AAR การประชุม ลปรร. R2R : ๑๔. การตรวจสอบจริยธรรมในการวิจัย


 

          มีคำถามว่า การทำงานวิจัยแบบ R2R ต้องขออนุญาตคณะกรรมการจริยธรรม ก่อนหรือไม่ คำตอบไม่ตายตัวคือทำได้หลายแบบ


   ในกลุ่มเพิ่งเริ่ม เน้นการพัฒนางานเป็นหลัก ไม่น่าจะเริ่มโดยเขียนโครงการขออนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรม   เพราะถ้าเริ่มแบบนี้คนส่วนใหญ่คงเลิกทำไปเลย


   แต่ “คุณอำนวย” ต้องคิดเรื่องนี้ไว้ด้วย   ต้องมีความรู้เรื่องสิทธิของผู้ถูกทดลอง  เรื่องความปลอดภัย  เรื่องความลับหรือความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติดูแลผู้ป่วยนั่นเอง    ต้องชวนกันเอาใจใส่เรื่องนี้ด้วย ขาดไม่ได้


   กลุ่มที่มีเป้าหมายเพื่อเดินไปสู่การตีพิมพ์ต้องคิดเรื่องการผ่านคณะกรรมการจริยธรรมตั้งแต่ต้น

 

   Miller FG, Emanuel EE. Quality-Improvement Research and Informed Consent. NEJM 2008 (Feb 23) ; 358 : 765 – 767. เขาเล่าว่า Johns Hopkins กำหนดให้การวิจัยแบบ R2R (เขาเรียก Quality-Improvement Research) ไม่ต้องผ่าน EC/IRB และไม่ต้องมี informed consent   แต่ผู้เขียนบทความนี้แนะนำให้เสนอโครงการเข้า EC   โดย EC ควร review แบบรวดเร็วหรือแบบอำนวยความสะดวก   และควรพิจารณาให้ไม่ต้องขอ informed consent จากผู้ป่วยหรือญาติ   หากเห็นว่าเป็นการ กระทำที่อยู่ในข่าย “low risk research”   ผมมีความเห็นว่าหน่วยงานที่เอาใจใส่ R2R ควรเอาใจใส่เรื่องนี้ และมีข้อตกลงกับ EC อย่างเป็นระบบ และมีการทบทวนกติกาและวิธีปฏิบัติอย่างน้อยทุกปี   เพื่อดูแลทั้งความสะดวกของนักวิจัย R2R   และปกป้องทั้งผู้ป่วยและปกป้องนักวิจัยด้วย


   ผมมีความเห็นว่า วารสารที่ตีพิมพ์ผลงาน R2R ควรมีบทความแนะนำ หรือให้ความเห็นเรื่องการดำเนินการด้านจริยธรรมในการวิจัย เป็นระยะๆ    โดยชี้ให้เห็นว่าการวิจัยแต่ละแบบมีความล่อแหลมต่อการเกิดอันตราย หรือข้อโต้แย้งในดีกรีต่างกัน

 
   วารสาร Science 2008 (18 July); 321 : 324. ลงข่าวคณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยโตเกียวประกาศถอนบทความวิจัยของศาสตราจารย์ท่านหนึ่ง   เนื่องจากนักวิจัยไม่ได้ขออนุญาตใช้ชิ้นเนื้อที่เก็บไว้นานแล้วจากผู้ป่วยเจ้าของชิ้นเนื้อ หรือจาก EC/IRB ตามที่สถาบัน กำหนดไว้    จึงถือเป็นการละเมิดจริยธรรมในการวิจัย    เป็นกรณีตัวอย่างที่วงการ R2R จะต้องมีคนเอาใจใส่และเผยแพร่หลักการให้ช่วยกันระมัดระวัง   ต้องไม่ปล่อยให้นักวิจัย R2R ดูแลตนเองในเรื่องจริยธรรมในการวิจัยนี้

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๒ ก.ค. ๕๑


         
                                   
         

หมายเลขบันทึก: 195934เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2008 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน ท่าน อ.วิจารณ์ พานิชค่ะ

  • ดิฉันเห็นด้วยกับความคิดที่จะมีผู้ดูแลนักวิจัย R2R ด้านจริยธรรมตั้งแต่ต้น...เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงต่อกลุ่มผู้ปฏิบัติR2Rหน้างานค่ะ...
  • ควรให้เขาทราบกติกาเบื้องต้นซะก่อน  ก่อนลงมือทำ เพราะจะได้ไม่ทอนกำลังใจ  ท้อใจ  หมดกำลังใจและกำลังศรัทธาที่มีต่อ R2Rค่ะ
  • ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

เป็นประเด็นที่ดีแต่น่าจะขาดคนที่จะเข้ามาช่วยจัดการในองค์กรค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท