเตอร์เน็ตและอื่น ๆ สื่ออื่น ๆ  ได้แก่  สื่อบุคคล  สื่อธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม  สื่อกิจกรรมหรือกระบวนการ  เช่น  การแสดงละคร  บทบาทสมมติ  การสาธิต  การทำโครงงาน  สื่อวัสดุ  เครื่องมือและอุปกรณ์  เช่น  หุ่นจำลอง  เครื่องมือวิทยาศาสตร์

               

ในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม สื่อจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง  การจัดกิจกรรมที่ยึดผู้เรียนสำคัญที่สุดนั้น  เมื่อสถานศึกษาหรือครูมีการใช้สื่ออย่างเหมาะสมทั้งทางด้านเนื้อหา  เหมาะสมกับผู้เรียน  เหมาะสมกับสภาพบริบท  ก็จะทำให้ผู้เรียนมีความสุขกับการเรียน  เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  ที่มุ่งหวังให้คนไทยได้เกิดการพัฒนาตามศักยภาพ  เป็นคนเก่งทั้งในด้านวิชาการและทักษะชีวิต  เป็นคนดีมีคุณธรรม  อยู่ในสังคมอย่างสันติ  ไม่เห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง  เป็นผู้ให้ได้ทุกโอกาส  และเป็นคนที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข  โดยเริ่มพัฒนาตนเอง  ครอบครัวที่เข้มแข็ง  อบอุ่น  และเป็นประชาชนของชาติไทยที่มีคุณภาพ

หมายเลขบันทึก: 197141เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2008 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท