BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

วัดเปลี่ยนไป ๕


วัดเปลี่ยนไป

๖. การทำภัตรกิจ

วัดในสมัยก่อนจะมีโรงครัวและหอฉันซึ่งบางวัดก็อยู่รวมกัน หลังจากพระภิกษุ-สามเณรกลับจากบิณฑบาตแล้วก็จะนำบาตรไปวางไว้ยังหอฉัน ฝ่ายสามเณรหรือเด็กวัดก็จะจัดที่สำหรับพระฉันข้าว เช่น ปูเสื่อหรืออาสนะ จัดหาช้อนชาม และเตรียมน้ำฉันน้ำใช้ไว้ตามสมควร เรื่อมเรียบร้อยแล้วก็เคาะระฆังบอกสัญญาณว่าเรียบร้อยแล้ว พระภิกษุ-สามเณรภายในวัดก็จะลงมาพร้อมกันแล้วเริ่มทำภัตรกิจ หลังจากพระภิกษุ-สามเณรฉันเสร็จเรียบร้อยและลุกขั้นไปแล้ว บรรดาเด็กวัดและบางครั้งก็รวมทั้งญาติโยมที่มาทำบุญตอนเช้าด้วย ชวนกันล้อมวงกินข้าวหลังจากเสร็จสิ้นก็จัดเก็บและจัดล้างตามสมควร

มีเรื่องแทรกหลังจากพระภิกษุ-สามเณรฉันข้าวเสร็จเล็กน้อย นั่นคือ วัดบ้านเราในอดีต หลังจากฉันข้าวเสร็จแล้ว พระภิกษุมักจะจับคู่กันเพื่อปลงอาบัติก่อนที่จะแยกย้ายกลับกุฏีที่พัก ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนเคยเห็นประจำในสมัยเด็กๆ ขณะเมื่อผู้เขียนแรกบวชธรรมเนียนี้เลือนหายไปแล้ว จะมีเพียงบางวันเท่านั้นที่พ่อท่านหรือพ่อหลวงบางรูปของสำแดงอาบัติหลังฉันข้าวเสร็จ และขณะนี้ธรรมเนียมการจับคู่สำแดงอาบัติหลังฉันข้าวเสร็จในวัดแถวบ้านเราก็ได้หายไปแล้วอย่างสิ้นเชิง แต่ปี ๒๕๓๙ ขณะที่ผู้เขียนไปพักอาศัยอยู่ที่วัดสาลวัน ใกล้มหาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม ก็พบว่าธรรมเนียมนี้ยังคงมีอยู่ ยังไม่ถูกปล่อยปละละเลยเหมือนกับวัดแถวบ้านเรา

และเช่นเดียวกับธรรมเนียมการสำแดงอาบัติ ธรรมเนียมการฉันรวมกันในโรงครัวหรือหอฉันในวัดต่างๆ ก็เริ่มเลือนหายไปจากวัด จะยังคงมีอยู่เพียงบางวัดเท่านั้น ถ้าจะสำรวจโดยถั่วเฉลี่ย ผู้เขียนเชื่อว่าภายในสี่หรือห้าวัดจะยังคงมีเพียงวัดเดียวเท่านั้นที่ยังมีระบบฉันรวมกันในหอฉัน และที่ยังคงอยู่ก็อาจเป็นเพียงมื้อเช้าหรือมื้อเพลเท่านั้น ไม่ได้หนักแน่นเหมือนสมัยก่อน

ตามความเห็นของผู้เขียน ความเลือนหายไปของระบบการฉันรวมนี้ มีสาเหตุมากมายให้สันนิษฐานได้ ประการแรกอาจเป็นเพราะเด็กวัดค่อยๆ น้อยลงๆ ไม่มีใครคอยจัดแจงและจัดเก็บภายในหอฉัน จำนวนพระภิกษุ-สามเณรมีน้อยลง และหลายๆ รูปมักจะอ้างอภิสิทธิ์ เช่น พระภิกษุผู้สูงอายุทั้งที่เป็นพ่อท่านและพ่อหลวงมักจะอ้างว่าสุขภาพไม่ดี พระภิกษุหนุ่มหรือเณรน้อยมักอ้างเรื่องการเรียนหนังสือ เป็นต้น เมื่อเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ เจ้าอาวาสก็ไม่อยากจะเป็นธุระให้ยุ่งยากรำคาญใจจึงปล่อยเลยตามเลย กลายเป็นว่า "ระบบฉันส่วนตัว" ได้รับการนิยมเพิ่มขึ้น ผู้เขียนคิดว่า "ระบบฉันรวม" จะค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด

เรื่องนี้จะกล่าวโทษหรือกล่าวหาเฉพาะพระภิกษุ-สามเณรในวัดก็ไม่ค่อยจะถูกนัก เพราะบรรดาญาติโยมนักบุญก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน เราลองย้อนระลึกไปยังสมัยก่อน เมื่อนักบุญนำอาหารไปทำบุญที่วัด ถ้าเป็นวัดที่ยังไม่คุ้นเคย นักบุญมักจะถามถึงโรงครัวหรือหอฉันมากกว่าการถามถึงกุฏีสมภารเจ้าอาวาส ส่วนในปัจจุบันถ้าไม่รู้จักพระภิกษุ-สามเณรภายในวัดก็มักจะถามถึงกุฏีเจ้าอาวาสเพื่อจะนำอาหารไปถวาย แต่ถ้าคุ้นเคยกับวัดนั้นๆ ก็มักจะนำไปถวายพระภิกษุ-สามเณรเฉพาะรูปที่นักบุญศรัทธาหรือนิยมชมชอบเป็นการส่วนตัว ความเป็นไปทำนองนี้ก็บ่งชี้ได้เช่นเดียวกันว่า "วัดเปลี่ยนไป"

 

จะกล่าวเฉพาะวัดยางทอง เมื่อปี ๒๕๓๐ ผู้เขียนมาอยู่วัดยางทองใหม่ๆ มีธรรมเนียมว่ามื้อเช้าอิสระ โดยใครบิณฑบาตก็ฉันส่วนตัวหรือร่วมวงกันฉันตามกุฏี และเวลาประมาณสิบโมงเช้าเด็กวัดหรือสามเณรก็จะหุงข้าวหม้อใหญ่ ส่วนกับข้าวพี่หนูพินแม่ครัวบ้านโยมชำนิไวยาวัจกรเก่าของวัดจะนำมาถวายไว้ในครัว ครั้นได้เวลาเพลสิบเอ็ดนาฬิกา จะมีการตีระฆังพระภิกษุ-สามเณรในวัดก็ลงฉันข้าวในครัวพร้อมกัน ธรรมเนียมนี้เพิ่งมายกเลิกประมาณปี ๒๕๓๕ สาเหตุก็คือโรงครัวถูกรื้อไปเพื่อสร้างกุฏียาว และศาลาอัตถจาโรนุสรณ์ในวัดก็มีการตั้งศพมากขึ้น โดยงานศพจะมีการถวายอาหารเพลงเลี้ยงพระภิกษุ-สามเณรหมดทั้งวัดเป็นประจำ ซึ่งการฉันรวมก็หมดไป กลายเป็นว่าวัดยางทองใช้ระบบฉันส่วนตัวทั้งมื้อเช้ามื้อเพ

เรื่องการฉันรวมและฉันส่วนตัวนี้ ตามความเห็นของผู้เขียน มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย โดยส่วนดีของการฉันรวมก็คือการบ่งบอกถึงความสามัคคีของหมู่คณะ ด้วยว่าพระภิกษุ-สามเณรที่ฉันรวมกันจะได้ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน มีความรักใคร่สนิทสนมร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกัน มีสภาพคล้ายกับญาติพี่น้องท้องเดียวกัน อีกอย่างหนึ่ง เมื่อฉันรวมกัน สมภารเจ้าวัดก็สามารถตรวจสอบความเป็นอยู่และความเป็นไปของพระภิกษุ-สามเณรในปกครองได้ง่าย สามารถคุมพฤติกรรมของพระภิกษุ-สามเณรภายในวัดได้ดียิ่งขึ้น

แต่ส่วนเสียของการฉันรวมก็คือเสียเวลามาก เพราะต้องคอยฟังเสียงระฆังซึ่งเป็นประดุจเสียงสวรรค์ก่อนฉัน และต้องคอยเวลาเพื่อจะได้ลุกขึ้นพร้อมกันหลังฉันเสร็จ ระยะเวลาฉันที่นานเกินไปทำให้พระภิกษุ-สามเณรบางรูปซึ่งมีปรกติฉันน้อยต้องฉันมากขึ้นเพื่อรอคอยให้รูปอื่นฉันเสร็จ ดังนั้น เมืื่อเสร็จสิ้นภัตรกิจแล้วก็มักจะขี้เกียจ ไม่อยากจะทำอะไรหลังจากฉันเสร็จ อีกอย่างหนึ่ง ผู้เขียนสังเกตว่า วัดที่มีระบบฉันรวมแระมีระเบียบแบบแผนในการทำภัตรกิจมากเกินไป พระภิกษุ-สามเณรภายในวัดที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษามักจะมีน้อย กล่าวคือ เกิดอาการเครียดและเหนื่อยกับภัตรกิจเกินไปจึงไม่อยากจะจับหนังสือหรือใช้สมองนั่นเอง

สำหรับการฉันส่วนตัว มีส่วนดีก็คืออิสระในความเป็นอยู่ สามารถจัดระบบให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของตนเองได้ ผู้เขียนเคยอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่งบอกไว้ว่า ถ้าอยากจะมีร่างกายผอมก็ให้รับประทานอาหารคนเดียว และผู้เขียนเคยค้นพบคำสอนของพระพุทธเจ้า (จำคัมภีร์ไม่ได้) ตอนหนึ่งซึ่งทรงแนะนำว่าการฉันส่วนตัวสามารถเจริญกรรมฐานได้ดีอีกด้วย อีกอย่างหนึ่ง ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตว่า วัดที่มีพระภิกษุ-สามเณรประสบความสำเร็จทางการศึกษาติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานนั้น มักจะไม่ค่อยเคร่างครัดเรื่องระเบียบการทำภัตรกิจ แต่ส่วนเสียของการฉันส่วนตัวก็คือขาดกายสามัคคีของหมู่คณะภายในวัด มีความเป็นอยู่แบบตัวใครตัวมัน สมภารเจ้าวัดก็กำหนดรู้ความเป็นไปของพระภิกษุ-สามเณรลูกวัดได้ยากยิ่งขึ้น อีกอย่างหนึ่ง เวลาญาติโยมจะมาทำบุญก็มักจะไม่ค่อยสะดวกเพราะจะต้องไปถวายตามกุฏีหรือต้องสอบถามว่าใครอยุ่ไม่อยู่ หรือกุฏีไหนมีพระภิกษุ-สามเณรเท่าไร เป็นต้น

ตามที่นำมาเสนอจะเห็นได้ว่าเรื่องการทำภัตรกิจนี้ วัดเปลี่ยนไปจากการฉันรวมมาเป็นการฉันส่วนตัว แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนบอกได้ว่าการฉันรวมและฉันส่วนตัวก็มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ส่วนความเห็นของผู้เขียนคิดว่า วัดควรมีการฉันรวมสักมื้อในตอนเช้าหรือตอนเพลก็ได้เพื่อความเสามัคคีกลมเกลียวของหมู่คณะ และไม่จำเป็นต้องทำให้พระภิกษุ-สามเณรเกิดความเครียดหรืออึดอัดโดยมีระเบียบกฎเกณฑ์มากเกินไป

หลังจากพระภิกษุ-สามเณรทำภัตรกิจเสร็จแล้วก็ต้องสวดมนต์ทำวัตรเช้า ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเสนอในหัวข้อต่อไป...

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 195300เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2008 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท