BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

คุณค่าการบวชปัจจุบัน ๙


คุณค่าการบวชปัจจุบัน

๘. ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในเมืองไทย (ต่อ)

มงฺคลตฺถทีปนี เป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สุดของท่าน เพราะปัจจุบันใช้เป็นหลักสูตรการเรียนบาลีชั้นป.ธ.๔-๕ และ ป.ธ.๗ ผู้เขียนเชื่อว่าคัมภีร์บาลีที่ได้รับการแปลหรือเรียบเรียงใหม่เป็นภาษาไทยมากที่สุดน่าจะเป็นคัมภีรเล่มนี้ บรรดานักเทศน์นักสอนทั่วไปมักจะใช้คัมภีร์นี้เป็นคู่มือเบื้องต้น โดยส่วนตัวของผู้เขียนคุ้นเคยกับคัมภีร์เล่มนี้มากที่สุด เนื่องจากในชั้นป.ธ.๔ บังคับให้แปลคัมภีร์ มงฺคลตฺถทีปนี ปฐโม ภาโค (มงคลัตถทีปนีภาคแรก) และผู้เขียนได้เป็นครูสอนชั้นนี้อยู่ ๔-๕ ปี เนื้อหาของคัมภีร์เป็นการอธิบายมงคล ๓๘ ประการในมงคลสูตร ซึ่งเป็นลำดับขั้นหรือกระบวนการพัฒนาตนไปสู่อุดมคติสูงสุดของพระพุทธศาสนา (นิพพาน) ดังที่ท่านสิริมังคลาจารย์อาศัยแนวคิดของโบราณาจารย์แล้วได้สรุปไว้ก่อนจบคัมภีร์ว่า

  • " บัดนี้ เพื่อความแจ่มชัดแห่งการอบรมญาณในมงคลทั้งปวง พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย จึงทำการประมวลความตั้งแต่ต้นไว้ ดังต่อไปนี้
  • สัตว์เหล่านี้ ผู้ปรารถนาความสุขในโลกนี้ ความสุขในโลกหน้า และความสุขขั้นโลกุตตระ ละทิ้งการส้องเสพคนพาล อาศัยการคบหาบัณฑิต บูชาท่านผู้ควรแก่การบูชาทั้งหลายอยู่อย่างนี้ อันการอยู่ในสถานที่เหมาะสมและความเป็นผู้มีบุญที่ได้บำเพ็ญไว้ในปางก่อนคอยตักเตือนแล้วในการทำกุศลให้เกิดขึ้น ดำรงตนไว้ชอบแล้ว มีตนเองที่พาหุสัจจะ ศิลปะ และวินัยประดับแล้ว กล่าววาจาสุภาษิตอันสมควรแก่วินัย ตราบเท่าที่ยังไม่ละความเป็นผู้ครองเรือนก็จงชำระหนี้เก่าด้วยการบำรุงมารดาบิดา ประกอบหนี้ใหม่ด้วยการสงเคราะห์บุตรและภรรยา ถึงความเป็นผู้สำเร็จด้วยทรัพย์สมบัติและธัญญาหารเป็นต้นเพราะความเป็นผู้มีการงานไม่อากูล ยึดถือแก่นสารแห่งโภคะด้วยการให้ทาน และยึดถือแก่นสารแห่งชีวิตด้วยการประพฤติธรรม สร้างประโยชน์เกื้อกูลสำหรับคนของตนด้วยการสงเคราะห์ญาติ และสร้างประโยชน์เกื้อกูลเพื่อมวลชนด้วยความเป็นผู้มีการงานไม่มีโทษ เว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการเว้นจากบาป และเว้นจากการเบียดเบียนตนเองด้วยการสำรวมจากการดื่มน้ำเมา เร่งสร้างธรรมฝ่ายกุศลให้เจริญด้วยการไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
  • สละเพศคฤหัสถ์เสียเพราะความเป็นผู้มีกุศลอันเจริญแล้ว แม้ตั้งอยู่ในความเป็นบรรพชิตก็ยังข้อวัตรปฏิบัติให้สมบูรณ์ด้วยความเคารพในท่านผู้ควรเคารพ มีพระพุทธเจ้า พระสาวกของพระพุทธเจ้า และพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นต้น และด้วยความเป็นผู้เจียมตัว สละความยึดติดในปัจจัยด้วยความเป็นผู้สันโดษ ตั้งอยู่ในภูมิของสัตบุรุษด้วยความเป็นผู้รู้จักอุปการคุณที่ท่านทำแล้ว สละความเป็นผู้มีจิตรหดหู่ด้วยการฟังธรรม ครอบงำอันตรายทั้งปวงด้วยความอดทน ทำตนเองให้มีที่พึ่งด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย พิจารณาความประกอบการปฏิบัติด้วยการเห็นสมณะ บรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยด้วยการสนทนาธรรม ยังสีลวิสุทธฺให้ถึงพร้อมด้วยตบะคือการสำรวมอินทรีย์ ยังจิตตวิสุทธิและวิสุทธิ ๔ อื่นๆ จากนี้ให้ถึงพร้อมด้วยพรหมจรรย์คือสมณธรรม
  • บรรลุญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นปริยายแก่การเห็นสัจจะด้วยข้อปฏิบัตินี้ ทำให้แจ้งซึ่งนิพพานที่นับว่าอรหัตตผลซึ่งพระอริยะทั้งหลายทำให้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีจิตรไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมแปด ประดุจภูเขาสิเนรุไม่สะเทือนด้วยลมและฝนนั่นแล เป็นผู้ไม่เศร้าโศก ไม่มีกิเลสเพียงดังธุลี มีความเกษม ย่อมเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทุกสถานและถึงความสวัสดีในกาลทุกเมื่อ ฯ "

จะเห็นได้ว่า บทสรุปที่ยกมานี้มีลักษณะ พระเขียนให้พระอ่าน ดังนั้น บางวรรคจึงค่อนข้างยากสำหรับคนทั่วไป ผู้เขียนคิดว่าในปัจจุบันถ้าขยายความออกไปให้คนทั่วไปเข้าใจได้ชัดเจนกว่านี้แล้วทางเดินชีวิตของเส้นทางสายนี้ก็คงจะได้รับความนิยมยิ่งขึ้น ประเด็นนี้ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเขียนอธิบายในโอกาสอื่น ที่ยกมาก็เพียงแสดงให้เห็นขั้นตอนหรือกระบวนการพัฒนาชีวิตไปสู่จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาตามความเห็นที่โบราณาจารย์ประมวลไว้เท่านั้น

 

เวสสนฺตรทีปนี เป็นคัมภีร์อธิบายเวสสันดรชาดก คือประวัติของพระเวสสันดรซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะกลับมาประสูติเป็นฟ้าชายสิตธัตถะและได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาตินี้ นัยสำคัญว่าด้วยการบำเพ็ยทานขึ้นสูงสุด แนวคิดทั่วไปจะเป็นการสอนให้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุด ถ้าหวังประโยชน์สุขของผู้อื่นก็ควรเสียสละประโยชน์สุขของตนเอง หรือกล่าวว่าเป็นนิทานที่มีคำสอนชักจูงไม่ให้คนเห็นแก่ตัวก็ได้

คัมภีร์เล่มนี้ผู้เขียนยังไม่ได้อ่านและเคยตรวจดูในบรรณานุกรมหรือเชิงอรรถหนังสือหลายๆ เล่ม ก็ยังไม่เห็นใครอ้างอิงหนังสือเล่มนี้ที่เป็นอักษรไทย จะมีก็แต่เพียงประวัติของหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าคัมภีร์เล่มนี้เคยมีหรือได้มีการปริวรรต (เปลี่ยน) จากอักษรไทยโบราณหรืออักษรขอมในใบลานมาเป็นอักษรไทยสมัยใหม่บ้างหรือไม่ ส่วนอิทธิพลของเรื่องพระเวสสันดรในประเพณีพระพุทธศาสนาของไทยนั้น ผู้เขียนได้เล่าไว้แล้วเบื้องต้น

 

อนึ่ง ผู้เขียนยัง ไม่พบ ใครอ้างถึงว่ามีนักปราชญ์โบราณของปักษ์ใต้บ้านเราได้รจนาคัมภีร์บาลีไว้เลย แต่เราก็มีหลักฐานว่า สมัยสุโขทัยนั้น พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงทราบกิตติศัพท์ของคณะสงฆ์หัวเมืองฝ่ายใต้จึงทรงอาราธนานิมนต์พระสงฆ์สามสิบรูปจากนครศรีธรรมราชไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่สุโขทัย คณะสงฆ์กลุ่มนี้มี "เถรจันทร์" เป็นประธานสงฆ์จาริกไปในครั้งนั้น มีหลักฐานยืนยันว่าพ่อขุนรามคำแหงฯ ได้ตรัสชมว่าพระเถรรูปใดก็บอกธรรมสู้เถรจันทร์รูปนี้ไม่ได้ และผู้เขียนได้รับการบอกเล่าจากพระครูภิรมย์ เจ้าอาวาสวัดกลาง อ.สทิงพระ ว่าตามประวัติแล้วเถรจันทร์รูปนี้เป็นชาวสทิงพระ แต่ไม่ไปเรียนหนังสือหรือศึกษาธรรมอยู่ที่นครฯ ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาปักษ์ใต้บ้านเราสมัยนั้นคงจะมีความเจริญด้านปริยัติหรือการศึกษาไม่ด้อยไปกว่าภาคเหนือแน่นอน เพียงแต่ยังหาคัมภีร์มายืนยันไม่ได้เท่านั้น

จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนามีความมั่นคงในเมืองไทยมานาน ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางโบราณสถานโบราณวัตถุ ประเพณีวัฒนธรรม หรือหลักฐานทางคัมภีร์ เราก็มีนักปราชญ์ที่มีความสามารถรจนาคัมภีร์บาลีได้เอง ปัจจัยสำคัญที่สุดซึ่งก่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้แก่การออกบวชนั้นเอง ดังคำกล่าวที่ว่า พระพุทธศาสนาเจริญมาถึงทุกวันนี้ก็เพราะมีผู้ศรัทธาเลื่อมใส ออกบวช ศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฏิบัติ แนะนำสั่งสอน สืบต่อกันมา ฉะนั้น การออกบวชจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสืบทอดและธำรงรักษาไว้ซึ่งพระศาสนาจากอดีตสู่ปัจจุบัน ตามนัยนี้จึงเห็นได้ว่า คุณค่าการบวชจากอดีตถึงปัจจุบันที่สำคัญก็คือการสืบทอดและธำรงรักษาพระศาสนาไว้ นั่นเอง กล่าวได้ว่าการสืบทอดและธำรงรักษาพระศาสนาไว้เป็นคุณค่าหลักของการออกบวช ส่วนคุณค่าอื่นๆ ของการบวช ผู้เขียนจะให้ความเห็นในหัวข้อต่อไป โดยแบ่งเป็นอดีตและปัจจุบัน...

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 195291เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2008 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท