BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

คุณค่าการบวชปัจจุบัน ๑๐


คุณค่าการบวชปัจจุบัน

๙. คุณค่่าการบวชในอดีต

คุณค่าการบวชในอดีตนั้นมีหลายนัย เช่น การบวชเพื่อหนีราชภัย มีเรื่องเล่าว่าโจรหรือผู้ต้องอาญาแผ่นดินในสมัยก่อนนั้น ถ้าถูกตามล่าจากตำรวจหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็พยายามหลบหนีเข้าไปในโบสถ์ เพราะยึดถือว่าพื้นที่ตั้งโบสถ์นั้นพระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานไว้เป็นพุทธบูชา ฉะนั้น เจ้าหน้าที่จึงไม่อาจเข้าไปจับผู้ใดภายในโบสถ์ได้ เพียงแต่เฝ้าอยู่รอบๆ โบสถ์เท่านั้น ถ้าผู้นั้นสมัครใจบวชก็จะพ้นจากราชภัย เนื่องจากบ้านเมืองสมัยนั้นจะให้อภัยโทษสำหรับพระสงฆ์ ปรากฎว่าบางท่านยังเกรงราชภัยอยู่ก็เลยบวชไม่สึก กลายเป็นพระเถระในสมัยต่อมา ส่วนวิชาความรู้ที่มีติดตัวมาก่อนบวชก็ถ่ายทอดผ่านทางศิษย์หรือผู้ใกล้ชิดของท่าน มีผู้ให้ความเห็นไว้ว่าการบวชเพื่อหนีราชภัยทำนองนี้ ต่อมามีผู้นิยมมากขึ้นจนยากที่บ้านเมืองหรือสังคมจะยินยอมยกโทษให้ดังเช่นแต่ก่อน คุณค่าของการบวชในประเด็นนี้จึงค่อยๆ เสื่อมสลายไป

การบวชเพื่อประสานสามัคคีหรือป้องกันความร้าวฉาน ประเด็นนี้มีเรื่องเล่าว่าบางตระกูลลูกหลานหรือญาติพี่น้องแบ่งทรัพย์สมบัติกันไม่ลงตัว บรรดาลูกหลานเหล่านั้น บางคนจึงตัดสินใจออกบวชแล้วก็ยกทรัพย์สมบัติส่วนของตนแก่บรรดาญาติพี่น้องเพื่อจะได้แบ่งกันลงตัวและสร้างความพอใจให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายได้ การบวชทำนองนี้บางครั้งก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ทำงาน เช่น ในนินทานธรรมบทก็มีหลายตอนที่จับเรื่องว่าอำมาตย์ราชปุโรหิตบางท่านเคยเป็นพระอาจารย์ถวายหนังสือพระราชกุมาร ภายหลังพระราชกุมารเสวยราชย์เป็นพระราชาแล้วก็ทรงแต่งตั้งพระอาจารย์ไว้ในฐานนันดรเดิมและทรงปฏิบัติต่อพระอาจารย์เหมือนเดิม ฝ่ายพระอาจารย์ก็คิดว่า "ธรรมดาพระราชาหนุ่มก็ควรเหมาะสมกับอำมาตย์หนุ่ม" จึงทูลลาบวชเพื่อเปิดทางให้พระองค์ทรงสบายใจและจะได้ทรงแต่งตั้งคนอื่นทดแทนตน หรือบางครั้งก็มีปัญหาในราชสำนักก็มีผู้ออกบวชเพื่อขจัดปัญหาเหล่านั้น กรณีเช่นนี้มีประวัติขุนหลวงหาวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการออกบวชจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการประสานสามัคคี หรือป้องกันความร้าวฉานที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคตได้

การบวชเรียน คือ การบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้ต่างๆ แล้วก็สึกหรือลาสิกขาออกไปครองเรือนใช้ชีวิตแบบชาวบ้านทั่วๆ ไป เพราะ วัด เป็นแหล่งความรู้ของชุมชนในอดีตกาล วิชาหนังสือคืิิอการอ่านเขียน การปรุงยารักษาโรคซึ่งเป็นเภสัชกรรมและการแพทย์ วิชาศิลปะหรือการช่างต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างแกะสลัก วิชาหมัดมวย กระบี่กระบอก วิชาการทางทหารหรือพิชัยสงครามตลอดจนไสยศาสตร์ต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้มีพื้นฐานเดิมอยู่ในวัด โดยวัดเป็นแหล่งสะสมความรุ้แขนงต่างๆ ไว้ ใครอยากจะเรียนอะไรก็ต้องไปอยู่วัดที่มีผู้เชี่ยวชาญแขนงนั้นๆ พักอาศัยอยู่ มีเรื่องเล่าว่าสมัยก่อน ถ้าอยากจะเป็นช่างต่อเรือก็ไปอยู่วัดแหลมวัง เป็นต้น และมีเนื้อความตอนหนึ่งในเรื่องขุนช้างขุนแผนที่บ่งชี้ให้เห็นการบวชเรียนในอดีตได้ดีว่า

  • อยากจะเป็นทหารชาญชัย          ให้เหมือนพ่อขุนไกรที่เป็นผี
  • จึงอ้อนวอนมารดาได้ปราณี        ลูกนี้จะใคร่รู้วิชาการ
  • พระสงฆ์องค์ใดวิชาดี                แม่จงพาลูกนี้ไปฝากท่าน
  • ให้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์            อธิษฐานบวชลูกเป็นเณรไว้
  • ครานั้นทองประศรีผู้มารดา          ได้ฟังลูกว่าหาขัดไม่
  • อันสมภารที่ชำนาญในทางใน      ท่านขรัววัดสมใหญ่แลดีครัน
  • เจ้าคิดนี้ดีแล้วแก้วแม่อา             แม่จะพาไปฝากขรัวบุญนั่น
  • จะได้รู้การณรงค์คงกระพัน          ให้เหมือนกันสืบต่อพ่อขุนไกรฯ

 

การบวชเรียนทำนองนี้ เป็นความนิยมเฉพาะย่านไทย พม่า ลาว เขมร เท่านั้นอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นคาทอลิกเล่าให้ฟังว่า พวกฝรั่งชาวคาทอลิกจะรังเกียจบาทหลวงที่สึกออกมาใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน แต่คาทอลิกในเมืองไทยยอมรับอดีตบาทหลวงเหล่านั้น โดยคล้อยตามความนิยมทางพระพุทธศาสนาแบบไทยๆ ฟังว่าวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาแบบศรีลังกาก็จะรังเกียจคนที่บวชมานานๆ แล้วสึกออกมาใช้ชีวิตแบบชาวบ้านคล้ายๆ กับชาวคาทอลิกรังเกียจอดีตบาทหลวง ส่วนเวียดนามนั้น ตอนผู้เขียนอยู่เชียงใหม่ รู้จักสามเณรชาวเวียตนามคนหนึ่งอายุสามสิบกว่าๆ มาเรียนต่อปริญญาโทที่ม.พายัพ (สามเณรรูปนี้สวดปาฏิโมกข์ได้และมีความรู้ระดับสอนอภิธรรมได้) เล่าให้ฟังว่าในเวียตนามมีทั้งเถรวาทแบบไทยและมหายานแบบจีน ถ้าบวชเป็นพระแล้วไม่นิยมสึกโดยคล้อยตามมหายานแบบจีน แต่เป็นสามเณรสึกได้ น้องเณรไม่แน่ใจก็เลยยังไม่บวชพระ

มีเกล็ดอื่นๆ ที่น้องเณรเล่าให้ฟัง เช่น อยู่เวียตนามก็เป็นครูสอนหนังสือ ไมมีเงินหรือปัจจัยให้จ่ายเหมือนกับพระเณรเมืองไทย แต่ต้องการอะไรญาติโยมก็จะจัดหาให้ ยกเว้นว่ามาเรียนต่อย่างนี้จึงจะได้ปัจจัยมาใช้ น้องเณรเล่าว่าพระมหายานในเวียตนามขี่มอเตอร์ไซด์มีสาวซ้อนท้ายก็ได้ แต่พระเถรวาทแบบเราไม่ได้ ผู้เขียนถามว่าญาติโยมศรัทธานิกายไหนมากกว่า น้องเณรบอกว่าเขาศรัทธามหายานมากกว่า เหตุผลก็คือพระมหายานฉันเจ ไม่ฉันเนื้อ ซึ่งต่างกับพวกเถรวาทแบบเราที่อนุญาตให้ฉันเนื้อได้ตามวินัย... จะเห็นได้ว่าการศรัทธาเลื่อมใส่ของชาวพุทธฯเวียตนามต่างกับความรู้สึกของพวกเรา เรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับการให้คุณค่าต่อผู้ที่บวชนานๆ แล้วสึกออกมาใช้ชีวิตแบบชาวบ้านนั่นเอง บางท้องถิ่นก็ยอมรับ บางท้องถิ่นก็รังเกียจ แตกต่างกันไป

 

ธรรมเนียมบวชแล้วสึกย่านบ้านเราคงจะมีมานานแล้ว ดังเช่นในเรื่องราชาธิราชซึ่งเป็นพงศาวดารของมอญก็มีตัวละครที่บวชแล้วสึกอยู่หลายคน เช่น สามเณรมังกัญจี พระสัน และ พระมหาปิฏกธร คนแรกคือสามเณรมังกัญจีเป็นผู้มีความรู้เฉลียวฉลาดก็ถูกพระยาน้อยราชบุตรชวนให้สึกมารับราชการเป็นคนสนิท ภายหลังเมื่อพระยาน้อยครองราชย์เป็นพระเจ้าราชาธิราช มังกัญจีก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นราชามะนู ... สำหรับคนที่สองนั้น เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้บรรยายไว้ว่า

  • "มีสมณะองค์หนึ่งชื่อพระสัน บวชอยู่วัดซอได้สามพรรษามีฝืมือเข้มแข็งใจกล้าหาญ ไม่ชอบเรียนหนังสือ พอใจเรียนวิชาทหาร หัดรำเพลงอาวุธและมวยปล้ำ ตีกระบี่กระบองคล่องแคล่วดี ถึงเวลาเย็นแล้ว เล่นแต่มวยปล้ำตีกระบี่กระบอกทุกวัน ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ห้ามก็ไม่ฟัง"

 

หลังจากสมิงนครอินทร์ตายแล้ว พระสันก็ได้ลาสิกขามีชื่อว่ามะสัน และขอให้อาจารย์พาเข้าเฝ้าเพื่อฝากตัวเป็นทหาร มะสันเป็นทหารที่เก่งกล้าสามารถคนเดียวสามารถจับเป็นทหารพม่ามาได้ห้าร้อยเจ็ดสิบคนกับเรือเจ็ดลำ ภายหลังจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมิงพัตบะ

และคนที่สามคือพระมหาปิฏกธรนั้นเป็นพระราชโอรสบุญธรรมของตะละเจ้าท้าวซึ่งเป็นพระนางเจ้าแผ่นดินของกรุงหงสาวดี พระนางเจ้าองค์นี้ไม่มีพระโอรส ภายหลังจึงได้นิมนต์พระมหาปิฏกธรรูปนี้ให้ลาสิกขาออกมาครองราชย์ มีพระนามว่าพระเจ้าหงสาวดี หรือพระเจ้ามหาปิฏกธร

อนึ่ง ความนิยมเรื่องบวชแล้วสึกนี้ บางท่านให้ความเห็นว่าคล้อยตามปฏิปทาของพระเวสสันดรที่ออกบวชไปอยู่เขาวงกตแล้ว ภายหลังสึกออกมาครองราชย์ การบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนแล้วสึกมาใช้ชีวิตแบบชาวบ้านนั้นยังมีอยู่จนปัจจุบัน แต่ค่านิยมหลายอย่างก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเสนอในหัวข้อต่อไป

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 195338เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2008 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 13:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท