อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับบทความ "จากปอเนาะถึงมหาวิทยาลัยอิสลาม"


แต่ผมคิดว่าน่าเสียดาย ที่ระบบการศึกษาอันหนึ่งซึ่งยังไม่ถูก "ไถ่ถอนศาสนา" และมีพลังอย่างเข้มแข็งในสังคมมุสลิมไทย จะถูกกลืนหายไปกับระบบการศึกษาซึ่งแยกศาสนธรรมออกจากวิชาความรู้ อันเป็นระบบการศึกษาที่รัฐสนับสนุนอยู่เวลานี้ ไม่ใช่น่าเสียดายแก่ชาวมุสลิมเท่านั้น แต่น่าเสียดายแก่คนไทยทั่วไปทั้งหมดด้วย เพราะโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้และปรับใช้ระบบการศึกษา ซึ่งเชื่อมโยงกับศาสนธรรมก็สูญหายไปแก่สังคมไทยโดยรวมด้วยเหมือนกัน..

ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาจะจัดโครงการสัปดาห์วิชาการ ในโอกาสฉลองครบรอบ 10 ปี มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23-30 กรกฎาคม 2551 ที่จะถึงนี้ และหนึ่งในกิจกรรมในช่วงเวลาดั่งกล่าวคือการจัดสัมมนา การศึกษาอิสลาม หัวข้อ "Kesinambungan Pendidikan Islam di Fatani dari pondak ke Universiti" หรือ "สัมมนาพัฒนาการศึกษาจากปอเนาะสู่มหาวิทยาลัยอิสลาม" ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2551

โดยบังเอิญผมไปพบบทความของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเผยแพร่ในเว็บ เสขียธรรม ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม ชื่อบทความคือ "จากปอเนาะถึงมหาวิทยาลัยอิสลาม" โดยบทความดังกล่าวเขียนไว้นานแล้วและเคยลงพิมพ์ใน คอลัมน์ กระแสทรรศน์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๒๙๒ หน้า ๖  อ่านเนื้อหาบทความดูแล้วเห็นว่ามีเนื้อหาที่น่าสนใจจึงขอคัดลอกมาเผยแพร่ต่อในบล็อกนี้ครับ ซึ่งบทความนี้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการสัมมนาดังได้กล่าวมาแล้ว อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ดังนี้ครับ

..................................................................................................................................

กระบวนการ "ไถ่ถอนศาสนา" ออกจากสังคมหรือที่เรียกในภาษาฝรั่งว่า secularization เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนสู่ความทันสมัยที่เกิดขึ้นในทุกสังคมทั่วโลก แต่สังคมที่รอดพ้นจากความรุนแรงของกระบวนการ "ไถ่ถอนศาสนา" ที่สุดคือสังคมมุสลิม (ยกเว้นในสังคมของไม่กี่ประเทศ เช่นตุรกี หรืออิหร่านในสมัยชาห์)

          การที่สังคมมุสลิมผ่านกระบวนการ "ไถ่ถอนศาสนา" ออกจากสังคมน้อย เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของสังคมมุสลิมในโลกปัจจุบัน ทั้งนี้แล้วแต่ใครจะมอง และมองจากแง่ไหน

          แต่ผมมองเห็นจุดแข็งของเขา และคิดว่าจุดแข็งบางอย่างให้บทเรียนที่มีคุณค่าแก่คนที่อยู่นอกประชาคมอิสลามด้วย โดยเฉพาะถ้าเราไม่ยึดมั่นแต่ว่า แบบอย่างของเราเท่านั้นที่ดีที่สุด

          โดยเหตุบางประการในประวัติศาสตร์ไทย ทำให้ระบบการศึกษาของประชาคมมุสลิมในภาคใต้ ไม่ตกอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐไทยสมัยใหม่อย่างรัดกุมเท่ากับระบบการศึกษาของคนไทยทั่วไป ระบบการศึกษาที่เป็นอิสระมากกว่านี้ถูกรัฐไทยระแวงสงสัยตลอดมา มีความพยายามที่รัฐจะเข้าไปกำกับควบคุมอยู่เสมอ โดยอาศัยการให้รางวัลควบคู่กันไปกับการลงโทษ

          แต่ระบบการศึกษาดังกล่าวมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับประชาคมมุสลิมทั่วโลก ไม่ได้มีเส้นทางเดี่ยวภายใต้การสนับสนุนหรือห้ามปรามของรัฐเท่านั้น เช่นเพราะได้เรียนภาษาอาหรับ, มลายู, และอังกฤษ ทำให้ผู้ที่จบโรงเรียนปอเนาะมีโอกาสชิงทุนไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศมุสลิมอื่นๆ ฉะนั้นแม้ไม่มีมหาวิทยาลัยอิสลาม (มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาตามอุดมการณ์อิสลาม) ในเมืองไทย เส้นทางการศึกษาของศิษย์เก่าปอเนาะก็ไม่ได้ติดตันอยู่เพียงแค่จบมัธยม

          หรือเงินทุนอุดหนุนโรงเรียนปอเนาะ ส่วนหนึ่งก็ได้จากซากัต (Zakat หรือส่วนแบ่งสังคมสงเคราะห์ที่มุสลิมผู้มีทรัพย์พึงจ่ายเพื่อช่วยเหลือสังคม) ของประเทศมุสลิมอื่นๆ

          และด้วยเหตุดังนั้น แผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษา เช่น ยกฐานะศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนของจังหวัดปัตตานี, ยะลา, สตูล และนราธิวาสขึ้นเป็นวิทยาลัยชุมชนก็ตาม การจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่นราธิวาส, ยะลา และสตูล ก็คงเป็นนโยบายที่จะสร้างเครือข่ายการศึกษาของมุสลิมให้เต็มระบบภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐไทย โดยทำให้การศึกษาระดับหลังมัธยมเข้าสู่ระบบของรัฐเต็มรูปแบบ

          สอดคล้องกับความเห็นของรัฐมนตรีกลาโหมที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า การศึกษาของมุสลิมในภาคใต้ควรนำไปสู่วิชาชีพชั้นสูง เช่นวิศวกรรมศาสตร์, แพทยศาสตร์, หรือศาสตร์อื่นๆ ในโลกสมัยใหม่ซึ่งมีตำแหน่งงานรองรับในตลาด หรือเพิ่มความสามารถในการอาชีพ

          อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวด้วยว่า ในความเป็นจริงนั้น มุสลิมที่เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอิสลามในต่างประเทศ ก็ได้เรียนวิชาชีพชั้นสูงเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ก็มีปัญหาบางประการที่ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพในเมืองไทยได้ เช่นจบแพทย์จากประเทศเหล่านั้นแล้วไม่ได้รับใบประกอบโรคศิลปะในเมืองไทย เป็นต้น

          สิ่งที่น่าสังเกตในนโยบายของกระทรวงศึกษาฯที่จะตั้งสถาบันอุดมศึกษาขึ้นมาต่อยอดก็ตาม หรือในคำสัมภาษณ์ของท่านรัฐมนตรีกลาโหมก็ตาม ล้วนมาจากความคิดถึงระบบการศึกษาซึ่งถูก "ไถ่ถอนศาสนา" ออกไปแล้ว นั่นก็คือวิชาความรู้สำหรับประกอบอาชีพ หรือวิชาความรู้นั้นไม่ได้มีฐานจากความเชื่อในศาสนา สองสิ่งนี้แยกออกจากกันได้ เพราะไม่เกี่ยวโยงกันแต่อย่างใด

          จึงไม่แปลกอะไรที่ข้อเสนอการตั้งมหาวิทยาลัยหลายต่อหลายแห่งในภาคใต้ตอนล่างนั้น ไม่มีความคิดถึงการตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามเลย ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนแต่ศาสนาอิสลาม หากเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนวิชาการชั้นสูงเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป เพียงแต่วิชาความรู้ที่สอนนั้นต้องมีฐานเชื่อมโยงอยู่กับศาสนธรรมของอิสลาม ซึ่งผมจะกล่าวถึงข้างหน้า

          อันที่จริงมหาวิทยาลัยที่มีอยู่มากมายในเมืองไทยนั้น ก็หาได้เสนอวิชาความรู้ให้เชื่อมโยงกับศาสนธรรมของพุทธไม่ จึงเป็นธรรมดาที่ผู้บริหารการศึกษาย่อมคิดไปไม่ถึงว่าควรมีมหาวิทยาลัยอิสลามเกิดขึ้น

          จุดยืนของมุสลิมที่มีต่อการศึกษาและการแสวงหาความรู้นั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เขานิยมส่งลูกหลานไปเรียนปอเนาะ จนถึงเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศมุสลิม

          ในฐานะคนนอกศาสนาอิสลาม ผมคงอธิบายเรื่องนี้ละเอียดไม่ได้ จะพูดถึงเฉพาะเป้าหมายของการศึกษา เท่าที่ได้อ่านพบจากงานของนักปราชญ์ในศาสนาอิสลามได้เขียนไว้เท่านั้น

          ก่อนอื่นควรเข้าใจด้วยว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญแก่การศึกษาและการแสวงหาความรู้อย่างยิ่ง ถือกันตามคำสอนว่าการศึกษาหาความรู้เป็นสิ่งที่มุสลิมควรทำตราบจนสิ้นลมหายใจ

          แต่ความรู้ไม่ได้มีคุณค่าในตัวเอง การมีความรู้มากเฉยๆ ไม่มีประโยชน์ในสายตาของอิสลาม แต่ความรู้นั้นต้องเพิ่มสมรรถนะในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า มูฮัมหมัด อิคบัล (นักปราชญ์และกวีปากีสถาน) อธิบายว่า ความรู้หรือ ilm ในภาษาอาหรับ คือความรู้ที่มีฐานอยู่บนประสาทสัมผัส ความรู้ชนิดนี้ให้อำนาจทางกายภาพ ฉะนั้นความรู้หรืออำนาจทางกายภาพนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ din หรือศาสนาอิสลาม ถ้าความรู้หรืออำนาจไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ din ก็ย่อมเป็นสิ่งชั่วร้าย

          ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่ต้องทำให้ความรู้เป็นอิสลาม (Islamize knowledge) ถ้าความรู้อยู่ภายใต้กำกับของ din ความรู้ก็จะเป็นพรอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ

          ในทางปฏิบัติ รับใช้พระผู้เป็นเจ้าหมายถึงการมีศีลธรรม, มีความยุติธรรม และมีความกรุณา นักปราชญ์บางท่านอธิบายว่าคุณลักษณะสามประการนี้ สรุปรวมก็คือการมีความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลกับคนอื่น นับตั้งแต่ญาติพี่น้องไปจนถึงสังคมโดยรวมนั่นเอง

          การศึกษาของอิสลามจึงไม่ใช่การฝึกวิชาชีพเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการฝึกวิชาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตนเองในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า หรือรับผิดชอบต่อสังคมได้มากขึ้น

          หนึ่งในลักษณะเด่นของระบบการศึกษาอิสลามก็คือ ควรแสวงหาความรู้และเผยแพร่ความรู้แก่คนอื่นไม่ใช่เพื่อได้รับเงินตอบแทน แต่เพื่อประโยชน์ของสังคม และเพื่อความพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า (Afzalur Rahman, Islam : Ideology and the Way of Life)

          ผมเชื่อว่า แม้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่จะเปิดขึ้นในภาคใต้ตอนล่าง ไม่มีอุดมการณ์อิสลามกำกับ ก็คงจะมีนักศึกษามุสลิมเข้าเรียนอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะหากสร้างเงื่อนไขการรับสมัครและสอบแข่งขัน ให้เอื้อต่อการศึกษาที่ชาวมุสลิมได้รับมาจากโรงเรียนปอเนาะ

          ฉะนั้น ประเด็นจึงไม่ใช่ว่านโยบายของกระทรวงศึกษาจะล้มเหลว ไม่อาจเชื่อมโยงระบบการศึกษาของมุสลิมให้เข้ากับระบบการศึกษาของประเทศได้

          แต่ผมคิดว่าน่าเสียดาย ที่ระบบการศึกษาอันหนึ่งซึ่งยังไม่ถูก "ไถ่ถอนศาสนา" และมีพลังอย่างเข้มแข็งในสังคมมุสลิมไทย จะถูกกลืนหายไปกับระบบการศึกษาซึ่งแยกศาสนธรรมออกจากวิชาความรู้ อันเป็นระบบการศึกษาที่รัฐสนับสนุนอยู่เวลานี้ ไม่ใช่น่าเสียดายแก่ชาวมุสลิมเท่านั้น แต่น่าเสียดายแก่คนไทยทั่วไปทั้งหมดด้วย

          เพราะโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้และปรับใช้ระบบการศึกษา ซึ่งเชื่อมโยงกับศาสนธรรมก็สูญหายไปแก่สังคมไทยโดยรวมด้วยเหมือนกัน..

................................................................................................................................

คัดลอกจาก  http://www.skyd.org/html/life-social/islamU.html

 

 

หมายเลขบันทึก: 195056เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2008 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อัสสลามูอาลัยกุม

สิ่งนึง ที่น่าสนใจ และเป็นสิ่งที่เราควรศึกษาด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ ทำไมต้อง "secularization" เกิดอะไรขึ้น? ในยุคนั้น ทำให้คนต้องแยกศาสนาออกจากสังคม

หมายถึง เราควรจะพูดคุยเรื่องนี้ from the historical point of view ทำให้เราตอบคำถามได้ ว่าจริงๆแล้ว จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องแยกสังคมออกจากศาสนา (Islam, in particular)

ส่วนตัว เมื่อเจอแนวคิดเหล่านี้ ไม่ว่าจะเรื่อง secularization, ไม่ว่าจะเรื่องเห็นว่าฮิญาบเป็นการลดสิทธิสตรี, ไม่ว่าจะเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิ์สตรี มักสนใจที่จะศึกษาก่อนว่า แล้วก่อนที่จะมีแนวคิดอย่างนี้ พื้นฐานของคนกลุ่มนั้นๆ เป็นอย่างไร

ไม่แล้ว ก็เหมือนเถียงกันไป เถียงกันมา อ้างกันไป อ้างกันมา ไม่จบซักทีนึง

อัสสาลามุอะลัยกุม

สลามและสวัสดีท่าน อ.ทั้งสองครับ

ผมก็ขอเสนอความเห็นในเรื่องการศึกษาในลักษณะนี้ด้วยคน

จริงๆผมไม่ใช่เด็กปอเนาะ แต่ชีวิตผมคลุกคลีกับปอเนาะมาแต่เด็ก

ปอเนาะที่ผมรู้จักเป็นสถานศึกษาศาสนาจริงๆ แต่ก็เข้าใจว่าเป็นแนวใหม่ มีลูกศิษย์รุ่นเก่าๆเล่ามาว่า โต๊ะครูสอนแม้กระทั่งการเอาตัวรอดเมื่อเกิดไฟไหม้

ผมเคยได้ยินบอกปอเนาะของเขาว่า ปอเนาะกึงโรงเรียน

เมื่อก่อนปอเนาะแม้จะสอนศาสนาก็มีวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์รวมอยู่ด้วย (สมัยนี้ต้องมีภาคสามัญถึงจะมี)

จากปอเนาะสู่มหาลัย.. ทำไมต้องเป็นแบบนี้ด้วย ..

ผมมองว่าจำเป็น.. แต่..ไม่ใช่เหมือนปัจจุบัน

อย่าง มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ผมเข้าใจว่าเริ่มต้นมาดีและกำลังไปด้วยดี แต่อนาคตจะเป็นแบบแยกศาสนาออกจากโลกนั้นผมก็เป็นห่วงเหมือนกัน

มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาเริ่มจากศาสนา คณะอิสลามศึกษา ถูกต้องแล้วครับ คณะอะไรจะเปิดขึ้นใหม่ ผมว่าควรจะวางบนพื้นฐานศาสนา แล้วอย่างไปแก่งแย่งดูกถูกความรู้กันและกันอย่างคำนะศิฮัตของอิมามรอฆาลีในอิฮยาอุลูมุดดีน

ผมเจอครูสอนสามัญในโรงเรียนปอเนาะหลายคน ทั้งๆที่เขาเป็นเด็กปอเนาะมาก่อน แต่สภาพเหมือนคนไม่ได้เรียนศาสนามาก่อนเลย...

น่าเป็นห่วง ครับ

  • วะอาลัยกุมุสสะลาม ครับ อ.ซอบีเราะห์
  • ต้องขอมาอัฟอาจารย์ด้วยครับที่มาตอบช้า
  • แนวคิดsecularism หรือแนวคิดที่แยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร หรือในทางกลับนั้น เป็นเช่นกลางคืนและกลางวันที่เกิดขึ้นสลับกันไปตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อใดก็ตามที่บ่าวผู้ศรัทธาของพระองค์จากประชาชาติต่างๆเข้มแข็งระบบนี้ก็หายไป แต่เมื่อใดก็ตามบ่าวผู้ศรัทธาอ่อนแอระบบsecularism ก็จะหวนกลับมา เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันมาจนปัจจุบันนี้
  • ผมอดแปลกใจไม่ได้ที่พบว่าปัจจุบันได้เกิดมี ๒ แนวคิดที่ต่างกันเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ด้านหนึ่งคือแนวคิด Islamization ที่มีความพยายามจะกลับคืนสู่อิสลามอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทีละขั้น ทีละก้าว และอีกด้านหนึ่งคือแนวคิดsecularization ที่มีความพยายามที่จะลดอิทธิพลและบทบาทของศาสนาออกจากชีวิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้น ทีละก้าว
  • เป็น ๒ แนวคิดที่ด้านหนึ่งมองว่าศาสนาไม่ได้เป็นวิถีชีวิตอย่างที่มันควรจะเป็น ในขณะที่ด้านหนึ่งมองว่าศาสนาได้เป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าจำเป็นที่จะต้องจำกัดบทบาทและอิทธิพลของศาสนาลงหรือเอาศาสนาออกไปจากวิถีชีวิต
  • ซึ่งผลของแนวคิดที่สองคือ secularism ก็ได้ปรากฏรูปธรรมของมันต่อหน้าตอตาของเรา และต่อหน้าต่อตาของผู้มีศาสนาในหัวใจของทุกศาสนาทั่วโลก มิใช่เฉพาะอิสลามและมุสลิมเท่านั้นที่มองดูผลของระบบsecularism อย่างห่วงใยและกังวลผู้มีศาสนาทุกศาสนาก็เป็นเช่นนั้น 
  • ในขณะที่ผลของ Islamization หรือผลของศาสนาที่ถูกนำมาใช้ของทุกศาสนาในทุกด้านของชีวิตที่ถูกต้องตามหลักการมีเพียง บันทึกเชิงประวัติศาสตร์ที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และนี่คือสิ่งท้าทายของแนวคิดเหล่านี้ต่อแนวคิดsecularism
  • เป็นโจทย์ที่ท้าทายโจทย์หนึ่งของแนวคิดIslamization ที่ต้องพิสูจน์ตัวมันเองต่อยุคสมัย ทฤษฎีต่อทฤษฎี ระบบต่อระบบ รูปธรรมต่อรูปธรรม ผลิตผลต่อผลิตผล
  • หากเราพิจารณาในตัวปัจเจกชนแต่ละคนเราจะเห็นสิ่งเหล่านี้ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ ด้านหนึ่งมนุษย์ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด หรือแม้แต่ผู้ไม่มีศาสนาก็ตาม ชีวิตของเขาหรือเธอก็ดำเนินไปตามกฏของพระเจ้าที่ทรงกำหนดไว้เหนือพวกเขาหรือเธอทั้งสิ้นโดยที่เขาหรือเธอไม่อาจบิดพริ้ว เช่น การเกิด แก่ และตาย ต้องรับประทานอาหาร น้ำ ต้องหายใจ ต้องนอน ต้องขับถ่าย ต้องสืบเผ่าพันธ์ ฯลฯ จากที่กล่าวนี้จะพบว่า มนุษย์ทุกคนยอมตามกฏที่พระผู้เป็นเจ้ากำหนดไว้ หรือภาษาอาหรับเรียกว่าเป็นมุสลิมในแง่ของซุนนะตุลลอฮฺหรือในแง่ธรรมชาติ
  • ในขณะที่อีกแง่หนึ่งมนุษย์ถูกให้ตัดสินใจอย่างอิสระว่าจะ ยอมรับ หรือปฏิเสธ สาสน์ของพระองค์ที่บรรจุทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขา การปฏิเสธในส่วนนี้ของมนุษย์คือรากเหง้าที่เป็นบ่อเกิดระบบsecularism หรือแม้แต่ผู้ที่ยอมรับเอาอิสลามเป็นวิถีชีวิต แต่ไม่ได้นำเอาอิสลามมาใช้ในทุกมิติของชีวิตก็ได้ทำให้เกิดความเป็นsecularismขึ้นเช่นเดียวกัน
  • ระบบ secularism คือการแยกจิตวิญญาณออกจากชีวิตและหากมันมีอยู่ที่สถาบันการศึกษาหรือระบบการศึกษา แน่นอนว่า มันคือ โรงงานผลิตนักเซคิลาร์ออกมาป้อนระบบเซคิวลาร์นั่นเอง
  • วัลลอฮฮูอะอฺลัม

วะอาลัยกุมุสสะลามครับajanmu

ในแต่ละยุคสมัยมนุษย์ก่อตั้งสถาบันต่างๆขึ้นเพื่อให้บริการแก่ประชาชนในยุคสมัยของตนและปอเนาะคือนวัตกรรมทางการศึกษาหนึ่งของชาวมลายูมุสลิมในภูมิภาคนี้ รวมถึงชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ของไทยด้วยซึ่งเมื่อพิจารณาดูบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม ณ ขณะนั้นก็นับว่า ปอเนาะมีความก้าวหน้ามากจะเห็นได้ว่าปอเนาะในสมัยรุ่งเรืองของมันมีมุสลิมจากส่วนต่างๆในภูมิภาคหลั่งไหลกันมาเรียนที่ปัตตานีและมันก็ได้ผลิตเจนเนอเรชั่นหลายเจนเนอเรชั่นซึ่งได้สืบสานศาสนาต่อเนื่องกันมาจนมาถึงยุคสมัยของเรา ซึ่งก็เหมาะสมกับยุคสมัย ณ ขณะนั้น

แต่โลกหาได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น โลกได้เปิดรับพัฒนาการใหม่ๆของศาสตร์ต่างๆรวมถึงความก้าวหน้าทางการประดิษฐ์คิดค้นซึ่งได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย รวมถึงการค้นคว้าใหม่ๆ การค้นพบใหม่ๆ บางอย่างก่อเกิดผลดีก่อเกิดความเจริญก้าวหน้า และบางอย่างก็ก่อผลลบ

โดยข้อเท็จจริง "อิสลาม" มีขีดความสามารถที่ไม่จำกัดในการเผชิญหน้ากับทุกบริบทของสถานการณ์ ความเจริญก้าวหน้าต่างๆ

ปัญหากลับอยู่ที่ มุสลิม มากกว่า แต่ไม่ใช่ที่ความเป็นมุสลิม แต่อยู่ที่ ความเข้าใจ และอยู่ที่การศึกษาเจาะลึกอย่างกว้างขวาง ต่อเนื่องและการค้นคว้าต่อยอดจนสามารถเท่าทันและทัดเทียมกับสรรพความรู้แห่งยุคสมัยของมุสลิมต่างหาก

หากมุสลิมทำเช่นนั้น เขาก็จะยืนอยู่ ณ ยุคสมัยได้อย่างภาคภูมิ และสถาบันนั้นๆรวมถึงปอเนาะก็จะคงอยู่คู่ยุคสมัยและสามารถเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆได้

หากไม่ มันก็จะกลายเป็น้พียงอดีตที่บอกเล่าความภาคภูมิใจที่ผ่านมาเท่านั้นเอง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท