เมื่อวานก่อนวันที่ 10 กรกฎาคม 2551
ผู้เขียนได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นกรรมการร่วมคุมสอบ
Extern วิชากุมารเวชศาสตร์ ระหว่างนั้น
ผู้เขียนได้หยิบเอกสารเกี่ยวกับ
"โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจในเด็ก" ขึ้นมาอ่าน
เมื่ออ่านได้สักสามถึงสี่หน้า
ทำให้ผู้เขียนระลึกนึกถึงช่วงเวลาที่ผู้เขียนเป็นหวัดไม่สบาย
ในยามที่ผู้เขียนไม่สบาย พ่อและแม่ของผู้เขียน
ท่านจะคอยดูแลประคบประหงม ผู้เขียนเชื่อว่าพ่อแม่ของผู้อ่าน
ก็คงจะกระทำเช่นเดียวกันในยามที่ลูกของท่านตัวร้อนไม่สบาย
พุทธองค์ทรงตรัสว่า
อตฺตา หิ ปรม
ปิโย. ตนแล
เป็นที่รักยิ่ง. (องฺ. สตฺตก. ๒๓/๙๙.)
นตฺถิ อตฺตสม เปม. ความรัก(อื่น)เสมอด้วยตนไม่มี. (ส. ส.
๑๕/๙.)
แต่ด้วยว่า ลูกคือเลือดเนื้อเชื้อไขของผู้เป็น พ่อและแม่ ดังนั้น
พ่อและแม่ท่านจึง รักลูก เสมือนหนึ่งรักตัวเอง เช่นเดียวกันกับ
ความรักของ พี่ และน้อง ซึ่งถือว่า
เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของพ่อและแม่ที่คลานตามกันมา
ฉะนั้นพี่และน้องจึง รัก กันและกันเสมือนหนึ่ง รักตัวเอง
เมื่อนึกนึกถึง
ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกก็ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสำนวน ลูกน้อยกลอยใจ/ลูกน้อยกลอยสวาท ถึงแม้นว่าตัวผู้เขียนเองจะยังไม่มีแฟน
(เป็นตัวเป็นตน) และยังไม่มีลูก กะเขาก็ตาม
แต่ในวันนี้ผู้เขียน จะขอแสดงทรรศนะเกี่ยวกับ สำนวน ลูกน้อยกลอยใจ/ลูกน้อยกลอยสวาท เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใฝ่ใจศึกษา วรรณคดี
และสำนวนไทย ไว้ดังนี้
พจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความคำว่า กลอย ไว้ความว่า
กลอย 1 [กฺลอย] น.
ชื่อไม้เถามีหนามชนิด Dioscorea hispida Dennst. ในวงศ์ Dioscoreaceae
มีหัวกลมใหญ่อยู่ใต้ดิน ใบเป็นใบ ประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ
หัวดิบมีพิษเบื่อเมา แต่เมื่อฝานแช่น้ำไหล และนํามานึ่ง
หรือต้มให้สุกแล้วกินได้.
กลอย 2 [กฺลอย] ก. คล้อย,
ร่วม, เช่น กลอยใจ
กลอยสวาท. (1)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศันสนีย์ อุตมอ่าง อรรถาธิบาย
เกี่ยวกับกลอยไว้ความว่า "กลอยเป็นข้าวที่คนไทยรู้จักใช้เป็นอาหารมานาน
โดยนำมาทำเป็นของหวาน เช่น ข้าวเหนียวกลอย แกงบวดกลอย
กลอยนึ่ง และในยามเกิดศึกสงคราม เมื่ออาหารขาดแคลน
จะใช้กลอยแผ่นหุงผสมกับข้าวช่วยเพิ่มปริมาณและทำให้อิ่มเช่นเดียวกับข้าว"
(2)
ในสมัยเด็ก คุณย่า และคุณยาย ของผู้เขียนมักจะนำ กลอย
มาทำเป็นขนม เพื่อนำไปทำบุญในวันพระใหญ่วันพระโต เช่นงานบุญเข้าพรรษา คุณย่าและคุณยาย
ของผู้เขียนท่านจะนำกลอยมาทำกลอยแกงบวด
ข้าวเหนียวกลอย กลอยนึ่ง โดยเฉพาะกลอยนึ่ง อร่อยมาก
เมื่อนำกลอยมานึ่งแล้ว เนื้อกลอยจะหยุ่นๆ กินเปล่าๆก็ได้
หรือหากโรยเนื้อมะพร้าวขูด โรยน้ำตาลทรายขาว โรยงา
ผสมลงไปด้วยก็จะเพิ่มความอร่อยยิ่งขึ้น แต่คุณย่า คุณยาย
ท่านจำย้ำกับหลานๆ เสมอๆว่า หัวกลอยมันมีพิษน่ะลูก
อย่าเห็นว่าอร่อยแล้วจะเอามาทำขนมกินกันเอง เวลาจะเอากลอยมาทำขนม
ต้องเอากลอยไปแช่น้ำสัก 1 คืน เวลาเอามาทำขนม ต้องฝานเป็นชิ้นบางๆ
แล้วนำไปขยำๆ บีบๆ ในน้ำ
เพื่อล้างพิษที่จะทำให้เมา เพราะฉะนั้นการนำเอากลอยมาทำขนมจะใจร้อนไม่ได้
ไม่อย่างนั้นพระสงฆ์องคะเจ้าท่านจะเมากลอย
แล้วคนทำขนมแทนที่จะได้บุญกลับจะได้บาปจำไว้นะลูก ผู้เขียนยังจำคำสั่งสอนของคุณย่าและคุณยายของผู้เขียนได้ดีจนถึงทุกวันนี้
คำสั่งสอนของคุณย่าและคุณยาย ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านนั้น
สอดคล้องกับข้อมูลของ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ในยุคปัจจุบัน ที่ว่า
"นพ.นิพนธ์
โพธิ์พัฒนชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
แจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในการซื้อหาอาหาร มีกลอยเป็นส่วนประกอบ
เช่น ถั่วทอดผสมกลอย ข้าวเหนียวหน้ากลอย กลอยแกงบวด
เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีผู้ที่ซื้อถั่วทอดผสมกลอย ไปรับประทานแล้ว
เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง
จนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
เนื่องจากกลอยเป็นพืชที่มีพิษอยู่บริเวณหัวสำหรับสารพิษที่พบในกลอยซึ่งนำไปใช้ประกอบอาหารทั้งคาวหวานนั้น
คือ ไดออสคอรีน (Dioscorine)
โดยจะมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เป็นอัมพาต หรือหยุดหายใจได้
อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการปวดแสบปวดร้อน และคันที่ปากและคอ
คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หายใจขัด หมดสติ
และถ้ารับประทานมากอาจทำให้ถึงตายได้ หลังจากที่รับประทานแล้ว ประมาณ
6 ชั่วโมง" (3)
ในพระอภัยมณีคำกลอน ได้กล่าวถึง คำว่า กลอย ไว้ในตอนที่อุศเรน
มาขอร้องให้พระอภัยมณีเป็นเถ้าแก่ไป
สู่ขอนางสุวรรณมาลี ทว่าสินสมุทร ไม่เห็นด้วย
(นางสุวรรณมาลี เอ็นดู สินสุมทรเหมือนดังลูก
และสินสมุทรก็นับถือนางสุวรรณมาลีเหมือนดังแม่) พระอภัยมณี
จึงพูดกับอุศเรนว่า
พระฟังคำอ้ำอึ้งตะลึงคิด
จะเบือนบิดป้องปัดก็ขัดขวาง
สงสารลูกเจ้าลังกาจึงว่าพลาง
เราเหมือนช้างงางอกไม่หลอกลวง
ถึงเลือดเนื้อเมื่อน้องต้องประสงค์
พี่ก็คงยอมให้มิได้หวง
แต่ลูกเต้าเขาไม่เหมือนคนทั้งปวง
จะได้ช่วงชิงไปให้กระนั้น
พี่ว่าเขาเขาก็ว่ามากระนี้
มิใช่พี่นี้จะแกล้งแสร้งเสกสรรค์
เพราะเหตุเขารักใคร่อาลัยกัน
ค่อยผ่อนผันพูดจาอย่าราคี
จากนั้นพระอภัยมณี ก็ได้พยามเกลี้ยกล่อมกับ สินสมุทรว่า
แล้วตรัสบอกลูกน้อยกลอยสวาท
เจ้าหน่อเนื้อเชื้อชาติดั่งราชสีห์
อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที
ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน
ทรลักษณ์อกตัญญุตาเขา
เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน
ให้ทุกข์ร้อนงอนหง่อทรพล
พระเวทมนต์เสื่อมคลายทำลายยศ
เพราะบิดามาด้วยอุศเรนนี้
คุณเขามีมากล้นพ้นกำหนด
เจ้าทำผิดก็เหมือนพ่อทรยศ
จงออมอดเอ็นดูพ่อแต่พองาม
(สำหรับประเด็น สำนวน ช้างงางอก
ผู้เขียนได้เขียนแสดงทรรศนะไว้ในบทความเรื่อง สัจ สัตย์ สัด @ 189905 )
เมื่อ พูดถึงคำว่า กลอยสวาท
ทำให้ผู้เขียนนึกถึง บทละครพูดคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2467
เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2424 -
2468) พระราชนิพนธ์เรื่อง มัทนะพาธา เป็นบทละครพูดคำฉันท์ 5 องค์
พระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น
เมื่อพ.ศ.2466 วรรณคดีสโมสร ได้ยกย่องว่า เป็นหนังสือแต่งดี
พ่อแม่หลายคนซึ่งประทับใจกับ วรรณคดีเรื่อง มัทนพาธาคำฉันท์
ก็จะมักนำคำว่า มัทนา มาตั้งเป็นชื่อลูกๆ (มัทนพาธา แปลว่า
ความเจ็บปวด ความเดือนร้อนเพราะความรัก มัทนพาธา
เป็นตำนานเกี่ยวกับดอกกุหลาบ)
มัทนะ 1 แปลว่า การยํ่ายี,
การบด, การทําลาย.
ตามทรรศนะของผู้เขียนเชื่อว่า ต่อมาคำว่า มัทนะ
มีความหมายกว้างขึ้น
โดยถูกนำไปใช้เรียกกริยาของช้างตกมันที่มักจะทำลายสิ่งที่ขวางหน้า โดย
เทียบกับศัพท์ มทะ ที่แปลว่า ความเมา;
นํ้ามันช้างที่ตกมัน; สภาพช้างที่ตกมัน.
มัทนะ 2 แปลว่า
กามเทพ.
ตามทรรศนะของผู้เขียนเชื่อว่า คำว่า มัทนะ
ที่แปลว่า กามเทพ ก็เพราะกามเทพ เป็นผู้มี ศร
ซึ่งมีอานุภาพ ทำให้เกิดความมัวเมาลุ่มหลง นั่นเอง
พาธ, พาธา แปลว่า
ความเบียดเบียน, ความทุกข์.
ตามทรรศนะของผู้เขียนเชื่อว่า คำว่า
มัทนะ/มัทนา มีความหมายขยายกว้างขึ้น หมายถึงความรัก ก็เพราะ
คนมีความรักมักจะมีความมัวเมาลุ่มหลง --> ต่อมาคำว่ามัทนะ
ถูกใช้เรียกอาการของช้างที่มีความรัก
(ช้างตกมันที่ชอบทำลายสิ่งต่างๆที่ ขวางหน้า) ซึ่งคำว่า
มัทนะ/มัทนา เป็นคำเดียวกับคำว่า เมท, เมโท ที่แปลว่า
มันข้น.
คำว่า เมโท
ปรากฎอยู่ในบทสวด ทวัตติงสาการปาฐะ ( อาการ
๓๒) ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่พิการ
คนโบราณท่านจึงเรียกว่าเกิดมาไม่ครบ 32
แต่ทว่าคนญี่ปุ่นโบราณจะนับระยางใหญ่ในร่างกาย คือ แขนสองข้าง +
ขาสองข้าง + ศรีษะ รวมเป็นระยางใหญ่ในร่างกาย ทั้ง 5
ฉะนั้นคนพิการในประเทศญี่ปุ่นจึงถูกเรียกว่า เกิดมาไม่ครบ 5
ด้วยประการฉะนี้ (ไม่ครบห้า : No One’s Perfect)
เป็นชื่อหนังสือที่กล่าวถึงอัตชีวประวัติของ ฮิโรทาดะ โอโตตาเกะ
ซึ่งเป็นชายพิการชาวญี่ปุ่นที่ไม่ท้อแท้ต่อโชคชะตา
สามารถอ่านอัตชีวประวัติของ ฮิโรทาดะ โอโตตาเกะ
เพิ่มเติมได้ที่บันทึกของ คนไม่มีราก @ 187020 )
รวมความได้ว่า คำว่า มัทนะ/มัทนา แปลว่า
ความรัก/ความลุ่มหลวงมัวเมา เพราะลูก คือ
สิ่งอันเป็นที่รักของพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่มัวเมาลุ่มหลง
พ่อแม่รักลูกยอมทำเพื่อลูกทุกสิ่งอย่างก็ด้วยความมัวเมาลุ่มหลง
ด้วยเหตนี้ ลูกจึงได้ชื่อว่า มัทนา นั่นเอง
วกกลับมาเรื่อง กลอย ซึ่งคุณย่าและคุณยายสอนว่า
กลอยนั้นมีสารพิษทำให้เมาได้
ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าสารพิษที่ทำให้เมานั้นก็คือ ไดออสคอรีน
(Dioscorine) ซึ่งมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เป็นอัมพาต
หรือหยุดหายใจได้
ฉะนั้นสำนวน
ลูกน้อยกลอยใจ หรือ
ลูกน้อยกลอยสวาท
ที่พบในพระอภัยมณีคำกลอน นั้นก็ย่อมมีความหมาย
คล้ายกับความหมายของคำว่า มัทนา ในแง่ที่ว่า เพราะลูก คือ
สิ่งอันเป็นที่รักของพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่มัวเมาลุ่มหลง
พ่อแม่รักลูกยอมทำเพื่อลูกทุกสิ่งอย่างก็ด้วยความมัวเมาลุ่มหลง
ด้วยเหตนี้ ลูกจึงได้ชื่อว่า ลูกน้อยกลอยใจ หรือ ลูกน้อยกลอยสวาท นั่นเอง
ลูกน้อยกลอยใจ/ลูกน้อยกลอยสวาท เป็นสำนวนที่
อุปมาอุปไมยว่าลูกนั้นเปรียบเสมือน กลอย อันเป็นพืชมีพิษ (พ่อแม่)
ผู้ที่แพ้พิษ กลอย (พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบตามใจ)
ก็อาจจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน (ที่ใจ) และคันที่ปากและที่คอ
(กลืนไม่เข้าคายไม่ออก) คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง หายใจขัด หมดสติ
(เมื่อรู้ว่าลูกทำผิดอย่างร้ายแรง) และถ้าแพ้พิษ กลอย
แบบเฉียบพลัน ก็อาจจะทำให้ถึงตายได้ ฉะนั้นผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่คน
จึงมีหน้าที่ในการ บีบคั้น
เอาพิษ (พฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก) ออกจากหัวกลอย การนำ กลอยมาทำขนม
ผลลัพธ์ ก็คือความอิ่มอร่อย การอบรมบ่มนิสัยลูก ผลลัพท์ ก็คือ
ความอิ่มเอมใจ อันเนื่องมาจาก
ได้พึ่งพาอาศัยลูกเต้าในยามที่ตนเองแก่ชรา กลอย จะกินอร่อย ไร้พิษ
ก็ด้วย การพยามบีบคั้นเอาสารพิษออกจากกลอยฉันใด ลูกจะดีได้
ก็เพราะพ่อแม่พยาม บีบคั้น พฤติกรรมที่ไม่ดี ให้หมดไปจากลูก
ฉันนั้น
ในเทศกาลงานบุญ เข้าพรรษา ซึ่งถือว่าเป็นวันพระใหญ่วันพระโต
ผู้เขียนขอเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน หอบลูกจูงหลาน
ชวนกันไปทำบุญทำกุศลที่วัด หากที่บ้านปลูกกลอย ไว้จะลอง
นำกลอยทำขนมถวายพระก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์ สำหรับท่านผู้อ่าน
ที่พ่อแม่ได้ลาดับดับขันธ์ไปหมดแล้ว ก็ถือเป็นโอกาส
อันดีที่จะได้ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้กับท่านในวันพระ เข้าพรรษา นี้
ขอให้ผู้อ่านทุกท่านอิ่มบุญอิ่มกุศล ขวนขวายประพฤติประฏิบัติดี
เริ่มต้นชีวิตใหม่ๆ ใน เทศกาลเข้าพรรษา นี้ครับ
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย กวิน ใน บทความ (article)
ชอบกินขนมกลอยอร่อยมากแต่เดี๋ยวนี้หายาก ลูกน้อยกลอยใจยังไม่เคยกิน..อิอิ แต่หลานน้อยกลอยใจ เพิ่มแล้วละ