การฟังที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้


ฟัง คิดลุ่มลึก มีสติ ยอมรับซึ่งกันและกัน

ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง

     ทำอย่างไรดีที่จะฝึกให้นักเรียนมีทักษะการฟัง คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจารณ์ได้ เป็นคำถามเบื้องต้นที่คิดอยู่ในใจ มูลเหตุที่เกิดเพราะว่าข้อมูลข่าวสารในปัจจจุบันที่ได้รับมีความคิดแตกต่างกันมาก และทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม บางครั้งการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันผู้พูด ๆ อย่าง คนฟังนำไปสื่อสารอีกอย่าง ทำให้มีความผิดเพี้ยน เกิดความแตกแยกในสังคมไม่สมานฉันท์ (ตามภาษาที่กำลังฺฮิตในปัจจุบัน) เราในฐานะที่กำกับดูแลองค์กรน้อย ๆ ในสังคมควรมีส่วนร่วมในการเยียวยาสังคม อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้สังคมที่อยู่ในเขตบริการของเราได้มีความเข้าใจ ซึ่งมีพื้นฐานจากการฝึกปฏิบัติให้เป็นนิสัย จากผู้รู้ที่กล่าวว่า "สิ่งใดที่ทำซ้ำๆ กัน 21 ครั้ง จะทำให้เกิดเป็นนิสัย" เราในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมต้องทำให้เกิด

     สติจะมีได้ต้องเริ่มที่ "สมาธิ" ซึ่งเด็กโรงเรียนบางโพธิ์เหนือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต 1 ต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน โดยก่อนเข้าชั้นเรียนตอนบ่ายทุกคนต้องเข้าห้องประชุมที่อาคารเอนกประสงค์ ทั้งครู และนักเรียน จะเริ่มด้วยข้อตกลงที่ว่าเข้าห้องประชุมแล้วห้ามพูด เข้าแถวให้ตรง เมื่อได้ที่แล้วนั่งพอระยะกราบพระได้ เพราะก่อนนั่งสมาธิจะมีผู้นำกล่าวคำสรรเสริญ บูชาพระรัตนตรัย กราบพระ 3 ครั้ง แล้วนั่งสมาธิ หลับตาเบา ๆ ครูเวรประจำวันจะเปิดเพลงผ่อนคลายสบายใจด้วยสมาธิ ของ อาจารย์จำรัส เศวตตราภรณ์ เป็นเพลงบรรเลงเบา ๆ ฟังเหมือนเสียงที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น การไหลของสายน้ำ ลมพัด เสียงใบไม้กระทบกัน แล้วแต่จะจินตนาการ พูดง่าย ๆ คือ ให้เด็กมีสติเกาะติดกับเสียงเพลง จิตใจไม่ล่องลอยไปไหน ฟังแล้วชุ่มชื่นหัวใจ ให้นั่งประมาณ 10 นาที ทุกวัน (ในวันนี้   11 ก.ค.51 ทดลองนำเพลงกล่อมเด็กสมัยโบราณภาคกลาง เปิดให้ฟังบ้าง เปลี่ยนบรรยากาศ) สังเกตเมื่อครู และเด็กออกจากสมาธิจะมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสทุกคนทุกคน     

     วันนี้ทรอดแทรกกิจกรรมการฟังอย่างลึกซื้งให้เด็ก ๆ ได้ฝึกปฏิบัติโดยทำข้อตกลงเมื่อตอนเข้าแถวตอนเช้าให้ทุกคนนึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งของตนเอง และของผู้อื่น เตรียมไว้อย่างน้อยคนละ 1 เรื่อง  มีข้อแม้ว่าต้องเป็นเรื่องที่ดีเท่านั้น แล้วมาพบกันในการปฏิบัติกิจกรรมฝึกสมาธิช่วงกลางวัน

     เมื่อถึงเวลากำหนดภายหลังจากนั่งสมาธิแล้ว เริ่มกิจกรรมด้วยคำถามกระตุ้นการคิดอย่างต่อเนื่อง พยายามถามให้นักเรียนตอบ และอยากร่วมกิจกรรม กล้ายกมือ ขอแสดงออก เมื่อได้อาสาสมัครที่จะออกมาเล่าเรื่องที่กำหนดไว้ ให้ออกมาเล่าเรื่องการกระทำความดีของตนเองหน้าห้องประชุม โดยมีข้อกำหนดว่า "ผู้ฟัง"  ห้ามถามต่อ หรือคัดค้าน ให้ฟังด้วยความตั้งใจเพียงอย่างเดียว แม้กระทั่งครูก็ไม่ให้พูด หรือถาม (ทำให้บรรยากาศในห้องประชุมชณะนั้นเงียบสงบ มีแต่เสียงผู้เล่าเรื่อง) ทุกคนฟังด้วยความตั้งใจ เมื่อพูดเล่าเรื่องจบ ครูให้รางวัล และพูดให้กำลังใจ "เยี่ยมมาก" ทุกคน(ในการพูดความดีของตน ประมาณ 10 คน) เมื่อครบตามกำหนดก็รับอาสาสมัครออกมาเล่าเรื่องหน้าห้องประชุมในหัวข้อ ความดีของผู้อื่น และปฏิบัติกิจกรรมทำนองเดียวกัน ต่อท้ายด้วยให้อาสาสมัครออกมาพูดทบทวนคนที่เล่าเรื่องไปแล้วว่า เรื่องเป็นอย่างไรบ้าง และให้รางวัลทำนองเดียวกัน (บรรยากาศขณะนั้นเด็ก ๆ มีความสนุกสนาน อยากออกมาแสดงหน้าห้องจำนวนมาก ครูต้องเลือกไม่ให้ซ้ำกัน)

     เมื่อเสร็จกิจกรรมกล่าวแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเด็ก ๆ เรื่องการฟังที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นเรียนรู้ที่ดี ทำให้เกิดสติ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน "เราต้องฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดี"

     ทั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณ มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่กรุณาแนะนำกิจกรรมนี้ในหนังสือ ผู้บริหาร COACHING TEAM โรงเรียนวิถีพุทธ   การสร้างความรู้ใหม่ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ซึ่งเป็นกิจกรรม  แรก ๆ ที่สมควรฝึกปฏิบัติ และการให้นักเรียน และครูได้ฝึกในครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แน่นอนที่สุดคือต้องทำให้เกิดเป็น "นิสัย" อย่างน้อยก็ได้กระทำให้สังคมที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน มีผู้นำทางความคิด ที่มีสติอันเกิดจากการฟังที่ดี ฟังอย่างลุ่มลึก ปราศจากอคติซึ่งกันและกัน...อย่างน้อยก็ทำได้ในสังคมเล็ก ๆ ตรงนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้แตกออก และขยายผลออกไปในวงกว้าง ถ้าเรา...ท่าน ช่วยกัน ขอขอบคุณมากครับ ที่กรุณาอ่านตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ถ้ามีข้อคิดเห็น หรือข้อชี้แนะประการใด ขอความกรุณาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมาด้วยนะครับ...แล้วพบกันใหม่

หมายเลขบันทึก: 193662เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2008 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท